เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกร้องให้การกู้ยืมของครูต้องเป็นสินเชื่อสวัสดิการที่แท้จริง และชี้ 9 เหตุผลที่ครูต้องออกมาช่วยตนเอง
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า วันนี้ 1 ธค. 2565 เครือข่ายฯได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องเพื่อนครูทั่วประเทศที่กำลังเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ครูแต่ละคนที่เดือดร้อนจะต้องเปิดเผยสลิปเงินเดือนของตนเองที่เงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ (residual income) เหลือไม่เพียงพอที่จะใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ผ่านช่องทาง social media เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขและดำเนินการเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อการชำระหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ปี 2551 รวมทั้งร้องขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเคารพแนวคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และขอให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม (rule of law) ที่กฎหมายและระเบียบของบ้านเมืองจำเป็นต้องมีความศักดิ์สิทธิ์และต้องถูกบังคับใช้ อีกทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้โปรดเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ( basic human right) ที่แม้ครูจะมีหนี้ แต่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนที่จะสามารถมีเงินเหลือไว้เพื่อใช้จ่ายดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี
ที่ผ่านมาปัญหานี้ปรากฏให้เห็นในทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เงินเดือนที่ครูควรจะได้รับไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือนเป็นเพียง 30%ทิพย์หรือ30%เทียมที่ครูยังต้องนำไปจ่ายเจ้าหนี้อื่น ทำให้เงินเดือนเหลือไม่พอกิน ครูจำนวนไม่น้อยเหลือเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาทในแต่ละเดือน บางรายเหลือเงินน้อยกว่า 10 บาทต่อวัน เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนทำให้ครูต้องไปพึ่งพาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หนี้นอกระบบ ส่งผลกระทบที่กว้างไกลมากทำให้ครูไม่สามารถใช้ชีวิตและดำรงตนได้อย่างเป็นปกติ และเป็นเหตุที่บั่นทอนศักยภาพทำให้ครูไม่สามารถทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติได้อย่างที่สังคมคาดหวัง
นอกจากนี้ วงจรอุบาทว์ของปัญหา 30% ทิพย์ที่ไม่มีการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ทำให้กระบวนการงดหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งที่จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหนี้สวัสดิการและสหกรณ์ทุกรายสามารถที่จะเก็บหนี้จากเงินเดือน 70% ของครู ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ปัญหา30%ทิพย์ ส่งผลกระทบที่กว้างไกลมากทำให้ครู ทั้งที่เป็นผู้กู้และผู้ค้ำประกันทั่วประเทศรวมหลายหมื่นคนกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหนี้สวัสดิการที่เคยทำขัอตกลงไว้กับกระทรวงศึกษาธิการแต่ไม่สามารถเก็บหนี้ได้ ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาให้ครูกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วนภายในปี 2565 นี้
แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหายังไม่ตรงจุด ขาดประสิทธิภาพและความชัดเจน ครูแต่ละคนที่อำนาจการต่อรองน้อยจะต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้เอง และที่สำคัญคือเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้มักถูกสหกรณ์เอาไปจนหมดแล้ว ไม่มีเงินเหลือสำหรับรายอื่น การไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นจึงเป็นการไกล่เกลี่ยปลอมที่ไม่ได้นำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว ผู้ค้ำประกันถูกดึงเข้ามาให้ต้องช่วยรับผิดชอบอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่พยายามที่จะช่วยให้ผู้กู้สามารถจะรับผิดชอบหนี้สินของตนเองก่อน
ความซับซ้อนของปัญหาหนี้สินของครูอยู่ที่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงปัญหาทางการเงิน แต่ยังเป็นปัญหาความทับซ้อนกันของบทบาทหน้าที่และผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนของนายจ้างและเจ้าหนี้สหกรณ์ การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างของครูจะต้องแก้ปัญหา และแบ่งแยกบทบาทที่ทับซ้อนกันของนายจ้าง-เจ้าหนี้ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี (good governance) เพราะการสวมหมวกหลายใบชัดเจนว่าส่งผลทำให้วิสัยทัศน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องพร่ามัว ไม่ตัดสินใจทำสิ่งที่ควรทำ ปรากฏการณ์ที่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์กลายเป็นเรื่องปกติที่นัยกว้างไกลมาก
กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องทบทวนเรื่องนี้ และกลับมาทำหน้าที่นายจ้างที่ดี (good and caring employer) ที่จะต้องเข้ามาปกปักษ์ดูแลและช่วยเหลือครูแก้ไขปัญหาหนี้สิน จะต้องเป็นคนกลางที่ช่วยครูเจรจากับเจ้าหนี้ทุกราย โดยเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้การไกล่เกลี่ยสำเร็จผล คือ การบังคับใช้ระเบียบปี 2551 อย่างเคร่งครัด
เมื่อเจ้าหนี้ไม่สามารถหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายได้ตามปกติ เมื่อนั้น เจ้าหนี้จะฟังเหตุฟังผล ยอมผ่อนปรน และพร้อมที่จะเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพราะการที่เจ้าหนี้จะต้องไปเก็บหนี้เองจะเพิ่มต้นทุนการดำเนินการและเพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก ระเบียบปี 2551 จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่ “ภาวะที่พึงปรารถนา” (steady state) ที่โจทย์ของลูกหนี้ที่ต้องมีเงินดำรงชีพมากกว่า 30% และโจทย์ที่เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องเก็บหนี้ได้จากเงินเดือน 70% สามารถแก้ไขและตอบได้โจทย์ไปได้พร้อมๆกัน
ทั้งนี้ บทบาทของสหกรณ์และสถาบันการที่จะต้องให้กู้ยืมด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible and fair lenders) จะมีความสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ความสัมพันธ์ของเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ไม่ได้มีลักษณะ zerosum คือฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายจะเสีย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน และเกื้อกูลช่วยเหลือกัน สหกรณ์สามารถเข้ามาช่วยครูตามเจตนารมณ์การจัดตั้ง โดยเฉพาะครูที่กำลังมีปัญหาสภาพคล่องในระดับอุกฤษด้วยวิธีการง่ายๆ คือ ปรับปรุงการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่เดิมจ่ายทุกเดือนให้เกิดขึ้นพร้อมกับที่ครูจะได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนผู้กู้ และแก้ไขปัญหาเงินกู้ฉุกเฉินที่ระยะจ่ายคืนสั้นให้มีระยะเวลาชำระคืนนานขึ้นเช่น 10 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้ครูมีเงินเดือนสุทธิคงเหลือไม่น้อยกว่า 30% จะไม่มีทางสำเร็จหรือเกิดขึ้นได้เลย ถ้าธนาคารกรุงไทยไม่ปรับปรุงวิธีการหักเงิน และย้ายมาตัดหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้อื่นในส่วนเงินเดือน 70% และมีความสำคัญที่เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องทบทวนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เก็บจากครูให้อยู่ในระดับต่ำ ไม่แพง ผ่อนปรน ให้เหมาะสมกับที่เป็นสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งจำเป็นต้องเลิกการบังคับให้ซื้อประกันสินเชื่อซึ่งสร้างภาระเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะเงินกู้ในส่วนที่ไม่เกินศักยภาพที่จะชำระคืนโดยเงินเดือน และปรับปรุงการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรม เงินทุกบาทที่ครูจ่ายหนี้ควรจะต้องมีผลที่จะช่วยให้เงินต้นปรับลดลง และที่สำคัญแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันจะต้องแก้ไขปรับให้ถูกกฎหมายและถูกธรรมนองคลองธรรม จะต้องไม่ผลักภาระให้ผู้ค้ำจะต้องรับผิดชอบเสมือนผู้กู้ร่วม การจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบ เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการกับผู้กู้จนถึงที่สุดก่อน ซึ่งหมายความว่าการฟ้องร้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันพร้อมกันจะต้องปรับและแก้ไขให้ถูกต้อง
ทำไมต้องเปิดสลิปเงินเดือน
ต้องเข้าใจก่อนว่าหนี้ครูส่วนใหญ่เป็นหนี้สวัสดิการที่นายจ้างหักเงินเดือนนำส่งให้เจ้าหนี้
ดังนั้น “สลิบเงินเดือน” จึงเป็นหลักฐานทางกฎหมายที่มีความสำคัญยิ่งที่จะบอกว่าการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องหักเงินเดือนนั้นถูกต้องตามแนวทางที่กำหนดไว้ในระเบียบปี 2551 หรือไม่
ผู้รู้เคยแนะนำบ่อยๆว่า “การจับ corruption จะต้องมีใบเสร็จเป็นหลักฐาน” เรื่องหนี้สินครูก็อาจจะคล้ายคลึงกัน “สลิปเงินเดือน” จะช่วยสร้างความชัดเจนว่าในขั้นตอนการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของครูมีตรงไหนที่การดำเนินการไม่ถูกต้องหรือต้องแก้ไข
ทำไมต้องเปิดเผยข้อมูล?
ถ้าแสงแดดนั้นจะช่วยฆ่าเชื้อโรค ฉันใด
ความโปร่งใสจะช่วยทำให้ปัญหาการหักเงินเดือนของครู ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง
ปัญหาหนี้สินครูไม่ได้เกิดจากครูเท่านั้น หากแต่เกิดจากนายจ้างและเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีอำนาจมากกว่า ถ้าความไม่ถูกต้องยังถูกเก็บเงียบ สาธารณชนไม่ทราบ และไม่มีแรงกดดันแปจากภายนอก ปัญหานี้อาจถูกปิดทับไว้ตราบนิรันดร์ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้กวดขันจริงจังรวมทั้งไม่ได้มีการกำหนดโทษอย่างชัดเจน จึงทำให้ที่ผ่านมาลงเอยแบบ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือแกล้งไม่เข้าใจบ้าง อย่างไรก็ดี ผลประการหนึ่งของการเปิดเผยข้อมูลสลิปเงินเดือนในครั้งจะทำให้เกิดตรวจสอบจากภายนอกที่จะช่วยกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาช่วยเหลือครู และแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกให้ถูกต้อง ความโปร่งใสจะนำมาซึ่งการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการตัดเงินเดือนให้ถูกต้องและเป็นธรรม จะทำให้ครูทั่วประเทศมีโอกาสได้มีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระแก่เจ้าหนี้ทุกรายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน เพื่อใช้จ่ายดำรงชีพอย่างที่ควรจะเป็น
ทำไมต้องดำเนินการเรื่องนี้?
และ ครูสามารถที่จะคาดหวังผลในเรื่องใดบ้าง?
เนื่องจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินของครูในปัจจุบันยังไม่เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม ครูที่ประสบปัญหาเดือดร้อนถือเป็น “ เจ้าทุกข์โดยตรง” ในเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้อง “เคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์” โดยหวังผลสัมฤทธิ์ใน 2 ประการ
ประการที่ 1 เปิดเผยให้สังคมและสาธารณชนทั่วไปได้ทราบถึงข้อเท็จจริงความเดือดร้อนของท่าน ท่านจะต้องไม่รู้สึกอายที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพราะ ถ้าจะมีใครสักคนที่ควรจะรู้สึกอายเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนคนนั้น ก็คือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับจัดทำเงินเดือนของครู ที่มีหน้าที่โดยตรงจะต้องดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ ปี 2551 อย่างเคร่งครัด แต่กลับละเลยเพิกเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ดำเนินการตามระเบียบ รวมทั้งไม่เคารพแนวคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จนเป็นเหตุที่สร้างความเดือดร้อนแก่ท่านและครูในแทบทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ
การดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นเสมือนการยื่น notice เตือนผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ท่านในฐานะผู้ที่เดือดร้อนและได้รับความเสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สามารถที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้เข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบจนเป็นเหตุให้เพื่อนครูต้องเดือดร้อนในวงกว้าง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว อาจถือได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ของ “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตาม มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ รวมทั้งเข้าข่าย ความผิดวินัยร้ายแรง จากการจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้เพื่อนครู เกิดความเสียหาย ประสบปัญหาทางการเงิน และการทำผิดวินัยที่มีเจตนาที่ชัดแจ้งนี้ ย่อมมีผลต่อประวัติราชการของผู้กระทำความผิด และการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในอนาคต อีกด้วย ดังนั้น หวังว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะได้ปรับปรุงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุด
ประการที่ 2 นอกจากนี้ การดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณ และเป็นการร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมไปถึงนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทราบว่าครูทั่วประเทศตระหนักและขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูที่เป็นปัญหาซึ่งถูกหมักหมมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีการแก้ปัญหาหนี้สินของครูครั้งไหน ที่แนวทางมีความชัดเจนมากเท่าครั้งนี้ ซึ่งต่างจากในอดีตที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาจะเริ่มจากการด่าว่าปรามาสครูว่าครูมีนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ การแก้ไขจะมุ่งเน้นเน้นที่ทำให้ครูมีวินัย มัธยัสถ์รู้จักอดออม วันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่าปัญหาหนี้สินครูสาเหตุไม่ได้เกิดจากครูเท่านั้น หากแต่เกิดจากเจ้าหนี้และนายจ้างของครูด้วย
แต่อย่างไรก็ดี ความพยายามแก้ไขปัญหาปัจจุบันเดินมาถึงทางตันติดขัดไม่สามารถที่จะไปต่อได้ เพราะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องละเลยเพิกเฉยไม่มีการดำเนินการตามระเบียบตลอดจนแนวคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเนื่องจากปัญหาบทบาทและผลประโยชน์ทับซ้อน นายจ้างผู้ที่ควรจะเข้ามาช่วยดูแลปกป้องครู กลับคิดถึงแต่ประโยชน์ของเจ้าหนี้ ละเลยไม่ดำเนินการในสิ่งที่ควรทำ ละเลยสิ่งที่ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้มีความจำเป็นที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะต้องมีคำบัญชาสั่งการเพื่อที่จะปลดล็อกแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้