แม้หุ้นโรงพยาบาลน้องใหม่แห่งวงการตลาดหุ้นไทยอย่าง บริษัท โรงพยาบาลนครธน จำกัด (มหาชน) หรือ NKT จะเปิดตัววันแรกไม่สวยนัก โดยการเข้าเทรดวันแรก ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาปิดตลาดที่ระดับ 6.10 บาท ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงอย่างหนักถึง 21.79% เมื่อเทียบกับราคาเสนอขาย IPO ที่ 7.80 บาท
ขณะที่ล่าสุด วันนี้ (23 ธ.ค.67) ราคาหุ้นยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาอยู่ที่ระดับ 5.95 บาท ลดลง 0.15 บาท หรือ -2.46% จากวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 44.56 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากสำรวจความน่าสนใจของราคาหุ้น รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ พบว่าราคาหุ้นล่าสุดมีค่า P/E Ratio เพียง 12.40 เท่า ซึ่งต่ำกว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีค่า P/E เฉลี่ยเกินกว่า 20 เท่า อีกทั้งในด้านผลการดำเนินงานก็ถือเป็นหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตสูง
โดย รองศาสตราจารย์ ญาณเดช ทองสิมา ประธานกรรมการ NKT เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจในปี 2568 ระบุว่า บริษัทฯ มีแนวโน้มเติบโตจากการมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่หลากหลายและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ อาทิ ศูนย์หัวใจ ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ฯลฯ และโครงการลงทุนขยายจำนวนเตียงให้บริการของโรงพยาบาลนครธน บนถนนพระราม 2 อีก 110 เตียง ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดเตียงเพิ่มขึ้นในปี 2568
รวมถึงโครงการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงพยาบาลนครธน 2 บนถนนเอกชัย ที่มีความคืบหน้าตามแผน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 อีกทั้งล่าสุดโรงพยาบาลนครธน บนถนนพระราม 2 เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน AACI ซึ่งเป็นระบบรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากลจากสหรัฐฯ จะเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการและสัดส่วนคนไข้ที่เป็นชาวต่างชาติมากขึ้น
ขณะที่บทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุ แนะนำ “ซื้อ” NKT พร้อมให้ราคาเป้าหมาย 12.20 บาท SOTP จากวิธี DCF อิง WACC ที่ร้อยละ 8.80 สําหรับการดําเนินงานของโรงพยาบาลนครธน 1 ที่ 11.00 บาท เทียบเท่า Forward P/E Ratio ปี 2568 ที่ 20.60 เท่า และจากโครงการในอนาคต ได้แก่ โรงพยาบาล 2 และโครงการ Nakornthon Long Life Center ที่ 1.20 บาท จากการอิง P/BV ที่ 2.50 เท่า ส่งผลให้ได้มูลค่าหุ้น NKT ที่ 12.20 บาท เทียบเท่า Forward P/E Ratio ปี 2568 ที่ 22.85 เท่า ซึ่งใกล้ค่าเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันในประเทศ
สําหรับกําไรในปี 2567-2569 ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ประเมินไว้ที่ 270 ล้านบาท 286 ล้านบาท และ 317 ล้านบาท ตามลําดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ประมาณร้อยละ 6.46 ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยการเติบโตระยะยาวจะมาจากการเพิ่มจํานวนเตียง IPD จาก 150 เตียงเป็น 496 เตียง ภายในปี 2570 เติบโตกว่าร้อยละ 230.67 และการรับคนไข้กลุ่มประกันสังคมจะเพิ่ม ฐานคนให้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หนุน Demand ของโครงการ NakornthonLong Life Center ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569