ทั่วไป

บุหรี่ ยาสูบ กับความมั่งคั่งของพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

MATICHON ONLINE
อัพเดต 24 มี.ค. 2566 เวลา 07.26 น. • เผยแพร่ 24 มี.ค. 2566 เวลา 06.24 น.

ภาพงานเลี้ยงฉลองวันเกิดของด่อ หล่า เตง (Daw Hla Thein) เจ้าของโรงงานยาสูบเจ้าดังแบรนด์ โจ เตง (Gyo Thein) ไม่ได้เป็นที่ฮือฮาในสังคมพม่าเท่านั้น แต่ยังเรียกความสนใจให้คนไทยด้วย ไม่เพียงงานเลี้ยงวันเกิดของ “อานตี้” วัย 90 ปีรายนี้จะหรูหราเป็นพิเศษ มีดาราและเซเลบมากมายมาร่วมงาน และเจ้าของงานเองจะแต่งตัวเต็มยศด้วยผ้าไหมลุนตยาโทนเหลืองทองอย่างดี สร้อยคอเส้นใหญ่ประดับด้วยมรกตเม็ดเป้งไม่ต่ำกว่า 20 เม็ด ยังไม่นับแหวนเพชร และเครื่องประดับอีกมากมาย ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ อานตี้ หล่า เตง เดินทางมาถึงงานด้วยรถยนต์โรลส์รอยซ์ แฟนธอม ราคาราว 53.5 ล้านบาท

คำถามที่ตามมามากมายคือด่อ หล่า เตงเป็นใคร เธอเป็นเพียงเจ้าของโรงงานยาสูบธรรมดาๆ มิใช่หรือ เหตุใดจึงดูร่ำรวยราวกับเป็นเจ้าของบริษัทระดับโลก?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องแรกที่เราต้องทำความเข้าใจคือสำหรับคนพม่านั้น การอวดร่ำอวดรวยถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาถือคติว่าถ้ารวยก็ต้องโชว์ให้โลกเห็น เราจึงเห็นคนพม่าไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีจริงหรือชนชั้นกลางธรรมดาใส่สร้อยทองประดับอัญมณีไปโชว์ตัวตามงานมงคลต่างๆ แบบจัดเต็ม แม้แต่สะยาด่อ หรือพระสงฆ์รูปดังๆ ก็นั่งโรลส์รอยซ์ แฟนธอม โดยไม่ต้องมานั่งเกรงใจสังคมว่าจะเกิดข้อครหา หรือเป็นขี้ปากให้คนนินทา

ประเด็นต่อมา คนพม่าไม่มีความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของตนเอง คนพม่าส่วนมากจึงเลือกเก็บทรัพย์สินในรูปแบบของทอง อัญมณี หรืออสังหาริมทรัพย์ น้อยมากที่จะเก็บเงินสด เนื่องจากพม่าเคยผ่านยุควิกฤตการเงินมาหลายครั้ง เคยแม้กระทั่งเงินที่เก็บมาตลอดชีวิตต้องสูญไปเพราะรัฐบาลประกาศเลิกใช้ธนบัตรบางชนิดแบบกลางอากาศ

และประเด็นสุดท้าย นักธุรกิจในพม่า ที่เป็นระดับรองลงมา ไม่ใช่นักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สุดกับกองทัพ น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากรัฐประหาร ส่วนหนึ่งเพราะคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเป้าสายตาของประเทศตะวันตก ไม่ได้โดนคว่ำบาตร และอีกประเด็นหนึ่งคือบริษัทขนาดกลางๆ ไปถึงใหญ่เหล่านี้ยังสามารถดำเนินกิจการของตนเองได้ต่อไป ไม่ว่าการเมืองภายในพม่าจะไปในทิศทางใดก็ตาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เหตุใดเจ้าของโรงงานยาสูบพม่า หรือที่เรียกว่า เซบอเล่ะ (ภาษาพม่า) หรือ cheroot (ภาษาอังกฤษ) จึงเป็นมหาเศรษฐีได้ คำตอบคือนับตั้งแต่ยุคอาณานิคม ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่อังกฤษเข้าไปสนับสนุนให้คนพื้นเมืองปลูก ในยุคที่บุหรี่และซิการ์ได้รับความนิยมในวงกว้าง และยังไม่มีการค้นพบเรื่องผลกระทบของยาสูบที่มีต่อสุขภาพดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้น ใบยาสูบจึงเป็นพืชที่มีปลูกกันทั่วไปในเขตศูนย์สูตร ตั้งแต่ทางตอนกลางของพม่า ในมณฑลมัณฑะเลย์และมณฑลมักก่วย (Magwe) ไปจนถึงหมู่เกาะน้อยใหญ่ในอินโดนีเซีย

จนถึงปัจจุบัน แม้ทั่วโลกจะให้การยอมรับว่าใบยาสูบมีส่วนในการก่อมะเร็งและโรคอื่นๆ และพม่าเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเพื่อกำหนดกรอบการควบคุมยาสูบแห่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization Framework Convention on Tobacco Control หรือ WHO FCTC) และนำกฎหมายควบคุมใบยาสูบมาใช้ตั้งแต่ปี 2006 แต่วัฒนธรรมการสูบยา (ที่เรียกว่า เซ-เต้า หรือแปลตรงตัวว่า ดื่มยา) ยังคงเป็นที่นิยมแพร่หลายในพม่า

ในอันที่จริง พม่าไม่ใช่ผู้ปลูกใบยาสูบที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ผลิตใบยาสูบมากที่สุด สูงถึง 2 แสนตัน ในขณะที่ฟิลิปปินส์และไทยมาเป็นอันดับ 2 และ 3 ผลิตได้ 56,000 และ 39,000 ตันต่อปี ตามลำดับ ความนิยมบริโภคใบยาสูบในพม่าไม่ได้จำกัดเฉพาะการบริโภคแบบสูบ ในรูปของบุหรี่มวน หรือซิการ์แบบพม่า แต่ยังนิยมเคี้ยวเปล่าๆ หรือเป็นส่วนผสมในหมากพลูที่ใช้เคี้ยวเป็นคำๆ ด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อุตสาหกรรมใบยาสูบในพม่าเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลทหารมายาวนาน ภายใต้คณะกรรมการ People’s Cigarette Industry Management Committee และ Myanmar Singapura United Tobacco Co Ltd (MSU) ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยาสูบเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัท ได้แก่ JV-Myanmar Foodstuff Industries และ Singapore United Tobacco ตั้งขึ้นตั้งแต่ 1992 อีกสองบริษัทที่มีบทบาทมาจนปัจจุบันคือ British American Tobacco (BAT) ซึ่งเพิ่งลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยาสูบมากถึง 50 ล้านเหรียญ และเป็นผู้นำตลาดภายในประเทศ อีกหนึ่งบริษัทขนาดใหญ่คือ Japan Tobacco International (JTI) เป็นบริษัทข้ามชาติ แต่หันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยาสูบเพื่อป้อนตลาดภายในพม่ามากขึ้น

แม้จะมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาสูบในพม่าหลายแห่ง แต่ก็ยังมีช่องว่างทางการตลาดที่เปิดให้ผู้ผลิตรายย่อยเติบโต แม้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ครอบครัวนักธุรกิจเก่าแก่ที่ขายบุหรี่พม่าเริ่มลดบทบาทลง เพราะความนิยมบุหรี่ดั้งเดิมลดลง แต่ด้วยบุหรี่แบบพม่ายังคงมีราคาถูก และยังเป็นที่นิยมในบรรดาผู้ใช้แรงงาน (ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย) ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบดำเนินต่อไปได้

ลองนึกกันเล่นๆ ว่า ด่อ หล่า เตง เป็นเพียงเจ้าของโรงงานผลิตบุหรี่รายย่อย แต่เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐินี (ภาษาพม่าเรียกว่า “ตะเท”) หรือไฮโซคนหนึ่งของสังคม แล้วบรรดาเจ้าของบริษัทร่วมทุนยาสูบทั้ง 4 อันดับแรกจะมีรายได้มหาศาลเพียงใด เรื่องของ ด่อ หล่า เตง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของครอบครัวเก่าแก่ในพม่า ที่สะสมทุนและเจริญเติบโตขึ้นมาจากเศรษฐกิจที่เจริญสูงสุดในยุคอาณานิคม แม้ในปัจจุบัน ผลิตผลทางการเกษตรหลายอย่างที่เคยเป็นรายได้หลักของพม่าจะไม่ได้เป็นรายได้หลักของประเทศอีกต่อไปแล้ว แต่หลายตระกูลพ่อค้าก็ยังมีหน้ามีตาอยู่ในสังคมและยังเป็นที่เคารพของคนในท้องถิ่น ต่างกับนักธุรกิจกลุ่มใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นมาเพราะสายสัมพันธ์พิเศษกับกองทัพ เริ่มตั้งแต่ยุคเน วิน และมาเจริญถึงขีดสุดในยุค SLORC ต่อ SPDC นักธุรกิจ หรือ “โครนี่” กลุ่มหลังนี้ไม่ได้เป็นตระกูลเก่าแก่ แต่เจริญรุ่งเรืองจากการทำธุรกิจสีเทาๆ กับกองทัพพม่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือการทำธุรกิจผิดกฎหมาย

ดูข่าวต้นฉบับ