ไลฟ์สไตล์

กำเนิด "ไฉ่ซิงเอี๊ย" เทพเจ้าแห่งทรัพย์สินของจีน เทวดาที่มาทีหลัง แต่ไฉนดังกว่าองค์อื่น

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 24 ม.ค. 2566 เวลา 02.54 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2566 เวลา 23.20 น.
(ซ้าย) เจ้ากงหมิง ไฉ่ซิ้งฝ่ายบู๊ (ขวา) ภาพมงคลไฉ่ซิ้งที่นิยมประดับบ้านในเทศกาลตรุษจีน

ปัจจุบันทรัพย์สินเงินทองมีความสำคัญยิ่ง เป็นหนึ่งในยอดปรารถนา 5 ประการ (เบญจพิธพร) ของคนจีน คือ ฮก ต.(ฝู 福 โชควาสนา) ลก ต.(ลู่ 禄 ยศศักดิ์) ซิ่ว ต. (โซ่ว 寿 อายุยืนแข็งแรง) ฮี่ ต.(สี่ 喜 ความสุข) และ ไช้ ต.(ไฉ 财 ความมั่งคั่ง) เทพผู้กำกับทรัพย์สินประทานความมั่งคั่งภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกไฉ่ซิ้ง (ไฉเสิน 财神) เป็นเทพที่คนนิยมเซ่นไหว้สูงสุดในเทศกาลตรุษจีน

คำว่า ไช้ (ไฉ) เมื่อรวมกับคำว่าซิ้ง ต. (เสิน) เสียงจะเปลี่ยนเป็นไฉ่ซิ้ง ต. (ไฉเสิน 财神) ไช้ (ไฉ) แปลว่า ทรัพย์สินเงินทอง ซิ้ง (เสิน) แปลว่า เทวดา ไฉ่ซิ้ง (ไฉเสิน) จึงหมายถึงเทพแห่งทรัพย์สินเงินทอง โดยปริยายหมายถึงเทพผู้ประทานความมั่งคั่งนั่นเอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความหมายดั้งเดิมของคำว่าไช้ (财) หรือไฉนั้น พจนานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (说文解子 อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร) นิยามไว้ว่า “สิ่งที่คนเห็นว่ามีค่า” พจนานุกรมอี้ว์เพียน (玉篇 รัตนมาลา) อธิบายว่าได้แก่ “ข้าว ผ้า ทอง และหยก” ของมีค่าของมนุษย์ต่างยุคต่างถิ่นย่อมต่างกันไป

สมัยโบราณ ข้าวและผ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการยังชีพ ทองและหยกเป็นแร่ธาตุสวยงามมีราคาจึงจัดเป็นของมีค่า ส่วนเงินตรามีบทบาทในวิถีชีวิตคนทั่วไปน้อย จึงไม่ถือเป็นของมีค่าหรือทรัพย์สินสำคัญ สิ่งใดมีความสำคัญต่อชีวิต มนุษย์ย่อมเชื่อว่าเทวดาประจำอยู่ ดังนั้นในสมัยโบราณจึงไม่มีเทพแห่งทรัพย์สินอยู่ในสารบบของเทวดาจีน

ในสมัยโบราณยุคราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. 503-พ.ศ. 322) เทพสำคัญ องค์ที่คนจีนเซ่นไหว้อยู่เป็นประจำได้แก่ เทพแห่งประตูบ้าน เทพแห่งประตูห้อง เทพแห่งเตาไฟ เทพแห่งห้องโถงกลาง และเทพแห่งทางเดิน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตคนจีนโบราณ รวมเรียกว่า “การเซ่นไหว้ทั้งห้า” ในยุคนั้นแม้แต่ส้วมก็เชื่อกันว่ามีเทพประจำ มีการเซ่นไหว้เพราะส้วมเป็นแหล่งปุ๋ยสำคัญของคนจีน เทพแห่งทรัพย์สินในสังคมจีนเกิดขึ้นช้า เพราะจีนเป็นสังคมเกษตร เศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองมายาวนาน เงินทองมีความสำคัญน้อย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนไป การค้ามีบทบาทมากขึ้น คนสะสมทรัพย์สินส่วนตัวมากขึ้น เงินทองมีความสำคัญสูงขึ้น เทพแห่งทรัพย์สินจึงเกิดขึ้นและเป็นที่เคารพแพร่หลายยิ่งขึ้นตลอดมา ถึงยุคสาธารณรัฐจีนสังคมเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสื่อมถอยลง เทพทั้งหลายลดความสำคัญลง แต่เทพแห่งทรัพย์สินกลับแพร่หลายยิ่งขึ้น จนในปัจจุบันคนนิยมกราบไหว้มากที่สุดก็ว่าได้ อาจกล่าวเป็นสำนวนพูดง่ายๆ ได้ว่า “ไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน) มาทีหลังแต่ดังกว่า” ชื่อที่คุ้นเคยในภาษาไทยมักเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ไฉ่ซิ้ง” มากกว่า “ไฉเสิน” ในภาษาจีนกลาง ในบทความนี้จะอนุโลมใช้ตาม

ที่มาของความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน)

ความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งของจีนมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามยุคตามถิ่น มีมากมายหลายองค์หลายประเภท ที่มาจึงซับซ้อน ไม่ชัดเจน หนังสือประชุมอรรถาธิบาย (集说诠真) อธิบายเรื่องไฉ่ซิ้งไว้สั้นๆ ว่า “ไฉ่ซิ้งที่ผู้คนเซ่นไหว้นั้นบ้างก็ว่าเป็นอิสลามที่เซ่นไหว้กันทางภาคเหนือ บ้างก็ว่าเป็นคนจีนชื่อเจ้าหลัง บ้างก็ว่าเป็นคนสมัยราชวงศ์หยวนชื่อเหออู่ลู่ บ้างก็ว่าได้แก่ ลูกชาย 5 คนของกู้ซีเฝิงคนยุคราชวงศ์เฉิน แตกต่างกันไป ตามความเชื่อของตน เรียกรวมๆ ว่าไฉ่ซิ้ง ไม่แน่ชัดว่าคือใคร”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนังสือหลากเรื่องวัฒนธรรมผีสางเทวดาของจีน (中国古代鬼神文化大覌) อธิบายว่าไฉ่ซิ้งมีที่มาจากเทพแห่งทางเดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเทพสำคัญของจีนโบราณ เดิมทีคนเซ่นไหว้เทพองค์นี้เพื่อให้อำนวยสวัสดิภาพในการเดินทาง จีนเป็นสังคมเกษตรคนอยู่ติดที่ พวกที่เดินทางมากคือพ่อค้าเร่และสัญจรชน (江潮人) ผู้ต้องเดินทางทำมาหากิน เช่น ศิลปินเร่ คนพวกนี้เมื่อเดินทางก็จะมีรายได้ จุดประสงค์ในการเซ่นไหว้เทพแห่งทางเดินจึงเพิ่มเรื่องขอให้มีรายได้ดีอีกด้วย นานวันเข้ากลายเป็นจุดประสงค์หลัก เทพแห่งทางเดินก็ค่อยๆ กลายเป็นเทพแห่งทรัพย์สิน (ไฉ่ซิ้ง) เพราะคนส่วนมากเดินทางเพื่อทำมาหากิน เทพแห่งทางเดินจึงเสื่อมสูญไป

พวกที่ต้องเดินทางทำมาหากินนั้น พวกพ่อค้าเกี่ยวข้องกับเงินทองมากที่สุด การค้าที่ทำรายได้ดีคือการค้าข้ามถิ่น นำสินค้าถิ่นหนึ่งไปขายอีกถิ่นหนึ่งเส้นทางที่ทำรายได้ดีที่สุดคือเส้นทางสายไหม ซึ่งคู่ค้าส่วนมากเป็นรัฐอิสลาม จึงมีความเชื่อหนึ่งว่า ไฉ่ซิ้งเป็นมุสลิม แต่ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่าคือใคร ไฉ่ซิ้งต่างยุคต่างถิ่นก็ต่างองค์กัน

แรกทีเดียวไฉ่ซิ้งเป็นเทพของพวกที่มีอาชีพเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ คือ พ่อค้า โรงรับจำนำ สัญจรชนผู้ต้องเดินทางประกอบอาชีพ และนักเล่นการพนัน ต่อมาก็แพร่ไปสู่คนกลุ่มอื่น พวกขุนนางก็ต้องการความมั่งคั่งก้าวหน้าในราชการ ไฉ่ซิ้งจึงแยกออกเป็นฝ่ายบุ๋น (พลเรือน) กับบู๊ (นักรบ) พวกขุนนางนิยมไหว้ไฉ่ซิ้งบุ๋น พวกพ่อค้านิยมไหว้ไฉ่ซิ้งบู๊ เพราะต้องการให้คุ้มครองการเดินทางค้าขายและทรัพย์สินของตนด้วย

บทบาทสำคัญของไฉ่ซิ้งจึงมีทั้งช่วยให้กิจการรุ่งเรืองมีทรัพย์มาก และช่วยคุ้มครองรักษาทรัพย์สินให้พ้นจากผองภัยด้วย เป็นเหตุให้เทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊มีความสำคัญเหนือฝ่ายบุ๋น นอกจากนี้ยังเกิดเทพแห่งทรัพย์สินประเภทต่างๆ ตามความต้องการเฉพาะด้านของผู้เซ่นไหว้อีก เช่น เทพแห่งลาภลอย ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินหรือไฉ่ซิ้งจึงสะท้อนภาพสังคมและความต้องการของผู้คนในสังคมได้ดีอีกด้วย

สาเหตุที่คนจีนสร้างความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งขึ้นนั้น หลิวฮั่นเจี๋ยเขียนไว้ในหนังสือเล่าเรื่องไฉ่ซิ้ง (话说财神) ว่า ความร่ำรวยมีเงินทอง เป็นความต้องการสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ ผู้คนจึงทุ่มเททำมาหากิน ดังมีคำกล่าวในภาษาจีนว่า “ใต้ฟ้าอันสับสนล้วนมาเพื่อผลประโยชน์ ใต้ฟ้าอันชุลมุน ล้วนวุ่นไปเพื่อผลประโยชน์” และ “นกตายเพราะกิน คนตายเพราะสินทรัพย์” ความต้องการร่ำรวยมีเงินทองมาก
เป็นแรงขับให้มนุษย์สร้างเทพแห่งทรัพย์สินขึ้น

หลี่เย่ว์จงผู้เขียนหนังสือเรื่องไฉ่ซิ้ง : เทพแห่งทรัพย์สิน (财神) วิเคราะห์ว่า เหตุที่คนจีนสร้างไฉ่ซิ้งขึ้นมานั้นมีสาเหตุสำคัญสองประการ

ประการแรก เกิดจากความต้องการความร่ำรวยแต่ในวัฒนธรรมจีนเก่า ให้ความสำคัญแก่ศีลธรรม ผดุงความชอบธรรม (义) มากกว่าเงินทองผลประโยชน์ (利) ดังมีสุภาษิตจีนว่า “ศีลธรรมมีค่าพันตำลึงทอง ทรัพย์สินก่ายกองไร้ค่าดังอาจม” คำสอนของนักปราชญ์ เช่น ขงจื๊อ เม่งจื๊อ ล้วนเป็นไปในแนวทางนี้ คนจีนจึงละอายที่จะพูดเรื่องผลประโยชน์เงินทอง เป็นความสุดโต่งไปในทางอุดมคตินิยม เพราะในความเป็นจริงเงินทองเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการดำรงชีวิต

ด้วยเหตุนี้คนจีนจึงแสดงความปรารถนาร่ำรวยผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างไฉ่ซิ้งขึ้นมากราบไหว้บูชา เพื่อเป็นพลังเสริมความขยันหมั่นเพียร ให้เกิดความมั่งคั่งซึ่งเป็นความปรารถนาที่ถูกค่านิยมเก่าควบคุมอยู่การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดแม้ในสมัยโบราณเงินทองจะไม่มีความสำคัญเท่ายุคหลัง แต่ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้คนทำดีร่ำรวยได้ก็มีมานานแล้ว

ดังปรากฏบันทึกในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (后汉书) ว่า ในรัชกาลพระเจ้าฮั่นซวนตี้ ยินจื่อฟางเป็นลูกกตัญญูและมีเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น วันสิ้นปีเจ้าเตาไฟปรากฏกายให้เห็น เขาจึงจัดของเซ่นไหว้ ภายหลังร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น ในสมัยราชวงศ์ฮั่นและวุ่ย (สามก๊ก) ก็มีความเชื่อเรื่องเซ่นไหว้รูป “พฤกษาโปรยทรัพย์ (揺钱树)” ซึ่งเชื่อกันว่าเขย่าที่ต้นแล้วจะมีเงินทองร่วงลงมา ภายหลังยังมีประเพณี “ไล่ผีแห่งความยากจน” อีก ความเชื่อเหล่านี้เป็นที่มาของไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน) ซึ่งปรากฏชัดในยุคหลัง

ประการที่สอง เพื่อเป็นแบบอย่างคุณธรรมและควบคุมศีลธรรมที่เกี่ยวกับผลประโยชน์และเงินทอง คนจีนมีลักษณะนิสัยที่โดดเด่นประการหนึ่งคือ ขยันหมั่นเพียร พึ่งความพยายามของตนเป็นสำคัญ แม้จะเชื่อเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อาศัยเป็นกำลังใจมากกว่าพึ่งพา ฉะนั้นในเรื่องความร่ำรวยก็ต้องอาศัยความรู้ความสามารถขยันหมั่นเพียรสร้างด้วยตัวเอง ไฉ่ซิ้งที่คนจีนสร้างขึ้นมาจึงสะท้อนเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังจะแสดงตัวอย่างในตอนหลัง

ในสังคมจีนเก่า กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึงและยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบคดโกง ฉ้อฉลทุจริตในลักษณะต่างๆ มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่มีผลประโยชน์เรื่องเงินทองสูง เช่นการค้าขาย มักมีความไม่ซื่อตรง คดโกงกันในลักษณะต่างๆ กฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง ดังนั้นคนจึงอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยควบคุมในเรื่องนี้

ในสังคมจีนเก่า มีเทพประจำอาชีพต่างๆ แทบทุกอาชีพ จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อรวมกลุ่ม สร้างสำนึกร่วมในคนอาชีพเดียวกัน และคุมจริยธรรมของคนในอาชีพนั้นด้วย

เทพแห่งทรัพย์สินเดิมเป็นเทพของพวกอาชีพที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้า การพนัน ซึ่งมีความฉ้อฉลคดโกงกันสูง การบูชาเทพแห่งทรัพย์สินหรือไฉ่ซิ้งจึงหวังให้ท่านผดุงความถูกต้องยุติธรรมให้ด้วย ไฉ่ซิ้งของจีนซึ่งมีมากมายหลายองค์นั้น ส่วนมากสร้างจากบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือบุคคลในตำนานซึ่งเป็นแบบอย่างคุณธรรมด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน เช่น เจ้ากงหมิง ไฉ่ซิ้งองค์สำคัญที่สุด เป็นเทพเก่าแก่ มีตำนานว่าตาบอด จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการไม่เห็นทรัพย์สินอยู่ในสายตา แบ่งให้คนอย่างถ่องเที่ยงยุติธรรม กวนอู เป็นคนซื่อสัตย์รักษาความถูกต้องชอบธรรม เป็นยอดคนกล้าหาญ (英雄) ยอดผู้ผดุงศีลธรรม (义绝) สองคนนี้เป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊ คุ้มครองและประทานความยุติธรรมในเรื่องทรัพย์สิน

ส่วนเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบุ๋นที่สำคัญที่สุดสององค์ คือ ปี่กัน บุคคลยุคปลายราชวงศ์ซางกับฟ่านหลี สามีของไซซี ยอดหญิงงามในยุคชุนชิวปี่กันยึดความถูกต้อง ทักท้วงกษัตริย์จนถูกควักหัวใจ ขงจื๊อยกย่องว่าเป็นยอดของผู้ทรงคุณธรรม เป็นสัญลักษณ์ของความสุจริตยุติธรรม ฟ่านหลีมีปรีชาสามารถรอบด้าน ค้าขายจนร่ำรวย แล้วใช้ทรัพย์นั้นเกื้อกูลคนยากจน เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาในการหาทรัพย์ เพราะคนจะร่ำรวยได้ต้องมีปัญญาในการหาทรัพย์เป็นสำคัญ ไฉ่ซิ้งอีกมากมายหลายองค์ของจีนนั้นล้วนเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังจะอธิบายในตอนที่กล่าวถึงเทพองค์นั้นๆ

หลี่เย่ว์จงได้กล่าวสรุปเรื่องที่มาของไฉ่ซิ้งว่า ที่มาเบื้องต้นคือคนหวังรวย ต้องการใช้ไฉ่ซิ้งเป็นพลังเสริมและกำลังใจในการสร้างความมั่งคั่ง เบื้องปลาย คือใช้เป็นแบบอย่างคุณธรรมและควบคุมศีลธรรมจริยธรรมของคนในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ เงินทอง และความร่ำรวย ไฉ่ซิ้งเป็นผู้สร้างความสมดุลในเรื่องผลประโยชน์กับศีลธรรม ซึ่งปกติแล้วเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งมุ่งเน้นเรื่องสร้างความร่ำรวยอย่างถูกศีลธรรมและใช้ความร่ำรวยไปอย่างมีคุณธรรม

ความเป็นมาของความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้ง

ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินหรือไฉ่ซิ้งมีมาแต่ครั้งใด นักวิชาการจีนส่วนมากมีความเห็นว่า “โบราณไม่มีเทพแห่งทรัพย์สิน” หลี่เย่ว์จงค้นคว้าเรื่องนี้จากงานของนักวิชาการรุ่นเก่า เอกสารโบราณ ได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้ ในทำเนียบของเทวดาของคนจีน เทพแห่งทรัพย์สินเป็นเทพรุ่นหลัง ปัจจุบันสืบค้นที่มาไปได้แค่ยุคราชวงศ์ซ่ง

ในหนังสือฝันถึงความรุ่งเรืองในเมืองหลวงเก่า (东京婪华录) ของยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. 1670-1822) เขียนเล่ารำลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองในนครเปียนเหลียง เมืองหลวงเก่าครั้งราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ. 1503-1669) ตอนหนึ่งเล่าถึงประเพณีในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่า ผู้คนซื้อรูปเทพทวารบาล เทพจงขุย…และรูปประตูทรัพย์สิน แสดงว่ายุคนั้นมีความรู้เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว แต่รูปประตูแห่งทรัพย์สินเก่าสุดที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันเป็นของราชวงศ์หยวน

ในภาพมีรูปขุนนางฝ่ายบุ๋นสองคนยืนหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางมีอ่างแก้วแหวนเงินทอง ด้านหลังมีรูปประตูใหญ่หับใบบานทั้งสองด้านบนมีอักษรว่า “ประตูคลังทรัพย์สิน” ในหนังสือเมิ่งเหลียงลู่ (梦粱录) ของคนราชวงศ์ซ่งใต้ กล่าวถึงเทศกาลตรุษจีนในนครหาวโจวเมืองหลวงยุคนั้นว่า ในเทศกาลตรุษจีนตามร้านค้ามีรูป “ม้าของเทพแห่งทรัพย์สิน” จำหน่าย เป็นหลักฐานสำคัญว่าถึงยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินแพร่หลายแล้ว

ตั้งแต่นั้นมาการเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินก็คึกคักแพร่หลายยิ่งขึ้น และเกิดเทพแห่งทรัพย์สินด้านต่างๆ ขึ้นอีกมากมายหลายองค์ คำว่า“เทพแห่งทรัพย์สิน (ไฉ่ซิ้ง 财神)” เกิดขึ้นอย่างช้าสุดไม่เกินปลายราชวงศ์หยวน ในบทละครเรื่องหนี้ชาติหน้า (耒生债) ของยุคปลายหยวนต้นหมิงองก์ที่หนึ่งมีบทร้องวรรคหนึ่งว่า“ไม่ว่าใครก็รอเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สิน”

ถึงยุคราชวงศ์หมิง การค้าขยายตัว ความอยากร่ำรวยของผู้คนก็ขยายตามไปด้วย เนื่องจากการค้ามีความไม่มั่นคงและความเสี่ยงสูงขึ้น พ่อค้าต่างปรารถนาให้การค้าทุกครั้งประสบความสำเร็จ ได้กำไรงาม การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินจึงกลายเป็นประเพณีสำคัญของคนพวกนี้ ปรากฏเรื่องราวอยู่ในเรื่องสั้นและนิยายยุคนั้นมากมาย

ต่อมาพวกอาชีพอื่นก็นิยมตามไปด้วย ดังปรากฏในวรรณกรรมนิทานเรื่องหนึ่งของยุคกลางราชวงศ์หมิงว่า“นักพนันกัดจิ้งหรีดคนหนึ่งเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินอยู่ประจำต่อมาได้จิ้งหรีดกัดเก่งตัวหนึ่ง กัดชนะทุกครั้ง จนใช้หนี้พนันที่เคยมีอยู่หมดแล้วยังมีเงินเหลือร่ำรวย” เทพแห่งทรัพย์สินในนิทานเรื่องนี้มีลักษณะเป็น “เทพแห่งลาภลอย” มากกว่าเทพแห่งทรัพย์สินปกติ

ในร้อยกรองและนิทานยุคราชวงศ์หมิงอีกหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าถึงยุคกลางและปลายราชวงศ์หมิง การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินเป็นประเพณีที่แพร่หลายไปในหมู่ชนทุกหมู่เหล่าแล้ว

ต่อมาในยุคราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2279-2454) และยุคสาธารณรัฐ (พ.ศ. 2454-2492) การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินเป็นประเพณีนิยมประการหนึ่งของคนทั่วไปในสังคม มีบันทึกอยู่ในหนังสือบันทึกประเพณีทั่วจีน (中华全国风俗志) ของหูพ่ออันคนยุคปลายราชวงศ์ชิงถึงต้นสาธารณรัฐ เช่น แถบผิงเซียง มณฑลเจียงซี พวกพ่อค้าไหว้เจ้ากงหมิงเป็นพระโพธิสัตว์เรียกทรัพย์ ฟ่านหลีเป็นเทพแห่งทรัพย์สินของหลายมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้ พ่อค้าเมืองเซ่าซิงยกย่องฟ่านหลีเป็นปรมาจารย์แห่งการค้า จัดงานเซ่นไหว้ในวัน 11 ค่ำ เดือนห้า ทางภาคตะวันออกของมณฑลเหอหนัน ผู้คนเชื่อว่าภรรยาฟ่านหลีเป็นเทพธิดามีฤทธิ์มาก ช่วยให้เขาได้เงินทองมากมายไม่รู้สิ้น

ชาวมณฑลซานตงยกย่องว่าฟ่านหลีสอนให้คนค้าขายและบอกกับผู้คนว่า “เงินทองนั้นมีหนึ่งแล้วเพิ่มเป็นสิบได้ จากสิบเพิ่มเป็นร้อย แล้วเพิ่มมากยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด” นี่คือที่มาของการค้าขาย คนจีนแต้จิ๋วยกย่องว่าฟ่านหลีคือเทพแห่งทรัพย์สินและการค้า มีพิธีเซ่นไหว้ในวัน 24 ค่ำ เดือนหก

เมื่อฟ่านหลีปลอมตัวค้าขายจนมั่งคั่งนั้น ผู้คนเรียกว่าเถาจูกง ซึ่งเสียงจีนแต้จิ๋วว่า “เถ่าจูกง” เป็นที่มาของคำว่า “เถ่าเก-เถ้าแก่” ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกมาก

ในยุคเดียวกันนี้เอง ผู้คนในแต่ละถิ่นต่างสร้างเทพแห่งทรัพย์สินองค์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการทางจิตใจของตน จึงมีเทพแห่งทรัพย์สินมากมายต่างกันไปตามถิ่นตามยุค มีตำนานที่มาและคุณสมบัติแตกต่างกันไป มีทั้งเทวดา เซียน เทพท้องถิ่น บุคคลในตำนาน ตลอดจนพระโพธิสัตว์พระสงฆ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา

การมีเทพแห่งทรัพย์สินเกิดขึ้นใหม่อีกมากมายนี้สะท้อนอยู่ในวรรณกรรมเรื่องหนึ่งของอู๋เจี่ยน (พ.ศ. 2409-2453) คนยุคปลายราชวงศ์ชิงว่า “เทพแห่งทรัพย์สิน (ไฉ่ซิ้ง-ไฉเสิน) มีนามเต็มว่า ‘ตูเทียนจื้อฟู่ไฉป๋อซิงจวิน (都天致富财帛星君- ดาวแห่งทรัพย์สินแพรพรรณผู้กำกับความมั่งคั่งทั่วฟ้า)’ แต่คนผู้ขอทรัพย์สินไปทราบว่าท่านคือเทพแห่งทรัพย์สิน กลับไปยกย่องเจ้ากงหมิงเป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊ บ้างก็ยกย่องเห้งเจียเป็นเทพแห่งทรัพย์สิน บ้างก็ยกย่องจาวไฉถงจื่อ (กุมารเรียกทรัพย์) เป็นเทพแห่งทรัพย์สิน บ้างก็ยกย่องผีแห่งท้องถิ่นผู้ไว้ทุกข์เป็นเทพแห่งทรัพย์สิน

ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินแห่งหนทางทั้งห้าเกิดขึ้นแล้ว เทพไฉป๋อซิงจวินผู้กำกับทรัพย์สินองค์เดิมก็ตกต่ำลง จนท่านน่าจะต้องถอนใจพูดว่า ‘เดี๋ยวนี้ข้าก็เหมือนฮ่องเต้ในโลกมนุษย์ มีแต่ยศศักดิ์สูงอันว่างเปล่า ถูกเจ้าพวกตัวเล็กตัวน้อยยึดอำนาจหมดกลายเป็นผู้สูงส่งเดียวดายจริง’”

ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเป็นต้น ไม่เพียงแต่พ่อค้าแม้ปัญญาชน ขุนนาง ชาวไร่ชาวนา และคนทุกหมู่เหล่าต่างมีประเพณีไหว้เทพแห่งทรัพย์สินประเภทต่างๆ กันทั่วหน้า พิธีการเซ่นไหว้ก็มีหลายลักษณะต่างกันไป มีทั้งขอทรัพย์ เชิญทรัพย์ เรียกทรัพย์สารพัดอย่างมายาวนาน ถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2492-ปัจจุบัน) ช่วงแรก ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซบเซาไป แต่หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศ ทุนนิยมเข้าสู่จีน ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับฟื้นขึ้นมา เทพแห่งทรัพย์สินเป็นเทพที่ผู้คนนิยมกราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่งตามสภาพสังคมซึ่งเงินมีความสำคัญมากขึ้น

ส่วนในไต้หวัน หนังสือรับทรัพย์รับโชค (接财迎福) สรุปความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินในไต้หวันไว้ว่า “ในไต้หวัน ผู้คนอพยพจากแผ่นดินใหญ่มาเพื่อสร้างชีวิตที่ดี มีความสุข จึงมุ่งหวังทรัพย์สินเงินทอง ลูกหลาน และความมีอายุยืนแข็งแรงเป็นสำคัญ เบื้องแรกต้องมีทรัพย์ก่อน จึงจะมีทุนส่งเสียลูกหลานเล่าเรียนมีความรู้ ประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ จากนั้นจึงต้องการความมีอายุยืนแข็งแรง อยู่เห็นความสำเร็จของลูกหลาน ความมั่นคงของวงศ์ตระกูล เงินทองเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้น เพราะถ้ามีเงินย่อมจะช่วยเหลือญาติมิตร เพื่อนมนุษย์ ทำสาธารณกุศลต่างๆ ได้เต็มที่ ทรัพย์สินเงินทองความร่ำรวยจึงเป็นความปรารถนาเบื้องต้นของคนจีนในไต้หวัน”

ในหมู่คนจีนโพ้นทะเลมีความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินติดมาแต่เดิม และเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และ “กระแส” ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนในเมืองไทยว่าการไหว้ไฉ่ซิ้งคึกคักกว่าในอดีตมาก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไฉ่ซิ้ง : เทพแห่งทรัพย์สินของจีน เทวดาผู้มาแรงในปัจจุบัน” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • Suppaaut
    🙏🙏🙏🙇🏻🙇🏻🙇🏻
    28 พ.ย. 2563 เวลา 18.30 น.
  • 1 LEVEL 🎱 🐒
    🚍🚶‍♂️🚶‍♂️🚶‍♂️🚶‍♂️ช่วยเหลือตนเองแน่นอนกว่า แล้วพระ.😇..จะโปรดรางวัลให้... 🏕
    28 พ.ย. 2563 เวลา 14.29 น.
  • โจโจ้
    เส้นทางสายไหม​ เกิดในราชวงศ์​ฮั่น ฮั่นอู่ตี้​ 2,100 ปีก่อน จากจีนไปโรมัน​ เส้นทาง​สายไหม​ เกิดก่อนครับ เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ยท่านศรัทธา​ในอี้จิ้ง​ครับ. ส่วนศาสนาอิสลาม​เกิด​เมื่อ 1,400 ปี​ก่อน
    28 พ.ย. 2563 เวลา 12.21 น.
ดูทั้งหมด