ไลฟ์สไตล์

ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่

ไทยโพสต์
อัพเดต 17 ธ.ค. 2561 เวลา 05.25 น. • เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2561 เวลา 05.25 น. • ไทยโพสต์

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

     เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดย 75 ศิลปินระดับนานาชาติมาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะเนรมิตสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด "Beyond Bliss" หรือ "สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต" ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวกรุงและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่เริ่มแสดงงานช่วงเดือน ต.ค.เป็นต้นมา หลังจากนั้นก็มีการจัดกิจกรรมเป็นระยะๆ     ล่าสุดได้มีการเสวนาและบรรยายพิเศษ BAB TALK #22 โดยเชิญคณะภัณฑารักษ์ ศิลปินไทย นักวิชาการ นักเขียนศิลปะ คอลัมนิสต์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้ร่วมกันพูดคุยกันถึงวงการศิลปะ และการจัดเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ภายใต้หัวข้อ “Why BAB?” ทำไมต้อง BAB 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บรรยากาศบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่หอศิลป์ กทม.     ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการ และผู้อำนวยการศิลป์บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดงานเบียนนาเล่ขึ้น ซึ่งไม่ใช่การจัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของศิลปินและกลุ่มคนทำงานศิลปะเท่านั้น แต่เป็นการจัดขึ้นมาเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน นั่นก็คือกลุ่มผู้ชม นักท่องเที่ยว เพราะเดิมทีศิลปะอยู่แต่ในพื้นที่แคบๆ งานนี้ก็เป็นงานที่ขยายขอบเขตออกไปกว้างมากขึ้นตามสถานที่สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ สอดแทรกเรื่องของวัฒนธรรมผสานกับความร่วมสมัย ซึ่งการจัดเบียนนาเล่ได้จัดควบคู่กับกิจกรรม BAB TALK เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนในแวดวงศิลปะไทย เปิดโอกาสให้ศิลปินได้มาพูดคุยแนวคิดต่างๆ และเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ หลายคนคงทราบว่าประเทศไทยมักจะถูกปลูกฝังมาตลอดว่า “ศิลปะดูยาก” “ศิลปะดูไม่รู้เรื่อง” ซึ่งคนที่พูดว่าศิลปะดูไม่รู้เรื่องนั้นเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่เขาคือผู้มีอำนาจพอที่จะบอกกับคนอื่นว่าศิลปะเข้าใจยากเท่านั้น เพราะดูไม่เป็น เราจึงต้องปรับทัศนคติใหม่ให้รู้สึกว่าศิลปะสื่อสารได้ ฉะนั้น BAB TALK จึงสำคัญ     ศ.ดร.อภินันท์กล่าวอีกว่า ในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มีศิลปินชื่อดังหลายชีวิตมาร่วมสร้างสรรค์งาน ซึ่งกว่าจะขับเคลื่อนงานให้อยู่ตามสถานที่ต่างๆ เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะต้องตระหนักเรื่องของขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของแต่ละสถานที่ด้วย ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมเทศกาลนี้ก็ให้ความสนใจมาก รวมไปถึง Phara Williams ศิลปินแรปเปอร์ โปรดิวเซอร์ ชื่อดังระดับโลกยังพาครอบครัวมาดูงานที่นี่ นั่นแสดงให้เห็นว่าชาวต่างชาติเขาให้ความสนใจกับงานนี้ ถ้านับเฉพาะ 3 อาทิตย์ที่ผ่านมามีผู้ชมมาร่วมชมงานประมาณ 79,000 คน คิดว่าคือปรากฏการณ์สำคัญในประเทศไทยเลยก็ว่าได้และคิดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอีก 

BAB TALK #22 เชิญภัณฑารักษ์ ศิลปินไทย นักวิชาการ นักเขียนศิลปะที่อยู่เบื้องหลังบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ พูดคุย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

    ด้าน ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ทำให้หลายๆ คนได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ เวลาไปชมงานศิลปะต้องไปตามหอศิลป์ แกลลอรี ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะไป แต่เมื่อมีงานเบียนนาเล่มาก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคนตั้งแต่วัด โรงแรม แหล่งช็อปปิ้ง ในฐานะที่ตนอยู่วงการนี้นึกไม่ถึงเลยว่าจะเกิดขึ้นได้ ทั้งยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นอย่างไรในกรุงเทพฯ แต่พอทราบว่างานที่ อ.อภินันท์จัดส่วนใหญ่มักจะนำเอาความเป็นวัฒนธรรมเข้ามาสอดแทรก ซึ่งภาพที่ปรากฏก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ หลายๆ แห่งได้ผสานความเป็นวัฒนธรรมลงไปตามมุมมองของศิลปิน ตนก็มีส่วนหนึ่งในการร่วมจัดงานครั้งนี้ตอนแรกไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะพื้นที่บางแห่งค่อนข้างจำกัด แต่ไม่ได้หมายถึงจำกัดขนาดพื้นที่ แต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมที่ค่อนข้างสูง เช่น วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ แน่นอนว่ามีเรื่องราวที่ต้องระวังหลายด้าน แต่เท่าที่เคยไปชมงานเบียนนาเล่ของต่างประเทศ เขาไม่ได้อยู่ในภาวะโจทย์ที่ยากเหมือนเรา เมื่อทำเสร็จจึงรู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจ ครั้งหนึ่งเราก็ได้มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ

 

ศิลปะถูกผนวกเข้ากับวัดวาอาราม      ขณะที่ รศ.ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ศิลปิน, อาจารย์สอนศิลปะ และนักเขียน อีกหนึ่งบุคคลที่อยู่เบื้องหลังงาน กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไป จากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงศิลปะร่วมสมัยในกรุงเทพฯ ไปแล้ว เพราะเมื่อก่อนศิลปะยังจำกัด เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในสังคม แต่ทุกวันนี้เกิดการขยายและมีคนให้ความสนใจมากขึ้น ศิลปินหลายท่านมีความฝันที่อยากจะให้กรุงเทพฯ มีงานเบียนนาเล่สักครั้ง ตนก็คิดว่าสภาวะแวดล้อมบ้านเรานั้นมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลง หรือทำให้เกิดปรากฏการณ์อะไรใหม่ๆ ได้ ซึ่งถือว่างานนี้คืองานสำคัญ และที่ได้ยินหลายคนบอกว่าศิลปะร่วมสมัยดูยาก เข้าถึงยาก ตนคิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ยาก ถ้าเราใช้ความคุ้นเคย อย่างหนัง ละคร ดูง่ายเพราะเบื้องหลังผ่านมาหลายขั้นตอนทั้งการคิด ถ่ายทำ ตัดต่อ หรือจะเป็นดนตรีแจ๊สที่บางทีก็เข้าไม่ถึง ซึ่งยากกว่าศิลปะอีก แต่ด้วยความที่สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในทุกช่วงเวลาของมนุษย์ เราฟังเพลงทุกวันวันละร้อยเพลง ดูหนังวันละเรื่อง แต่งานศิลปะไม่ได้อยู่ในชีวิตเราบ่อย อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ศิลปะร่วมสมัยครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ใกล้ชิด และสัมผัสกับงานศิลป์ เพราะงานทุกชิ้นคือศิลปะแบบอินเทอร์แรคทีฟ ทุกคนมีส่วนร่วมได้ และคิดว่าเมื่อจบงานนี้แล้ว ในปีต่อๆ ไปก็จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน     ชมงานศิลปะร่วมสมัยที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่อันหลากหลาย ทั้งอาคารประวัติศาสตร์, วัดสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา, งานศิลป์ในห้างสรรพสินค้า, เปิดพื้นที่ใหม่ใจกลางเมือง ที่ One Bangkok และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตามแนวคิด "Beyond Bliss" หรือ "สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต"

 

ดูข่าวต้นฉบับ