“เลิกสนใจการเมืองไปนานแล้ว”
“ใครจะมาบริหารประเทศ เราก็ต้องทำมาหากินเหมือนเดิมอยู่ดี”
“การเมืองไทยมันก็เหมือนละครหลังข่าว”
วลีพูดถึงการเมืองไทยที่ใครหลาย ๆ คนอาจเคยได้ยิน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า จริง ๆ แล้ว คนไทยมองว่าเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องผลักให้พ้นตัว ไม่น่ายุ่งเกี่ยว เป็นเพราะภาพลักษณ์ของการเมืองไทยในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้มีแต่เหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างมากมาย ในฐานะประชาชนก็เหมือนมีแต่ได้รับความเจ็บและความช้ำจากการเมืองกันถ้วนหน้า จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอยากจะหนีให้ไกล แต่หนีเท่าไหร่ก็ไม่พ้นสักที
INTERVIEW TODAY มีโอกาสได้คุยกับ อาจารย์วศิน ปั้นทอง อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความสนใจเฉพาะด้านในเรื่องของความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งในการพูดคุยกันครั้งนี้เราจะได้เห็นว่าการเมืองนั้นแทรกซึมอยู่กับเราในทุกพื้นที่ และในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์เราแทบจะหนีการเมืองไม่พ้นเลยทีเดียว
การเมืองคืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็หนีไม่พ้น.
วศินได้นิยามการเมืองว่า "การเมือง คือ ‘กิจกรรม’ ว่าด้วยการ ‘กำหนดกติกา’ และวิธีการได้มาซึ่งกติกานี้ จะเป็นกระจกสะท้อนระบอบการปกครองต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามองในระบอบประชาธิปไตย กติกาที่ได้มาจะต้องสะท้อนเจตจำนงของประชาชน อีกทั้งคำว่า ‘กิจกรรม’ ยังมีความเชื่อมโยงกับปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมด้วย”
“การเมืองเป็นสิ่งใกล้ตัวเรามาก แม้เราจะไม่อยากเข้าใกล้มัน มันจะมาหามันอยู่ดี ปฏิเสธมากแค่ไหนก็ไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ของการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อตัวเรา และสังคมที่เราอยู่ได้ การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และดูเหมือนว่าที่เดียวที่หนีพ้นการเมืองคือ “เมืองทิพย์” ในความหมายที่เราจะต้องจินตนาการเองว่าเราอยู่ในสภาวะปลอดการเมือง"
และสำหรับในประเทศไทยดูเหมือนว่าการเมืองเป็นสิ่งที่คนเราอยากจะหนีให้พ้น ๆ ไป เพราะว่า‘ภาพลักษณ์’ ของการเมืองนั้นไม่ได้สูงส่งเหมือนในยุคกรีกโบราณ แต่ตอนนี้การเมืองมี ‘ชื่อเสีย’ เวลานึกถึงการเมืองไทยจึงกลายเป็นเรื่องดรามา อื้อฉาว น่าเบื่อ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เวลาเราได้ยินคำว่า “อย่าทำให้เป็นประเด็นการเมือง” แล้วเข้าใจไปในทางลบ ทว่าไม่ว่าการเมืองจะถูกมองอย่างไร มันก็ไม่ได้หายไปจากสังคมมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกติกาชุดใดชุดหนึ่งเสมอ
การเมือง VS ความมั่นคง.
ในขณะที่ความมั่นคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
แต่จะทำอย่างไรให้สมดุล
เมื่อการจัดการความมั่นคงของรัฐ
ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน.
“ความมั่นคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะในแง่หนึ่งมีความหมายว่าหลายสิ่งอย่างจะไม่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นเครื่องการันตีว่าเราจะสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้” แม้ความมั่นคงจะมีนิยามกว้าง ๆ เช่นนั้น แต่วศินได้ชวนเราคิดว่า ความมั่นคงเมื่อถูกพูดถึง มักพ่วงคำว่า ‘สงคราม’ มาด้วย อีกทั้งยังชี้ว่าปัจจุบันคนเราเสพติดกับการใช้คำว่าสงคราม จึงกลายเป็นว่าความขัดแย้งต่าง ๆ ถูกให้ภาพ และยกระดับกลายเป็น ‘สงคราม’ ไปเสียทั้งหมด
“ถ้าเราพูดถึงสงครามในนิยามที่รัดกุม สงครามกับความขัดแย้งรูปแบบอื่น ๆ ค่อนข้างแตกต่างกัน และเราต้องคำนึงถึงการใช้คำว่าสงครามเพื่อประโยชน์ทางการเมืองด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สงคราม แต่เป็นเพียงความขัดแย้งรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่ถูกยกระดับให้เท่ากับสงคราม นี่เป็นวิธีคิดที่ ‘ตื่นตูม’ เกินเหตุ และความตื่นตูมนี้เอง ทำให้รัฐระดมทรัพยากรต่าง ๆ ไปจัดการกับมันมากขึ้น”
เมื่อรัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดการความมั่นคง จึงกลายเป็นความชอบธรรมที่รัฐจะใช้เครื่องมือและอำนาจพิเศษต่าง ๆ ในมือเพื่อควบคุมประชาชน จึงเกิดเป็นความท้าทายในเรื่องของจุดสมดุลระหว่างรัฐและประชาชนในการจัดการความมั่งคงนั่นเอง
‘ความมั่นคงไซเบอร์’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การปราบปรามสิ่งไม่ดีบนอินเตอร์เน็ต.
เนื่องจากความสนใจพิเศษของวศินคือเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ จึงยกตัวอย่างในเรื่องของการจัดการความมั่นคงทางไซเบอร์ของรัฐมาอธิบายให้เห็นภาพว่าการเมืองถึงเข้ามามีบทบาทในการจัดการความมั่นคงได้อย่างไร
"ความมั่นคงไซเบอร์ มีความหมายถึงการรักษาระบบ และโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ให้ปลอดภัย ให้ระบบทำงานอย่างต่อเนื่อง และรักษาความลับของข้อมูลได้” แม้ตามอุดมคติแล้วการได้มาซึ่งความมั่นคงไซเบอร์ควรเริ่มจากผู้ใช้พื้นที่ไซเบอร์ทุกคน เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วแม้จะมีกฎหมายมากำหนดการกระทำทางไซเบอร์ แต่ด้วยพฤติกรรมที่กดเพียงปลายนิ้ว ผู้ที่จะกำหนดความปลอดภัยได้ก็คือผู้ใช้งานเอง ยกตัวอย่างเช่น การเข้าเว็บเถื่อนต่าง ๆ เราต่างรู้ว่ามีความเสี่ยง ก็อยู่ที่การตัดสินใจในการกดเข้าไปหรือไม่
“ไซเบอร์ก็คือพื้นที่ที่มีสิ่งน่าชื่นชม และเป็นประโยชน์มากมาย แต่ก็เป็นพื้นที่ในการก่ออาชญากรรมเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมทางการเงิน สื่อลามกอนาจารของเด็กในพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเป็นด้านมืดของพื้นที่ออนไลน์ที่รัฐจะต้องเข้ามาจัดการ ซึ่งการจัดการเรื่องเหล่านี้ควรจัดการนอกพื้นที่โลกไซเบอร์ควบคู่กันไป เพราะสิ่งที่เราเห็นบนโลกไซเบอร์นั้นเป็นเพียงปลายน้ำของการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น”
ในอุดมคติของความมั่นคงไซเบอร์ ไม่ใช่เพียงการใช้อำนาจปราบปรามของรัฐเท่าน้ัน แต่เป็นการใช้ไซเบอร์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการเอื้ออำนวยประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณะ มากกว่าการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนพื้นที่ไซเบอร์
“พื้นที่ไซเบอร์เป็นพื้นที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพมากสุด รัฐควรเข้ามายุ่งได้น้อยมาก รัฐต้องเข้ามายุ่งในประเด็นที่ผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้มายุ่งในเรื่องของเนื้อหาแบบนี้ไม่สามารถโพสต์ในเฟซบุ๊กได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อความเท็จที่ทำลายคนอื่น ซึ่งอันนั้นก็สามารถใช้กฎหมายปกติ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทได้อยู่แล้ว รัฐไม่จำเป็นต้องหากฎหมายใหม่มาคุมพื้นที่ไซเบอร์ รัฐต้องทำตัวมินิมอลที่สุดในแง่การจำกัดสิทธิเสรีภาพ
“แต่ในการให้บริการสาธารณะอันเป็นภารกิจของรัฐ ที่ต้องจัดให้แก่ประชาชน ในแง่มุมนี้รัฐสามารถทำงานได้มากขึ้น ไม่ต้องมินิมอลแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเอสโทเนีย บริการสาธารณะ 99% ของประเทศให้บริการผ่านพื้นที่ออนไลน์ ประชาชนสามารถรับบริการจากรัฐผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกวันตลอดเวลา” บริการสาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวางแผนการศึกษาของบุตรได้เพียงปลายนิ้ว ซึ่งสิ่งนี้เองไม่ใช่เพียงประชาชนที่ได้ประโยชน์จากพื้นที่ไซเบอร์ แต่รัฐก็ได้ประโยชน์ในการนำข้อมูลไปวางแผนในการบริหารประเทศด้วย
จากบทเรียนของประเทศเอสโตเนีย การพัฒนาเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ต่าง ๆ นั่นไม่จำเป็นต้องรอพัฒนาเมื่อพื้นฐานของประเทศด้านอื่น ๆ พร้อมแล้วเท่านั้น ทว่าสามารถพัฒนาควบคู่กันไปได้เลย สิ่งที่สำคัญนอกจากการความต้องการของประชาชนแล้ว การขับเคลื่อนโดยสังคมและกลไกของรัฐ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ การสนับสนุนของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบใดก็สามารถสนับสนุนเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศร่วมกันได้
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะผู้ใหญ่ เด็ก ครูผู้สอน จนไปถึงองค์ความรู้รัฐศาสตร์.
ต้องยอมรับว่า ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เราได้เห็นการเมืองไปปรากฏตัวในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ความสนใจทางการเมืองนั้นไม่ได้ถูกผูกติดแค่กับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเพียงเท่านั้น แต่เด็กมัธยมก็ยังสนใจการเมือง ด้วยความรู้สึกที่ว่าการเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างแท้จริง วศินได้เล่าให้เราฟังว่า "ตอนนี้พรมแดนความรู้ของรัฐศาสตร์ขยายไปเยอะมาก และพรมแดนความรู้ที่ขยายไปไกลในด้านหนึ่งมันกำลังบอกว่ารัฐศาสตร์กำลังปรับตัว แต่อีกด้านหนึ่งก็ท้าทายว่าองค์ความรู้รัฐศาสตร์ถูกเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน องค์ความรู้หลักยังอยู่และสัมพันธ์กับความท้าทายในโลกยุคปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน แก่นของความรู้หน้าตาเป็นอย่างไร"
ความท้าทายของการปรับตัวในฐานะคนสอนรัฐศาสตร์ก็มีความท้าทายอย่างมากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่ขยายพรมแดนไปกว้างมาก จนแก่นของความรู้เดิมนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมไปถึงการต่อสู้กับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่พร้อมจะมาช่วงชิงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์ไปได้ เพราะนอกจากจะถึกอดทนไม่ต้องพักแล้ว ยังมีเรื่องความแม่นยำ และฐานข้อมูลที่มากกว่ามนุษย์อีกด้วย แต่สิ่งที่มนุษย์ได้เปรียบคือการสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนรู้สึกว่าการมาเรียนกับคนนั้นคุ้มค่ากับเวลาและแตกต่างไปจากการเรียนโดยอาจารย์ปัญญาประดิษฐ์
แม้ตอนนี้จะได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ แต่วศินก็มีสิ่งที่ไว้เตือนใจตัวเองในขณะที่เวลาเดินต่อไปเรื่อย ๆ ว่า "จงอย่าคุ้นเคยกับโลกใบนี้มากไป และจงอย่าได้ยินอย่างเดียวแต่ต้องฟังด้วย" รวมไปถึงประโยคสั้น ๆ ที่ว่า "I am not your super อาจารย์" ซึ่งมีความหมายว่าแม้ว่าอาจารย์จะมีภาพลักษณ์ทางวิชาที่สมบูรณ์แบบ ผิดพลาดได้น้อย และถูกคาดหวังจากผู้คนมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจารย์ก็มีอีกด้านหนึ่งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถบ้งได้ ดราม่าได้เช่นเดียวกัน และสิ่งหนึ่งที่เราได้สัมผัสจากอาจารย์วศินอย่างแน่นอน คือการไม่หยุดเรียนรู้และตั้งคำถามเพื่อนำมาซึ่งคำตอบสำหรับสังคมที่ดีขึ้น.
Damm Panichkul ดีใจด้วยที่คนรุ่นใหม่รู้จักคิดและวิเคราะห์เรื่องการบ้านการเมือง,อย่างเดียวที่อยากจะติ,คือการวิเคราะห์ต้องอิงความเป็นจริงของสภาพสังคมคมของประเทศตัวเองก่อนเช่นประเทศไทยไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศเล็กๆเช่นเอสโทเนียประเทศเล็กประชากรราวล้านกว่าคนหรือสิงคโปร์,ยิ่งเล็กยิ่งบริหารง่ายและถ้านักการเมืองมีคุณธรรมประเทศก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ
29 เม.ย. 2564 เวลา 00.28 น.
การเมืองคือการปกครองบ้านเมือง ต้องใช้ธรรมะ คือทศพิธราชธรรมด้วย การเมืองจึงดี ปชช.ได้รับความเป็นธรรม ทุกคนทำหน้าที่ของตัวตามฐานะ การปกครองจะสงบสุข ในสมัยพ่อขุนท่านปกครองแบบพ่อลูก นั่นก็ใช้การเมือง แต่สมัยนี้เราเอาการเมืองมาเป็นเรื่องอำนาจ เอามาใช้เพื่อพรรคพวก เลยทำให้การเมืองเป็นสิ่งดูไม่ดี
29 เม.ย. 2564 เวลา 00.20 น.
OHM การเมืองสำหรับคนไทยคือ พวกใครพวกมัน การด่าทอ ความรู้ความจริงไม่สน พวกเดียวกันถูกหมดคนละพวกหายใจยังผิด ตอนอยู่ฝ่ายเดียวกันไม่ผิด แก้ต่างให้ พอย้ายข้างขุดออกมาหมด ผิด ผิด ผิด สรุปง่ายๆคือ คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ
05 พ.ค. 2564 เวลา 15.16 น.
Archangel Que การเมืองคือผลประโยชน์ มนุษย์ที่ยังมีความโลภย่อมไม่พ้นการเมือง
01 พ.ค. 2564 เวลา 09.02 น.
Montana การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนคร๊าาาาาบ
29 เม.ย. 2564 เวลา 01.34 น.
ดูทั้งหมด