ไลฟ์สไตล์

วิธีการจัดการความเครียดแบบไหนที่ยิ่งใช้ ชีวิตก็ยิ่งแย่ - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2563 เวลา 11.46 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ภาพโดย Luis Villasmil จาก unsplash.com

วิธีการจัดการความเครียดเป็นทักษะ ( Coping skills ) อย่างหนึ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตหรือทำงานเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและความเครียดได้   

Coping skill จึงช่วยให้เรามีความอดทนต่อปัญหา ช่วยให้ร่างกายและจิตใจฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถทำงานและใช้ชีวิตต่อไปได้ วิธีการจัดการความเครียด สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Emotion – Focused Coping Skills : เน้นการจัดการที่อารมณ์ภายในตัวเอง เช่น เวลาเครียดแล้วไปออกกำลังกาย  

ออกไปเจอเพื่อนที่สนิท ไปขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ฝึกการเจริญสติหรือทำสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลง เป็นต้น เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายทางอารมณ์

Problem – Focused Coping Skills : เน้นการจัดการที่ตัวปัญหา เช่น รู้สึกเครียดกับปริมาณงานที่มากจึงลดความเครียดด้วยการบริหารเวลา รู้สึกเครียดกับความสัมพันธ์จึงลดความเครียดด้วยการจัดลำดับความสัมพันธ์ รู้สึกเครียดเพราะทำงานขาดตกบกพร่องบ่อยจึงลดความเครียดด้วยการจดงานที่จะต้องทำในแต่ละวัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งในปัญหาเดียวกันแต่ละคนจะมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน บางวิธีการสามารถลดความเครียดแล้วยังทำให้ชีวิตดีขึ้นในระยะยาว แต่บางวิธีทำให้ความเครียดลดลงในขณะนั้นแต่เป็นการสะสมปัญหาใหญ่ในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่เราควรหลีกเลี่ยง   

6 วิธีจัดการความเครียดที่เราควรหลีกเลี่ยง เพราะยิ่งใช้ชีวิตก็ยิ่งแย่

1.ทำเป็นไม่รับรู้ปัญหา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วิธีการนี้พบได้บ่อยกับคนที่มีความกลัวว่าตัวเองจะจัดการปัญหาไม่ได้ เลยทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา หรือมองปัญหาให้เล็กกว่าความเป็นจริง เช่น แม่ที่ได้รับการแจ้งจากทางโรงเรียนว่าลูกมีปัญหาพฤติกรรมที่โรงเรียน และต้องการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา แต่แม่ไม่อยากเชื่อและเลือกมองว่าเป็นธรรมดาของเด็กและไม่ทำอะไรเพื่อเป็นการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น  

หรือพนักงานที่ถูกหัวหน้าเรียกไปเตือนเรื่องความบกพร่องในการทำงาน

กลับมองว่าการเตือนนี้เกิดจากอคติกับตัวเองมากกว่าพัฒนางานให้ดีจึงไม่ลงมือปรับปรุงการทำงาน

การรับมือกับความเครียดแบบนี้อาจทำให้ไม่รู้สึกแย่กับตัวเองในช่วงแรก แต่จะทำให้ปัญหาค่อยๆรุนแรงมากขึ้น

2.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์หรือใช้สารเสพติด

เราคงเคยได้ยินโฆษณารณรงค์การหยุดดื่มสุราของ สสส. ที่มีประโยค “จน – เครียด - กินเหล้า”  

ในทางจิตวิทยาของการติดสารเสพติด ความจนไม่ใช่สาเหตุของการติดสุรา แต่ความเครียดเป็นสาเหตุของการติดสุราและสารเสพติดได้ เพราะสารเสพติดมีผลในการกดระบบประสาทแล้วส่งผลให้ลืมปัญหาที่ทำให้เครียดได้ชั่วครู่จากความมึนเมา แต่เมื่อส่างเมาแล้วปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม อาจเพิ่มเติมด้วยปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ความสัมพันธ์รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

3.กินคลายเครียด

เคยเป็นมั้ยคะ เวลาเครียดแล้วจะอยากทานเยอะๆ หมอเองก็เคยเป็น สังเกตตัวเองได้ชัดเจนตอนช่วงจะสอบ ยิ่งรู้สึกว่าอ่านหนังสือไม่ทันน้ำหนักก็ยิ่งขึ้น ตอนช่วงอาหารเข้าปากก็จะรู้สึกลืมความเครียดและมีความสุขกับการได้ทานของอร่อย แต่พอทานจนแน่นมากก็จะรู้สึกผิดว่าไม่น่าทานขนาดนี้เลย หากจัดการความรู้สึกเครียดด้วยวิธีการนี้บ่อยๆ อาจทำให้เรามีปัญหาความมั่นใจในตัวเองจากรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงและปัญหาสุขภาพได้

4.ช้อปปิ้ง

หมอเคยมีรุ่นน้องส่งคำถามมาถามว่า เค้าผิดปกติมั้ยที่ช๊อปปิ้งออนไลน์มากจนคนในออฟฟิตทักเพราะมีคนมาส่งของตลอดเวลา ที่สำคัญคือก็รู้ว่าของหลายอย่างไม่จำเป็นแต่ก็ยังอยากซื้อ และตัวเองก็มีปัญหาการเงินอยู่แล้ว ถามไปถามมาจึงรู้ว่าช่วงเวลาที่เพลิดเพลินในการดูสินค้าในออนไลน์นั้นน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวที่ทำให้เธอไม่คิดถึงปัญหาความสัมพันธ์กับสามีที่มีอยู่  

5.นอนแช่

บางคนเวลาเครียดแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนเพลีย ไม่อยากจะทำอะไร จึงเลือกที่จะนอนแช่บนเตียงโดยไม่สนใจกิจวัตรประจำวัน การตามใจความรู้สึกนี้จนเกินไปอาจทำให้สมองของเราเฉื่อยชา และตามมาด้วยปัญหาดินพอกหางหมู เพราะเราไม่ได้ลงมือทำงานในสิ่งที่เราควรทำ

6.พูดระบายกับทุกคน

การพูดเพื่อระบายความอึดอัดใจจัดเป็นวิธีการจัดการความเครียดอย่างหนึ่งที่ดีและจำเป็น แต่วิธีการนี้ก็มีข้อควรระวัง เพราะถ้าเราไม่เลือกคนที่จะรับฟังปัญหาเราเลยและพูดปัญหากับทุกคน อาจทำให้ปัญหาเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะแต่ละคนมีความพร้อมในการรับฟังปัญหาที่แตกต่างกัน การตีความต่อปัญหาแตกต่างกัน

ปัญหาใหญ่ของการเลือกวิธีแก้ปัญหา ไม่ใช่การเลือกวิธีการที่ผิดหรือถูก แต่คือการรู้ว่าทำไปก็ยิ่งมีปัญหา แต่ก็ยังทำเพียงเพื่อให้มันผ่านนาทีนี้ไป

เราจะเลือกการแก้ปัญหาแบบไหนก็แล้วแต่ ขอให้ระลึกเสมอว่าชีวิตเราเราเลือกได้ ปัญหานี้เราจะเลือก “เจ็บใจน้อยๆแต่เก็บปัญหาไว้นานๆ” หรือ “เจ็บใจมากหน่อยแต่ปัญหาจบนะ”

3 หลักสำคัญในการปลดล็อคความสุข

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ ของหมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

ความเห็น 5
  • จริงครับ ในยามที่เวลามีปัญหาหรือว่ามีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจเกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว ถ้าหากว่ามีใครสักคนที่คอยช่วยรับฟังหรือให้คำปรึกษาบ้าง ก็คงจะช่วยทำให้สภาวะของจิตใจเรานั้นดีขึ้นมาได้เหมือนกันนะครับ.
    24 มิ.ย. 2563 เวลา 14.10 น.
  • เอก อรรถพล
    ใช้สติวิเคราะห์ทุกๆมิติในความเป็นไปได้ของทางอยู่รอดให้กับตนเอง ทุกๆปัญหาย่อมมีทางเสมอ ใช้สติเป็นเครื่องกำหนดจิต ชั่งใจให้หนักปัญญาก็เกิด เราจะได้ไม่ทำร้ายผู้อื่นให้เราต้องมีมลทินตามติดตัวไป จากประโยคนี้คือการใช้คำพูดในที่ใจกลั่นออกมาเป็นประโยคในการสื่อสาร ฉันกำลังจะป่วยหรือป่วยไหมครับคุณหมอ ด้วยความเคารพครับ ฉันทำตามที่คุณหมอเขียนแนะนำ ที่ใช้แทนตัวเองว่า(ฉัน)ก็เพราะคิดว่าคำว่า(ฉัน)
    24 มิ.ย. 2563 เวลา 15.50 น.
  • Pattie
    นอน ดีนะ ตื่นมา ดื่มกาแฟหรือชาเบาๆ ที่สำคัญ ให้กำลังใจตัวเองเยอะๆค่ะ
    25 มิ.ย. 2563 เวลา 08.10 น.
  • เอก อรรถพล
    ต่อ..นั้นมันฟังนุ่มหูกว่าคำว่าผม เมื่อกี้ยังไม่โดนตัวส่งขอความออกเลยแต่โดนส่งออกไปโดยทื่ฉันไม่ได้แตะส่งออก
    24 มิ.ย. 2563 เวลา 15.54 น.
  • A
    อ่านแล้วยัง​ งง​ ว่า​ สรุปควรทำไง
    24 มิ.ย. 2563 เวลา 15.35 น.
ดูทั้งหมด