หนึ่งในสิ่งที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามข่าวสารของการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ ให้ได้อารมณ์มากยิ่งขึ้น คงไม่พ้นภาษาที่หวือหวาในการรายงานข่าว และ “ชื่อเล่น” หรือ “ฉายา” ของทีมที่ร่วมแข่งขัน
วันนี้จึงถือโอกาสนำฉายาของทั้ง 32 ทีมที่ร่วมแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2018 พร้อมทั้งที่มาที่ไปของฉายานั้นๆ มาฝากกัน โดยหมายเหตุว่านี่เป็นฉายาจริงๆ ที่ใช้กันแพร่หลายในระดับสากล บางครั้งอาจไม่ใช่ฉายาที่คุ้นหูหรือคุ้นปากแฟนบอลชาวไทยแต่อย่างใด
เรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ ดังนี้
อาร์เจนตินา – La Albiceleste หมายถึง สีขาวและสีฟ้าของท้องฟ้า สื่อถึงสีบนธงชาติของประเทศอาร์เจนตินา และตรงกับฉายา “ฟ้า-ขาว” ที่แฟนบอลบ้านเรารู้จักกันดี
ออสเตรเลีย –The Socceroos หรือ “ซอคเกอรูส์” เป็นการเล่นคำผสมระหว่างคำว่า “ซอคเกอร์” (soccer) ที่หมายถึงกีฬาฟุตบอลแบบที่ชาวอเมริกันและบางพื้นที่นิยมเรียก (ชาวออสซี่หลายคนก็เรียกซอคเกอร์เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกีฬา “ฟุตบอลออสเตรเลียนรูลส์” ของตัวเอง) กับคำว่า “แคงการู” (kangaroo) หรือจิงโจ้ สัตว์ประจำชาตินั่นเอง
เบลเยียม – Les Diables Rouges หรือ Rode Duivels เป็นภาษาฝรั่งเศสและดัตช์ หมายถึง “ปีศาจแดง” เนื่องจากสีแดงเป็นสีหลักของชุดทีมชาติ โดยทีมเบลเยียมใช้ฉายานี้มาตั้งแต่ปี 1906 แล้ว ก่อนหน้าสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะเรียกตัวเองอย่างนั้นในยุค 60 แต่กลายเป็นดังยิ่งกว่าเสียอีก
บราซิล – Selecao หมายถึง “ผู้ถูกเลือก” แปลตรงๆ ก็คือเหล่านักเตะที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแทนของประเทศนั่นเอง
โคลอมเบีย – Los Cafeteros หรือ “คนปลูกกาแฟ” เนื่องจากกาแฟของโคลอมเบียเป็นหนึ่งในสินค้ายอดฮิตทั้งในประเทศและต่างประเทศนั่นเอง
คอสตาริกา – Los Ticos คำนี้เป็นคำสแลงของภาษาสเปน ภาษาหลักของประเทศ ที่แปลความตรงๆ ว่า “ชาวคอสตาริกา”
โครเอเชีย – Vatreni หมายถึง “ผู้ร้อนแรง” เพื่อต้องการสื่อถึงคาแรคเตอร์ของทีมให้ดูน่าเกรงขาม
เดนมาร์ก – Danish Dynamite ทีมโคนมมีฉายาเท่ๆ ว่า “เดนนิช ไดนาไมต์” หรือ “ไอ้ดินระเบิดแห่งเดนมาร์ก” ซึ่งว่ากันว่าชื่อนี้กระฉ่อนไปทั่วโลกหลังจากแข้งเดนส์สร้างเทพนิยายคว้าแชมป์ ยูโร 1992 ไปครองทั้งที่ได้สิทธิร่วมแข่งขันก่อนเปิดทัวร์นาเมนต์เพียงไม่นาน
อียิปต์ – The Pharaohs หรือ “ฟาโรห์” ตำแหน่งกษัตริย์ในประวัติศาสตร์อียิปต์ยุคโบราณ
อังกฤษ – The Three Lions ใกล้เคียงกับฉายา “สิงโตคำราม” ที่บ้านเราเรียกกันจนติดปาก โดยราชสีห์ 3 ตัวที่ว่านี้มาจากสัญลักษณ์บนอกเสื้อของแข้งเมืองผู้ดี และสิงโตเหล่านี้ก็มาจากตราสัญลักษณ์ราชวงศ์อังกฤษตั้งแต่ยุคของ กษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์ ในศตวรรษที่ 12
ฝรั่งเศส – Les Bleus หรือ “สีน้ำเงิน” สีหลักบนชุดแข่งของทีมแดนน้ำหอม
เยอรมนี – Die Mannschaft ทื่อๆ ตรงไปตรงมาแบบฉบับชาวเยอรมัน เพราะคำนี้หมายถึง “ทีม” สั้นๆ ง่ายๆ แค่นั้นเอง
ไอซ์แลนด์ – Strakamir Okkar อาจจะเพราะไอซ์แลนด์เป็นประเทศเล็กๆ (ทำสถิติประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดที่ได้สิทธิแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย) จึงมีชื่อเล่นน่ารักน่าเอ็นดูให้กับทีมว่า“Our Boys” หรือ “ไอ้หนูของพวกเรา”
อิหร่าน – ใช้อยู่ 2 ฉายา คือ Team Melli เป็นภาษาเปอร์เซีย หมายถึง “ทีมชาติ” กับอีกฉายาคือ Shirane Pars ซึ่งแปลออกมาได้ฉายาสุดเท่ว่า “ราชสีห์แห่งเปอร์เซีย”
ญี่ปุ่น – Samurai Blue หรือ “ซามูไรสีน้ำเงิน” เป็นการผสมผสานสัญลักษณ์คำเรียกนักรบอันแข็งแกร่งในยุคโบราณของประเทศ กับสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีหลักบนชุดแข่ง
เกาหลีใต้ – ทีมโสมขาวมีหลายฉายา แต่ที่เรียกกันจนคุ้นหูมากที่สุดคือ Taeguk Warriors หรือ “นักรบแทกุก” โดยคำว่า “แทกุก” นั้นคือสัญลักษณ์คล้ายๆ หยิน-หยาง ที่ปรากฏอยู่กลางธงชาติของเกาหลีใต้ หรือบางทีพวกเขาก็เรียกตัวเองว่า Asian Tigers หรือ “พยัคฆ์แห่งเอเชีย” ไม่ก็ Red Devils หรือ “ปีศาจแดง” ด้วยเหมือนกัน
เม็กซิโก – El Tricolor หรือ El Tri เฉยๆ แปลตรงตัวว่า“3 สี” หมายถึง สีเขียว ขาว และแดง บนธงชาติของพวกเขา
โมร็อกโก – Atlas Lions หมายถึง “สิงโตแอตลาส” เนื่องจากเทือกเขาแอตลาสเป็นชื่อของสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญซึ่งพาดผ่านตอนใต้ของประเทศโมร็อกโก และเทือกเขาแห่งนี้ก็มีสิงโตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกตามพันธุ์ว่า “สิงโตแอตลาส” มีลักษณะการเข้าจู่โจมที่ดุร้ายรุนแรง จึงนำฉายานี้มาใช้เพื่อสื่อคาแรคเตอร์ของทีม
ไนจีเรีย – The Super Eagles ไม่ใช่นกอินทรีธรรมดาๆ แต่เป็น“พญาอินทรี” โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ทีมไนจีเรียยังใช้ฉายา “ปีศาจแดง” ซ้ำกับหลายทีม กระทั่งได้รับอิสรภาพ ก็เปลี่ยนมาใช้ Green Eagles ที่คนไทยแปลมาว่า “อินทรีมรกต” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น พญาอินทรี ตั้งแต่ยุค 80
ปานามา – Marea Roja หมายถึง “The Red Tide” หรือ “สายน้ำสีแดง” เป็นการผสมผสานสีแดงหรือสีหลักบนเสื้อแข่งเข้ากับพลังธรรมชาติเพราะสายน้ำหรือกระแสน้ำนั้นเป็นพลังรุนแรงที่ใครก็ยากจะหยุดได้
เปรู – la Blanquirroja เป็นภาษาสเปนหมายถึง“ขาวและแดง” คือสีหลักบนธงชาติ
โปแลนด์ – Polskie Orly หรือ “อินทรีแห่งโปแลนด์” ไม่ก็ Bialo-Czerwoni เป็นภาษาโปลิชหมายถึง “ขาว-แดง” สีธงชาติของประเทศ
โปรตุเกส – Seleccao das Quinas เป็นภาษาโปรตุเกส หมายถึง “ผู้ถูกเลือกแห่งโล่” ซึ่งคำว่า“กินญ่าส์” นั้นอาจหมายถึง “โล่” “ปราสาท” หรือ “ป้อมปราการ” ก็ได้
รัสเซีย – Sbornaya เป็นภาษารัสเซีย หมายถึง “ทีม”
ซาอุดีอาระเบีย – Al Sogour Al Akhdar เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง “the Green Hawks/Falcons” เป็นการผสมคำ “เหยี่ยว” กับ “สีเขียว” สีหลักของชุดแข่ง บางทีทีมนี้ก็ใช้ฉายา Ouilad Al Sahraa ภาษาอาหรับแปลว่า “บุตรแห่งทะเลทราย” เช่นกัน
เซเนกัล – Les Lions de la Teranga เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง “สิงโตแห่งเทรันก้า” เนื่องจากสิงโตเป็นเหมือนคาแรคเตอร์ของทีมชาติ ด้วยความห้าวหาญ ทะนง และดุดัน ส่วน “เทรันก้า” เป็นภาษาโวลอฟ ภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในประเทศเซเนกัลสื่อถึงความใจกว้าง ความเป็นมิตร ความซื่อสัตย์ และเมตตา
เซอร์เบีย – Orlovi เป็นภาษาเซอร์เบียแปลว่า “นกอินทรี”
สเปน – La Furia Roja เป็นภาษาสเปน แปลเป็นอังกฤษคือ “The Red Fury” ถ้าแปลเป็นไทยแบบให้เข้าใจง่ายก็คือ “แดงเดือด” สื่อถึงความพุ่งพล่านเดือดดาลรุนแรง
สวีเดน – Blagult เป็นภาษาสวีดิช แปลตรงตัวว่า “สีน้ำเงินและเหลือง” เอามาจากสีธงชาติ บางทีก็อาจเรียกอีกชื่อว่า Kronos หรือ “มงกุฎ”
สวิตเซอร์แลนด์ – ชื่อเล่นหลักๆ คือ Schweizer Nati หรือ Nati เฉยๆ แปลง่ายๆ ว่า “ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์” หรือ “ทีมชาติ” แต่นานๆ ครั้งก็อาจได้เห็นฉายา Rossocrociati ซึ่งหมายถึง “กางเขนแดง” สื่อถึงรูปสัญลักษณ์กากบาทและสีแดงบนธงชาติสวิส
ตูนิเซีย – Les Aigles de Carthage เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง “อินทรีแห่งคาร์เธจ” เนื่องจากทีมตูนิเซียมีรูปนกอินทรีบนตราสัญลักษณ์ ส่วนคำว่า “คาร์เธจ” เป็นชื่อศูนย์กลางอารยธรรมคาร์เธจิเนียนแถบประเทศตูนิเซียในยุคเก่า
อุรุกวัย – Charruas เป็นชื่อของชนเผ่านักรบท้องถิ่นของอุรุกวัย บางทีก็เรียกว่า La Celeste Olympica หรือ“สีท้องฟ้าโอลิมปิก”
เป็นอันเบ็ดเสร็จเรียบร้อยสำหรับฉายาของ 32 ทีมฟุตบอลโลก 2018 ชื่อไหนถูกใจ อยากดึงมาใช้แทนฉายาที่คนไทยคุ้นหูกันดีบ้างมั้ยขอรับ?