ไลฟ์สไตล์

ถ้าพลาดพลั้งจะยังเป็นที่ภูมิใจมั้ย? สำรวจความกลัวและชีวิตของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล

The MATTER
อัพเดต 26 ก.พ. 2563 เวลา 09.45 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 03.25 น. • Lifestyle

ในยุคดิจิทัลที่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเสียจนเราไล่ตามกันแทบไม่ทัน น่าสงสัยว่าความกลัวของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลนี้ ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหมือนกับสิ่งอื่นๆ บ้างรึเปล่า

งานวิจัยเชิงมานุษยวิทยาโครงการ “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติของชาวดิจิทัลไทย” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 พาเราไปพบส่วนหนึ่งของงานวิจัย นั่นคือความกลัวของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลที่สังคมไทยควรจะได้รับฟัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความหมายของความกลัว

จูเลีย คุ๊ก (Julia Cook) นักวิจัยของสถาบัน Youth Research Centre มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Imagined Futures: Hope, Risk and Uncertainty (2018) ได้อธิบายความกลัวที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมไว้ว่า “ความกลัว (Fear)เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการรับรู้เรื่องของอนาคตซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง (Risk) ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ สังคมและยุคสมัย นอกจากนั้น คนในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมย่อมมีการรับรู้เรื่องความกลัว ความหวัง ความฝัน หรือความคาดหวังที่มีต่ออนาคตของตนเองตามสภาพสังคมที่ตนเองอยู่”

ความกลัวจึงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มีที่มาที่ไป ตามเรื่องราว ประสบการณ์ หรือวัฒนธรรมการปลูกฝังของแต่ละคนแต่ละสังคม และอาจจะพูดได้ว่าความกลัวเป็นผลผลิตจากสังคม ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ สังคมย่อมมีส่วนรับผิดชอบต่อความกลัวที่เกิดขึ้น สังคมไทยก็อาจได้ปลูกฝังความกลัวหนึ่งให้กับคนในสังคมตลอดมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ฟังเสียงความกลัวของชาวดิจิทัล

ในงานวิจัยโครงการนี้ผู้ที่เกิดในปีพ.ศ. 2539-2549 (อายุ 13-23ปี) คือ ‘คนรุ่นใหม่’ หรือ ‘ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่’ โดยผู้ที่เกิดก่อนหน้าปี พ.ศ.2539 ให้นับว่าเป็นชาวดิจิทัลรุ่นเก่า จากการสัมภาษณ์เจาะลึกคนรุ่นใหม่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน จำนวน 30 คน พบว่า ‘กลัวความล้มเหลว’ ‘กลัวไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต’ เป็นคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจจากคนรุ่นใหม่ที่ลืมตาดูโลกมากับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่โลกหมุนไปอนาคต แต่พวกเขา กำลังหวาดกลัวต่ออนาคตเพราะสภาพสังคมปัจจุบัน ซึ่งส่งผลไม่น้อยต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง วัฒนธรรมการนับถือลำดับชั้นทางสังคม จนถึงค่านิยมของครอบครัวเรื่องการประสบความสำเร็จของชีวิต หรือแม้แต่เด็กในกลุ่มอายุ 13-15 ปี ก็ยังพบว่า พวกเขาได้มีความคิดเรื่อง “กลัวพ่อแม่ไม่ภูมิใจและตนเองจะเป็นทุกข์เอง”  หรือ “กลัวหางานไม่ได้” เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น พวกเขากลัวไม่ประสบความสำเร็จ กลัวเลี้ยงดูพ่อแม่ไม่ได้ กลัวไม่ติดมหาวิทยาลัย ความกลัวเหล่านี้ผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามว่า มันเป็นแค่ความวิตกกังวลรึเปล่า คำตอบที่ได้คือ คนรุ่นใหม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้จริงๆ เพราะความกลัวนี้ได้ฉายภาพเลวร้ายของชีวิตที่พวกเขาคิดว่าเป็นไปได้

ชีวิตที่ล้มเหลว ครอบครัวที่ผิดหวัง ภาพเหล่านี้ถูกขับเน้นจนเด่นชัดจากสิ่งที่พวกเขาถูกปลูกฝัง และได้ลงลึกไปอยู่ในจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ โดยที่ไม่มีโอกาสได้เปล่งเสียงความกลัวออกมาให้ใครฟัง กลายเป็นความกดดันและส่งผลให้การใช้ชีวิตของชาวดิจิทัลดูจะหนักหนาสาหัสขึ้นทุกที

เด็กเดี๋ยวนี้ไม่มีความอดทน’ ‘เรื่องแค่นี้เองไม่เห็นหนักอะไรอาจมีประโยคประมาณนี้จากคนรุ่นก่อนๆ แต่เราอาจจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับความกลัวที่ถูกปลูกสร้างจากสังคมและวัฒนธรรมทำให้เกิดความหนักหนาในการใช้ชีวิตราวกับปีนเขาสูงชัน สมทบด้วยความคาดหวังอันบีบอัด แบกเป้ที่เต็มไปด้วยความหวังของครอบครัว และความฝันของเราเองที่แบกมาเป็นกระเป๋าถืออีกใบ หรืออาจจะต้องโยนมันทิ้งไว้ก่อน เพราะต้องพาความคาดหวังเหล่านั้นของครอบครัวและสังคม ไปถึงเส้นชัยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บก่อนสิ่งอื่นใด

ความหนักหนาระหว่างทางของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ถูกท้าทายจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ราวกับมีมีดเล็กทิ่มแทงจากทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ล้วนแต่ไม่เอื้อให้พวกเขาปีนยอดเขานั้นได้อย่างสะดวก

“กลัวไม่ประสบความสำเร็จ มีคนบ่นกันเยอะ เราก็รู้สึกอย่างนั้นแต่มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย มันจะมีบรรทัดฐานสังคมที่บอกว่าเราต้องมีรถ แต่งงานที่อายุเท่าไหร่ มันบีบคั้นคนไปทั่วน่ะ”

-ผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยกลุ่มอายุ 19-23 ปีกล่าว-

สังคมยุคดิจิทัลกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่เผชิญ

หันกลับมามองสภาพสังคมไทยกันบ้าง ซึ่งเราก้าวเข้าสู่ยุค 5G กันอยู่เนืองๆ เทคโนโลยีการสื่อสารและอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้าแบบสุดๆ ได้แทรกซึมในทุกระดับของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายมหาศาลในแต่ละวันให้เราได้เสพ แถมยังมีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดและคาดเดาพฤติกรรมของมนุษย์ได้อีก เรียกได้ว่าสังคมของเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในไม่กี่สิบปี เช่นนี้ คนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลของไทยย่อมประสบพบเจอกับสิ่งที่ต่างออกไปจากคนรุ่นเก่า

 

หากพูดในมิติทางประวัติศาสตร์

คนรุ่นใหม่วัย 13-18 ปี หรือผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2544-2549 เกิดมาก็เจอกับเทคโนโลยีทันสมัยรอบด้าน เป็นยุคดิจิทัลที่แท้จริง คนรุ่นใหม่วัย 19-23 ปี เกิดขึ้นมาในสภาพที่สังคมไทยต้องฝ่าฟันกับวิกฤตต้มยำกุ้ง สภาพพยายามฟื้นตัวจากระบบเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคเทคโนโลยีการสื่อสาร วัยผู้ใหญ่อายุ 24 ปี เป็นต้นไป คือผู้ที่เกิดก่อนหน้าปี พ.ศ.2538 นั้น เกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่กำลังไปได้ดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปีพ.ศ. 2528-2538 ที่ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จากโรงงานอุตสาหกรรม การเมืองที่มีพลวัตและดำเนินไปเป็นประชาธิปไตยอย่างช้าๆ จนก่อให้เกิดชนชั้นกลางขึ้น พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย ส่งผลให้คนในแต่ละรุ่นมีคาแรคเตอร์ที่ต่างกันด้วย โดยเฉพาะมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่โตมากับยุคโลกาภิวัตน์ พวกเขาเห็นตลับเทปถูกแทนด้วยแผ่นซีดี จากเกมตลับกลายเป็นนินเทนโดสวิตซ์ จากยุคอนาล็อกกลายเป็นดิจิทัล พวกเขาเกิดมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่อย่างรวดเร็วตลอดเวลา

คำว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ และ ‘ตลอดเวลา’ มันช่างฟังดูไม่แน่ไม่นอนเอาเสียเลย แต่ที่แน่นอนคือเทคโนโลยีที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคสมัย มันได้พกเจ้าความเสี่ยงมาด้วย ตรงกับที่ Ulrich Beck ผู้เขียนหนังสือ Risk Society: Towards a New Modernity (1992) กล่าวว่า “โลกาภิวัตน์ได้นำพาเหตุการณ์หรือสิ่งใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงมาให้พวกเขาแบบที่คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยประสบ” สิ่งใหม่ที่คาดไม่ถึงนี่เองที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีทัศนคติต่ออนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังมีความกลัวเดิมๆ ที่ติดอยู่กับพวกเขาเรื่อยมา

ความกลัว ความคาดหวัง และค่านิยมของคนไทย

‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ คำถามง่ายๆ ที่เด็กไทยทุกคนมักจะโดนถาม แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็กๆ ที่ต้องแบกภาระอันหนักอึ้งที่เรียกว่าความฝัน นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เด็กไทยต้องอยู่ในโลกการศึกษาที่มีการแข่งขันสูง ตั้งแต่ยังเดินเตาะแตะในชั้นเตรียมอนุบาล จนถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แม้ว่าเด็กไทยจะต้องอยู่ในระบบการศึกษากว่า 1 ใน 4 ของชีวิต แต่กลับไม่ได้ช่วยให้พวกเขาตอบคำถามได้เลยว่า เขาคือใคร ต้องการอะไร และต้องเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง ระบบการศึกษาไม่ได้ตระเตรียมให้พวกเขารู้ว่าต้องรับมือกับโลกแห่งความเป็นจริงที่จ้องจะเฆี่ยนตีพวกเขาอย่างไร

ในหลายๆ ครั้ง ความปรารถนาดีในเรื่องการประสบความสำเร็จในชีวิตของผู้ใหญ่ ก็ได้เพิ่มความกังวลและความกลัวขึ้นในใจของคนรุ่นใหม่โดยไม่ได้ตั้งใจ ‘ตั้งใจเรียนนะโตขึ้นจะไปเป็นเจ้าคนนายคน’ ‘เรียนเก่งอย่างงี้โตขึ้นไปเป็นหมอเป็นวิศวะแน่ๆ’ ‘เรียนจบสูงๆ จะได้มีการมีงานดีๆ’ และบ่อยครั้งอยู่เหมือนกันที่การกระทำอันเต็มไปด้วยความปรารถนาดีของพ่อแม่ได้เพิ่มความคาดหวังยิ่งขึ้นไปอีก เช่น กลัวลูกจะไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้และจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่หวัง เลยส่งลูกไปเรียนพิเศษในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพื่อลดความกลัวของพวกเขาลง แต่มันกลับไปลดทอนเวลาที่เด็กควรจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ เพื่อเดินตามแนวทางที่ผู้ใหญ่ที่ขีดเส้นเอาไว้ให้

เส้นทางของคนรุ่นใหม่

แม้ว่าจะถูกขีดเส้นทางไว้ให้เดิน แต่แนวโน้มในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลนี้กลับไม่ได้เลือกที่จะเดินในเส้นทางที่ผู้ใหญ่คาดหวังอีกแล้ว เทคโนโลยีการสื่อสารที่เจริญรุดหน้าและโลกที่พัฒนามากขึ้นได้สร้างโอกาสและทางเลือกมากมาย พวกเขาเริ่มมีค่านิยมในการจัดการกับชีวิตของตัวเองและมีหนทางที่ไปสู่ความสำเร็จในชีวิตแบบใหม่ เช่น YouTube ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้จากการเป็น YouTuber แม้ไม่ต้องเรียนจบสูงๆ ตามค่านิยมเดิม หรือเลือกเป็น Start-Up ที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่อสังคม

เราอาจจะต้องลองหยิบยื่นโอกาสและเปิดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถกำหนดชีวิตและทิศทางเดินของตัวเอง เพราะพวกเขาอาจต้องการแค่พื้นที่ที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ลองค้นหาตัวตน และเดินตามฝันของตัวเองมากกว่าที่จะเดินตามสูตรสำเร็จที่ถูกกำหนดมาแล้ว

จะดีกว่าไหมหากเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ของพวกเรานั้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศในแบบของพวกเขาเอง ให้พวกเขาได้เลือกเรียนหรือทำงานในสายอาชีพ เน้นการมีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่อาจจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ก้าวทันโลกมากยิ่งขึ้น การมีชั่วโมงเรียนที่จะให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองในแบบที่เขาปรารถนา การพัฒนาประเทศอาจต้องเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างการศึกษาหรือความเป็นอยู่ ด้วยการ ‘รับฟัง’ เสียงของพวกเขา

“กลัวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า เหนื่อยตอนนี้ เดี๋ยวสบายตอนหน้า และเดี๋ยวนี้มันเห็นกันเยอะว่าการประสบความสำเร็จมันเกิดขึ้นเร็ว หรือรวยตั้งแต่อายุน้อย มีอาชีพแล้ว มันกดดันคนที่นั่งเรียนกันงก ๆ ว่าเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือเปล่า ซึ่งความสำเร็จมันก็แล้วแต่เป้าหมายของแต่ละคนนะ”

-ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยกลุ่มอายุ 19-23ปี-

เราไม่ได้บอกว่าค่านิยมนี้ที่สังคมไทยสั่งสอนกันเป็นสิ่งที่ผิด แต่ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากโลกที่คนรุ่นเก่าเคยเติบโตมา ค่านิยมดังกล่าวอาจไม่เวิร์คอีกแล้ว

พวกเขาอาจไม่จำเป็นจะต้องเรียนสายสามัญ สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในคณะที่สังคมคาดหวัง หรือทำงานที่มีหน้ามีตาในสังคม เราสามารถให้พื้นที่เขากับการอยากทำสิ่งที่ชอบ ทำอาชีพที่มีความสุข และมีชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการได้หรือไม่

“ถ้าเป็นยุคหนูรุ่นหนูตอนนี้ กลัวการไม่ได้เข้ามหาลัยดี ๆ กลัวการไม่ได้ทำตามความคาดหวังของครอบครัวได้ขนาดนั้น เพราะพ่อแม่รุ่นหนูก็คือคาดหวังสูงมากกับการเรียนไรงี้ค่ะ ก็คือกลัวเด็ก ๆ แบบว่าทำตามความฝันของพ่อแม่ไม่ได้ เครียดจนเป็นโลกซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย มีเยอะแยะไป”

-ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยกลุ่มอายุ 16-18ปี-

ขอเพียงแค่พื้นที่เล็กๆ

เด็กไทยจำนวนหนึ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสมา ไม่ได้ต้องการอะไรมากนอกจากขอพื้นที่ไว้ใส่ความสุขของพวกเขา ขอเพียงแค่ได้ทำสิ่งที่พวกเขาชอบ ได้วาดรูป ได้เตะบอล ได้เล่นเกม หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาวาดฝันอยากจะเป็น แต่จะมีสักกี่คนที่จะหาญกล้าออกจากกรอบที่สังคมวางไว้และเลือกหนทางของตัวเอง

ย้อนกลับมาที่เรื่องเดิม ว่าท้ายที่สุดมันเป็นเรื่องของยุคสมัยและความคิดของคนแต่ละเจเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน ความหวังและทิศทางการมองโลกของคนรุ่นก่อน ได้ถูกส่งไม้ต่อมายังคนรุ่นดิจิทัลที่มีมุมมองต่ออนาคตอันแตกต่างอย่างมากมายกับคนรุ่นก่อน ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่นี้ดำรงอยู่ในโลกที่มีโอกาสเยอะแยะเต็มไปหมด แต่พวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีทางเดินชีวิตในแบบที่คนยุคเก่าคาดหวัง นั่นแปลว่าพวกเขากำลังจะต้องเดินเป็นเส้นตรงตามอนาคตที่ถูกกำหนด ซึ่งอันที่จริงมันไม่จำเป็นจะต้องมีสูตรของการประสบความสำเร็จในเส้นทางและเป้าหมายเดียวกันเสมอไป

“แป๊บเดียวก็มีความสุขแล้ว” จึงเป็นคำแรกๆ ที่คนรุ่นใหม่ใช้ปลอบใจตัวเองให้ “อดทน”ทำตามความคาดหวังของครอบครัวและสังคม รวมถึง “ตัวเอง” เพื่อ “ประสบความสำเร็จ” ในทัศนะของคนอื่น โดยที่พวกเขาเองอาจไม่เคยคิดหรือมีโอกาสคิดจนตระหนักรู้ว่าความสุขที่พวกเขาต้องการคืออะไร เพราะเสียงที่อยู่ในหัวมีเพียงแค่คำว่า “อย่าล้ม”

คำถามคือ สังคมแบบไหนทำให้คนเรากลัวที่จะผิดพลาด

ในงานเขียนเรื่อง The only thing we have to fear is the ‘culture of fear’ itself  ของ Frank Furedi ได้กล่าวว่า “เรากลัวสิ่งนั้นเพราะถูกทำให้กลัว และถูกทำให้มองว่าสิ่งนั้นน่ากลัวเพราะเป็นสิ่งที่ผิดในตัวมันเอง” เรากลัวไม่ประสบความสำเร็จ กลัวความล้มเหลว กลัวว่าจะไม่สามารถทำตามค่านิยมของสังคมที่คนรุ่นเก่าวางไว้เพราะไม่มีที่ให้พวกพวกเขาได้ลองผิดพลาดและล้มเหลว สังคมของเราได้สร้างปีศาจแห่งความคาดหวังที่หลอกหลอนคนรุ่นใหม่ให้หวาดกลัวต่ออนาคต

หรือแท้จริงแล้วคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล ต้องการเพียงแค่สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เอื้อให้พวกเขาได้ทำตามความฝัน และสังคมที่คอยรองรับในยามที่พวกเขาล้มลง สวัสดิการของรัฐที่เพียงพอในทุก ๆ ด้าน ค่าครองชีพที่ไม่สูงจนเกินไป เศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ต้องกลัวว่ามันจะพังลงเมื่อไหร่ หรือระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและเอื้อต่อคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว

ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลกลัวทุกสิ่งอย่างหรือไม่กล้าเผชิญหน้ากับอนาคต พวกเขาล้วนเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะพัฒนาตนเอง ประเทศชาติ และโลกใบนี้ หากแต่ยังมีบางสิ่งที่คนกำหนดเหนี่ยวรั้งพวกเขาไว้ รวมถึงโครงสร้างและสภาพสังคมในสเกลใหญ่ระดับประเทศที่ไม่อาจรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกไม่ทัน

เราอาจต้องละทิ้งค่านิยมที่จะอับอายเมื่อลูกหลานของเรายังไม่ประสบความสำเร็จในแบบของคนรุ่นก่อน สร้างสังคมที่คอยรองรับเมื่อพวกเขาร่วงหล่น เป็นสังคมที่พร้อมจะพยุงเมื่อพวกเขาล้มลง และคอยสนับสนุนให้ลุกขึ้นในหนทางที่อยากเดิน สร้างสังคมและเศรษฐกิจที่มีพื้นที่เปิดกว้างต่อความสร้างสรรค์และให้เวลาพวกเขาได้ใช้ชีวิตในแบบของตน

“ตอนนั่งเรือแสนแสบ เคยคิดว่ามันต้องมีเด็กสักคนแถวนั้นที่นั่งเรือแล้วอยากจะเป็นนักต่อเรือแสนแสบที่ล้ำ ๆ แบบหนังมาร์เวล แล้วก็คิดว่าประเทศนี้ไม่เอื้อให้คนได้ทำตามความฝันมากนัก พอเข้าโรงเรียนก็อาจจะมีได้แค่ไม่กี่ตัวเลือกที่สำคัญคือเรียนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวที่อาศัยริมคลองแสนแสบ แทนที่จะตามความฝันล้ำ ๆ ของตัวเอง”

-ผู้มีส่วนร่วมการวิจัยเพศหญิงอายุ 19-23 ปี กล่าว-

บทสรุปของความกลัว

บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อจะลดทอนคุณค่าของคนรุ่นเก่า หรือเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ที่บอกเล่ามุมมองเพียงด้านเดียว หากแต่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าค่านิยมและโลกทัศน์ของคนในแต่ละยุคสมัยได้พัฒนาไปพร้อมกับพลวัติของสังคมที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังปลูกฝังความกลัวให้กับคนในสังคม เราได้ส่งมอบความคาดหวังต่อทุกระดับชั้น ตั้งแต่ประเทศ สังคม ครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างต่อกลุ่มคนที่จะต้องเติบโตขึ้นเพื่อมาเป็นกำลังของประเทศในอนาคต

ท้ายที่สุดเมื่อโลกพัฒนาอย่างรวดเร็วและซับซ้อน จังหวะการก้าวเดินของชีวิตอาจเป็นคนละเรื่องกับการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี ในเมื่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไม่ได้เอื้อให้พวกเขามีจังหวะชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้ แต่กลับถูกเร่งให้ประสบความสำเร็จ ได้รับความคาดหวังที่ไม่เหมาะกับแต่ละช่วงของชีวิต ด้วยค่านิยมที่ยังคงหมุนเวียนในสังคมไทย หากเรายังคงมีเส้นตรงของความสำเร็จ ไม่ว่าคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลจะเลือกเส้นทางเดินชีวิตของตัวเองหรือยอมเดินตามทางเดินที่ผู้ใหญ่ปูไว้ให้ ก็ย่อมเจ็บปวดได้ไม่จุดใดก็จุดนึง เพราะดูเหมือนไม่ว่าจะทางไหน ต่างก็ถูกบีบคั้นด้วยค่านิยมว่า พวกเขาจะต้องไปให้ถึงยอดภูเขาที่เรียกว่าความสำเร็จอยู่ดี

อ้างอิงข้อมูลจาก

Beck, U. (1992). Risk society. London: Sage Publications.

Cook, J. (2017). Imagined Futures: Hope, Risk and Uncertainty: Cham: Palgrave MacMillan.

Furedi, Frank. 2007. The only thing we have to fear is the ‘culture of fear’ itself: NEW ESSAY: How human thought and action are being stifled by a regime of uncertainty. April 4. http://www.spiked-online.com/index.php?/site/article/3053/.

Hubbard, Phil. “Fear and Loathing at the Multiplex: Everyday Anxiety in the Post-Industrial City.” Capital & Class 27, no. 2 (July 2003): 51–75. doi:10.1177/030981680308000105.

บทความโดย เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ  และ อภินัทธ์ เชงสันติสุข

งานวิจัยโครงการ “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย”

ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • เพราะสังคมไทยมองกันแค่เปลือก เรียนดี มหา'ลัยดัง บ้านหลังใหญ่ มีรถหลายคัน แต่งงานมีครอบครัว = ประสบความสำเร็จ คือเป็นรูปแบบชีวิตที่สังคมไทยตีกรอบเอาไว้จริงๆน่ะแหละ อยู่อเมริกา ไปเรียน ไปทำงาน เข้าสังคมที่ไหน เราไม่เคยถูกถามเลยว่าเรียนที่ไหน เรียนอะไร ทำงานอะไร เงินเดือนเท่าไหร่ ขับรถอะไร เจอกันก็ How are you? Where are you going? Or What will you do today? ไม่เคยเจอเพื่อนฝรั่งมานั่งซักประวัติเหมือนคนไทย จริงๆนะ
    25 ก.พ. 2563 เวลา 06.41 น.
  • Moze
    พ่อแมจะภูมิใจหรือไม่ ไม่รู้ รู้แต่ว่าดูแลอย่างดีดีกว่าเมียอีก
    25 ก.พ. 2563 เวลา 06.20 น.
  • กฤษกร
    ครับ
    25 ก.พ. 2563 เวลา 07.48 น.
ดูทั้งหมด