ไลฟ์สไตล์

เราจัดระบบทุกอย่างจนหลงทางในระบบ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 17.03 น. • วินทร์ เลียววาริณ

คีธ ริชาร์ดส์ (Keith Richards) นักกีตาร์มือดีลำดับต้น ๆ ของโลก และนักแต่งเพลงแห่ง The Rolling Stones เคยวิพากษ์ดนตรีฮิพฮอพว่า “ฮิปฮอปทำให้ผมหนาว แต่ก็มีคนข้างนอกโน่นที่คิดว่ามันเป็นความหมายของชีวิต ผมไม่ต้องการให้ใครตะโกนใส่ ผมต้องการให้คนร้องเพลงให้ฟัง”

เขายังวิพากษ์ดนตรีแรปว่า “ดนตรีแรปพูดมาก ได้ความน้อย” (Rap-so many words, so little said.)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แน่ล่ะ มันเป็นความเห็นส่วนตัวของนักดนตรีคนหนึ่งที่ไม่ชอบดนตรีสองแนวนี้ เพราะฮิปฮอปกับแรปที่ดีก็มี

มาร์ติน สกอร์เซซซี นักสร้างหนังมือดีลำดับต้น ๆ ของโลก บอกว่า “หนังซูเปอร์ฮีโรไม่ใช่ภาพยนตร์”

“หนังพวกนี้เป็นเหมือนเกมมากกว่าหนัง เข้าใจมั้ย มีแต่เทคนิค แต่มันไม่ใช่หนัง”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในความคิดเห็นและประสบการณ์ของเขา เขามองว่า หนังซูเปอร์ฮีโรเป็นแค่ ‘งานเด็กเล่น’

แน่ล่ะ มันก็เป็นความเห็นส่วนตัวของนักสร้างหนังคนหนึ่ง เพราะหนังซูเปอร์ฮีโรที่ดีก็มี

แต่ทั้งสองกรณีนี้บอกเราว่า ในงานศิลปะชิ้นเดียวกัน ศิลปินสองฝ่ายมองต่างกันอย่างหน้ามือกับหลังมือได้อย่างไม่น่าเชื่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คำถามคือ หากงานศิลปะชิ้นหนึ่งดีจริง มันน่าจะได้ความเห็นคล้อยตามกันพอสมควร ไม่น่าจะแตกต่างกันมากขนาดนี้

นี่ทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า 

หนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่าความเห็นของมนุษย์เป็นอคติ ?

แน่นอน ศิลปินก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ย่อมมีอคติได้

สอง เป็นไปได้ไหมว่าศิลปะเป็นเรื่องนานาจิตตัง ? 

ศิลปินบางคนเชื่อจริง ๆ ว่างานที่ตนสร้างเป็นตระกูลงานที่เหนือกว่า คนแต่งเพลงคลาสสิกบางคนอาจเห็นว่างานเพลงพอปเป็นงานเด็กเล่น จิตรกรวิจิตรศิลป์อาจเห็นว่าการ์ตูนเป็นงานเด็ก ๆ

และสาม เป็นไปได้ไหมว่าเรายึดติดกับการแบ่งประเภทมากเกินไป ?

…………………………………………………………………………..

มนุษย์เราชอบจัดระบบ หนังแบบนี้เรียกว่าตระกูล ก. หนังสือแบบนี้เรียกว่าตระกูล ข. เพลงแบบนี้เรียกว่าตระกูล ค. เส้นแบ่งชัดเจนจนไม่ค่อยมีคนกล้าข้าม

เราจัดแบ่งทุกอย่างในโลกเป็นพวกเป็นเหล่า แล้วสลักกติกาเหล่านี้บนแผ่นหิน

เราแบ่งประเภททุกสิ่งทุกอย่างในโลก นอกจากงานศิลปะแล้ว เรายังแบ่งสังคม

ในการเมืองเราก็แบ่งระบอบการปกครองออกจากกันเด็ดขาด ระบอบ ก. ไม่ใช่ ระบอบ ข. ระบอบ ก. จะเหลื่อมทับกับระบอบ ข. ไม่ได้เด็ดขาด อนุรักษ์นิยมต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เสรีนิยมต้องเป็นแบบนั้นเท่านั้น เผด็จการต้องเป็นแบบโน้นเท่านั้น และทั้งหมดซ้อนทับกันไม่ได้เด็ดขาด และเช่นกันสลักกรอบคิดเหล่านี้บนแผ่นหิน

และก็เป็นทุกข์กับการแบ่งระบอบไป

การจัดตระกูลหรือ ‘ค่ายเพลง’ มีไว้เพื่อความเป็นระเบียบ ความสะดวก และเพื่อความเข้าใจ แต่หากไม่ระวัง เราก็อาจตกอยู่ในกรอบและกับดักของสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง

เราแบ่งว่าเรื่องยาวเท่านี้เรียกว่าเรื่องสั้น ยาวเท่านั้นเรียกว่านวนิยาย แค่โน้นเรียกเรื่องสั้นขนาดยาว เรื่องนี้เรียกเรื่องยาวขนาดสั้น ฯลฯ การแบ่งก็เพื่อให้เข้าใจงาน เห็นภาพชัดเจนขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เดินตามสิ่งที่แบ่งจนกระดิกตัวไม่ได้

งานศิลปะไม่มีกรอบหรือกฎ มันเป็นอะไรก็ได้ ว่าก็ว่าเถอะ การหลุดจากกรอบไม่เพียงสำคัญ มันยังจำเป็น ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้

เช่นกัน ชีวิตโดยตัวมันเองก็ไม่มีกฎ กรอบ กติกา และการจัดระเบียบ เราสร้างมันขึ้นมาเอง

ทางพุทธสอนเรื่องการแบ่งได้ลุ่มลึก นั่นคือการแบ่งทั้งหลายเป็นแค่มายา โลกนี้ไม่มีขาว-ดำ สูง-ต่ำ ดี-เลว ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นภาพลวงตา เราแบ่งขาว-ดำ สูง-ต่ำ ดี-เลว ฯลฯ ก็เพื่อประโยชน์ของการสื่อสารกัน แต่หากไปยึดมั่นถือมั่นกับ ‘กฎ’ ที่เราสร้างขึ้นเอง ก็เป็นทุกข์

บางทีหากเราเลิกจัดระดับของงาน ว่ากันตามเนื้อผ้าแต่ละชิ้น เราอาจจะมีความสุขขึ้น

…………………………………………………………….

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ความเห็น 16
  • ต้องทำใจยอมรับกับในความเป็นจริงครับ เพราะคนเราบนโลกใบนี้ส่วนมากแล้ว ต่างก็ย่อมที่ชอบจะเอาความคิดของตนเองเป็นที่ตั้งเสมอ โดยที่ไม่คำนึงถึงในความเป็นจริงและถูกต้องกันเป็นส่วนมาก ปัญหาถึงได้เกิดขึ้นมาให้ได้รู้ให้ได้เห็นกันอยู่แทบจะไม่เว้นวัน.
    31 พ.ค. 2563 เวลา 22.17 น.
  • dam dam
    สิ่งแรกเลยคือเราต้องแยกให้ออกกันก่อนครับ​ ระหว่างคำว่า​ "กฎเกณฑ์​ กับ​ ความรู้สึก" ดีชั่ว​ สูงต่ำดำขาว​ เราเรามิอาจใช้ความรู้สึกวัดได้เพราะระดับความรู้สึกคนเรามันไม่เท่ากัน​ ความดีคนดีชอบทำส่วนความชั่วคนชั่วมักมองเห็นเป็นเรื่องดี​ ในทางพุทธศาสนาแบ่งแยกความดีความชั่วไว้ชัดเจน​ ใช้เกณฑ์เรื่องของศีลธรรมเป็นตัวชี้วัดความดีความชั่ว​ดังคำสอน​ที่ว่า​ "ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว" ความดีคืออะไร​ ความชั่วคืออะไร​ มีนิยามไว้ชัดเจนแล้ว มิใช่ถูกกล่าวขึ้นมาลอยๆ​ เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ไม่ใช่ภาพลวงตา​
    01 มิ.ย. 2563 เวลา 05.18 น.
  • So
    การอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีกฏระเบียบ ต้องจัดระบบ หากไม่มีโลกจะวุ่นวายแค่ไหน ความคิดเห็นย่อมต่างกันไป ตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และความชอบ
    01 มิ.ย. 2563 เวลา 04.53 น.
  • เราเป็นคนคิดอะไรซับซ้อนไม่ได้ แต่ที่รู้คือ ไม่ว่ามันจะมีดีชั่ว ผิดถูก สูงต่ำ ดำขาวหรือสีอื่นๆก็เหอะ ดีมากไป ชั่วมากไป สุดท้ายมันวัดกันที่คำว่า .... " มาตรฐานเป็นตัววัด ".... เราพัฒนาตัวเองจนได้ต้นแบบ หรือที่เรียกว่ามาตรฐานมาบัญญัติ ญาณ เป็น เครื่องรู้ เป็นอจินไตยคือปัญญาไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้มีมากมายจนจะว่าใครเก่งและดีกว่ากัน แต่ละเรื่องๆ ไปจะดีกว่า ไม่ใช่ใครจะเก่งไปซะทุกเรื่อง
    01 มิ.ย. 2563 เวลา 03.03 น.
  • สรุป...มนุษย์คือผู้ที่หลงในสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้นมา..จนลืมความจริงที่ว่า สูงสุดสู่สามัญ!!!
    01 มิ.ย. 2563 เวลา 08.42 น.
ดูทั้งหมด