ทั่วไป

ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น. วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563

JS100
อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 06.15 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 06.13 น. • JS100:จส.100
ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น. วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563

เริ่มเย็นนี้ ! จัดส่งหน้ากากอนามัยให้แพทย์-กลุ่มเสี่ยง 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน

          แผนการแจกหน้ากากอนามัย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 11 โรงงาน ที่ผลิตหน้ากากอนามัย โดยตัวเลขการผลิตขณะนี้รวม 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. รถขนส่งของบริษัทไปรษณีย์ไทย 40 คัน จะขนส่งหน้ากากอนามัยสีฟ้าออกจากโรงงานส่งตรงทุกจังหวัด แบ่งเป็น 2 ส่วน กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1.3 ล้านชิ้น จะส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ รถจะแวะส่งตามโรงพยาบาลต่างๆ ทุกจังหวัด ส่วนอีก1 ล้านชิ้น จะเป็นสัดส่วนของกระทรวงมหาดไทย แจกจ่ายให้ประชาชนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเท่านั้น เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่งานบริการผู้ป่วย ตำรวจ ทหาร ที่ทำหน้าที่ตั้งด่าน ผู้ป่วย เด็ก และผู้สูงอายุ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

           รองนายกฯ ขอให้งดกิจกรรมการสังสรรค์ รวมกลุ่ม หรือการทำบุญ การทำวัตรเช้า วัตรเย็น หรือการใส่บาตร ที่ใช้มือหยิบข้าวเหนียวใส่บาตรพระ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยง และเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด  

กทม.ขอประชาชน เลี่ยงเดินทางมาโรงพยาบาล ลดการแพร่เชื้อ

          พล.ต.ท. โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ -พื้นที่จังหวัดเสี่ยง สำนักการแพทย์ รณรงค์เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้แก่ การจัดพื้นที่นั่งรอรับบริการในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วย เว้นระยะห่างประมาณ 1 เมตร เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยมีแนวทางการรับยาของผู้ป่วย 3 แนวทาง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

-การรับยาที่โรงพยาบาล (ยืดระยะเวลาการนัด)

-การรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน

-การรับยาทางไปรษณีย์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

          พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนอยู่บ้าน ลดการเดินทาง กรณีผู้ใช้บริการหรือญาติผู้ป่วยต้องการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยขอแนะนำให้เยี่ยมผ่านโทรศัพท์ด้วยวิธีวิดีโอคอล หรือวิธีอื่นแทนการเดินทางมาโรงพยาบาล

          สำนักการแพทย์ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากรทุกคน ด้วยการจัดหาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน PPE รวมถึงยารักษาโควิด-19 ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการจัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดมีการฝึกซ้อมแผนการรับมือสำหรับกรณีพบผู้ป่วยตามสถานการณ์ต่างๆ

           ในส่วนของสำนักอนามัย จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงานประจำจุดคัดกรองทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ ทั้ง 12 แห่ง และที่สถานีขนส่ง เพื่อคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพฯ หากพบว่าใครมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หอบเหนื่อย จะส่งต่อให้สถานพยาบาลเพื่อตรวจคัดกรองโควิด-19 ต่อไป

เวียดนาม เตรียมแผนควบคุมโรคโควิด-19 เตรียมปิดเมืองใหญ่

          สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมในเวียดนามเพิ่มขึ้นมาที่ 194 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และได้ใช้มาตรการหลายอย่างไปแล้ว ล่าสุด นายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุกของเวียดนาม มองว่า ขณะนี้เวียดนามเข้าสู่ระยะที่มีการแพร่ระบาดหนักที่สุด เมืองใหญ่ต่างๆของเวียดนาม เช่น กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ เร่งจัดทำแผนควบคุมโรคระบาดอย่างเป็นรูปธรรม และเตรียมแผนปิดเมือง เพื่อลดการแพร่ระบาด รัฐบาลเวียดนาม ได้ใช้มาตรการลดเที่ยวบินในประเทศ ระงับเที่ยวบินขาเข้าทั้งหมดชั่วคราว ห้ามประชาชนชุมนุมกันในสถานที่สาธารณะ พร้อมทั้งปิดธุรกิจบริการต่างๆที่ไม่สำคัญไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย. นอกจากนั้น เวียดนามจัดทำแผนกักกันเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆ หลังพบว่าชาวเวียดนามที่กลับจากต่างประเทศและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น และเวียดนามอยู่ระหว่างเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงกว่า 75,000 คน

ญี่ปุ่น พบผู้ป่วยรายใหม่ในสถานดูแลคนพิการ 2 พื้นที่

          เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจังหวัดชิบะ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รวมทั้งสิ้น 86 คนในสถานรับเลี้ยงคนพิการแห่งหนึ่งในจังหวัดชิบะ จากการตรวจสอบพบว่า พนักงานหญิงคนหนึ่ง อายุ 40 ปีเศษ ซึ่งเป็นแม่ครัวประจำสถานดูแลคนพิการดังกล่าวถูกวินิจฉัยว่าติดโรคโควิด-19 ก่อนแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ

          ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมืองโทโนะโช จังหวัดคางาวะ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นพบผู้ป่วยใหม่รวม 58 คนในสถานรับเลี้ยงคนพิการในเมืองโทโนะโช เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอยู่ระหว่างการตรวจสอบโรคระบาดในสถานดูแลคนพิการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอยู่ระหว่างประสานกับราชการส่วนกลางเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19

         นอกจากนี้ นายเคน ชิมูระ ตลกชื่อดังชาวญี่ปุ่นวัย 70 ปี เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว เมื่อคืนวาน เมื่อ 17 มี.ค. เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย จากนั้นวันที่ 20 มี.ค. ได้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลตรวจเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ระบุว่า ติดโรคโควิด-19 และปอดบวมรุนแรง ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยสะสม 1,866 คน มีผู้เสียชีวิต 54 ราย

รัสเซีย จัดตำรวจสอดส่องดูคนที่ออกจากบ้าน เริ่มใช้มาตรการกักตัววันแรก

          รัฐบาลท้องถิ่นกรุงมอสโก รัสเซีย ใช้ระบบเทคโนโลยีเฝ้าระวังอัจฉริยะควบคุมให้มาตรการกักตัวของประชาชนในบ้านพัก ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดกำลังตำรวจไปประจำยังจุดตรวจต่างๆเพื่อสอดส่องและพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนที่มีธุระจำเป็นออกจากบ้านเป็นรายๆไป รัสเซียมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,534 คน เสียชีวิต 8 ราย

          นายเซอร์เก โซบยานิน นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก รัสเซีย ระบุในแถลงการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลท้องถิ่นกรุงมอสโก เริ่มใช้มาตรการกักกันประชาชนในบ้านทั่วทั้งเมืองหลวง พร้อมทั้งยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็น เช่นไปพบแพทย์ ไปร้านค้าหรือร้านขายยาใกล้บ้าน หรือจูงสุนัขไปเดินเล่นในระยะห่างจากบ้าน 100 เมตร หรือไปทำงาน ขณะที่ ระบบขนส่งของรัฐและของเอกชน ยังคงให้บริการตามปกติ ขณะที่การเดินทางเข้า-ออกจากกรุงมอสโก ก็ยังทำได้ตามปกติเช่นกัน 

‘น.ส.จิตรลดา’ มีอาการป่วยกำเริบ จึงก่อเหตุซ้ำ

           นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึง กรณี น.ส.จิตรลดา ผู้ป่วยจิตเวช ที่เคยก่อคดีไล่แทงนักเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ กรุงเทพฯ บาดเจ็บ 4 คน เมื่อปี 2548 กลับมาก่อเหตุซ้ำแทงเด็กวัย 5 ขวบ เสียชีวิต ที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า ช่วงบ่ายวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคุมตัว น.ส.จิตรลดา เข้ามารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจอาการอย่างชัดเจน  เบื้องต้น เชื่อว่า การก่อเหตุของ น.ส.จิตรลดา มาจากอาการโรคกำเริบ ล่าสุดผู้ป่วยเพิ่งเข้ามารับการรักษาเมื่อวันที่ 17 มี.ค. และมีกำหนดพบแพทย์อีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งอาการของคนไข้ จากเดิมในรอบ 10 ปี มีอาการกำเริบ 6 ครั้ง นับตั้งแต่ ก่อเหตุอยู่โรงพยาบาล 4 ปี เมื่อครบ 4 ปีจึงให้ออกจากโรงพยาบาล และรักษาแบบไป-กลับ เพราะผู้ป่วยยังพอสามารถอยู่ในชุมชนได้ และมีแม่ บุคคลใกล้ชิดคอยติดตาม

          สำหรับการให้การรักษา น.ส.จิตรลดา เน้นการให้ยา และปรับพฤติกรรม 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัญหาโรคกำเริบ แต่ไม่เคยทำร้ายร่างกายใครถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย และเตรียมหารือกับกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการโรคคดีรุนแรง ซึ่งจะเป็นการจัดหาสถานที่ให้คนไข้จิตเวชได้รับการดูแลเหมือนที่ต่างประเทศ

แฟ้มภาพ 

 

ดูข่าวต้นฉบับ