ตลาดสุขใจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้ชื่อว่าเป็น “ตลาดเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ” ที่น่าเรียนรู้แห่งหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจที่ได้แวะเยี่ยมชมตลาดสุขใจ…ศูนย์รวมความอร่อยไร้สารพิษ แห่งนี้จะได้สัมผัสวิถีเกษตรพอเพียง และเรียนรู้โครงการรวมพลังรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน เรียกว่า ได้ ช็อป ชิม อิ่มท้องและสุขใจที่ตลาดแห่งนี้ได้ทุกวันเลยทีเดียว
จุดเริ่มต้น
“ตลาดสุขใจ” มีจุดเริ่มต้นจาก สวนสามพรานมีความต้องการวัตถุดิบอินทรีย์ที่ดี มีคุณภาพ สำหรับใช้ในห้องอาหารของโรงแรม รศ. จุฑาทิพย์ ภัทราวาท สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำให้ คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ชักชวนเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนจากเกษตรระบบเคมีเป็นเกษตรระบบอินทรีย์ในพื้นที่มารวมกลุ่ม ชื่อ “กลุ่มธุรกิจเชิงคุณภาพสามพราน”
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)โดย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ร่วมก่อตั้งตลาดสุขใจและดำเนินกิจกรรมพัฒนาเกษตรกร นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 5 สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ร่วมส่งเสริมการดำเนินงานของตลาดสุขใจ ภายใต้กิจกรรมของ สามพรานโมเดล ตั้งแต่ปี 2556
คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เข้ามาให้กำลังใจ ข้อคิดในการรวมกลุ่ม และกรุณาตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ตลาดสุขใจ” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ วันที่ 12 ธันวาคม 2553 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรอินทรีย์อย่างเข้มแข็งภายใต้ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม (PGS) การบริหารจัดการตลาดอย่างมีระบบและมีส่วนร่วม
ตลาดสุขใจ จำหน่ายโดยเกษตรกรตัวจริง ไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง เปิดให้บริการตั้งแต่ ปี 2554 ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. มีจำนวนร้านค้า 53 ร้าน เนื่องจากมีการรวมร้านย่อยของเกษตรกรให้อยู่เป็นร้านเดียวกัน จากการรายงานของพ่อค้าแม่ค้า พบว่า ในปีแรก (พ.ศ. 2554) มีจำนวนลูกค้า 48,601 คน มีรายได้หมุนเวียน 9,163,094 บาท
ในปี 2561 ตลาดสุขใจมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า 35 ล้านบาท ครบรอบปีที่ 9 ของการเปิดตลาดในปีนี้ ตลาดสุขใจมียอดขายในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2562) มีลูกค้า จำนวน 56,031 คน มีรายได้หมุนเวียน 21,198,501 บาท กล่าวได้ว่า หลังตลาดสุขใจให้บริการมาครบ 8 ปี 9 เดือน มีผู้แวะชมสินค้าในตลาดแห่งนี้ จำนวน 833,645 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งสิ้น 214,273,399 บาท
ตลาดสุขใจ มี “คณะกรรมการตลาด” ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสังคมสุขใจ ทำหน้าที่บริหารจัดการตลาด ร่วมด้วย “คณะกรรมการผู้บริโภค” ได้รับความร่วมมือจากตัวแทนผู้บริโภคของตลาด มีเกษตรกรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM จำนวน 49 ราย จากสมาชิกเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ทั้งหมด 185 ราย
คนที่มีสิทธิ์นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในตลาดสุขใจ คือ กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เครือข่ายสามพรานโมเดล ที่ใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) เป็นข้อตกลงร่วมในการปฏิบัติของกลุ่ม ทีมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสังคมสุขใจ ฐานผู้ส่งเสริมร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงของเกษตรกรในเครือข่าย อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
ช็อปเปลี่ยนโลก
สามพรานโมเดล ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการองค์กรมหาชน หรือ ทีเส็บ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล กรมการค้าภายใน บริษัท แล็บอาหารยั่งยืน ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาคีเครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จากทั่วประทศ ร่วมกันจัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 6 ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ช็อปเปลี่ยนโลก” ระหว่าง วันที่ 13-15 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม
ไฮไลต์สำคัญของงานสังคมสุขใจในปีนี้คือ การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Thai Organic Platform เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรอินทรีย์ กลางน้ำ คือผู้ประกอบการ และปลายน้ำ คือผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยเริ่มเปิดใช้เป็นครั้งแรกในงานครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเกษตรกรอินทรีย์ ทราบถึงกิจกรรมการท่องเที่ยว การประชุมกลุ่ม การตรวจแปลง เข้าถึงความรู้การทำเกษตรอินทรีย์และการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม ฯลฯ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรตัวจริง
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีของตลาดสุขใจ สะท้อนการเติบโตของสังคมอินทรีย์ โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการวัตถุดิบอินทรีย์และการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันสะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการ องค์กร ที่ต้องการมาเรียนรู้วิถีการดำเนินธุรกิจเกื้อกูลสังคม หรือสามพรานโมเดล ที่มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของสวนสามพราน นำไปสู่การเปิดตลาดสุขใจ การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“ในอดีตเกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ เน้นผลิตผัก ผลไม้ เพียงไม่กี่ชนิด ป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก ภายหลังจากเปิดตลาดสุขใจ ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสนำเสนอสินค้าผลไม้พืชผักพื้นบ้านให้แก่ผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น และมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ต่ำกว่าปีละ 20% จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกร ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานสังคมสุขใจ เพื่อเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรตัวจริง เพื่อขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ สู่ชีวิตที่สมดุล ภายใต้แนวคิด ‘ช็อปเปลี่ยนโลก’ ระหว่าง วันที่ 13-15 ธันวาคม 2562” คุณอรุษ นวราช ผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล กล่าว
ทุกวันนี้ ตลาดสุขใจ กลายเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล จำนวน 16 กลุ่ม 180 ครอบครัว เกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดต่างๆ เช่น
กลุ่มเครือข่ายพี่น้อง 2 ตำบล ชุมชนแห่งนี้ปลูกผักผลไม้ผสมผสานกว่า 20 ชนิด เอาผลไม้ลงก่อน ตั้งให้เป็นแนว ใส่ผักระหว่างแนวต้นไม้ ถัดไปปลูกกล้วย ในดงกล้วยก็ทำเลี้ยงไก่อารมณ์ดี แบบธรรมชาติไว้เก็บไข่ขาย ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำนา พื้นที่ว่างรอบคันนาก็ปลูกบวบไปด้วย และใช้พื้นที่ว่างรอบบ้านใช้เพาะพืชต้นอ่อนไว้ขาย ผลิตปุ๋ยใช้เอง เช่น ปุ๋ยมูลใส้เดือน ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากมูลวัว มูลสุกร เป็นต้น
กลุ่มบางช้าง มีจุดเด่นด้านพืชสมุนไพร ผลไม้อินทรีย์ คุณประหยัด ปานเจริญ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง ผู้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำสวนผลไม้อินทรีย์ โดยใช้เวลานานกว่า 10 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม พาครอบครัวหลุดพ้นวงจรเคมีสู่วิถีอินทรีย์ยั่งยืน สามารถปลดหนี้ และได้โฉนดคืน อีกทั้งยกระดับตัวเองสู่เกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสามพรานโมเดล
กลุ่มคลองโยง ผลิตข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวหอมนิล พืชผักอินทรีย์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM ที่นี่ปลูกพืชแบบยกร่องรอบแปลงเพื่อกักน้ำและป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยรูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เพื่อให้แสงแดดช่วยพืชปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรคไปในตัว ที่นี่ปลูกพืชผักอินทรีย์กว่า 20 ชนิดโดยปลูกแบบหมุนเวียนกันไป ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจีน ผักสลัด ฝรั่ง ฯลฯ
ก่อนปลูกเกษตรกรจะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงการสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองโดยนำเศษใบไม้ในพื้นที่ผสมกับแกลบเผา รำข้าวและมูลสัตว์มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ส่วนน้ำหมักก็จะใช้เศษปลา เศษผักหมักกับน้ำตาลทรายแดงกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไว้ฉีดเพื่อสร้างความร่วนซุยให้พืช ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ปลูกต้องนำไปล้างน้ำร้อนอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาทีก่อนจึงนำขึ้นมาคลุกกับกากสะเดาก่อนแล้วนำไปหว่านลงแปลง
นอกจากนี้ รอบแปลงจะมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลง เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา มะกรูด ฯลฯ พืชสมุนไพรพื้นบ้านจะถูกนำมาหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์พด.7 เพื่อใช้เป็นสมุนไพรไล่แมลงในแปลงเพาะปลูกพืชต่อไป
กลุ่มหอมเกร็ด ภายใต้การนำของ ลุงอุบล การะเวก ชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งผลิตส้มโออินทรีย์ และเชี่ยวชาญด้านผลิตกิ่งชำพันธุ์ไม้ เช่น มะพร้าว มะนาว กล้วยหักมุก กล้วยนาก ฯลฯ สวนส้มโอระบบอินทรีย์ในชุมชนแห่งนี้ หลังเลิกใช้ปุ๋ยเคมีสามารถ ลดต้นทุนได้ราว 80- 90% เกษตรกรบำรุงต้นส้มโอโดยใช้ปุ๋ยน้ำหมักมูลสุกรที่ผลิตจากมูลสุกรแห้ง 1 กก.ต่อน้ำ 7 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน แล้วตักตะกอนขึ้นมาเก็บไปใส่โคนต้นส้มโอต่อ หลังจากนั้น ทิ้งน้ำหมักไว้ 1 เดือน เพื่อให้หมดก๊าซ จากนั้นนำไปผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อใช้รดโคนต้นส้มโอทุกๆ 15 วัน และใช้สารชีวภาพฉีดป้องกันเพลี้ยไฟแดง โดยผสมรวมกันกับน้ำหมักมูลสุกรฉีดพ่นเพื่อประหยัดแรงงาน
นอกจากนี้ เกษตรกรยังใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาป้องกันรากเน่าโคนเน่าในสวนส้มโอ โดยนำมาเพาะเชื้อเองให้อาหารเป็นรำข้าว จากเชื้อราเพียงน้อยนิดเมื่อได้รำข้าวจะแพร่กระจายไปได้เร็ว นำมาผสมน้ำฉีดจะฉีดก่อนเข้าช่วงหน้าฝน ผสมกับน้ำมูลสุกรเช่นกันรดไปทีเดียว สารชีวภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้แมลงตาย แต่จะทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้ขยายพันธุ์ ที่คุมได้อยู่คือเพลี้ยไฟ ไรแดง ส่วนปัญหาโรคหนอนชอนใบใช้เชื้อราบิวเวอเรีย การเลือกใช้ธรรมชาติมาดูแลต้นส้มโอ ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกทำให้อายุของต้นส้มโอยืนยาว สมุนไพรที่ทำน้ำหมักชีวภาพต่างๆ ก็ทำได้เองราคาไม่สูง หักค่าน้ำมัน ค่าไฟแล้ว เงินที่เหลือก็คือ กำไรก้อนโตนั่นเอง