ไลฟ์สไตล์

ทำไมจังหวัดอุบลราชธานี ลงท้ายด้วย “ราชธานี” ทั้งที่ไม่ใช่เมืองหลวง

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 07 ธ.ค. 2566 เวลา 03.46 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2566 เวลา 22.18 น.
ภาพถ่าย แคนวงใหญ่ ของทหาร ที่ อุบลราชธานี เป่าแคน สมับรัชกาลที่ 5

“อุบลราชธานี” เป็นจังหวัดเดียวในบรรดาจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ที่ลงท้ายว่า “ราชธานี” ซึ่งแปลว่าเมืองหลวง แม้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ธนบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในอดีต และเป็นเมืองหลวงในปัจจุบันก็ไม่ลงท้ายว่า “ราชธานี”

คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เติม วิภาคย์พจนกิจ เขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์อีสาน” (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2530) ว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีหลายท่านได้ถามผู้เขียนว่า คำที่เติมท้ายเมืองอุบลว่า ราชธานี นั้นเป็นมาอย่างไร ชั้นต้นผู้เขียนหาคำตอบไม่ได้ บังเอิญไปพบในหนังสือข่อยที่ตาของผู้เขียนได้บันทึกไว้ใน ตำนานเมืองอุบลฯ ว่า เมืองอุบลฯ นี้โปรดเกล้า ให้เป็นเมืองอาสาหลวงเดิม เพราะถ้ามีพระราชสงครามมาติดพันประเทศ เมืองอุบลฯ (พระประทุมฯ) ก็โปรดเกล้าฯ ให้ติดสอยห้อยตามเสด็จไปปราบปรามทุกครั้งฐานะเป็นประเทศราช จึงพระราชทานนามเมืองอุบลฯ ต่อท้ายว่า “เมืองอุบลราชธานี” ดังกล่าว โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นกรุงเทพฯ ทำส่วยผึ้ง 2 เลกต่อเบี้ย น้ำรัก 2 ขวดต่อเบี้ย ป่าน 2 เลกต่อขอด”

ส่วนที่มาของเรื่องนั้น เติม วิภาคย์พจน์กิจ อธิบายต่อไว้ว่า

จุลศักราช 1142 โทศก (พ.ศ. 2323) ประเทศเกิดจลาจล เจ้าฝ่ายหน้า พระประทุม (คำผง) เจ้าพรหม และจ้ำคสิงห์ (บุตรเจ้าฝ่ายหน้า) ก็ได้ไปรับราชการทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปปราบเมืองเขมรคราวนั้นด้วย แต่การยังมิทันสำเร็จทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้นก่อน จึงต้องยกกลับ เจ้าฝ่ายหน้า พระประทุม (คำผง) เจ้าพรหมก็ได้ติดตามกองทัพเข้าไปยังกรุงธนบุรี เพื่อปราบยุคเข็ญในคราวนั้นด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อได้มีการจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท้าวพระยามุขมนตรีกวีชาติและราษฎรทั้งหลาย ก็พร้อมกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นผ่านพิภพ เสวยสวรรยาธิปัติ์ถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืบไป

พระประทุมฯ (คำผง) จึงขอพระราชทานย้ายครอบครัวจากเวียงฆ้อนกลอง (บ้านดู่บ้านแก) ไปตั้งภูมิลําเนาอยู่ที่บ้านห้วยแจะระแม [บ้างเรียก บ้านท่าบ่อ ] ส่วนเจ้าฝ่ายหน้า เจ้าคำสิงห์ที่ผู้บุตรขอพระราชทานไปตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่ขอ เมื่อเสร็จราชการบ้านเมืองแล้วก็กราบถวายบังคมลากลับสู่บ้านเมืองแห่งตน

ส่วนเจ้าฝ่ายหน้าเมื่อมาถึงบ้านสิงห์ท่าก็จัดสร้างบ้านให้ใหญ่โต โดยประสงค์จะตั้งให้เป็นเมืองต่อไป กับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งกับเจดีย์องค์หนึ่ง ชาวเมืองเรียกกันต่อๆ มาว่า “วัดมหาธาตุ” ที่ปรากฏอยู่อําเภอยโสธรมาตราบเท่าทุกวันนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จุลศักราช 1153 ปีกุน ตรีศก (พ.ศ. 2334) เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้ว อยู่บ้านเขาโอง แขวงเมืองสีทันดร (เมืองสุทันคอน) ฝั่งโขงตะวันออก แสดงตนเป็นผู้วิเศษมีคนนับถือมาก ยกกําลังมาล้อมเมืองนครจําปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เวลานั้นกําลังประชวรหนักแลชรามาก พระชนม์ได้ 80 ปี ตกพระทัย โรคกําเริบถึงพิราลัย ครองเมืองนครจําปาศักดิ์มาได้ 53 ปี มีบุตรธิดา 3 คน คือ เจ้าหน่อเมือง เจ้านางป่อมหัวขาว และเจ้านางท่อนแก้ว

ขณะที่อ้ายเชียงแก้ว มาล้อมเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น เจ้าหน่อเมืองแสนท้าวพญาที่รักษาเมืองไม่ทันรู้ตัวเตรียมสู้ไม่ทัน เจ้าหน่อเมืองจึงพร้อมด้วยญาติวงศ์ไปอาศัยอยู่กับข่าพะนัง ความทราบถึงกรุงเทพมหานคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา ยกกองทัพไปปราบอ้ายเชียงแก้ว ซึ่งยกกําลังมาต่อสู้ที่แก่งตะนะในลําแม่น้ำมูล (ท้องที่อําเภอบ้านด่านปัจจุบัน) แต่ยังมิทันที่จะยกไปถึง

พระประทุมฯ (คําผง) บ้านห้วยแจะระแม่ เจ้าฝ่ายหน้าผู้พี่นายกองบ้านสิงห์ท่า จึงพากันยกกําลังไปตีอ้ายเชียงแก้วแตก เจ้าฝ่ายหน้าติดตามอ้ายเชียงแก้วจับได้แล้วฆ่าเสีย พอดีกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาไปถึง ก็พากันลงไปยังเมืองนครจําปาศักดิ์ และติดตามเจ้าหน่อเมืองที่หลบหนีภัยไปดังกล่าวแล้วก็ปราบปรามพวกอ้ายเชียงแก้วที่ยังมีกระเซ็นกระสายอยู่นั้นราบคาบ ส่วนมากเป็นพวกข่า มีข่าระแด ข่าจะราย สวาง และข่ากะเซ็ง จับได้มาเป็นอัน

เพื่อเป็นบําเหน็จความดีความชอบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะ บ้านห้วยแจะระแม่ ขึ้นเป็น เมืองอุบลราชธานี ตามนามพระประทุม ฯ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุ ทรงตั้งเจ้าประเทศราชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังนี้

เจ้าอุบลราชธานี

ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านภิภพกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระประทุมเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช เศกให้ ณ วันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1155 ปีชวด จัตวาศก

อุบลราชธานี จึงลงท้ายด้วย “ราชธานี” ด้วยถือเป็นประเทศราชในอดีต และใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Oum Sarawut
    ยอดเยี่ยมเรื่องความรู้
    07 ก.พ. 2564 เวลา 04.18 น.
  • sitthipong
    อดีตคีออดีต..เมัองในสยามมีหลายแห่งหลายวงศ์ เช่นเดียวกับหลายประเทศในอดีต ปัจจุบันคีอปัจจุบัน..
    17 ต.ค. 2564 เวลา 01.52 น.
ดูทั้งหมด