เรื่องหนึ่งที่มักจะพบบ่อยตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็คือ เพิ่งจะมารู้ว่า เอ๊ะ รายการบางอย่างเราสามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ก็ไม่ได้ยื่นลดหย่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นมาจากการที่เราไม่รู้นั่นเอง หรือ บางกรณีก็เกิดจากการลืมหักค่าใช้จ่าย
ซึ่งในหลักการแล้ว เมื่อไรก็ตามที่เราขอคืนภาษี ก็แสดงว่าเราได้ชำระภาษีมากเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากคำนวณตัวเลขผิด หรือลืมหักค่าใช้จ่าย หรือ ค่าลดหย่อนบางอย่าง หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไป (ส่วนใหญ่สำหรับมนุษย์เงินเดือน จะเกิดจากการแจ้งรายการค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนให้กับฝ่ายบุคคลต่ำเกินไป)
หากเมื่อเราตรวจพบว่าเราสามารถขอคืนภาษีได้ในปีที่ยื่นภาษีก็โชคดี ได้เงินมาใช้จ่ายให้ครอบครัว แต่ก็มีหลายคนที่อาจยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 เพื่อขอคืนภาษี และกรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งคืนเงิน (ค.20) ให้แล้ว แต่มาพบทีหลังว่า สามารถขอคืนภาษีได้อีก เนื่องจากลืมหักค่าลดหย่อนบางอย่างไว้ แล้วจะทำยังไง ขอคืนภาษีเพิ่มได้รึเปล่า
เรื่องนี้ไม่ต้องตกใจครับ หากอยากขอคืนภาษีเพิ่ม ก็เพียงแค่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ 91 เพิ่มเติม เพื่อแสดงรายการคำนวณการหักลดหย่อนภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วขอคืนภาษีโดยแสดงความจำนงขอคืนภาษีไว้ในแบบ ภ.ง.ด. ที่ยื่นเพิ่มเติมนั้น
แต่ทั้งนี้จะต้องขอคืนภายใน 3 ปี ส่วน 3 ปีนี้นับจากไหนนั้น จะเป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการขอคืนภาษีหลักๆ 2 มาตรา คือ มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และ มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณี “บุคคลธรรมดา”
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายมากเกินไป หรือถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ตนเองไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมากเกินไปต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือ วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย
แต่ในกรณีที่มีการอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป ไม่ว่าจะโดยอธิบดีกรมสรรพากร หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดเวลา 3 ปี ก็จะเลื่อนออกไป เป็นนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่ขยายออกไปนั้นด้วย
กรณี “นิติบุคคล”
สำหรับนิติบุคคลก็เช่นกัน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเยอะเกินไป ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษี ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเยอะเกินไปต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ เมื่อพ้นกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไป ไม่ว่าจะโดยอธิบดีกรมสรรพากร หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดเวลา 3 ปี ก็ให้เลื่อนออกไป เป็นนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่ขยายออกไปนั้นด้วย
แต่ก่อนที่เราจะยื่นขอคืนภาษี เราก็ควรต้องตรวจสอบให้ชัวร์ก่อนครับว่า เราได้ชำระภาษีเกินไปจริงๆ มีเอกสารหลักฐานแสดงครบถ้วนในการขอคืนภาษี ยื่นแบบฟอร์มถูกต้อง รวมทั้งยื่นกับหน่วยงานที่อำนาจอนุมัติการคืนภาษี แลละที่สำคัญยื่นขอคืนภายในกำหนดเวลาคือ 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกําหนด
รู้แล้ว อย่ารอช้านะ ปีแรกลืมไปไม่เป็นไร แต่อย่าลืมเกิน 3 ปี ไม่งั้นอดได้เงินคืน เสียดายแทนครับ