“ทำเรื่องฝุ่นให้เป็นเรื่องใหญ่” สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก ‘ฝุ่น’
อากาศในเมืองใหญ่ไม่ได้เพิ่งมาเลวร้ายวันนี้ มันเลวแบบนี้มานานมากแล้ว แต่มันเพิ่งระเบิดออกมาเป็นปัญหาให้เราตื่นตัว ดังนั้น วันนี้เรื่องฝุ่น ๆ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อีกต่อไป มันถึงเวลาที่เราจะมาฉุกคิด เรียนรู้ และแก้ไขปัญหา ก่อนที่ฝุ่นตัวร้ายจะใหญ่คับเมือง ครองบ้านเราไปนานกว่านี้
"เมื่อความเป็นเมืองขยายตัว…มลพิษทางอากาศก็ขยายตาม"
เราจะสังเกตว่าในเมืองมีกิจกรรมการเผาไหม้ และสร้างมลภาวะหนาแน่นมาก เราอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันที่สร้างมลภาวะฝุ่นควันทุกวัน แต่เราเพิกเฉยกับมัน ทั้งการเผาขยะ การก่อสร้างอาคาร การปล่อยควันพิษจากโรงงาน การเผาถ่านหินจากโรงไฟฟ้า การปล่อยควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ และอีกนานากิจกรรมที่เราทำ
พอกิจกรรมของเราขยายตัว น่าแปลกที่เรากลับไม่สร้าง "ปอดของโลก" คือต้นไม้มาช่วยชีวิตเรา เราจะเห็นว่าการตัดต้นไม้เป็นเรื่องปกติ และในยุคหลัง ๆ มานี้ไม่มีการรณรงค์การปลูกต้นไม้สีเขียวให้เราได้เห็นกัน เอาง่าย ๆ แค่ริมทางตามฟุตปาธ ยังโกร๋นเกลี้ยง เมื่อไม่มีปอดที่ใหญ่พอไว้ดูดซับมลพิษ แต่มลพิษตัวร้ายเพิ่มขึ้นทุกวัน อากาศจึงพังไม่เป็นท่า
"เมื่อรัฐบาลส่งเสริมกิจกรรมการเผาไหม้ผ่านม. 44 ราวกับช่วยเผาชาติให้เร็วขึ้น"
จากข้อมูลของแหล่งข่าว ispace Thailand ระบุว่า "เมื่อปี 2559 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ใช้อำนาจ ม. 44 เปิดทางให้เอกชนสามารถตั้งโรงงานหลายประเภท เช่น โรงงานเผาขยะ โรงงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องสนใจกฎหมายและกฎระเบียบใด"
นั่นหมายความว่า รัฐบาลขาดการควบคุมผังเมือง เพื่อให้เอกชนใช้สอยพื้นที่ตามต้องการอย่างอิสระ ทำให้ผังเมืองถูก ‘ฉีก’ เป็นการชั่วคราว หรือหมายถึง การงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเปิดทางให้ประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือ หลุมฝังกลบขยะ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกำหนดโซนผังเมือง
แน่นอนว่ารัฐบาลส่งเสริมความเป็นเมือง ส่งเสริมธุรกิจ ให้เมืองมีการดำเนินกิจกรรมกิจการทุกอย่างอย่างให้เสรี แต่ลืมนึกไปว่า "สิ่งแวดล้อม" และ "สุขภาพของประชาชน" นั้นสำคัญมากเพียงใด ส่งผลให้ทั้งเมือง และอากาศจึงพังเละเทะไม่เป็นท่า
"เมื่อคนในชาติเดือดร้อน…ทางออกคือการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ"
ไม่ว่าจะฉีดน้ำ ฝนหลวง หรือการหาหน้ากากมาใส่ นี่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาชาติด้านมลพิษอากาศ แบบปลายเหตุ (Passive Solution) คือการรอให้เกิดแล้วไปแก้ แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ
ในขณะที่บ้านเมืองอื่น ชาติอื่นเขามีปัญหา เขามุ่งวิธีการแก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุ (active solution) คือ การหยุด / ลดละการก่อเกิดกิจกรรมเผาไหม้ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ จีน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก และเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ต่างเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหามลภาวะของชาติ แต่เราไม่ได้เอาเขาเป็นตัวอย่างเลย ยกตัวอย่างนโยบายการแก้ปัญหาระดับนานาชาติที่น่าสนใจ เช่น
จีน: สั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน / งดการเผาใบไม้ / ระงับโครงการก่อสร้างช่วงที่สุ่มเสี่ยงมลภาวะในอากาศสะสม
เดนมาร์ก: รณรงค์ให้คนใช้จักรยาน
เมืองใหญ่อย่างปารีส เอเธนส์ มาดริด และเม็กซิโกซิตี้: รณรงค์เลิกใช้รถดีเซลที่เป็นสาเหตุของฝุ่นละอองมลพิษ และรณรงค์ให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ
เยอรมัน: มีคำสั่งห้ามจอดรถใกล้บ้าน เสียเงินค่าเช่าจอดแพง เพราะอยากให้คนมีรถ หันไปใช้งานขนส่งสาธารณะ
อินเดีย: ห้ามจุดพลุไฟในเทศกาลต่าง ๆ และห้ามแท็กซี่ดีเซลขับให้บริการ
เกาหลีใต้: ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราวในช่วงวิกฤติมลพิษ และเตรียมปิดถาวรปีหน้า
แต่หันกลับมามองบ้านเรา เรายังคงฉีดน้ำขึ้นฟ้า หรือแม้กระทั่งน้ำหวาน ซึ่งไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ และรณรงค์ใส่หน้ากากรุ่น N95 ที่พวกเราดูแลตัวเองกันไป เพราะรัฐขาดงบมาดูแลพวกเรา และก็เพิ่งจะมาเป็นเดือดเป็นร้อนเรื่องแหล่งเผาไหม้ในเมืองเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเป็นผู้เห็นชอบให้เกิดการสร้างมลพิษมายาวนานกว่า 2 ปี ผ่านกฎหมาย ม. 44 หรือแม้กระทั่ง กรมการขนส่ง เพิ่งจะมาร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจตราและแจ้งเมื่อพบรถเมล์ที่มีควันดำ คำถามคือ ทำไมไม่ไปตรวจเอง ใช้ประชาชนตรวจจับให้ทำไม ทำอะไรอยู่? หรือ ณ ตอนนี้ ที่เพิ่งออกด่วน ๆ มาให้ห้ามขับ แต่เพิ่งมาจริงจัง ก็เมื่อสายไปแล้ว เพราะท้องถนนเต็มไปด้วยเขม่าควันพิษดำทมึนไปหมดแล้ว
"บทเรียนราคาแพงเรื่องมลภาวะในอากาศกำลังสอนอะไรเราบ้าง?"
1. เมืองจะขยายยังไงก็แล้วแต่ จะเจริญมากแค่ไหน ต้องไม่ลืมสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอันดีของประชาชน
2. กฎหมายในบ้านเมืองมีไว้เพื่อคุ้มครองเราทุกคน ดังนั้น หากจะยกเลิกกฎต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนด้วย อย่าเห็นซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น เมื่อรัฐเป็นช้างเท้าหน้า ผู้นำทัพ เดินหน้าให้กับประเทศ มีโอกาสที่จะชี้เป็นหรือชี้ตายในแนวทางปฏิบัติ และกรอบกฎหมายที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคน ควรต้องทบทวนให้ดี ว่าสิ่งที่ทำ กำลังสร้างประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์กับประชาชน ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ก่อน action ใด ๆ
3. ประเทศเราเป็นประเทศที่ต้องรอให้มีปัญหาก่อน แล้วค่อยไปดับปลายเหตุ แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มันทำให้เราแก้ปัญหาไม่ขาด เหมือนชาติอื่นเขา ต้องรอให้เกิด ให้พัง จึงจะมีบทเรียน คล้าย ๆ กับตอนสึนามิมาผลาญเอาชีวิตและทรัพย์สินเสียหาย จึงจะเพิ่งมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือน
4. เราไม่ใช่ประเทศแรกที่เกิดปัญหาอะไรแบบนี้ เมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่เป็น Best Practices เรากลับไม่เรียนรู้แนวทางการหาทางออกของประเทศที่เจริญแล้ว แต่กลับทำอะไรบ๊อง ๆ มันก็จะทำให้เรายังคงเป็นประเทศที่กำลัง (จะ) พัฒนาต่อไป
5. ในขณะที่เราโทษรัฐบาล โยนความผิดให้นโยบายชาติบ้านเมือง และการแก้ปัญหาของผู้นำประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ คนไทย และกลุ่มธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีมากพอ ที่จะปกป้อง ดูแล หวงแหนสิ่งแวดล้อมที่ดี และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเราเองเช่นกัน เรายังคงทำกิจกรรมเดิม ๆ ที่สร้างมลภาวะ และอยู่กับการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีชีวิตของเราทุกวัน เช่น การทิ้งขยะ การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้ในโรงงาน การเผาขยะ เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจริง ๆ คือสำนึกของเราคนไทยทุกคนที่ตระหนักถึงปัญหา และร่วมใจกันแก้ปัญหาด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีที่สุด มิใช่โยนความผิดให้หน่วยงาน หรือองค์กรรัฐฝ่ายใด เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่สองมือของเราเอง…เราทุกคนล้วนมีหน้าที่เดียวกันคือดูแลบ้านเมืองของเราให้ดีที่สุด
ประเทศเราใช้ทรัพยากรกันจนพินาศ แต่คำถามกลับคือ เมื่อรัฐบาลผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองเห็น 'สุขภาวะของประเทศชาติ' พังขนาดนี้ คุณคงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้บ้านเมืองเรากลับมาสูดอากาศได้เต็มปอด สดชื่นกันเหมือนเดิม และนอกจากฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลแล้ว หากเราทราบว่าเรามีส่วนในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ที่สร้างแหล่งเผาไหม้ให้กับประเทศอยู่ในขณะนี้ เช่น เผาขยะ ขับรถควันดำ เป็นต้น เราทุกคนจงหยุด เพื่อไม่เพิ่มมลพิษ ซ้ำเติมอากาศแย่ ๆ ให้แย่ยิ่งขึ้นไปอีก…ไม่เพิ่มฝุ่นด้วยมือของเราทุกคน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
กฎหมาย ม. 44 จาก ispace Thailand Link: https://goo.gl/gw1rLS
ข้อมูล Best Practices ของนานาชาติ จาก The Standard
ฝุ่นเมืองไทยยังพอสามารถหาวิธีกำจัดได้ แต่ คอรัปชั่นเมืองไทยทำใมโตวันโตคืน
07 ก.พ. 2562 เวลา 05.11 น.
ไข่มุก Kaimook ร้องเรียนไว้ตรงนี้เลยในฐานะผู้ใช้รถสาธารณะ รถสาย545ชอบจอดติดเครื่องแช่ปล่อยควันใส่ผู้ที่นั่งรอรถเมล์ที่ป้ายห้างเซนทรับลาดพร้าว ป้ายตรงข้ามม.เกษตรก่อนขึ้นสะพานข้ามแยกวิภาวดีคันละร่วม10นาที จะลุกหนีก็ไม่ได้เพราะรถสายที่คอยก็นานๆมาคันเราอายุมากแล้วยืนนานไม่ได้จึงต้องนั่งเอาผ้าปิดจมูกไว้แต่ก็ยังได้รับพิษควันที่พ่นออกมาจากรถที่จอดแช่อยู่ อยากให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลด้วย
07 ก.พ. 2562 เวลา 05.42 น.
ก่อสร้างเยอะไป
07 ก.พ. 2562 เวลา 05.40 น.
REX บ้านเมืองนี้คุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้หรอก เดี๋ยวจะมีติ่งรัฐบาลมาด่าว่าไม่รักเมืองไทย ทนกันไป อวยกันไป เค้าชอบกันแบบนี้
07 ก.พ. 2562 เวลา 05.09 น.
kitti ส่วนใหญ่ไม่เรียนรู้อะไรเลยครับ
โทษคืนอื่น,โทษส่วนรอบข้าง ไม่โทษตนเอง
เพราะคิดว่าตนเองทำดีแล้ว/ถูกแล้ว
07 ก.พ. 2562 เวลา 05.47 น.
ดูทั้งหมด