พักจากการบ่นเรื่องโควิดไปก่อนแล้วกันเนอะ สำหรับบทความสัปดาห์นี้
เราขอเล่าให้ฟังถึงภาวะหยุดเขียนไม่ได้ (ที่ทางวิทยาศาสตร์เขาเรียกว่าเป็น ‘โรค’ แต่เราไม่ชอบเรียกอะไรว่าเป็นโรคเลย มันฟังดูเหมือนเป็นบาปกรรมตราหน้าเขายังไงไม่รู้)
ภาวะไม่สามารถหยุดตัวเองจากการขีดเขียนได้หรือไฮเปอร์กราเฟียนั้น เกิดจากความผิดปกติในส่วนของสมองที่ชื่อ Temporal Lobes ถ้าจินตนาการภาพก้อนสมองเป็นชั้นๆ ส่วนของ Temporal Lobes จะอยู่ชั้นเดียวกับช่วงตาลงมาถึงจมูก เป็นส่วนที่ละเอียดอ่อนมาก และทำงานโดยตรงกับเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ และส่วนของภาษาต่างๆ ในชีวิตเรา
ทีนี้ หากมีอาการผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับสมองส่วนนี้ เช่นมีอาการลมชัก ก็จะทำให้สมองส่วนนี้โดนทำลาย กลายเป็นความผิดปกติทางสมองที่ส่งผลถึงร่างกายบางอย่าง ตัวอย่างเช่น
การสูญเสียความควบคุม
อารมณ์ฉุนเฉียว ขึ้นลง แปรปรวนง่าย
มักรู้สึก เด-จา-วู หรือ ‘เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับฉันมาแล้ว’ ‘ฉันเคยมาที่นี่แล้ว’ ความรู้สึกคุ้นชินกับผู้คน/บางสิ่งบางอย่างบ่อยกว่าปกติทั่วไป
ความผิดปกติทางภาษา พูดช้าเกินปกติ สร้างประโยคสื่อสารไม่ได้ มีปัญหาในการเรียกสิ่งของต่างๆ
และแน่นอน ‘การเขียน’ ก็คือหนึ่งในทักษะทางภาษาเช่นกัน
เรารู้จักภาวะ Hypergraphia (ไฮ-เปอร์-กรา-เฟีย) นี้ครั้งแรก ตอนดูซีรี่ส์เรื่อง Hawaii Five-O เป็นซีรี่ส์แอคชั่น สืบสวน แล้วก็มีฉากนักข่าวคนหนึ่ง ที่ตามล่าผู้ต้องสงสัยคนนี้มานาน ในที่สุดนักข่าวก็โดนฆ่าซะก่อน! แล้วทีมงานก็ไปเจอห้องของนักข่าวคนนี้ ที่มีตัวหนังสือถูกขีดเขียนจนไม่เหลือที่ว่างเลย ตั้งแต่พื้นห้องไปจนถึงเพดาน เพราะนักข่าวคนนี้ได้ทิ้งร่องรอยปริศนาของผู้ต้องสงสัยเอาไว้ จนในที่สุดทีมงานก็จับตัวผู้ร้ายได้! และนักข่าวคนนี้ก็โดนวินิจฉัยว่าเป็นโรคไฮเปอร์กราเฟีย คือภาวะเสพติดการเขียนอย่างบ้าคลั่งจนไม่สามารถหยุดยั้งตัวเองได้นั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์เคยศึกษาอาการของคนที่มีภาวะไฮเปอร์กราเฟียนี้ โดยการบอกให้คนไข้ทุกคน ‘เขียนอธิบายสุขภาพของตัวเองช่วงนี้หน่อย’ เขาพบว่า คนทั่วไปก็จะเขียนมาประมาณ 100 คำ แต่คนที่มีภาวะไฮเปอร์กราเฟียนี้ มักเขียนมา 5,000 คำขึ้นไป!!
เหมือนอาการเสพติดอย่างอื่นนั่นแหละ คนที่ทรมานจากภาวะนี้บางคนก็บอกว่า
‘มันดูดกลืนชีวิตของฉัน ทำให้ฉันไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับเพื่อน คนรัก หรือครอบครัวของฉันได้เลย’
ในปี 1983 มีคนไข้คนหนึ่ง เป็นผู้หญิงวัย 50 ปี อยู่ดีๆ กล้ามเนื้อร่างกายด้านซ้ายก็เกิดอ่อนแรงขึ้นมา (เพราะเกิดจากความผิดปกติของสมองฝั่งขวา) อาการของเธอเริ่มจากไม่สามารถโฟกัสกับอะไรได้นาน และอาการไฮเปอร์กราเฟียของเธอก็เริ่มขึ้น เมื่อพยาบาลขอให้เธอเขียนที่อยู่บ้านให้หน่อย แล้วเธอก็เขียนที่อยู่บ้านทันทีแบบไม่ต้องหยุดคิด ทุกอย่างถูกเป๊ะ แล้วยังเขียนประโยคต่อไปอีกไม่ว่าจะเป็น ‘ฉันเป็นโรคนี้… รู้สึกเจ็บปวดทุกวันเหมือนเป็นบ้า คุณหมอของฉันชื่อว่า……’ เขียนอย่างไม่หยุด ไม่สนใจคนที่อยู่ข้างหน้าเธอ เหมือนทั้งโลกมีแค่เธอกับปากกาและกระดาษนี้ แต่การเขียนของเธอขยุกขยุยมากเริ่มจากขวามาซ้าย พอครึ่งทางก็เปลี่ยนจากซ้ายไปขวา แล้วข้อความบางส่วนก็มาซ้อนทับกันอยู่ตรงกลาง
พอพยาบาลให้กระดาษเธอเพิ่ม เธอก็เริ่มเขียนรายชื่อของหมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัดทุกคนที่เธอรู้จักในโรงพยาบาลนี้ออกมาอีกสามหน้ากระดาษ ทุกอย่างเกิดโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน และเธอไม่ได้รับคำแนะนำใดๆ ระหว่างการเขียนทั้งนั้น
นักเขียนชื่อดังในช่วงก่อนปี 2000 ที่ชื่อ อลิซ ฟลาเฮอร์ตี้ เธอมีอาการคลั่งการเขียนมาสักพักแล้ว แต่หลังจากการตายของลูกชายฝาแฝดของเธอ แทนที่เธอจะจมอยู่กับความเศร้าโศกหดหู่ ครอบครัวของเธอก็รู้สึกว่าเธอมีหัวสร้างสรรค์ (creativity) อย่างบ้าคลั่งมาก
‘มันเหมือนมีใครมากดเปิดสวิตช์ ทุกอย่างดูสำคัญไปหมด ฉันมีความจำเป็นต้องเขียนทุกอย่างที่อยู่ในหัวและถ่ายทอดใส่กระดาษไว้ตราบนานเท่านาน’
เธอเล่า
มันเริ่มจากเธอมักตื่นขึ้นมากลางดึก และเขียนทุกอย่างแปะไว้บนกระดาษโพสต์อิท มารู้ตัวอีกทีเธอก็ขีดเขียนเต็มแขนตัวเองเมื่อรถติด จนในที่สุดเธอก็ได้รับการวินิจฉัยด้วย ไฮเปอร์กราเฟีย จากนักประสาทวิทยาในเมืองแมสซาชูเสท
บางครั้ง ภาวะนี้ ก็ใช้เล่าถึงนักเขียนบางคนที่ทุ่มเทให้งานเขียนตัวเองมากๆ ทุกลมหายใจ
ใครก็ตามที่เป็นนักเขียน มักจะมีภาวะ ‘วิจารณ์ตัวเอง’ อยู่เสมอ ชอบคิดว่างานตัวเองจะดีพอมั้ย นักเขียนคนไหนที่มีภาวะไฮเปอร์กราเฟียนี้ เสียงวิจารณ์ตัวเองมันจะถูกปิดปากเงียบ ไอเดียหลั่งไหล เขียนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกอย่างมักมีค่าต่อการปะติดปะต่อเรื่องราวให้เป็นหนังสือที่ดีสักเรื่อง
นักเขียนชื่อดังอีกคนที่มีคนบอกว่าเขาก็มีภาวะไฮเปอร์กราเฟียอยู่เหมือนกัน
หลายคนน่าจะรู้จัก ถ้าเป็นแฟนหนังสยองขวัญ
เขาคนนั้นก็คือสตีเฟ่น คิง นั่นเอง
อาการต่างๆ ที่หลายคนรู้สึกว่ามันแปลก แต่คำว่าแปลกอีกนัยหนึ่งก็มองได้ว่ามีความมหัศจรรย์แฝงอยู่
วินาทีที่เรารู้สึก ว้าว กับภาวะนี้ ตอนนั้นแวบแรกที่เข้ามาก็คือ
‘โห ในชีวิตนี้จะรู้สึกเป็นเกียรติขนาดไหนนะ ถ้าเกิดภาวะนี้ขึ้นกับตัวเอง เราคงภูมิใจมากๆ ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งที่เสียสละให้กับแพชชั่นตัวเองขนาดนี้’
แต่แท้จริงแล้ว แรงบันดาลใจเดือดดาลบ้าคลั่งที่เคยคิดว่าเท่
มันคงไม่คุ้มเลยกับความทรมานในสภาวะจิตใจที่หาสมดุลความสงบให้กับตัวเองไม่ได้แบบนี้
.
.
.
.
.
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/articles/200705/quirky-minds-hypergraphia-river-words
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1029050/pdf/jnnpsyc00102-0066.pdf
https://www.nytimes.com/2004/01/11/books/the-last-word-just-do-it.html
https://www.neuroskills.com/brain-injury/temporal-lobes/
plzcallmetaeng คนที่มีอาการนี้เหมาะจะเป็นนักเขียนนะ
เอ๊ะ หรือว่าไม่เหมาะ ชักไม่แน่ใจแล้ว
06 พ.ค. 2563 เวลา 01.15 น.
คิดมากไปก็ไม่ดี ทำวันนี้ให้ถูกต้องเข้าไว้แค่นั้นก็พอ.
05 พ.ค. 2563 เวลา 21.49 น.
X+2X-Y=10....Y=? เปลี่ยนเป็นพิมพ์ได้หปะ เขียนไม่เป็นละ
05 พ.ค. 2563 เวลา 16.35 น.
⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀⠀ เขียนคำว่า "รัก" ก็ไก้นะ
05 พ.ค. 2563 เวลา 14.57 น.
ดูทั้งหมด