ไลฟ์สไตล์

‘ดาราเด็ก-ไอดอลอายุน้อย’ สนับสนุนอย่างไร ไม่ให้เป็นการส่งเสริมความใคร่เด็ก

The Momentum
อัพเดต 29 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. • เผยแพร่ 29 ธ.ค. 2565 เวลา 03.00 น. • พิมพ์ชนก โรจนันท์

การที่เราชื่นชอบดาราเด็กหรือไอดอลอายุน้อย ถือเป็นการสนับสนุนแนวคิดแบบใคร่เด็ก (Pedophilia) หรือไม่?

ตอนที่ บริตนีย์ สเปียร์ส (Britney Spears) ออกผลงานแรกในเพลงBaby One More Time เธอเป็นเยาวชนอายุราว 16-17 ปี แต่งกายด้วยชุดกระโปรงสั้น เสื้อเอวลอย พร้อมทรงผมถักเปียสองข้าง ร้องเพลงที่ให้ความรู้สึกเย้ายวน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เช่นเดียวกันกับ โบอา (BoA) นักร้องสาวชื่อดังชาวเกาหลีใต้ ที่เริ่มต้นการเป็นนักร้องตั้งแต่อายุ 13 ปี ปัจจุบันเธออยู่ในวงการมาแล้วกว่า 20 ปี เป็นบุคคลที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงตั้งแต่เด็กจนโต

หรือฟูจิโมโต ซาระ (Fujimoto Sara) อดีตสมาชิกของวงไอดอลญี่ปุ่น AKB48 ซาระเข้ามาเป็นสมาชิกวงด้วยวัยเพียง 10 ปี ซึ่งหากเทียบจากวัยแล้ว เธอยังคงเรียนอยู่ชั้นประถมเท่านั้น

หลายคนคงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมป็อป (Pop Culture) ในอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งแบบตะวันตก ไปจนถึงวัฒนธรรมป็อปฝั่งเอเชียที่โดดเด่น อย่าง J-POP จากญี่ปุ่น ซึ่งโด่งดังในเรื่องอนิเมะและมังงะ หรือ K-POP ของเกาหลีใต้ที่ได้เติบโตในระดับสากลมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 10 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วัฒนธรรมป็อปถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่แต่กลับทรงอิทธิพล ไม่ใช่เพียงในแง่ของความบันเทิง แต่ยังส่งผลต่อการสร้างค่านิยมและมาตรฐานหลายๆ อย่าง ซึ่งในบางครั้งมาตรฐานที่ว่าอาจเป็นปัญหา และหลายปัญหาก็ยังไม่ถูกมองเห็นเท่าที่ควร

หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก หรือ ‘Child Labour’

ภายใต้หน้ากากของอุตสาหกรรมบันเทิง อาชีพดาราเด็กถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ ที่แม้ว่าจะน่าชื่นชมในเรื่องความสามารถ แต่วัยเด็กก็ยังคงไม่ใช่วัยที่เหมาะสมกับการทำงานอยู่ดี หากในชีวิตประจำวันเราพบเห็นเด็กๆ ต้องออกมาทำงานแบบผู้ใหญ่และสูญเสียวัยเด็กที่พวกเขาควรมีอย่างเต็มที่ไป มันก็คงดูเป็นเรื่องไม่ปกตินัก แต่การทำงานของเด็กในวงการบันเทิงกลับไม่ได้ถูกตั้งคำถามสักเท่าไร แม้ปัญหาจากประเด็นนี้จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดก็ตาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การตกเป็นเหยื่อของพวกเป็นโรคใคร่เด็ก (Pedophilia) อันหมายถึงผู้ใหญ่ที่มีความต้องการทางเพศกับเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ ซึ่งก็คือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี รวมถึงอีกประเภทคือผู้ใหญ่ที่ชอบเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (Minor) ถือเป็นอีกปัญหาที่ดาราเด็กต้องเผชิญ ที่สำคัญคือเด็กๆ อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา ด้วยความที่ว่าพวกเขายังคงเป็นเด็กนั่นเอง

ไอดอลที่มีภาพลักษณ์ดูเป็นผู้ใหญ่เกินกว่าวัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ใสซื่อของเด็ก, นางแบบเด็กกับการใส่เสื้อผ้าวาบหวามเพื่อเปิดเผยเรือนร่างที่ยังโตไม่เต็มที่, ภาพยนตร์ซึ่งเล่าถึงความรักของเด็กหนุ่มวัย 15 กับหญิงสาววัย 30 ฯลฯ ผลผลิตที่ดูป็อปเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่แฝงไว้ซึ่งการทำให้เด็กกลายเป็นวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) และนำมันมาสร้างผลกำไร

ในญี่ปุ่นมีศัพท์ดังคำหนึ่งที่เรียกกันว่า โลลิคอน (Lolicon) เอาไว้พูดถึงผู้ชายที่มีความรู้สึกเชิงชู้สาวหรือเสน่หาเด็กผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี หรือน้อยกว่านั้น จนถึงไม่เกินอายุ 20 ปีเท่านั้น โดยคำนี้มีที่มาจากหนังสือเรื่องLolitaเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายที่อายุมากที่มีความรู้สึกเสน่หากับเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเข้าข่ายพฤติกรรมใคร่เด็ก

นอกจากนี้ โลลิคอนยังหมายถึงตัวการ์ตูนผู้หญิงที่มีความเป็นเด็กสูงแต่ก็มีความเซ็กซี่ด้วย ซึ่งในวัฒนธรรม J-Pop ตัวการ์ตูนที่ตรงตามลักษณะแบบโลลิคอนถือว่าได้รับความนิยม สามารถพบเห็นได้เป็นปกติในมังงะและอนิเมะหลายเรื่อง

สำหรับวงการ K-POP มีกรณีของ ‘มินฮีจิน (Min Heejin)’ ที่หลายคนอาจเคยเห็นชื่อเธอในฐานะผู้ก่อตั้งค่าย HYBE ของวงเกิร์ลกรุ๊ป NewJeans ซึ่งกำลังเป็นที่รู้จักในช่วงนี้ ซึ่งนอกจากเรื่องความสามารถในการทำงาน ฮีจินยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมใคร่เด็กจากหลายๆ กรณี เช่น ครั้งหนึ่งเธอได้อัปโหลดรูปภาพสตูดิโอของเธอผ่านทางอินสตาแกรม ปรากฏว่าในสตูดิโอนั้นมีภาพผลงานจากภาพยนตร์เรื่องSalon Kitty, Le Farò de Padreและแผ่นเสียง Histoire De Melody Nelsonทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เป็นเรื่องราวของความรักที่ไม่อาจหักห้ามใจระหว่างชายมีอายุและเด็กสาวผู้ไร้เดียงสา

내가 만든 쿠키

คุกกี้ที่ฉันทำ

Come and take a lookie

เข้ามาดูใกล้ๆ สิ

우리 집에만 있지 놀러 와

คุกกี้นี้มีแค่ที่บ้านฉัน มาหาฉันสิ

얼마든지 굽지

ฉันจะทำคุกกี้ให้เท่าที่เธอต้องการเลย

ด้านบนคือเนื้อเพลง Cookie ของวง NewJeans ที่ฮีจินดูแลอยู่ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความหมายเพลง ที่แม้จะดูไม่หยาบคายอะไร และเธอเองก็ปฏิเสธทุกคำกล่าวหา แต่ก็น่าพิจารณาว่าเหมาะสมจริงๆ หรือไม่ที่จะให้สมาชิกวง NewJeans ซึ่งมีอายุระหว่าง 14-18 ปี ให้เป็นผู้ที่ได้ขับร้องเนื้อหาดังกล่าว

เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน และแบบใดจึงจะไม่เป็นการส่งเสริมความใคร่เด็ก

เมื่อวัฒนธรรมป็อปและอุตสาหกรรมดาราเด็กยังคงดำเนินไปพร้อมกัน และเราก็อยากที่จะสนับสนุนให้เหล่าดาราเด็กได้ทำตามความตั้งใจต่อไป ในฐานะผู้เสพสื่อ สิ่งที่ทำได้อาจเป็นการชื่นชอบไปพร้อมๆ กับการตรวจสอบว่าสื่อที่เรากำลังเสพมีปัญหาในตัวเองหรือไม่ เด็กที่เราเอาใจช่วยนั้น เขาได้ทำในสิ่งที่ตนต้องการโดยที่รู้เท่าทันหรือเปล่า

หากพบว่ามีการทำให้เด็กกลายเป็นวัตถุทางเพศ (Sexualize) เราในฐานะแฟนคลับที่รักศิลปินจากใจจริง จะยังหลับหูหลับตาชื่นชอบผลงานนั้นต่อไป แล้วคิดว่าเป็นการสนับสนุนพวกเขาอยู่หรือ

เพราะเด็กมีสิทธิที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเอง ในรูปแบบที่เหมาะสมกับวัย เพื่อที่วันหนึ่งพวกเขาจะเติบโตและได้เลือกชีวิตที่อยากเป็นอย่างเต็มที่

ที่มา

https://newuniversity.org/2020/11/16/pedophilia-is-overlooked-in-popular-culture/

https://www.bbc.com/news/newsbeat-45962615

https://www.warwickwomenscareerssociety.org/post/when-paedophilia-becomes-commonplace-a-look-into-japanese-pop-culture

https://www.koreaboo.com/news/netizens-raise-concerns-newjeans-ceo-min-heejin-past-management-underaged-idols/

ดูข่าวต้นฉบับ