สมัยเป็นเด็ก มีงานประเพณีประจำหมู่บ้าน
ผมไปสมัครเข้าประกวดร้องเพลง พอร้องเสร็จเฝ้ารอฟังผลอย่างใจจดใจจ่อ
ผลออกมาไม่ได้เลยสักรางวัล ………
ไม่ได้ถ้วยชนะเลิศพอเข้าใจ แต่แม้กระทั่งขันน้ำพานทอง รางวัลรองๆ ลงมาก็ไม่ได้
จึงเดินอ้อมไปหลังเวที ถามคณะกรรมการว่า
ผมร้องเพลงได้คะแนนห่วยมากเลยหรือ ถึงไม่ติดอันดับใดๆ..?
ทั้งๆ ที่คนซึ่งได้รางวัลสามสี่รางวัลนั้น ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะร้องดีกว่าผมสักเท่าไหร่
กรรมการตอบมาสั้นๆ ……….
ตอนนั้นผมไม่เข้าใจ…………..
………………………
รายการทีวีมากมายต้องมีคอมเม้นเตเตอร์
คอมเม้นจริงบ้าง คอมมาดี้ พูดเอาฮาบ้าง
ถ้าว่างๆ ก็อยากจะไปเหมือนกัน
แต่ติดตรงที่ มีความมึนงง กับเกณฑ์การตัดสินของรายการแข่งขันสมัยนี้
บางทีก็ใช้คอมเม้นเตเตอร์ เป็นกรรมการ บางทีก็ให้ผู้ชมทางบ้านโหวต….
คอมเม้นเตเต้อร์ กับการเป็นกรรมการมีความแตกต่างกันตรงที่
คอมเม้นฯมีหน้าที่ให้ความคิดเห็น แต่กรรมการมีหน้าที่ตัดสินชี้ขาด
แม้ว่าในกติกาจะบอกไว้ชัดเจนว่า การตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด
แต่พอตัดสินออกมามีแนวโน้มว่าไม่ยุติธรรมขึ้นมา ทางผู้เข้าแข่งขันก็ประท้วงกันเป็นประจำ
เช่นกรรมการเป็นญาติกับนักเขียนที่ส่งเรื่องเข้าประกวด
กรรมการ รับจ๊อบเป็นติวเตอร์ให้นักร้องที่ตัวเองไปตัดสิน
กรรมการเลยถูกครหากลายเป็น ‘กรรมโกง’ ไปเสียนี่
ในการประกวดต่างๆ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการ
และควรเป็นกรรมการผู้ทรงเกียรติคือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลของการตัดสิน
บางครั้งมีการชวนให้ไปสอน หรือเวิร์กช็อปให้ผู้เข้าประกวด ทำคลิป หรือหนังสั้น
หลังจากนั้นทางผู้จัดก็มักจะชวนให้เป็นกรรมการตัดสินผลงาน ของคนที่เราไปสอนไปแนะนำ
ซึ่งผมก็มักจะปฏิเสธว่า หากเราเป็นผู้สอนแล้วก็ไม่ควรเป็นผู้ตัดสิน เพราะมันมีโอกาสที่เราจะตัดสินให้คนซึ่งทำอย่างที่เราสอน
ส่วนผู้เข้าประกวด ที่มาเรียนมาฟังจากเรา ก็อาจจะคาดเดาว่ารสนิยมเราเป็นแบบไหน แล้วทำในแบบที่คิดว่าเราชอบ แทนที่จะทำอย่างที่ตัวเองอยากทำ
ผู้สอนจึงไม่สมควรจะเป็นกรรมการเสียเอง
หรือหากมีกรรมการเยอะพอสมควรแล้ว ก็ไม่ต้องไปเพิ่มจำนวนให้เป็น ‘กรรมเกิน’
บางทีแค่รู้สึกไม่ชอบหน้ากรรมการท่านอื่น ก็ถอนตัวเสียก่อนจะไปทะเลาะกันบนเวที
ครั้นงานไหนรับปากไว้ว่าจะเป็นกรรมการให้ ก็ต้องถามกันอีกว่า
เกณฑ์ในการให้คะแนนจะเลือกวิธีเช่นไร
ส่วนใหญ่มักจะบอกว่า ต่างคนต่างให้คะแนนแล้วเอาคะแนนที่ให้มาบวกลบกัน
คนไหนได้คะแนนสูงสุด ก็ชนะไป ไม่เห็นจะยากตรงไหน
ผมก็จะบอกว่า ยากตรงนี้แหละ
การเอาคะแนนจากกรรมการทุกท่านมารวมกัน มันไม่ยุติธรรม
เขาก็จะสงสัยว่า ไม่ยุติธรรมยังไง
ก็ต้องอธิบายว่า ในการให้คะแนนนั้น มันมีคะแนนเต็มอยู่ก็จริง
เช่น ร้อง 50คะแนน บุคลิก 50คะแนน
แม้กรรมการท่านใดจะชอบมากแค่ไหนก็คงไม่อาจให้เกิน 50คะแนนได้ ก็จริงอยู่
แต่การชอบมากชอบน้อย บางคนให้ค่าตีเป็นตัวเลขไม่เท่ากัน
เช่นชอบมากให้ 50 แต่พอชอบน้อยให้ 20
ในขณะที่กรรมการอีกคน ชอบมากให้49 แต่ชอบน้อยให้40
อย่างนี้เวลาเอาคะแนนมารวมกัน คนที่ให้คะแนนแล้วช่องว่างระหว่างความต่าง เยอะ
จะส่งผลต่อคะแนนรวม
ความยุติธรรมจึงไม่อาจบังเกิดได้อย่างที่อยากจะให้เป็น
ดังนั้นการตัดเกรด ก็ดี หรือการ เลือกเอาปริมาณที่กรรมการเห็นชอบจึง สำคัญกว่าผลรวมของคะแนน
บางครั้งเขาก็จะมี การให้คะแนนแบบตัดเกรด เช่น
คนที่ได้ที่หนึ่งจากกรรมการท่านหนึ่งจะได้5คะแนน
แล้วลดหลั่นลงมา จนคนที่ได้ที่ห้า จะได้1คะแนน เป็นต้น
จริงๆวิธีการให้คะแนนมีหลากหลายวิธี อันจะนำมาซึ่งความยุติธรรม แต่ก็คงไม่มีวิธีไหนที่ยุติธรรมแบบไม่มีข้อบกพร่อง
…………………..
เคยมีวาสนาเจอท่านอจ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินใหญ่
ได้มีโอกาสเป็นกรรมการตัดสินงานศิลปะเยาวชน ด้วยกัน
ก่อนการตัดสินในฐานะประธานกรรมการ อจ.ขอกล่าว ถึงมาตรฐานในการตัดสินงานศิลปะก่อน
อจ.บอกว่า ในการคัดสรร ตัดสินงานศิลปจิตรกรรมนั้น มีองค์ประกอบหลักสามประการด้วยกัน
คือ หนึ่ง ทักษะฝีมือในการวาดเส้นใช้สี / สองการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ /และสามเนื้อหาที่นำเสนอสอดคล้องกับหัวข้อที่ตั้งไว้
ซึ่งทั้งสามส่วนนี้มีความสำคัญในการนำมาพิจารณา ส่งผลต่อการตัดสินรางวัล
แต่เนื่องจากคณะกรรมการที่คัดเลือกมา มีคุณวุฒิพอเพียงอยู่แล้ว
ดังนั้น อจ.ว่า เราจะใช้วิธีที่ง่ายสะดวกและเป็นธรรมชาติก็แล้วกัน
นั่นคือ ใครชอบภาพไหน ก็เลือกๆเอาเหอะนะ
ใครชอบภาพไหน ก็ยกมือให้ภาพนั้น….จบ
……………………….
ตอนเป็นเด็ก พอขึ้นไปร้องเพลงลงจากเวทีแล้ว อุตส่าห์เฝ้ารอฟังผล
พอรู้ว่าพลาดจากการประกวด ไม่ได้เลยสักรางวัล
ผมก็เข้าไปหากรรมการที่หลังเวที ………
นึกสงสัยว่า เราร้องเพลงได้คะแนนห่วยมากเลยหรือ ถึงไม่ติดอันดับใดๆ
กรรมการท่านหนึ่งตอบมาว่า……..
พอดีหนูเป็นลูกกำนัน ทางคณะกรรมการก็เลยต้องตัดสิทธิ์
คืออนุญาตให้ขึ้นร้องบนเวทีได้ แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าประกวด
ตอนนั้นผมงงๆ
แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า
ถ้าพ่อผมเป็นโปรโมเตอร์มวย แกก็คงไม่ให้ผมขึ้นชกตั้งแต่แรก
หรือแม้กระทั่งขึ้นไปร้องเพลงชาติก่อนมวยชก
แกก็อาจจะเลือกนักร้องคนอื่น แทนที่จะเป็นลูกชายตัวเอง
แดง แต่บางงาน กรรมการตั้งกติกาเองแล้วลงแข่งด้วยนี่สิ
28 ส.ค. 2562 เวลา 12.11 น.
Tong เคยถอนตัวจากการเป็นกรรมการเพื่อตัดสินให้เด็ก1ใน2คนได้ไปโครงการเยาวชนไทยกับญี่ปุ่นครับ.. คนได้ไปก็ต้องดีใจส่วนคนไม่ได้ไปก็ต้องเสียใจ.. ผมรับอารมณ์ตรงนั้นไม่ได้ เลยปล่อยไปตามโชคชะตา(ที่ไม่ได้เกิดจากมือผม)
28 ส.ค. 2562 เวลา 13.30 น.
คนเราถ้ามั่นใจกับในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องแล้ว ปัญหาทุกอย่างก็คงจะไม่ใช่ปัญหา.
28 ส.ค. 2562 เวลา 13.18 น.
Petch ขอบคุณในข้อคิดดีๆค่ะ
08 ธ.ค. 2562 เวลา 04.57 น.
Mam+ Virasuda เพียงแค่กรรมการยุติธรรม ตัดสินไปตามที่ถูกที่ควร ไม่ขี้โกง ไม่ขี้ขลาด .. ทุกคนก็จะลงแข่งได้ค่ะ ต่อให้มีลูก หลาน เพื่อน ลูกน้อง ผู้ร้าย หรือผู้มีพระคุณลงแข่งด้วยก็ตาม
19 ก.ย 2562 เวลา 10.21 น.
ดูทั้งหมด