เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา มหาเศรษฐีวิศวกรชื่อดัง Elon Musk (อีลอน มัสก์) ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า บุตรชายคนแรกของเขาและ Grimes (กริมส์) นักร้องนักดนตรีชื่อดังชาวแคนาดา ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว
อันที่จริงเรื่องเซเลปคนดังมีลูก ถึงจะเป็นเรื่องน่าดีใจที่ได้เห็นเด็กน้อยคนใหม่ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องพูดถึงหรือมีข่าวอะไรมากมายนัก
แต่ไม่ใช่กับมัสก์และกริมส์ค่ะ !
เพราะหลังโพสต์ภาพถ่ายพ่อหนูน้อยแล้ว เมื่อแฟน ๆ ถามว่า “ลูกชื่ออะไร” แกก็ตอบอย่างภาคภูมิใจและชัดถ้อยชัดคำว่า
“X Æ A-12”
เดี๋ยววววว แล้วมันอ่านหรือแปลว่าอะไรกันแน่เนี่ย !!
อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปที่มัสก์และกริมส์ เราจะพบว่าทั้งคู่ต่างเป็นบุคคลที่มั่นใจ มีเอกลักษณ์ มีหนทางของตนเองในระดับโลกไม่ลืม หรือจะว่า “อินดี้” เอามาก ๆ เลยก็ได้ค่ะ
ในขณะที่มัสก์เป็นวิศวกรระดับอัจฉริยะ ผู้ก่อตั้ง SpaceX และ Tesla กริมส์ก็เป็นนักดนตรีสาย Art pop และ Electronic ที่สร้างงานเพลงระดับแนวหน้าหาตัวจับยาก ต่างเป็นคนที่ไม่ซ้ำใครในแบบของตนจริง ๆ
เมื่อทั้งคู่มีพยานรักร่วมกัน แน่นอนว่าต้องไม่ธรรมดา
และเมื่อน้อง “X Æ A-12” เกิดมา ชื่อของน้องก็กลายเป็นหัวข้อร้อนแรงระดับโลกทันที (แน่ล่ะสิ)
“X, the unknown variable”
ในรายการ The Joe Rogan Experience ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มัสก์เล่าว่าสองท่อนแรกของชื่อมาจากความคิดของกริมส์
X คือตัวแปรไม่ทราบค่า
ในสายวิทยาศาสตร์ที่ใช้การคำนวณทั้งหมด เรามักแทนคำตอบที่ต้องการหา และยังไม่ทราบค่าว่า X
ดังนั้น X จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ไม่ทราบว่าแท้จริงเป็นเช่นไร คนแก้โจทย์ไม่อาจบังคับกะเกณฑ์มันได้ ได้แต่เฝ้ามอง และรอคอยคำตอบที่จะค่อย ๆ เผยออกมา
ก็คงคล้ายกับความรู้สึกของพ่อแม่ ที่เฝ้ามองลูกเติบใหญ่ ไปเป็นอย่างที่ใจเขาต้องการนั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม แฟน ๆ กริมส์บางส่วนเชื่อมโยงชื่อนี้ กับแนวคิดเสรีภาพทางเพศ ที่ว่ามนุษย์สามารถเลือกเพศได้ โดยไม่ควรถูกจำกัดโดยเพศกำเนิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่รวมถึงกริมส์
ระยะหลังแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หลายประเทศอนุญาตให้ลงเพศในเอกสารราชการเป็น X ได้ รวมถึงรณรงค์การใช้สรรพนามที่ไม่บ่งบอกเพศ
นับเป็นพยางค์แรกของชื่อที่น่าสนใจจริง ๆ ค่ะ
“Æ, my elven spelling of Ai (love &/or Artificial intelligence)”
พยางค์ที่สอง ซึ่งเป็นพยางค์ที่มีปัญหาที่สุดของชื่อหนูน้อยคนใหม่ Æ
อันที่จริงอักษร Æ เกิดจากการเชื่อม A และ E ในภาษาละตินโบราณ ออกเสียงว่า “Ash แอช” โดยสัญลักษณ์ Æ นี้พัฒนาต่อเนื่องไปเป็นอักษรที่ใช้จริงในภาษาปัจจุบันหลายภาษา ทั้งเดนิช (เดนมาร์ก), นอร์วีเจียน (นอร์เวย์) หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษเองก็มีอักษรนี้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ยุคหลังความนิยมของ Æ ในภาษาอังกฤษลดลงไปมาก จนไม่มีที่ใช้และหายไปในที่สุด แต่เพราะหลายภาษาในทวีปยุโรปยังคงใช้อักษรนี้อยู่ หลายคนเมื่อเห็นชื่อของหนูน้อยจึงอ่านออกทันทีว่าแอช
คงคล้ายกับ ฃ ฅ ในภาษาไทย ที่รู้ว่าอ่านอย่างไรแต่ไม่เคยใช้นั่นเอง
โดยมัสก์เองก็ยืนยันว่า ชื่อลูกพยางค์นี้อ่านว่าแอชเช่นกัน
ทว่า
ในเมื่อกริมส์เป็นคนตั้ง ก็ย่อมต้องถามกริมส์ว่าอ่านอย่างไร
ทวิตเตอร์ของกริมส์กลับให้ข้อมูลต่างออกไป โดยบอกว่า Æ เป็นอักษรในภาษาเอลฟ์ อ่านว่า “Ai”
!!!
คำอธิบายนี้ยิ่งมายิ่งงง เพราะเอลฟ์ในความเชื่อของชาวตะวันตก คือภูตพราย สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์แต่มักสวยงามกว่า จึงไม่ควรจะมีใครรู้ภาษาเอลฟ์แต่อย่างใด
คำอธิบายของกริมส์จึงถูกวิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานาค่ะ อย่างไรก็ตาม หากคิดตามดี ๆ อาจมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่คาดไว้
ภาษาเอลฟ์ที่กริมส์ว่า (Elven spelling) น่าจะหมายถึงภาษา Sindarin จากเรื่อง The Lord of The Rings นั่นเอง
The Lord of The Rings เป็นวรรณกรรมชั้นเอกของโลก ถูกสร้างเป็นหนังไตรภาคระดับตำนานเมื่อสิบกว่าปีก่อน ความเด็ดของวรรณกรรมเรื่องนี้ ไม่เพียงเรื่องราวที่สนุกสนานซับซ้อน แต่เป็นการสร้างโลกที่ยิ่งกว่าเสมือนจริงขึ้นในหนังสือ
โลกในหนังสือประกอบด้วยหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน J.R.R. Tolkien ผู้ประพันธ์ ได้สร้างให้แต่ละเผ่ามีประวัติศาสตร์เป็นของตน มีพัฒนาการตามช่วงเวลาของโลก และที่เหนือชั้นที่สุดก็คือ “มีภาษาที่ใช้ได้จริงเป็นของตนเอง”
ภาษาเหล่านี้ใช้ได้จริง มีคำ มีเสียง มีไวยากรณ์เป็นของตนเอง นั่นทำให้ J.R.R. Tolkien ได้รับการยกย่องเป็นนักอักษรศาสตร์ระดับบรมครู
หนึ่งในภาษาที่เผ่าเอลฟ์ในเรื่องใช้ มีชื่อว่า Sindarin และภาษา Sindarin ก็มีการใช้อักษร Æ แทนเสียง “Ai” จริง ๆ
แต่เรื่องราวของชื่อพยางค์ที่สองของน้องหนูยังไม่จบเท่านั้น เพราะกริมส์ยังเล่าต่อว่า เธอเลือกคำนี้ขึ้นมา เพราะมันออกเสียงตรงกับ “ความรัก”
หากไปเปิดในพจนานุกรมของภาษา Sindarin จะกำหนดให้อักษร Æ ออกเสียงว่า “Ai” แต่ให้เปิดปากออกกว้างช่วงปลายเสียง ซึ่งถ้าลองทำตามดูจะออกเสียงว่า “อ้าย”
และเสียง “อ้าย” ก็ตรงกับคำว่า “ความรัก” ของภาษาตระกูลเอเชียตะวันออก ทั้งจีนและญี่ปุ่น ที่ต่างใช้อักษร “爱 อ้าย” แทนคำว่ารักนั้นเอง
นับได้ว่าชื่อ Æ ของเด็กน้อย มีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวพันหลายภาษาจริง ๆ nค่ะ
ทั้งนี้กริมส์ยังตบท้ายด้วยว่า Ai ยังเป็นตัวย่อของ Aritificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์
เธอจบความหมายสายนี้ไว้แค่นี้ แต่หากเดาความคิดเธอผู้ชื่นชอบศิลปะวรรณกรรม คงไม่ยากถ้าจะคิดไปถึงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก “A.I. (2001)” ซึ่งมีเนื้อหาเล่าถึงหุ่นยนต์เด็กน้อย ออกเดินทางตามหานางฟ้าเพื่อขอพรให้ตนเป็นมนุษย์ หวังให้หญิงซึ่งเด็กน้อยยึดถือเป็นมารดา หันกลับมารักเขาจริง ๆ
แน่นอนว่านี่คือภาพยนตร์ที่ให้นิยามความรักแม่ลูก ได้เด็ดขาดตราตรึงที่สุด
“ ‘A-12' is my contribution … Archangel 12, the precursor to the SR-71 — coolest plane ever.”
มาถึงท่อนสุดท้ายของชื่อหนูน้อย A-12 นี่อาจเป็นส่วนที่นับว่าง่ายที่สุด (รึเปล่านะ)
มัสก์เล่าว่า นี่คือส่วนที่เขาเป็นคนตั้ง
A-12 หรือ Archangel 12 เป็นชื่อของเครื่องบินที่เจ๋งที่สุดรุ่นหนึ่ง ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการวิศวกรรมการบินโลก
ย้อนไปสมัยสงครามเย็น ขณะนั้นอเมริกาเพิ่งพลาดท่า เครื่องบินรบ U-2 หนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีและล้ำยุคที่สุดขณะนั้น กลับถูกตรวจจับ และยิงตกเหนือน่านฟ้าสหภาพโซเวียต
นั่นไม่เพียงเกี่ยวพันกับความปลอดภัยของนักบินและตัวเครื่อง หากแต่ส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ คืออเมริกาเรียกได้ว่าหน้าแตก พ่ายแพ้แก่โซเวียตในศึกนี้เสียแล้ว
เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้อเมริกา ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีการบินกองทัพ โดยมุ่งเป้าที่เครื่องบินสอดแนมการรบ ที่รวดเร็วที่สุด และหลีกหนีการตรวจจับได้เยี่ยมที่สุด
นั่นคือจุดกำเนิดของ A-12 ค่ะ
ไม่เพียงที่มาอันเฉิดฉาย แต่การสร้าง A-12 ให้ได้ ทำให้อเมริกาพัฒนาเทคโนโลยีการตัดและต่อประกอบโลหะ “ไทเทเนียม” จนถึงขีดสุด ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานการสร้างเครื่องบินในยุคต่อ ๆ มา
นอกจากวัตถุดิบโครงสร้างแล้ว เป้าหมายหลักเรื่องความเร็วที่เหนือกว่า 3 มัค (3 เท่าของความเร็วเสียง) อาจเผาห้องนักบินให้ร้อนถึงกว่า 260˚C นั่นคืออเมริกาย่อมต้องพัฒนา ทั้งระบบหล่อเย็น ระบบเก็บและใช้พลังงาน รวมไปถึงชุดนักบินและรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติการเป็นไปได้จริงด้วย
และทั้งหมดได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการวิศวกรรมในเวลาต่อมา
สำหรับมัสก์ซึ่งเป็นวิศวกรในสายนี้แล้ว A-12 คงเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของมนุษยชาติ
ทั้งนี้ A-12 ตัวจริงถูกใช้งานไม่นาน เพราะได้รับการพัฒนาไปเป็น SR-71 เครื่องบินสอดแนมที่โด่งดังที่สุด แต่ก่อนจะปลดระวาง ภารกิจสำคัญของ A-12 นั้นเกิดขึ้นเหนือน่านฟ้าไม่ใกล้ไม่ไกล
น่านฟ้าของไทยนั่นเองค่ะ
ขณะนั้นสงครามเย็นเหนือแผ่นดินเวียดนามกำลังระอุ A-12 รับภารกิจบินจากฐานบินสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น พุ่งผ่านน่านฟ้าเวียดนาม แล้วพลิกตัวกลับเหนือแผ่นดินไทย
เล่าลือว่าในการบินครั้งหนึ่ง A-12 ถูกยิงด้วยขีปนาวุธจากภาคพื้นดิน ซึ่งมีความเร็วพื้นฐานที่ 3.5 มัค แต่ขีปนาวุธกลับตาม A-12 ไม่ทัน ได้เพียงทิ้งเศษบางอย่างกระแทกปีก Archangle ไว้ เป็นหลักฐานแห่งความภาคภูมิใจว่า ณ จุดที่เร็วที่สุด A-12 น่าจะไปได้ถึงเหนือกว่า 3.5 มัคนั่นเอง !
(ทั้งนี้ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่แฟน ๆ เครื่องบินรบ)
ด้านกริมส์เองก็เห็นด้วยกับชื่อท้ายนี้ เธอเสริมด้วยว่า A-12 ในความเห็นเธอ ไม่ติดอาวุธหนัก ไม่ดุร้าย ไม่ทำลายผู้คน แต่สวยงามปราดเปรียวเหนือใคร
สมชื่อ Archangel เทพที่เหนือเทวาทั้งปวง
หลายคนอาจมองว่า มัสก์กับกริมส์ออกจะหวือหวา และอาจสร้างปัญหาจากชื่อลูกที่แปลกประหลาดเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ชัดเลยว่า ไม่ว่าเชื้อชาติไหน ศาสนาใด ยากดีมีจนอย่างไร พ่อแม่ก็ล้วนทั้งรักทั้งหลงลูก จนอดยิ้มให้ไม่ได้เลยค่ะ
นับเป็นเรื่องแปลก ๆ ของครอบครัวคนดัง ที่ออกไปทางน่ารักปนขำ แต่ได้ความรู้อย่างดีเรื่องหนึ่ง
ทั้งนี้ พอมองกลับมาที่บ้านเราแล้ว อันที่จริงหลาย ๆ บ้านก็ทุ่มเทกับการตั้งชื่อลูกมาก ไม่แพ้มัสก์กับกริมส์เลยค่ะ
อ้างอิง:
- Twitter: @elonmusk, @Grimezsz
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร
Nina ไกรมส์ Grimes (Stage name)
ชื่อจริง แคล เบาเชอร์ Claire Boucher
12 พ.ค. 2563 เวลา 08.13 น.
อ้าย อ้าย ขอหมอลำหน่อยเด้
12 พ.ค. 2563 เวลา 08.08 น.
โรงพิมพ์สุทธิพงษ์ ใครอ่านไม่จบยกมือขึ้น555 ชื่อไรว๊า
15 พ.ค. 2563 เวลา 03.31 น.
ซ้น มีเกิดจะมีตายตามมา เกิดแก่เจ็บตาย
12 พ.ค. 2563 เวลา 05.35 น.
𝕊𝔸𝕀𝔽𝔸ℍ⚡ផ្គរលាន់⚡ ชอบคุณแม่คนที่เป็นนักร้องมาก แนวเพลงแปลกดีเอ็มวีสุดแนว
12 พ.ค. 2563 เวลา 11.18 น.
ดูทั้งหมด