ไอที ธุรกิจ

'ลงทะเบียนล่วงหน้า'- 'งด walk in' กฎเหล็กงาน 'มหกรรมวิจัย'

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 22 ก.ค. 2563 เวลา 13.45 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2563 เวลา 08.00 น.

                  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผนึกหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ  เตรียมจัดงานใหญ่"มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)" ครั้งที่15 ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์  และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ในปีนี้จัดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนกว่า 300 ผลงานในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ "นิวนอร์มัล" จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เข้าชมงานและนิทรรศการอย่างเข้มงวด ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าทางเว็บไซต์ก่อนเท่านั้นที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคมนี้ และ ไม่อนุญาตให้เข้าชมงานแบบ Walk In ทุกกรณี สำหรับผู้ที่พลาดการลงทะเบียน ติดตามชมงานและร่วมประชุม-สัมมนาออนไลน์ได้ทุกหัวข้อ ที่เว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น

                 ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563" เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เน้นการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model ในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 4 สิงหาคม เวลา 10.00 น.   

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
159542340061

                          ภายในงานฯ ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราถบพิตร รัชกาลที่9 ผู้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย" และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย พร้อมด้วยนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานในระบบวิจัยทั่วประเทศ  นิทรรศการนวัตกรรมตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม และนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ส่วนภาคการประชุมและสัมมนามีมากกว่า 100 เรื่อง ฯลฯ  กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย และ เปิดตัว "ทูตวิจัย" คนแรกของประเทศไทย ประจำปี 2563 "อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์" อีกด้วย

               

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยกตัวอย่างผลงานวิจัยที่จัดแสดง ดังนี้

- นวัตกรรมเครื่องตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านไบโอเซนเตอร์และภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เผยถึงผลสำเร็จในการคิดประดิษฐ์ชุดทดสอบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยระบุว่าหลังเกิดการระบาดของ โควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดผลิตชุดทดสอบคัดกรองผู้ป่วย ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความรวดเร็ว  โดยใช้หลักการในการตรวจเบื้องต้น ซึ่งใช้เวลาไม่นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็จะสามารถรู้ผลทันทีและสามารถที่จะกระทำได้ทั้งในห้องแล็บปฏิบัติการและในพื้นที่มีเครื่องมือที่มีราคาแพง

159542546293
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

                 "หลักการของเราคือต้องเป็นวิธีทดสอบง่าย ๆ และไม่ใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง วิธีการก็คือว่าเมื่อได้ตัวอย่างมาแล้วเราก็สกัดสารพันธุกรรมออกมา จากนั้นก็ทำการเพิ่มจำนวนพันธุกรรมโดยเพิ่มอุณหภูมิเดียว โดยเราออกแบบให้ตรวจจับเฉพาะไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพันธุกรรมที่จำเพาะ หลังจากนั้นเมื่อมันทำปฏิกิริยากันแล้วประมาณ 60 นาที เราก็เอาสารละลายผสมอันนี้หยดลงบนแผ่นสตริป ที่มีลักษณะเเดียวกันกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ แล้วก็สามารถอ่านผลได้ทันทีว่าเป็นบวกหรือลบ คือถ้าอ่านได้แถบเดียวจะเป็นผลเน็คกาทีฟหรือมีผลเป็นลบ ซึ่งเป็นการแสดงผลเชิงคุณภาพ แต่ถ้าเป็นเชิงปริมาณอยากทราบว่าในแถบอันนั้นมีปริมาณไวรัสเท่าไหร่ สามารถใช้กล้องถ่ายรูปผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือในระบบแอนดรอยสามารถถ่ายรูปบนแผ่นสตริปที่เราได้ออกแบบไว้เทียบเคียงมาตรฐานที่ทำไว้แล้วก็สามารถที่จะแปลงออกมาได้ว่ามีปริมาณไวรัสที่อยู่ในนั้นเท่าไหร่                 

"การทดสอบนี้ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ในหลักร้อยเท่านั้น ขณะนี้อยู่ในการพัฒนาเฟสที่2 ถ้ามีเปอร์เซนต์ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น หลังจากนั้นกระบวนการต่อไปเข้าสู่เฟส3ในการส่งเทคโนโลยีนี้สู่หนรวยงานที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่ให้การรับรองต่อไป"

159542493875

- ผ้าใยกล้วยบัวหลวง ผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร และคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ผลงานชิ้นนี้มาจากงานวิจัยชื่อ "การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ" โดยนำต้นกล้วยที่เหลือจากการเก็บผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดปทุมธานี มาเพิ่มมูลค่า พบว่าเส้นใยจากกล้วยเมื่อผ่านกระบวนการวิจัยคิดค้นด้วยนวัตกรรม ทำให้เกิดเส้นใยที่มีความเหนียวและนุ่ม ปั่นเป็นเส้นด้ายและนำมาทอเป็นผืนผ้าได้ ซึ่งเส้นใยกล้วยที่รับซื้อจากชาวบ้านมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 500 บาท เมื่อนำมาปั่นเป็นเส้นด้ายกล้วย ทำให้มีราคาสูงถึง 1,400 บาท ปัจจุบันโครงงานนี้สามารถทอขึ้นเป็นผืนผ้า และนำมาตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มได้อย่างสวยงาม ทันสมัยและนำมาพัฒนาเป็นอาชีพชุมชน "กลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน" สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

- รศ.ทศวรรษ สีตะวัน และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คิดค้น เครื่องสูบน้ำพลังเซลล์แสงอาทิตย์  เพื่อกู้วิกฤติชุมชน เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง "น้ำ" ให้เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าและเขตชลประทาน จุดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ สามารถเคลื่อนที่ได้ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ปรับมุมรับแสงอาทิตย์และพับเก็บได้ ปริมาณการสูบน้ำได้สูงสุด 2,500 ลิตร ต่อชั่วโมง  สูบน้ำใต้ดินได้ลึก 10 เมตร ส่งน้ำในแนวราบได้ 300 เมตร มีหน้าจอ แสดงผลการใช้พลังงานไฟฟ้า การสิ้นเปลืองพลังงาน โดยเกษตรกรในชุมชนสามารถดูแล บำรุงรักษาได้เอง ปัจจุบัน นำไปใช้ในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจำนวน 10 ศูนย์ ในจังหวัดอุดรธานี และเน้นในจุดที่เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งสูง และในปี 2563 นี้ยังต่อยอดนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขยายพื้นที่ความช่วยเหลือไปยัง 13 จังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย

159542497145

- ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และคณะนักวิจัย กล่าวถึงผลงาน การสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จ.เพชรบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก มทร.พระนครและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า ขนมหวานเมืองเพชรบุรีถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีมานานโดยใช้ความหวานของน้ำตาลในการช่วยยืดอายุขนม แต่หากมองในแง่ของโภชนาการถือเป็นข้อด้อยในเรื่องสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉะนั้นโจทย์วิจัยที่ตามมาคือ หากลดความหวานลงแล้วทำอย่างไรให้ขนมหวานยังคงมีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น และสีสันคงเดิม สามารถเก็บได้นานเหมือนเดิมโดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย จึงเกิดเป็นโครงการงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด "ขนมหวานลดหวาน ที่มีคุณค่าแต่ไม่ฆ่าคุณ" โดยพัฒนาสูตรใหม่เพื่อเป็นสูตรขนมหวานแบบลดหวาน ลดพลังงาน และลดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย คิดค้นสารให้ความหวานที่เรียกว่า อิริทิทอล ซึ่งเข้ามาทดแทนน้ำตาลได้มากถึง 25% นอกจากนี้ยังพัฒนากลยุทธ์การตลาดและร่วมออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์บนอัตลักษณ์ของเพชรบุรี ออกแบบและสร้างเครื่องจักรสำหรับการผลิตขนมหวานพื้นเมือง จ.เพชรบุรี แบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมอีกด้วย งานวิจัยนี้ครอบคลุมในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านลาด อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม

159542499513

- ผลงานจากฟางข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ย่อยสลาย เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ผลงานของ อาจารย์เกวรินทร์ พันทวี อาจารย์สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์วีระนุช สระแก้ว  จากสาชาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม เป็นงานวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม จากการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวที่ส่งผลทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5)  โดยเฉพาะในพื้นที่แถบราบลุ่มภาคกลางอย่าง จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ทุก ๆ ปีจะมีปัญหาการเผาฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวเป็นจำนวนมากซึ่งปริมาณฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 1 ตัน ต่อไร่  โดยมีการแปรรูปฟางข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย อาทิ กระถางปลูกต้นไม้ ที่รองแก้ว ปลอกสวมแก้ว ที่วางสบู่ ฯลฯ มีการออกแบบลวดลายให้ดูสวยงามและทันสมัย โดยใช้ศาสตร์การออกแบบประสานกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่จะใช้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนต่อไป

ปัจจุบันได้เริ่มทดลองขายตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามาเช่น กระถางต้นไม้สนนราคาใบละ10-15 บาท ข้อดีเมื่อปลูกต้นไม้ลงดินก็ไม่ต้องแกะกระถางออก ใส่ลงไปดินได้ทั้งกระถางรากของต้นไม้ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการดึงต้นไม้ออกและนาน ๆ ไปก็จะย่อยสลายไปเอง ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านเรื่องการสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการขายข้าวอีกด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ