ไลฟ์สไตล์

แก้ไขได้! 5 วิธีหลีกเลี่ยงการพูดจาตรงเกินไปจนอาจทำร้ายจิตใจคนอื่น - ห้องแนะแนว

LINE TODAY
เผยแพร่ 30 ส.ค. 2562 เวลา 07.35 น. • nawa.

‘ฉันเป็นคนตรง ๆ’ ประโยคเด็ดที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน (หรืออาจจะเคยพูดเองด้วย) มักเป็นประโยคที่ต้องการสื่อความหมายไปในทางที่ว่า ตนเองเป็นคนจริงใจ, โกหกไม่เป็น, คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ยิ่งพ่วงมากับบุคลิกที่มั่นใจ แรง ๆ คนที่พูดก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่าในบางครั้ง คำพูดที่ตรงเกินไป มันอาจทำร้ายสภาพจิตใจคนอื่นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี เคยกล่าวไว้ว่า การพูดตรง ๆ มีทั้งข้อดีและข้อร้าย ข้อดีคือรู้เรื่องง่าย ข้อร้ายคือคนไม่ชอบหน้า ซึ่งเป็นความจริงอย่างยิ่ง บางคนอาจจะเป็นคนเถรตรงเสียจนคนอื่นกลัว บางคนอาจเผลอพูดไม่คิดจนทำให้หลายคนไม่พอใจ หรือบางคนก็จริงใจเสียจนประดิษฐ์คำพูดไม่เป็น ในชีวิตจริงสิ่งที่ทำให้คนเจ็บปวดได้มากไม่แพ้ใครคือ 'คำพูด' ยิ่งเป็นคนที่รู้จักมักจี่ สนิทชิดเชื้อกัน ยิ่งต้องรักษาน้ำใจ เพราะคนเราอ่อนไหวต่อคำพูดไม่เท่ากัน จึงต้องระมัดระวังในการสื่อสารมากขึ้นไปอีก 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันนี้คอลัมน์ห้องแนะแนวมี 5 ข้อแนะนำให้กับ 'คนตรง ๆ' ลองปรับใช้ในการสนทนาเพื่อให้ดูเบาลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการสื่อสารอยู่ได้ค่ะ

ต้องมีศิลปะในการพูดสักนิด

ต้องระลึกไว้เสมอว่า การพูดตรง ๆ ไม่ใช่การใช้คำหยาบคายหรือแข็งกระด้าง แต่เป็นการรู้จักพูดให้ตรงประเด็น รู้จักเรียบเรียงประโยคหรือคำพูดให้กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ใช่อ้อมค้อมเสียจนน้ำท่วมทุ่งเพียงเพื่อต้องการจะรักษาน้ำใจคนฟัง การเป็นคนตรง ๆ แบบที่คนอื่นจะไม่เกลียด ต้องรู้จักใช้วาทศิลป์ ปรับคำให้ละมุนละม่อม แต่ยังคงใจความที่ต้องการพูดออกไปได้อย่างครบถ้วน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตัวอย่าง สถานการณ์

A: งานนี้คุณทำคนเดียวไม่ไหวหรอก อย่าพยายามเลย

B: คุณลองทำงานนี้ดูก่อนแล้วถ้ามีอะไรให้ช่วย บอกได้เลยนะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประโยคมีความหมายไปในทางเดียวกัน แค่เพียงเลือกใช้คำที่นุ่มนวลลงมาหน่อย ก็จะทำให้บรรยากาศการสนทนาดีขึ้นเป็นกอง

ฟังและคิดให้มากกว่าพูด 

ว่ากันว่าการพูดตรงเกินไปจนทำร้ายจิตใจผู้อื่นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากที่คนพูดโฟกัสกับข้อความที่จะสื่อสารมากเกินไปจนละเลยบริบทอื่น โดยเฉพาะความรู้สึกของคนฟัง จากคนพูดตรงอาจกลายเป็นคนพูดจาขวานผ่าซากไปได้ อย่าลืมว่านี่คือคน ไม่ใช่หุ่นยนต์ เวลาจะพูดจะจากันต้องคำนึงถึงสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ด้วย โดยเฉพาะการรับ 'ฟัง' คือหัวใจสำคัญ เพราะบ่อยครั้งคนที่พูดตรง มักจะใช้เวลาพูดเรื่องที่ตัวเองคิดมากกว่าฟังสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดอยู่ นั่นอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เมื่อฟังแล้วก็ต้องรู้จัก 'คิด' ด้วย คิดในที่นี้หมายถึงคิดตาม ไม่ใช่คิดแทนเขา แล้วจึงค่อยร้อยเรียงสิ่งที่ตนเองจะสื่อสารออกไป คิดก่อนพูด แต่ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิด

ใช้เหตุผล ไม่ใส่อารมณ์ 

เมื่อไหร่ที่ใช้อารมณ์นำทางแล้วสถานการณ์อาจจะแย่ลงได้ทุกเมื่อ การสื่อสารที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม ยิ่งมีใครคนใดคนหนึ่งที่พูดตรงเสียจนลืมว่าต้องถนอมน้ำใจกัน ยิ่งทำให้อารมณ์เสียง่ายขึ้นไปอีก อาจกลายเป็นไฟลามทุ่งได้

รู้จักกาลเทศะ และใช้คำพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง

อย่างที่บอกว่าการพูดตรงประเด็นเลย ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องรู้จักใช้คำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และกับสถานะของคู่สนทนา บางคนอาจเป็นคนอ่อนไหวมาก หากพูดอะไรไปจี้ใจดำกับอาจบานปลายกลายเป็นความบาดหมางกัน เพราะฉะนั้นต้องทำความรู้จักผู้ฟังก่อนสักนิด โดยสังเกตจากคำพูดของเขาก่อนก็ได้ ว่าเป็นคนประมาณไหน จริงจังหรือล้อเล่นได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจึงนำมาปรับให้เข้ากับการสนทนาอีกครั้ง 

เอาใจเขามาใส่ใจเรา  

หมั่นสังเกตตัวเราเองและบุคคลอื่นว่าในระหว่างการสนทนานั้น เรารู้สึกอย่างที่ได้ยินประโยคแบบนั้น ไม่พอใจหรือเปล่า รุนแรงเกินไปไหม หรือมีวิธีอื่นที่สามารถแสดงออกไปแล้วดูดีกว่าคำพูดนั้นหรือไม่ เพราะการที่ใช้ตนเองเป็นกระจกสะท้อนแบบนี้จะยิ่งทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น รวมถึงสังเกตท่าทีของผู้อื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วในวงสนทนาครั้งต่อไป เราจะรู้จักการประนีประนอมและระวังคำพูดมากกว่าเดิม

การเป็นคนพูดตรงที่ถูกต้องคือต้องไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาย เพียงแต่พูดตรงประเด็นเนื้อ ๆ ไม่น้ำ รักษาน้ำใจคนฟังอยู่เสมอ เหมือนที่เราอยากได้ยินอะไรจากคนอื่น เราก็ต้องพูดเช่นนั้นกับคนอื่นด้วยเช่นกัน อย่างคำสอนที่ว่า 'อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังคำพูด'

ความเห็น 42
  • (^∧^)Bung(^.^)
    "คุณทำงานนี้คนเดียวไม่ไหวหรอกอย่าพยายามเลย" ผมว่าประโยคนี้เหมือนเป็นประโยคที่บ่งบอกชัดเจนว่าดูถูก เช่น ลูกน้องเสนอตัวเองขอทำงานชิ้นนี้ แต่หัวหน้าพูดประโยคนี้กลับไป ส่วน "คุณลองทำงานนี้ดูก่อน ถ้ามีอะไรให้ช่วยบอกได้เลยนะ" ประโยคนี้เหมือนว่าลูกน้องไม่อยากทำงานชิ้นนี้ แต่หัวหน้าอยากให้ลองทำดูก่อนพร้อมกับเสนอทางช่วย หากมีอะไรติดขัดระหว่างทำงานชิ้นนี้ สรุป สองประโยคที่ยกมานี้ไม่ได้สื่อความหมายไปในทิศทางหรือแบบเดียวกัน ดังนั้น การยกสองประโยคนี้มาเขียนจึงไม่ใช่การยกตัวอย่างที่ถูกต้องของบทความนี้ครับ
    30 ส.ค. 2562 เวลา 08.52 น.
  • Pin🌸
    การพูดแบบถนอมน้ำใจแล้วงานเดิน รู้เรื่อง เข้าใจกัน งานสัมฤทธิ์ผล ใช้ได้กับเฉพาะผู้ฟังบางคนเท่านั้น แต่ผู้ฟังอีกกลุ่ม กลับมองว่า การพูดถนอมน้ำใจคือหมายถึง เรายังไงก็ได้ ชิลๆ เลยไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ต้องให้ดุด่า ถึงรู้เรื่อง และเข้าใจทันที มันขึ้นอยู่กับระดับการรับรู้ของคนฟังด้วย
    30 ส.ค. 2562 เวลา 12.27 น.
  • พี่ฟู
    ถ้ารู้จักนิสัย​ใจคอกันแล้ว​ การพูดตรงๆน่าจะดีทีสุดนะ​ ไม่ต้องอ้อมโลกยกแม่น้ำทั้งห้า​ ให้เสียเวลา​ เวลามีค่ามากกว่ามานั่งปั้นคำพูด
    30 ส.ค. 2562 เวลา 09.20 น.
  • บางครั้งก็นั่งคิดว่าจะอ้อมโลกเพื่ออะไร
    30 ส.ค. 2562 เวลา 10.25 น.
  • ถ้าคนเรารู้จักกับในการยอมรับความเป็นจริง และพร้อมที่จะแก้ไขแล้ว ก็ยอมที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับตัวของตนเอง.
    30 ส.ค. 2562 เวลา 08.44 น.
ดูทั้งหมด