ทั่วไป

อนิเมะ : แฟนการ์ตูนทั่วโลกใจสลาย เหตุวางเพลงสตูดิโออนิเมะดังในญี่ปุ่น

Khaosod
อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 16.02 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 16.02 น.

อนิเมะ : แฟนการ์ตูนทั่วโลกใจสลาย เหตุวางเพลงสตูดิโออนิเมะดังในญี่ปุ่น – BBCไทย

แฟนการ์ตูนญี่ปุ่นทั่วโลกต่างตกตะลึงและเสียใจต่อเหตุไฟไหม้สตูดิโอผู้ผลิตอนิเมะ เกียวโต แอนิเมชัน หรือที่รู้จักกันในวงการว่า “เกียวอนิ” (KyoAni)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เหตุเพลิงไหม้สตูดิโอที่ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (18 ก.ค. 2562) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 33 คน และมีผู้บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราว 40 คน

ตำรวจกรุงโตเกียวเชื่อว่า เหตุสลดครั้งนี้เกิดจากการลอบวางเพลิง ผู้ต้องสงสัยเป็นชายวัย 41 ปี ที่บุกเข้าไปในสตูดิโอในช่วงเช้า ก่อนฉีดเชื้อเพลิงไปทั่ว แล้วจุดไฟ

เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังคงรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาล และยังไม่ให้ปากคำใด ๆ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เหตุวางเพลิงครั้งนี้ ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในญี่ปุ่น นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้สร้างอนิเมะคุณภาพ

ภายหลังทราบข่าว แฟนอนิเมะของค่ายเกียวอนิ ต่างโพสต์ข้อความในสังคมออนไลน์ อาทิ “เข้มแข็งไว้นะเกียวอนิ ชุมชนอนิเมะทุกแห่งพร้อมสนับสนุนพวกคุณทุกเมื่อ” แสดงถึงอิทธิพลของผลงานที่สตูดิโอแห่งนี้สร้างสรรค์ไว้สู่สายตาผู้ชมในระดับสากล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เกียวอนิ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1981 และผลิตอนิเมะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง รวมถึง “เค-ออง ก๊วนดนตรีแป๋วแหวว” (K-On!) และ “สึซึมิยะ ฮารุฮิ” (The Melancholy of Haruhi Suzumiya)

เน็ตฟลิกซ์ ยังนำอนิเมะเรื่อง “ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เดน” (Violet Evergarden) ไปฉายผ่านระบบสตรีมมิงออนไลน์ ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของเกียวอนิ เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ

Violet Evergarden ฉายบน Netflix

“หนึ่งปัจจัยที่ทำให้ เกียวโต แอนิเมชัน โดดเด่น คือคุณภาพของแอนิเมชัน” เอียน วูล์ฟ นักวิจารณ์อนิเมะของ “อนิเมะยูเคนิวส์” (Anime UK News) ระบุ

“มันเป็นอนิเมะที่เป็นมิตรต่อผู้ชมมาก”

วูล์ฟยังบอกด้วยว่า รูปแบบภาพและความประณีตอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ผู้ชมสังเกตได้ทันทีว่า นี่เป็นผลงานของเกียวอนิ

“เกียวอนิผลิตงานที่ไม่ค่อยสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์…ไม่ดูรุนแรง หรือมีเรื่องเพศมากเกินไป ผมคิดไม่ออกเลยว่า ใครจะต้องการทำลายสตูดิโอนี้”

 

โปรเจ็กต์อนิเมะของเกียวอนิที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ คือ “ฟรี” (Free) การ์ตูนเกี่ยวกับชมรมว่ายน้ำชาย ที่ได้รับกระแสตอบรับดีมากในกลุ่มผู้ชมผู้หญิง และยังมีแผนจะสร้างเป็นภาพยนตร์ภาคเสริมหรือสปินออฟ ให้สอดคล้องกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปี 2020 ด้วย

รักไร้เสียง – Silent Voice

ภาพยนตร์อนิเมะที่สร้างชื่อเสียงให้กับทางสตูดิโอ คือ ‘รักไร้เสียง’ (Silent Voice) ที่เข้าฉายเมื่อปี 2016 ก่อนฉายในหลายประเทศ รวมถึงในไทยเมื่อปี 2017

รักไร้เสียง สร้างจากมังงะหรือหนังสือการ์ตูนโดย โยชิโตกิ โออิมะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่เคยรังแกเด็กหญิงที่มีปัญหาทางการได้ยิน แต่ต่อมาสำนึกผิด เมื่อเขาถูกกลุ่มเพื่อนรังแกเสียเอง

หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ให้คะแนน 4 ดาว สำหรับภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ พร้อมชื่นชมว่าเป็น “ภาพยนตร์ที่เย้ายวนใจ แฝงด้วยความเปราะบาง เร้าอารมณ์ และละเอียดอ่อน”

นอกเหนือจากคุณภาพของผลงาน ทางสตูดิโอยังได้รับเสียงชื่นชมในแง่กระบวนการผลิตอีกด้วย โดยผู้ใช้เว็บไซต์ข่าวสังคม เรดดิท คนหนึ่ง ยกย่องเกียวอนิว่าเป็น “ตัวอย่างที่อุตสาหกรรมอนิเมะควรเอาเยี่ยงอย่าง” เพราะมีนโยบายการบริหารและฝึกฝนพนักงานที่ดี

นักวิจารณ์อนิเมะ วูล์ฟ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจเป็นเพราะการจ่ายเงินพนักงานที่เป็นธรรม

เกียวอนิมีระบบการจ่ายเงินเดือนต่อนักทำอนิเมะแบบรายเดือน แตกต่างจากองค์กรอื่น ๆ ที่ยึดมาตรฐานเดิมที่จ่ายเป็น “รายเฟรม” ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อพนักงานที่ต้องทำงานหนัก ๆ เพื่อให้ได้เงินมาก ๆ

ไว้อาลัยและเงินบริจาค

“เกียวอนิ เป็นหนึ่งในบริษัทแอนิเมชันที่ดีและใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น” ยูอิจิ มาเอดะ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในกรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส

“ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ ผมเชื่อว่ามีนักทำแอนิเมชันมือดีหลายคนของประเทศที่เสียชีวิต”

มาเอดะเชื่อว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่นอย่างรุนแรง

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเกียวอนิ ทำให้แฟนการ์ตูนทั่วโลกเข้ามส่งกำลังใจและความช่วยเหลือ

เกิดการเรี่ยไรเงินบริจาคผ่านเว็บไซต์ โกฟันด์มี (GoFundMe) ซึ่งระดมเงินได้มากกว่า 33 ล้านบาท ภายในเวลา 2 ชั่วโมง นับแต่เริ่มการรณรงค์ และจนถึงเมื่อเย็นวานนี้ (18 ก.ค.) ยอดบริจาคพุ่งสูงถึง 66 ล้านบาทแล้ว

ผู้ตั้งการเรี่ยไรเงิน คือ เซนไต ฟิล์มเวิร์กส์ ผู้เผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นในสหรัฐฯ โดยเชิญชวนให้แฟนอนิเมะบริจาคเงินไม่เกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่เกิน 1,500 บาทต่อคน

 

แดร์เรียน แฮร์ริสัน ผู้บริจาครายหนึ่งเขียนว่า “บริษัทนี้สร้างสรรค์อนิเมะมากมาย ที่ช่วยให้ผมเติบโตมาเป็นตัวผมในวันนี้ ผลงานหลายชิ้นเป็นอนิเมะชิ้นโบว์แดง”

ผู้บริจาคอีกคน แมคเคนซี ฮา กล่าวว่า เกียวโต แอนิเมชัน “เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมอนิเมะ และไม่ควรต้องมาเจออะไรแบบนี้ ผมหวังว่าเกียวอนิ จะลุกขึ้นกลับมาเข้มแข็งยิ่งกว่าก่อนเกิดโศกนาฏกรรมนี้”

บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น แฟนอนิเมะโพสต์ข้อความแสดงการไว้อาลัย และสนับสนุนเกียวอนิอย่างล้นหลาม

 

 

 

หลายคนแบ่งปันเรื่องราวถึงอนิเมะของเกียวอนิที่ตนเองชอบ รวมถึงอิทธิพลจากอนิเมะเหล่านี้ที่มีต่อชีวิตของพวกเขา

แฟนอนิเมะจำนวนไม่น้อยยังเสียดายผลงานที่เกียวอนิกำลังสร้างสรรค์อยู่และอาจถูกทำลายในกองเพลิง

“ภาพวาดหลายพันรูป คอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลแอนิเมชันสำคัญ ไม่แน่ว่า อนิเมะที่เกียวอนิกำลังผลิตและจะนำออกฉาย อาจเสียหายหนัก หรือถูกทำลายไปแล้วก็ได้” ผู้ใช้ เรดดิท รายหนึ่งเขียน

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • ¶¿ñraeª¿
    โอตะรับไม่ได้ค่ะ
    19 ก.ค. 2562 เวลา 21.45 น.
  • 🇹🇭 ຊ້າງລ້ຽງ 🇹🇭
    วางเพลงอะไรพี่ไลน์ทูเดย์ เพราะมั้ยอ่ะ อ่านแล้วหาชื่อเพลงไม่เจอครับ
    19 ก.ค. 2562 เวลา 20.56 น.
  • Tickety-Boo!!!🐈
    ทำลายความฝันของเหล่า"โอตะ"ทั่วโลก!!! การ์ตูน​ คือ​ ความฝัน​ แรงบันดาลใจ​ ตั้งแต่วัยเด็กยันวัยผู้ใหญ่..การ์ตูนไม่เคยทำร้ายใคร!!! พูดอย่างนี้ชักเป็นห่วงเซเลอร์มูนกับหน้ากากทักซิโด้แล้วสิ!!!😸
    19 ก.ค. 2562 เวลา 18.16 น.
  • Serina
    มึงให้กระเป๋ารถเมล์มาเขียนข่าวนี้เป่าว่ะ วางเพลง หรือ วางเพลิง
    19 ก.ค. 2562 เวลา 17.22 น.
  • ธีไอที
    วางเพลง หรือ วางเพลิง งง
    19 ก.ค. 2562 เวลา 17.01 น.
ดูทั้งหมด