หรือนี่จะเป็นยุคทองของหุ่นยนต์? พาไปดูกรณีศึกษาของ Yum China ที่ขยายธุรกิจ เพิ่มสาขา แต่ไม่เพิ่มคน กลับนำเอาหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มมากขึ้น
ถ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกตอนนี้ ภาษาเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า ‘เศรษฐกิจขาดแคลน’ (shortage economy) ซึ่งหมายถึงการที่ทุกสิ่งอย่างกำลังขาดแคลนหนักมาก ตั้งแต่สินค้าเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ลามไปถึงภาคแรงงาน ที่ขาดแคลนคนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยสาเหตุหลักๆ มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสูง และเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้จากโควิด-19
ปัจจุบัน ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เกิดกระแส The Great Resignation ที่คนทยอยกันลาออกจากงานประจำของตัวเอง เนื่องจากการตั้งคำถามว่างานที่ทำอยู่ปัจจุบันมันดีจริงมั้ย หรือแม้กระทั่งว่างานที่ทำอยู่จะสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้หรือไม่
ปัญหานี้เองก็ยังส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจหลายๆ องค์กรด้วย เนื่องจากตอนนี้ขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก ถึงแม้บางบริษัทสร้างข้อเสนอต่างๆ เช่น การเพิ่มเงินเดือน เพื่อที่จะยังยื้อพนักงานปัจจุบันไว้อีกด้วย
[ ในเมื่อขาดแคลนแรงงาน ก็ไปเพิ่มหุ่นยนต์แทน ]
แม้ว่าโลกจะอยู่วิกฤตขาดแคลนแรงงานทั่วโลก แต่เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด Yum China เจ้าของเชนร้านอาหารชื่อดังอย่าง KFC และ Pizza Hut ในประเทศจีน ออกมาเปิดเผยว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนพนักงานไม่ได้ลดลงไปเลย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย เพราะทางแบรนด์ได้นำการใช้หุ่นยนต์ และจอสัมผัสมาใช้งาน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบุคลากรแรงงานคนหนึ่งเลย
เนื่องจากในปัจจุบัน ร้านอาหารในเครือ Yum China ส่วนมาก จะมีการใช้ตู้คีออส (kiosk) หรือเครื่องจอสัมผัสที่ให้บริการอัตโนมัติ ลูกค้าสามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่ม และยังสามารถชำระเงินผ่านตู้คีออสด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถรับสินค้าได้ด้วยตัวเองผ่านตู้ล็อคเกอร์ นอกจากนี้้ KFC บางสาขาในหัวเมืองใหญ่ ยังมีการเสิร์ฟไอศกรีมผ่านหุ่นยนต์อีกด้วย
โจอี้ วัต ซีอีโอของ Yum China เผยว่า จากปี 2016 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ จำนวนพนักงานประจำและพาร์ทไทม์ ยังคงจำนวนเท่าเดิมอยู่ที่ 420,000 คน โดยในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 56% ซึ่งในปี 2021 จำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นสุทธิอยู่ที่ 1,282 สาขา ส่วนกำไรสุทธิต่อปี เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 990 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 เท่า
โดยในปีนี้ โจอีเผยเพิ่มเติมว่า เขามีแผนที่จะขยายจำนวนร้านอาหารอีก 1,000 ถึง 1,200 สาขา ภายใต้แบรนด์ของเขา ซึ่งไม่ได้มีแค่ KFC กับ Pizza Hut แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ตเม็กซิกันอย่าง Taco Bell, เชนร้านอาหารฮอตพอต Little Sheep และ Huang Ji Huang, รวมไปถึงร้านกาแฟ COFFii & JOY และ Lavazza อีกด้วย
หนึ่งสิ่งที่ โจอี้ กล่าวไว้ในการลงทุนครั้งนี้คือ ‘สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประสิทธิภาพ (the key is efficiency)’ และยังเชื่ออีกว่าทางแบรนด์ยังจะสามารถลงทุนในการออกแบบการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้นอีกด้วย โดยในช่วงตุลาคมปีนี้ ทางแบรนด์จะลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะเปิดสาขาเพิ่มใน เซี่ยงไฮ้ ซีอาน และ หนานจิง
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของ Yum China ดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก แต่เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา ยอดขายของสาขาที่สามารถเปิดบริการทานในร้านได้ ลดลงอยู่ที่ 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ และยังมีร้านอาหารในเครือที่ปิดตัวไปมากกว่า 500 สาขา จากการแพร่ระบาดของโอมิครอน นอกจากนี้ ค่าแรงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 2.25 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 31% จากปี 2020 เนื่องจากค่าประกันสุขภาพของพนักงานที่มีราคาสูงขึ้น และยังเพิ่มเบี้ยประกันให้กับผู้จักการร้านอีกด้วย
แอนดี้ หยาง ซีเอฟโอของ Yum China เผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา จำนวนยอดขายลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลตุรษจีนของปี 2021 ถึงแม้ว่าภาพรวมอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากขนาดนั้น แต่สถานการณ์โลกตอนนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างยังไม่นิ่งมากนัก
การนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมร้านอาหาร อาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ และในอนาคตอาจจะลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้อีกด้วย ถ้าตัดภาพมาที่ประเทศไทย ตอนนี้ทาง “เอ็มเค กรุ๊ป” ก็เริ่มต้นนำเข้านวัตกรรมหุ่นยนต์ เพื่อมาช่วยแนะนำโปรโมชั่นต่างๆ และเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าแบบไร้สัมผัส แถมยังเดินเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มได้แบบไม่สะดุดเพราะมีเซนเซอร์ที่ทันสมัย
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การนำหุ่นยนต์มาใช้แทนที่จะมีประสิทธิภาพจริงๆ หรือไม่ แล้วจะยังสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในระยะยาวได้หรือมั้ย เพราะสุดท้ายแล้ว บางทีมนุษย์อาจจะต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานที่เป็นคนเหมือนกันก็เป็นได้
ที่มา