ทั่วไป

กลับลำ! ไม่คุมส่งออกสุกร ภัยแล้ง-โรคระบาดกดดันราคาพุ่ง

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 23 ม.ค. 2563 เวลา 03.14 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 03.14 น.

อธิบดีกรมการค้าภายในกลับลำ “ไม่คุมส่งออกหมู” หลังราคาหมูเป็นในประเทศพุ่งเกิน กก.ละ 80 บาท อ้างเป็นราคาส่งออก ปล่อยคนอีสาน-เหนือกินหมูแพง ทั้ง ๆ ที่ราคาของสมาคมผู้เลี้ยงหมูระบุราคาหน้าฟาร์มพุ่ง 81 บาทไปแล้ว จาก 3 ปัจจัยหลักดันราคานิวไฮ “โรคระบาด ASF-แห่ส่งออกหมูทำกำไร-ภัยแล้ง”

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้เผยแพร่สภาวะตลาดสุกรมีชีวิตประจำวันพระที่ 17 มกราคม 2563 ปรากฏราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับสูงขึ้นไปเป็น กก.ละ 81 บาท จากงวดวันพระก่อนหน้าที่ราคา กก.ละ 78 บาท ขณะที่ราคาเฉลี่ยในภาคอื่นอยู่ที่ระหว่าง 79-80 บาท ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 156-162 บาท จากวันพระก่อนหน้าที่มีราคาเพียง กก.ละ 160 บาท ถือเป็นการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมการส่งออกหมูมีปริมาณสูงเพื่อทดแทนความต้องการหมูในประเทศที่มีการระบายของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ประกอบกับอยู่ในช่วงของเทศกาลตรุษจีน โดยก่อนหน้านี้กรมการค้าภายในได้ออกมาประกาศจะ “จำกัด” หรือ “ห้าม” ส่งออกหมู หากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มสูงเกินกว่า กก.ละ 80 บาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เป็นงง 81 บาทราคาหมูส่งออก

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาหมูเป็นขณะนี้ที่ขึ้นไปถึง กก.ละ 81 บาทนั้น “เป็นราคาหมูเป็นเพื่อการส่งออกและเป็นราคาที่ไม่ใช่อยู่ในพื้นที่เลี้ยงหลัก” จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ทำให้ราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ราคาหมูที่จีน กก.ละ 150 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนาม กก.ละ 120 บาท ผลมาจากความต้องการเพื่อการบริโภคและนำเข้ายังมีต่อเนื่อง ซึ่งการที่ราคาหมูส่งออกเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออก “เราก็ต้องให้โอกาสผู้เลี้ยงได้มีราคาสูงขึ้น”

ส่วนราคาจำหน่ายหมูชำแหละในประเทศ กรมได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอความร่วมมือให้ราคาหมูเป็นที่ขายภายในประเทศในรัศมี 300 กิโลเมตรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลไม่ให้เกิน กก.ละ 80 บาท แต่หากราคาสูงเกินไปก็สามารถ “จำกัด” การส่งออกได้ โดยกรมสามารถใช้กฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เข้ามาดูแลได้ ส่วนกรณีที่ราคาหมูเป็นในภาคอื่นปรับขึ้นไปเกิน กก.ละ 80 บาท ต้องดูด้วยว่า มาจากเรื่องของต้นทุนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เช่น ค่าขนส่ง เพราะหากจากการติดตามแล้วราคาหมูเป็นในพื้นที่เลี้ยงจริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาที่สูงเป็นเพราะต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนอื่น ๆ “เราต้องยึดแหล่งพื้นที่เลี้ยงภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่หลักเป็นเกณฑ์ ส่วนภาคอื่นมีปริมาณเลี้ยงไม่มาก” นายวิชัยกล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้รายงานราคาหมูของกรมการค้าภายในประจำวันที่ 20 มกราคม 2563 ปรากฏหมูเป็นมีชีวิตทั่วไป กก.ละ 74-75 บาท ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม กก.ละ 75-76 บาท ขณะที่ราคาลูกหมู CP และราคาทั่วไปตัวละ 2,600-2,700 บาท เฉลี่ยน้ำหนักต่อตัวอยู่ที่ 12-16 กิโลกรัม ส่วนราคาหมูชำแหละทั่วไปและหน้าฟาร์มเฉลี่ย กก.ละ 86-88 บาท ส่วนราคาหมูขายปลีก เช่น หมูเนื้อแดง สะโพก ไม่ได้ตัดแต่ง ราคา กก.ละ 145-150 บาท หากตัดแต่งแล้วเฉลี่ย กก.ละ 155-160 บาทต่อกิโลกรัม หมูเนื้อแดง ไหล่ ไม่ได้ตัดแต่ง ราคาเฉลี่ย กก.ละ 145-150 บาท ตัดแต่งแล้ว กก.ละ 155-160 บาท ส่วนหมูเนื้อสันนอกและสันใน กก.ละ 160-165 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาส 4 ปี 2562 กรณีซื้อลูกสุกรเข้าขุนเฉลี่ยที่ 66.53 บาทต่อกิโลกรัม กรณีผลิตลูกสุกรเองเฉลี่ยที่ 64.32 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสุกรขุนยังคงอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องจากผลกระทบของ ASF ในต่างประเทศ แต่ราคายังคง “ต่ำสุด” ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันที่ 17 มกราคม 2563 ระบุว่า ราคาหมูเป็นในแต่ละพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก เฉลี่ย กก.ละ 79 บาท ส่วนภาคอีสานและภาคเหนือ กก.ละ 81 บาท ภาคใต้ กก.ละ 80 บาท ขณะที่ราคาสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเพื่อส่งออก กก.ละ 81 บาท

เบทาโกรแชมป์ส่งออกหมู

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้หารือกับกรมการค้าภายในแล้วว่า จะยังไม่มีการใช้มาตรการดูแลการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ขยับขึ้นไป กก.ละ 81 บาท เป็นราคาเพื่อการส่งออกและราคาในเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมีการเลี้ยงน้อยและมีต้นทุนค่าขนส่ง ดังนั้นควรจะยึดราคาภาคกลางและกรุงเทพฯที่มีสัดส่วนเกิน 50% ของทั้งประเทศเป็นหลัก

“เหตุที่ราคาหมูขยับสูงขึ้นเป็นผลจากต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้องหาน้ำมาสำรองใช้ในฟาร์ม ต้นทุนโดยรวมขยับจาก 68 บาทขึ้นไปใกล้เคียงกับ 75 บาท และผลจากการระบาดของ ASF ทำให้เกษตรกรกังวลลดปริมาณการเลี้ยงลง 15% เหลือปริมาณหมู 900,000 ตัว จากเดิมที่เคยมีปริมาณ 1-1.1 ล้านตัว ประกอบกับความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้ทิศทางราคาน่าจะอ่อนตัวลงบ้าง”

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณการเลี้ยงหรือการเพิ่มซัพพลายหมูในตลาดยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละฟาร์ม บางฟาร์มมีพ่อแม่พันธุ์เอง บางฟาร์มจะต้องนำเข้า ซึ่งเมื่อนำเข้ามาแล้วจะต้องเลี้ยงต่อไปอีก 1 ปีกว่าจะเป็นหมูขุน 1.5 ปี จึงจะนำมาชำแหละขายได้ แต่สมาคมมั่นใจว่า ปริมาณซัพพลายหมูจะไม่ขาดแคลนแน่นอน ส่วนราคาเป็นไปได้ว่าจะทรงตัวระดับนี้ไปต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงชุดใหม่

สำหรับปริมาณการส่งออกสุกรสดแช่เย็นแช่แข็งในช่วง 11 เดือนแรก 2562 มูลค่า 703.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.89% เป็นการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 71.63% มูลค่า 503.8 ล้านบาท โดยบริษัทผู้ส่งออกที่ส่งออกไปยังฮ่องกง 5 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัทอาหารเบทเทอร์ ซึ่งอยู่ในเครือเบทาโกร, บริษัทไอ-ซีวายชยา, บริษัทกาญจนา เฟรซ พอร์ค, บริษัท วี.ซี.มีทโปรเซสซิ่ง ซึ่ง 3 รายนี้ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ใน จ.ราชบุรี และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง

ไม่เห็นด้วยจำกัดส่งออกหมู

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้จีน-ฮ่องกงมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้น หลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร แต่หากรัฐบาลจะใช้มาตรการ “จำกัด” การส่งออกหมูเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศก็ต้องประเมินกันก่อน “ถ้าจะให้จำกัดการส่งออกหมูเพื่อดูแลราคาในประเทศก็ต้องดูว่า ปริมาณหมูของเราเพียงพอหรือไม่ ส่วนที่เหลือจะเพิ่มหรือขยายส่งออกได้ไหม เพราะในภาพของอุตสาหกรรมต้องมองอีกแง่ว่า เราส่งออกหมูได้มากขึ้นนั้นเพราะสินค้าเกษตรเรามีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน ผมมองว่ายังไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดการส่งออกหมู แน่นอนราคาในประเทศสำคัญเพราะส่งผลค่าครองชีพ แต่หมูเรายังพอไปได้ ไม่น่าจะขาดจนต้องปรับราคามากไปกว่านี้อีก อีกส่วนหนึ่งเป็นปกติของช่วงซีซั่นที่คนไทยมีความต้องการหมูในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย”

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 11
  • ...
    คนมีสมอง ควรรู้จะทำยังไง หาอย่างอื่นแทน ซื้อน้อยลง หันไปรวมกับครอบครัวตัวเอง *ครอบครัวใหญ่ อื่นๆ อย่าโง่เหมือนคนเลิกใช้ถุง แต่คิดไม่เป็น เรียนมาน้อย คิดน้อย ใช้ภาชนะไม่เหมาะสม เช่น กระสอบ ตะข่ายดักปลา ขี่มอไซต์เข้าไปเก็บสินค้า พ่อแม่มุงไม่เคยอุปการะการศึกษาให้มุงเลยซินะ
    23 ม.ค. 2563 เวลา 05.01 น.
  • Mommo😃
    ไม่คิดไรมาก เห็นหน้าหมูแล้วสงสารจัง กินผัดผักน้ำมันหอยไม่ต้องหมู...
    23 ม.ค. 2563 เวลา 04.59 น.
  • nadol
    แล้วถ้าถึงตอนหมูล้นตลาดราคาตก อย่าขอให้ช่วยพยุ่งราคาน่ะครับ ทีใครทีมันไปเลย
    23 ม.ค. 2563 เวลา 04.55 น.
  • Nisit
    นำเข้าหมูไก่จากเพื่อนบ้านและลดภาษี ตรวจสอบโรคให้ดี เอามาขายแข่งกับพวกฉวยโอกาศได้เลยชาวบ้านจะได้ซื้อกันถูกๆหน่อย ในเมื่อคนในชาติมันเอาเปรียบกันเองก็ซื้อจากเพื่อนบ้านนี่หล่ะถูกกว่า
    23 ม.ค. 2563 เวลา 04.37 น.
  • อย่าฟ่าวหูบหลาย
    23 ม.ค. 2563 เวลา 07.23 น.
ดูทั้งหมด