ไลฟ์สไตล์

กงล้อเพลง - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 19 ก.ค. 2563 เวลา 17.26 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เมื่อผมทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ในยุคต้น 1980 ตกเย็นมักจะไปเดินตามแผงลอย ซื้อเทปคาสเส็ตต์เพลง มีเพลงมากมายจากต่างประเทศให้เลือก ราคาม้วนละ 2.5 เหรียญสิงคโปร์ เท่ากับ 25 บาท (เวลานั้นอัตราแลกเปลี่ยน หนึ่งเหรียญเท่ากับสิบบาท)

เด็กยุคใหม่บางคนอาจไม่เคยได้ยิน ได้เห็นเทปคาสเส็ตต์ (Cassette tape) มันเป็นประดิษฐกรรมบันทึกเพลงก้าวถัดมาจากแผ่นเสียง 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เทปคาสเส็ตต์เป็นแถบเคลือบอนุภาคแม่เหล็ก เช่น พวก เหล็กออกไซด์ หรือโครเมียม ออกไซด์ สามารถอัดข้อมูลเสียงลงไปได้ เวลาใช้ก็ต้องมีเครื่องเล่น ฟังเรียงไปทีละเพลง สามารถกรอไปข้างหน้าหรือถอยหลังก็ได้ แต่ไม่สามารถเจาะจงเพลงได้

ฟังไปนาน ๆ เทปก็ยืด ผมเคยลืมเทปทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด มันโดนความร้อนอบจนหงิกงอ หมดราศีของเทปคาสเส็ตต์

จุดเปลี่ยนเกมเกิดขึ้นในปี 1978 วิศวกรของโซนีย่อขนาดเครื่องเล่นเทปคาสเส็ตต์ลงเหลือเท่าฝ่ามือ ใช้คู่กับหูฟังน้ำหนักเบา กลายเป็นเครื่องเล่นเทปคาสเส็ตต์แบบพกพาที่ให้เสียงดี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรียกว่า Walkman 

วอล์คแมนสร้างปรากฏการณ์ให้โลกดนตรี สามเดือนแรกที่วางตลาด ขายได้สามหมื่นเครื่อง และต่อมาก็กินส่วนแบ่งตลาดโลกราว 50 เปอร์เซ็นต์

สมัยนั้นภาพวัยรุ่นสวมหูฟัง พกพาวอล์คแมนไปไหนมาไหน เป็นเรื่องปกติ เช่นที่คนใช้สมาร์ตโฟนในวันนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่สรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอน เทคโนโลยีผลักเทปคาสเส็ตต์ตกเหว ขณะที่โลกเคลื่อนเข้าสู่ระบบ mp3 ไม่นานเกาหลีใต้ก็เสนอเวอร์ชั่นใหม่ของวอล์คแมน เป็นฉบับดิจิทัล เรียกว่า MPMan

วอล์คแมนเวอร์ชั่นดิจิทัลขายได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ดังมาก จนกระทั่งใครคนหนึ่งชื่อสตีฟ จ็อบส์ นำไอเดียเก่ามาแปลงโฉมใหม่ อย่างที่เขาถนัด ตั้งชื่อว่า iPod

iPod มาทีหลังเกาหลีสามปี แต่ประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะรองรับกับระบบสื่อสารทุกอย่าง และมีคลังเพลง iTunes Music Store เป็นฐาน

วิญญาณเทปคาสเส็ตต์ยังไม่ตาย แต่เปลี่ยนเปลือกไป !


ช่วงที่อยู่สิงคโปร์ นอกจากแวะเวียนแผงเทปคาสเส็ตต์แล้ว ก็ชอบไปสิงแถวร้านแผ่นเสียง

แผ่นเสียงเป็นจานกลมแบนที่มีร่อง มีหัวเข็มอ่านค่าเสียงจากร่องเหล่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงเพลงในยุคนั้นมั่นใจว่า มันเป็นคุณภาพเสียงเพลงที่ดีที่สุดในโลกา !

ก็ลงเอยด้วยการซื้อแผ่นเสียงซึ่งมีราคาสูงกว่า เทปคาสเส็ตต์มาก

เมื่อมีเทปคาสเส็ตต์และแผ่นเสียง ก็ต้องหาเครื่องเสียงไฮไฟสเตอริโอมาประดับตัว ชีวิตตอนนั้นจึงก็มีแต่เครื่องเสียง แผ่นเพลง เทปคาสเส็ตต์ วัน ๆ ศึกษาลำโพง แอมปลิฟลายเอร์ ฯลฯ

เวลาซื้อลำโพง ก็ซื้อขนาดใหญ่ ๆ ไว้ขู่คนเล่น

มาถึงยุคนี้ ลำโพงย่อขนาดลงไปมาก จนคนยุคหลังอาจจะงงว่า ทำไมลำโพงยุค 30-40 ปีก่อนจึงใหญ่ขนาดนั้น

ผมเก็บสะสมเทปคาสเส็ตต์ไว้หลายร้อยม้วน และแผ่นเสียงอีกมาก แต่ต่อมาก็บริจาคไปหมด เพราะหูไม่ถึง หรืออาจเพราะสิ้นกิเลสในเรื่องนี้ไปแล้ว


สัจธรรมของเสียงเพลงเกิดขึ้นอีก ในที่สุดแผ่นซีดีเพลงก็เข้ามาแทนที่แผ่นเสียง และไม่นาน ซีดีก็หายสาบสูญไปเช่นกัน วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เสียงเพลงเข้าสู่หลักธรรมเซนที่ว่า “โพธิ์นั้นไม่มีต้น กระจกเงาก็ไม่มี”

หากเช่าเพลงจากบริษัทสตรีมมิงเสียงเพลง ดนตรีก็เป็นไฟล์ไร้รูป ฟังผ่านสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์บางชนิด

เชื่อว่าวันหนึ่งในอนาคต เทคโนโลยีอาจสามารถฝังเสียงเพลงในสมองเรา ไร้รูปโดยสิ้นเชิง

กงล้อเพลงก็หมุนไปข้างหน้าอย่างนี้แหละ

ทว่าคล้ายรถโฟล์คเต่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยังไม่สิ้นลมหายใจ ยังมีกลุ่มคนที่หลงใหลอุปกรณ์ชนิดนี้ กลายเป็นของเก่าที่ได้ทั้งเสียงเพลงและอารมณ์โหยหาอดีต

พวกเขาอาจรู้สึกว่าเล่นดนตรีแบบไฟล์ดิจิทัลขาดมนต์เสน่ห์ของเครื่องเล่นแบบเก่า

บางครั้งเราก็ไม่ต้องความใหม่จนเกินไป เรายังต้องการสายใยที่ผูกเรากับรากเดิมของเรา


วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

ความเห็น 3
  • ทุกอย่างบนโลกใบนี้ ย่อมที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเสมอ.
    20 ก.ค. 2563 เวลา 09.49 น.
  • Pichai
    คนเราทุกคนพออายุมากขึ้นก็หวงหาอดีต ว่าแต่ว่านักเขียนไปเดินเล่น Golden Mile Complex (Thai Town) บ่อยไหม. มีทุกอย่างที่คุณต้องการ. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็มี (แต่เป็นฉบับสองวันก่อน)ส่งตรงมาจากหาดใหญ่
    20 ก.ค. 2563 เวลา 05.35 น.
  • สอง สิทธิมนต์
    แอบเป็นแฟนคลับมานานชอบการเขียนทุกแนวน่าติดตามครับ
    20 ก.ค. 2563 เวลา 00.57 น.
ดูทั้งหมด