ไอที ธุรกิจ

อีกทางเลือกหนึ่งกับการลงทุนในกองทุนรวม

SET ตลาดหลักทรัพย์ฯ
อัพเดต 07 ก.ค. 2563 เวลา 07.02 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 07.02 น. • SET Education

ปัจจุบัน หากสนใจลงทุนในกองทุนรวม นอกจากจะลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยตรง หรือลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.)

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บลน. คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายและให้คำแนะนำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมของบลจ. ต่างๆ

 

นั่นหมายความว่า ถ้าใช้บริการผ่าน บลน. จะสามารถซื้อขายกองทุนรวมได้หลากหลาย ทั้งในแง่ของจำนวนกองทุน และจำนวน บลจ. เช่น บลน. ABC เป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนจำนวน 100 กองทุน จาก 15 บลจ. เป็นต้น โดยปัจจุบันมี บลน. ที่ได้รับใบอนุญาตให้สามารถดำเนินงานได้จำนวน 10 บลน. ขณะที่มี 27 บลจ. ที่ได้รับใบอนุญาตให้สามารถจัดตั้งกองทุนรวมได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ดังนั้น บลน. จะทำให้ผู้ลงทุนเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น และสะดวกรวดเร็ว เพียงเปิดบัญชีลงทุนครั้งเดียว ก็สามารถซื้อขายได้หลายกองทุนรวม และครอบคลุมในหลาย บลจ.

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และถ้าเอ่ยถึงผู้ให้บริการซื้อขายกองทุนรวมในรูปแบบ บลน. ก็มีให้เลือกหลายแห่งด้วยกัน ดังนั้น ก่อนผู้ลงทุนจะตัดสินใจใช้บริการ ควรพิจารณาให้ละเอียดว่าแต่ละแห่ง มีสินค้าและบริการที่เหมาะกับตนเองมากน้อยเพียงใด

 

โดยข้อดีของการลงทุนผ่าน บลน. มีดังนี้

 

  • มีเงินน้อย ก็ลงทุนได้

การลงทุนผ่านการให้บริการในรูปแบบ บลน. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม เพราะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนไม่มาก เช่น 500 บาท ที่สำคัญสามารถลงทุนในลักษณะการจัดพอร์ตลงทุน หรือ Asset Allocation หรือลงทุนแบบสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน (Dollar Cost Average : DCA) รวมถึงได้รับบริการคำปรึกษาและสามารถสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนได้อีกด้วย

 

  • มีเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก และวางแผนการลงทุน

โดยส่วนใหญ่แล้วการให้บริการของ บลน. จะให้บริการผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ ดังนั้น การทำธุรกรรมตั้งแต่การเปิดบัญชีลงทุน การซื้อขายหน่วยลงทุน ตลอดจนการติดตามการลงทุนทุกอย่างสามารถทำผ่านแอปพลิเคชันได้ อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยี Robo – Adviser เข้ามาช่วยวางแผนการลงทุน และแนะนำพอร์ตการลงทุนแบบส่วนตัว โดยการนำปัจจัยต่างๆ มาคำนวณ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทน ระยะเวลา ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง ทำให้แผนการลงทุนชัดเจนและเป็นไปได้ เพราะจะรู้จำนวนเงินที่ต้องลงทุนต่อเดือน รู้สัดส่วนการลงทุนในทางเลือกต่างๆ และรู้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ และเมื่อสถานการณ์ลงทุนเปลี่ยนไป Robo – Adviser จะช่วยติดตามและแนะนำแนวทางปรับสัดส่วนการลงทุน เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังได้

 

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารเงินลงทุนอัตโนมัติ เรียกว่า AI Portfolio Manager ซึ่งเป็นผู้ช่วยตัดสินใจด้านการลงทุน โดยใช้วิธีการคิด (Algorithm) ด้วยการเรียนรู้จากตัวอย่าง ข้อมูลสถานการณ์ลงทุนปัจจุบัน และข้อมูลผู้ลงทุนทั้งส่วนตัวและทางการเงินมาช่วยปรับพอร์ตลงทุนให้มีความเหมาะสมกับผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

 

การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการ และวางแผนการลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียเวลา ศึกษาข้อมูลที่ซับซ้อน และเกาะติดข่าวสารตลอดทั้งวัน เพราะเทคโนโลยีจะช่วยออกแบบพอร์ตการลงทุน พร้อมกระจายความเสี่ยง และปรับแผนให้เข้ากับสภาวะตลาดโดยอัตโนมัติ

 

  • มีทางเลือกให้จัดพอร์ตด้วยตัวเอง

ถึงแม้ว่า บลน. จะนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ เข้ามาช่วยบริหารเงินลงทุนอัตโนมัติ แต่หากผู้ลงทุนต้องการกำหนดเป้าหมายการลงทุนด้วยตัวเอง ก็สามารถทำได้ และเมื่อลงทุนแล้ว สามารถเข้าไปดูสรุปผลการลงทุนในแต่ละวัน แต่ละเดือนได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางออนไลน์ของ บลน.นั้นๆ

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อ่านบทความอื่นๆ ต่อได้ที่ >> https://setga.page.link/ds4rghK8pyNH5ZUZ6

ดูข่าวต้นฉบับ