คนเรา “เลือกเกิด” ไม่ได้! แต่ถ้าร่างกายไม่ไหวขอสิทธิ์“เลือกตาย” ได้ไหม?
“การฆ่าตัวตาย” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยในสังคมโลกไม่ว่าจะเป็นชาติไหนๆ เราอาจไม่รู้เหตุผลของคนที่ฆ่าตัวตายแน่ชัดว่าทำไมพวกเขาถึงฆ่าตัวตาย แต่การฆ่าตัวตายก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่รับกันไม่ได้ในสังคม ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือทางศีลธรรม ในสายตาของสังคม “การฆ่าตัวตาย” คือการตายที่ไร้ค่า แรงกว่านั้นคืออ่อนแอ บาปกรรม
หากพวกเขาพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว ว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ชีวิตที่จะใช้ต่อไปข้างหน้านั้นหนักหนา การรอคอยวันพรุ่งนี้หรือวันข้างหน้าเป็นเรื่องเสียเวลา ความคิดฆ่าตัวตายกลายเป็นน้ำหนักสะสม ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ และการทำให้ตัวเอง “หายไป” อาจทำให้ปมปัญหาที่คนอื่นรอบข้างต้องแบกรับเบาบางลง เขามีสิทธิแค่ไหน ในการร้องขอความช่วยเหลือที่จะหยิบยื่น “ความตาย” ให้ตนเอง
เมษายน 2002 เนเธอร์แลนด์คือประเทศแรกที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต (euthanasia) และการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (assisted suicide) โดยมีข้อกำหนดคร่าวๆ คือ ผู้ป่วยต้องอยู่ในภาวะเจ็บปวดที่ไม่อาจทนได้ รักษาไม่หาย และการร้องขอต้องทำขณะมีสติรู้ตัว
ปีเดียวกัน เบลเยียมเป็นประเทศที่สองที่กฎหมายอนุญาตให้ทำการุณฆาต โดยแพทย์สามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจบชีวิตตนเองเพื่อหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดของตัวเอง สำหรับกรณีการุณยฆาตจะทำให้กับผู้ป่วยที่พิจารณาแน่ชัดแล้วว่า อยู่ในภาวะโคม่าจนไม่อาจฟื้นคืนมาได้อีก
เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ก็อนุญาตให้มีการช่วยให้ฆ่าตัวตายได้ในบางกรณี ที่น่าสนใจและรู้จักกันวงกว้างคือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่มี “แรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป” และมีการตั้งองค์กรอย่าง Dignitas และ Exit มาเพื่อหยิบยื่นความตายที่มีเกียรติให้กับผู้ที่สมัครใจและมีคุณสมบัติพร้อมจะจบชีวิตตัวเองลงจริงๆ
ได้โปรดให้ฉันตาย
เรายอมรับโดยทั่วไปว่าเรามีสิทธิในชีวิต ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิโดยธรรมชาติ (natural right) เราย่อมมีสิทธิที่จะสามารถดำรงชีวิตของตนให้มีชีวิตดำเนินอยู่ได้ แล้วเรามี “สิทธิที่จะตาย” ได้หรือไม่? การมีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชีวิตเช่นเดียวกับการตาย สิทธิที่จะตายจึงควรเป็นหนึ่งในสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ในการดำรงชีพเราย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล และเนื่องจากในปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก รวมถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้รักษาและช่วยยืดชีวิตให้มนุษย์มีอายุยืนยาวกว่าในอดีต แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์ก็ต้องประสบกับความตายอยู่ดี ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าวิธีการและเทคโนโลยีดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการเหนี่ยวรั้งชีวิตที่ดูเหมือนเป็นการฝืนธรรมชาติจนเกินไป จึงเกิดเป็นปัญหาว่าเรามีสิทธิที่จะตายได้หรือไม่ หรือเลือกที่จะเร่งรัดกระบวนการชีวิตให้จบลงก่อนกำหนดเวลา
ในมุมมองทางด้านศาสนาเห็นว่าการฆ่าเป็นบาป ศาสนาคริสต์มีหลักคำสอนและความเชื่อว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งพระเจ้าประทานมา ชีวิตและความตายของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพระเจ้า มนุษย์แต่ละคนเป็นสมบัติของพระเจ้า มนุษย์ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดความตายหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการขัดพระประสงค์ของพระเจ้า
ศาสนาอิสลาม เชื่อและยอมรับในการมีอยู่ของพระเจ้าเช่นเดียวกับศาสนาคริสต์ ว่ามนุษย์เกิดขึ้นเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า มนุษย์มีหน้าที่กระทำตามพระสงค์ของพระองค์
ศาสนาพุทธ มีศีลข้อ 1 คือ “เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” การฆ่าจึงเป็นบาป พุทธศาสนามองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์จะต้องประสบ เราไม่ควรหวาดกลัววิตก หรือพยายามหลีกเลี่ยงความตายเมื่อถึงเวลา ความตายเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นตามกำหนดเวลา เราควรเจริญมรณานุสติ คือ ตั้งมั่นมีสติเตรียมพร้อมที่จะเผชิญความตายอยู่เสมอ
คนเรามีสิทธิที่จะตายได้จริงหรือไหม?
หากเราเชื่อว่าเรามีร่างกายเป็นของตนเองเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะทำอะไรก็ได้กับร่างนั้น แม้แต่จะพรากชีวิตของตนเอง เราเลือกเกิดไม่ได้แล้วเราจะเลือกตายได้หรือ แต่การที่เราพยายามเหนี่ยวรั้งชีวิตจนเกินไปเมื่อความตายมาเยือนเท่ากับว่าเราเลือกที่จะไม่ตาย และเมื่อเราเชื่อว่าเรามีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แต่ว่าสิทธิของเรานั้นไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ฉะนั้นเรามีสิทธิจริงๆอย่างเต็มที่หรือไม่ โดยสามัญสำนึกทั่วไปเราเชื่อว่าเรามีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้แต่จะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน การกระทำที่เป็นการละเมิดความสงบสุขแก่ส่วนรวม การกระทำนั้นควรหลีกเลี่ยงหรือห้ามกระทำได้ ความตายที่ถูกมองว่าเป็นอันตราย ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำ และทำให้เกิดเรื่องเดือดร้อนแก่ส่วนรวม ผู้อื่นย่อมมีสิทธิจะแทรกแซงการกระทำนั้นได้หรือไม่ เราควรให้น้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างไรดี
สำหรับคุณ คุณคิดเห็นอย่างไร ถ้าคนเราสามารถที่จะเลือกเวลาตายได้ เพราะนั่นอาจถือเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” อย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-40692105
https://thestandard.co/right-to-die-case-david-goodall-scientist-dies/
https://waymagazine.org/right_to_die/
ร่างกายของเราตัวเราควรมีอำนาจการตัดสินใจเองใครไม่ป่วยไม่ร้หรอก
28 ต.ค. 2561 เวลา 00.44 น.
RANCHIDA,🐠 คือถ้าเต็มใจตายก็ตายได้น่ะ แต่ต้องทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ขออย่างเดียวเวลาจะฆ่าตัวตายอย่าให้เป็นภาระสังคม ไม่เอาแบบว่ากระโดดลงมาจากชั้น3ของห้าง แบบนี้น่ะไม่เอา! ชีวิตใครชีวิตมัน เคารพการในตัดสินใจน่ะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่อย่าสร้างภาระให้สังคมแค่นั้นพอ
28 ต.ค. 2561 เวลา 00.46 น.
Pim(องุ่น🍇) ดีอยากให้มีกฏหมายมารองรับเหมือนต่างประเทศ หลายอย่างที่เราควรพัฒนา
28 ต.ค. 2561 เวลา 00.43 น.
Kenny2 เห็นด้วยว่าควรอนุญาตื ภายใต้เงื่อนไขที่ ร่างนั้นหมดสภาพแล้วในส่วนที่สำคัญ และ การเก็บไว้เป็นภาระ ของญาติ แพทย์ เครื่องมือ....ต้องแพทย์ยืนยัน เจ้าตัวยืนยัน(หรือเดี้ยงไปแล้ว) และ ญาติโอเค----ไม่ใช่คนที่ มือ เท้าครบ สติครบ ป่วยเรื้อรัง แล้วอยากจะตาย อันนี้ไม่ควรยอมรับ/เพราะ ท่านมีสิทธิฆ่าตัวตายเอง(อัน สิทธินั้น มนุษย์ดำริขึ้นเองตามระบบสังคม....ในธรรมชาติไม่มีคำนี้นะ แล้วก็ไม่มีสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ทำลายชีวิตตัวเอง_ทุกชีวิตเค้า สู้กันจนกว่าจะสู้ไม่ไหวทั้งนั้น...เค้าไม่ "เอาง่าย"กันแบบ มนุษย์หรอก)
28 ต.ค. 2561 เวลา 01.16 น.
โรคบางโรคคนไข้ก็ทรมานคนรักษาก็หมดเงินติดหนี้ต้องมาใช้หนี้ก็ทรมานน่าจะเป็นทางเลือกนะคับ
28 ต.ค. 2561 เวลา 00.44 น.
ดูทั้งหมด