ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

LPN รีเฟรซแบรนด์ใหม่ จาก "คอนโดฯต่ำล้าน" ขวัญใจมนุษย์เงินเดือน สู่การเป็นแบรนด์ "พรีเมียมและมืออาชีพ"

Brandbuffet
อัพเดต 22 ม.ค. 2562 เวลา 08.12 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 08.12 น. • Brand Move !!

ปีนี้บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด​ (มหาชน) หรือ LPN จะมีอายุครบ 30 ปี ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดระเวลาที่ผ่านมาภาพจำของคนส่วนใหญ่ มอง LPN คือ ผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่าง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียก LPN ว่า “เจ้าพ่อคอนโดฯ​ ต่ำล้าน” เพราะในอดีตห้องชุดที่พัฒนาออกขายส่วนใหญ่ราคาไม่เกินห้องละ 1 ล้านบาท ระดับแพงขึ้นมาหน่อยก็ไม่เกิน 2-3 ล้านบาท เรียกได้ว่า LPN คือขวัญใจของ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ต้องการมีบ้านหลังแรกเป็นของตนเอง

แต่ในวันนี้ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว จนเอามาพัฒนาโครงการขายเหมือนในอดีตได้ยาก ไม่แค่เรื่องราคาเท่านั้น แต่ปริมาณก็จำกัด หาซื้อได้ยาก เมื่อดีมานด์กับซัพพลายไม่สมดุลกัน การพัฒนาคอนโดฯ ให้มีราคาต่ำกว่าล้านบาท มันไกลเกินความเป็นจริง หากจะทำให้ได้ก็ต้องขยับทำเลออกไปนอกเมือง แต่มันก็ไม่ใช่พื้นที่สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” จะไปอยู่  เพราะห่างไกลแหล่งงานขนาดนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

LPN จึงขอรีเฟรชแบรนด์ตัวเองใหม่อีกครั้ง หลังจากเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ได้สร้างภาพลักษณ์และการจดจำว่าเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” ไปสู่ภาพจำใหม่ กับโจทย์ของการเป็น “พรีเมียมและมืออาชีพ” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดตัวเองเฉพาะที่อยู่อาศัยเท่านั้น และการพัฒนาที่ยึดเอา “คน” เป็นศูนย์กลางในทุกเรื่องด้วย

คุณโอภาส ศรีพยัคฆ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เล่าว่า ในครั้งที่ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในช่วงปี 2549 LPN ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาโครงการภายใต้ “ชุมชนน่าอยู่” ซึ่งได้ว่าจ้างให้ “โอกิลวี่” เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อค้นหา DNA ความเป็นตัวตนแท้จริงของ LPN ว่าเป็นอย่างไร จนสามารถได้แนวคิดมาใช้ในดำเนินธุรกิจ และปรับเปลี่ยนองค์กร  มีการเปลี่ยนโลโก้ ยูนิฟอร์มพนักงาน  และ Positioning ของแบรนด์โครงการต่างๆ จนเกิดการยอมรับในกลุ่มลูกค้า ถึงความเป็นตัวตนของ LPN ในเรื่องของความเป็น “ชุมชนน่าอยู่” และใช้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เปลี่ยนใหม่” เพราะลูกค้าเปลี่ยนไป

คุณโอภาส เล่าอีกว่า เหตุผลสำคัญที่วันนี้ LPN ต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ เป็นเพราะกลุ่มลูกค้าสำคัญที่บริษัทโฟกัส และทำตลาดอยู่ คือ กลุ่มกลาง-ล่าง ภาวะตลาดชะลอตัวลง และได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาที่ดินราคาแพงขึ้นพัฒนาสินค้าออกมาให้รองรับกับกำลังซื้อไม่ได้  จึงต้องก้าวไปสู่ตลาดใหม่ที่มีโอกาสและศักยภาพมากกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดระดับกลาง-บน

การไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ภาพลักษณ์เดิมยังเป็นอุปสรรค จึงจำเป็นต้อง “รีเฟรชแบรนด์” โดยวางแผนมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ด้วยการจ้าง “แบรนด์บีอิ้ง” มาเป็นที่ปรึกษา ทำการศึกษาและวางแนวทางเดินหน้าของแบรนด์ว่าจะไปในทิศทางใด จนกระบวนการแล้วเสร็จในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภายใต้ตัวตนใหม่ของ LPN คือ “ความเป็นพรีเมียมและมืออาชีพ” และจะเริ่มปรับกระบวนการทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดในปีนี้  โดยมี “บีบีดีโอ” เข้าร่วมในการดำเนินการ ซึ่งมีทั้งการปรับโลโก้ใหม่ ชุดยูนิฟอร์มพนักงาน และอีกหลายเรื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำแผนว่าจะเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เพื่อลอนซ์ในปีนี้ แต่เริ่มต้นจากการสื่อสารให้กับคนในองค์กรได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก่อน”

การเปลี่ยนแปลงที่ได้เห็นแล้วของ LPN คือ การปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ จากรูปแบบเดิมที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มาสู่โลโก้ขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงสูง แสดงถึง การสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้านบนสุดของโลโก้ มีรูปวงกลมขนาดเล็ก หมายถึง “คน” ที่บริษัทให้ความใส่ใจ และเป็นศูนย์กลางธุรกิจของ LPN การปรับเปลี่ยนข้อความจากเดิม L.P.N. D EVELOPMENT” มาเป็น LPN DEVELOPMENT GROUP” เพราะมีการเพิ่มธุรกิจด้านบริการและรับบริหารโครงการเข้ามาอีกหนึ่งขาสำคัญในการสร้างรายได้ คือ LPP PROPERTY MANAGEMENT จากเดิมที่พัฒนาโครงการเพื่อขายอย่างเดียว

สำหรับคอนเซ็ปต์ใหม่ จะไม่ได้อยู่ภายใต้แนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” เหมือนอดีตที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันการพัฒนาโครงการต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่จะพัฒนาไปในโครงการรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน  จึงตัดคำว่า “ชุมชน” ออก เหลือเพียงคีย์หลักคำว่า “น่าอยู่” เพาะต้องการรักษาแนวคิดดีๆ เอาไว้ และจะนำไปใช้กับการพัฒนาสินค้าอื่นต่อไป ไม่ว่าจะเป็น “บ้านน่าอยู่” หรือ “ออฟฟิศน่าอยู่” โดยให้ความสำคัญกับ “คน” ยึดคนเป็นศูนย์กลางในทุกเรื่อง หรือ Human centric

“เหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  เป็นเพราะเวลาเปลี่ยนผู้บริโภคเปลี่ยน เราต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคสู่ความเป็นมืออาชีพและพรีเมียม  แต่ LPN ยังเป็นบริษัทที่มี Passion ในการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้”

ตลาดอสังหาฯ สู่ภาวะ “ถดถอย”

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ LPN ต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายการทำตลาดใหม่  คือ เป็นเพราะตลาดอสังหาฯ เข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” โดยเห็นสัญญาณมาล่วงหน้า 2 ปีแล้ว จากประสบการณ์ในธุรกิจมา 30 ปี ผ่านเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ คือ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540  ซึ่งทำให้ธุรกิจการเงิน​ “ล้มและพัง” ลง  ธุรกิจอสังหาฯ จึงขาดแหล่งเงินทุนสำคัญไป  มีบางโครงการยังขาดเงินทุนมาพัฒนาโครงการต่อเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น แต่สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้ได้ โครงการจึงต้องหยุดชะงักลง กลายเป็นโครงการร้างในที่สุด

คุณโอภาส มองว่า สถานการณ์หลายอย่างที่เคยเกิดในอดีต เริ่มจะวนกลับมาเป็นวงจรเดิมของธุรกิจอีกครั้ง มีหลายสถานการณ์ส่อแววความน่าเป็นห่วง ซึ่งส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่คงไม่ถึงขั้นกับฟองสบู่แตกเหมือนในอดีต ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว  มีทั้งเรื่องการปรับขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย แพงขึ้นอย่างมาก จนกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศซื้อไม่ได้ ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ไปพึ่งพาตลาดต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน ซึ่งเอาเข้าจริงกลุ่มลูกค้านี้ก็น่ากังวลว่าจะเป็นดีมานด์เทียม หนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น จนธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ส่งสัญญาณเตือนให้ระมัดระวัง

“เราพูดกันในบริษัท เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จริงๆ คุยกันตั้งแต่แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ถึงสถานการณ์วิกฤตปี ‘40 จนถึงปัจจุบัน ที่เริ่มส่งสัญญาณบางอย่าง เริ่มไม่สดใสเหมือน 4-5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันขายคอนโดฯ ขายกันไม่ต่ำกว่าตารางเมตรละแสนบาทแล้ว LPN  พัฒนาออกมาขาย 60,000-70,000 บาทต่อตารางเมตร ขนาดห้อง 25 ตรม ราคาขายประมาณ 1.8 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 14,000 บาท คนจบมาใหม่ก็ไม่สามารถซื้อได้แล้ว ซึ่งลูกค้ากลุ่มใหญ่คือกลุ่มคนเริ่มทำงาน แต่ก็ซื้อไม่ได้แล้ว ปัจจุบันราคาถูกสุดก็ห้องละกว่า 2 ล้านบาท”

ไปต่ออย่างไร ในวันที่ปัจจัยลบรุมล้อม

แผนธุรกิจสำคัญของ LPN ในปี 2562 ที่เป็น Next Move สำคัญฟันฝ่าปัจจัยลบต่างๆ ได้แก่

1.ปรับพอร์ตพัฒนาโครงการใหม่ เพิ่ม “ออฟฟิศ”

แผนการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ รวม 16 โครงการ มูลค่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 10 โครงการ มูลค่า 8,000 ล้านบาท  โครงการคอนโดฯ 6 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท  ซึ่งจะมีโครงการอาคารสำนักงานเพื่อขาย หรือ Office condo 2 โครงการ ภายใต้แบรนด์ ลุมพินี ทาวเวอร์ ย่านวิภาวดี เป็นอาคารขนาดความสูง 20 ชั้นขึ้นไป ราคาขายตารางเมตรละ 1 แสนบาทขึ้นไป อีกโครงการจะอยู่ภายใต้โครงการมิกซ์ยูสย่านถนนนราธิวาส

แม้ว่าธุรกิจอสังหาฯ​ ในประเภทที่อยู่อาศัย จะไม่สดใส แต่ในฐานะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ เชื่อว่าจึงเป็นแหล่งในการทำธุรกิจ  เห็นได้จากเกิดโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ ซึ่งมีส่วนพื้นที่สำนักงานรวมอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบให้เช่า เหมาะสำหรับบริษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานมาจากต่างประเทศ  ส่วนนักธุรกิจคนไทยมีความต้องการซื้อมากกว่าเช่า เพราะรู้สึกว่าการเช่าเสียเปล่า โครงการที่ LPN พัฒนาออกมาน่าจะตอบโจทย์คนไทย และธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการได้สำนักงานมาตรฐานสากล

2.ขยายตลาดบน กระจายความเสี่ยง

แม้ว่าฐานลูกค้าหลักของ LPN คือ กลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง แต่จากสถานการณ์ปัจจัยลบรอบด้าน ที่สำคัญหนี้ครัวเรือยังสูง และต้นทุนที่ดินปรับเพิ่มอย่างมาก ทำให้ต้องปรับพอร์ตการพัฒนาโครงการมุ่งสู่ตลาดระดับกลาง-บน เพราะมีกำลังซื้อมากกว่า ปีนี้จึงมีการพัฒนาโครงการระดับบนเพิ่ม โครงการแนวราบแบรนด์ BAAN365 ขายในราคา 15-20 ล้านบาท โครงการคอนโดฯ แบรนด์ ซีเล็คเต็ด ราคาขายตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป แต่โครงการจับตลาดกลาง ยังคงมีให้เห็น เพราะ LPN ยังต้องการรักษาฐานลูกค้าเหล่านี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ลุมพินี วิลล์  ที่ขายระดับราคา 1.2-1.5 ล้านบาท แบรนด์ลุมพินี เพลส ขายระดับราคา 2-3 ล้านบาท

*3.ลดสต็อก ปรับสินค้า “ให้เช่า” *

ปัจจุบัน LPN มีสต็อกคอนโดฯ​ ประมาณ 5,000-6,000  หน่วย ซึ่งมีระดับราคาเฉลี่ยไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 7,000 ล้าน ที่พร้อมจะนำมาปรับจากรูปแบบการขาย มาสู่การเช่าได้ทันที เพื่อทำให้เกิดเป็นรายได้เข้าสู่บริษัทเฉลี่ย 6-7%

*4.ลุยธุรกิจบริการ สร้างรายได้อีกทาง *

LPN ได้เริ่มให้ความสำคัญต่อธุรกิจบริการมาตั้งแต่ปี 2560 เพราะมองว่าความยั่งยืนของธุรกิจ จะต้องมาจากความหลากหลายของรายได้ ทั้งการพัฒนาอสังหาฯ ธุรกิจบริการ  จึงเพิ่มธุรกิจการบริหารชุมชน รับบริหารโครงการภายนอกบริษัท  ภายใต้บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) ปัจจุบัน  LPN มีรายได้จากธุรกิจบริการ สัดส่วน 15%

“แผนธุรกิจปีนี้เป็นแผนต่อเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามกระจายฐานรายได้ ​ออกเป็นหลายๆ ขาเพื่อลดความเสี่ยงด้านรายได้ ใน 3 ปีนี้เราจะพยายามรักษารายได้จากการสร้างและขายคอนโดฯ ปีละหมื่นล้านบาท และจะไปโตในโครงการบ้านอย่างน้อย 50% ของโครงการคอนโดฯ ส่วนรายได้จากการธุรกิจอื่นๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น”

ส่วนเป้ายอดขายปีนี้คาดว่าจะทำได้ 16,000 ล้านบาท และทำรายได้รายได้ 12,000 ล้านบาทมาจากคอนโดมิเนียม 9,000 ล้านบาทและบ้านแนวราบ 3,000 ล้านบาท ถือเป็นอัตราการเติบโต 15-20%  จากปีที่ผ่านมา ที่นับว่าท้าทายพอสมควรเลยทีเดยว

ดูข่าวต้นฉบับ