หลายคนบอกว่า เขาคือ ‘สตีเฟน คิง’ เมืองไทย
เรื่องสั้นของเขา แปลก แหวกแนว คาดเดายาก
ไม่แปลกเลยว่า ทำไมช่วงที่ยังเขียนหนังสืออยู่ ผลงานนับร้อยที่เขารังสรรค์ขึ้น จึงเป็นที่ต้องการของนิตยสารมากมายหลายหัว เช่นเดียวกับหนังสือในชุดสามศพ สามผี สองวิญญาณ ต่างเป็น Bestseller นานนับปี โดยไม่ต้องอาศัยแรงโปรโมตใดๆ
หากสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ก่อนมาเป็นนักเขียนดัง เขาไม่ได้มีพื้นฐานการแต่งเรื่องเลย เขาเป็นเพียงเภสัชกรที่ชอบอ่านหนังสือ แต่อยากหารายได้เสริมด้วยการแปลหรือเขียนหนังสือเท่านั้น และด้วยพรสวรรค์บวกกับการไม่เคยจำกัดกรอบตัวเอง ทำให้เขาสามารถยืนหนึ่งในยุทธจักรน้ำหมึกนี้ได้อย่างมั่นคง
เพื่อรำลึกถึงสุดยอดนักเขียนจอมหักมุม ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนเวลากลับไปรู้จักตัวตนและความคิดของชายผู้อยู่แถวหน้าของเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญ ลึกลับ สั่นประสาท นามว่า ‘สรจักร ศิริบริรักษ์’
01
เหตุเกิดบนรถไฟ
พฤษภาคม 2537
เป็นครั้งแรกที่นักอ่านชาวไทยได้เปิดประตูต้อนรับนักเขียนน้องใหม่ ‘สรจักร’ หลังนิตยสารพลอยแกมเพชร ประเดิมคอลัมน์ใหม่ ‘อำพรางอำยวน’ ด้วยเรื่องสั้นที่ชื่อ ‘ผีหลอก’
‘ผีหลอก’ เป็นเรื่องราวของนายแพทย์ผู้คุ้นเคยกับศพมาตั้งแต่เด็ก เขาไม่เคยกลัวผี ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน แต่สุดท้ายความมั่นใจของเขาก็ถูกทลายลง หลังพลาดท่าเจอผีหลอกเข้าเต็มเปา
นับจากนั้น สรจักรก็ได้ขนเรื่องเล่าสุดหลอนมานำเสนออีกมากมาย ทั้ง ‘ฆาตกรโรคจิต’ เรื่องราวของผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก หรือ ‘หมองู’ โศกนาฏกรรมความรักของคู่หนุ่มสาวจากพัฒน์พงศ์
เรื่องสั้นของสรจักร ฉีกแนวจากตลาดยุคนั้นโดยสิ้นเชิง เพราะให้ความสำคัญกับพล็อตและข้อมูลอย่างมาก ยิ่งมาบวกกับสไตล์การเขียนที่กระชับ ฉับไว แต่กลับสามารถบรรยายฉากและองค์ประกอบต่างๆ ได้ลงตัวและชัดเจน ส่งผลให้งานของเขาโดดเด่นเมื่อเทียบงานร่วมรุ่นที่มักยึดขนบเดิมๆ วางโครงเรื่องเน้นหนักไปที่การสะท้อนปัญหาสังคม หรือความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งค่อนข้างจำเจและไม่แปลกใหม่สำหรับผู้อ่าน
แต่กว่าจะมีวันนั้น รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นบนรถไฟ!!
เดิมทีสรจักรเป็นเภสัชกร เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นครศรีธรรมราชนานถึง 14 ปี แต่แล้วชีวิตอันแสนเรียบง่ายมามีอันต้องพลิกผัน เมื่อเขาต้องมาเฝ้าพ่อซึ่งป่วยเป็นเบาหวานและความดันโลหิตที่กรุงเทพฯ สรจักรขอย้ายตัวเองมาประจำกระทรวงสาธารณสุข ทว่าพอคำสั่งออกมา พ่อก็จากไปพอดี แม้จะอยากกลับไปทำงานเมืองนครเพียงใด แต่ด้วยความเกรงใจผู้ใหญ่จึงตัดสินปักหลักอยู่ที่นี่ต่อ
ชีวิตในเมืองกรุงไม่ใช่เรื่องง่าย สรจักรมีค่าใช้จ่ายจิปาถะเต็มหมด ทั้งผ่อนรถ ผ่อนคอนโด ค่ากินค่าอยู่อีกสารพัดอย่าง เขาจึงต้องหารายได้เสริม ทั้งเปิดร้านยา รวมถึงแปลคู่มือการใช้เครื่องไฟฟ้าให้บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ดูเหมือนงานเหล่านี้จะไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเท่าใดนัก
กระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างนั่งรถไฟลงไปนครศรีธรรมราชเพื่อเก็บของเข้ากรุงเทพฯ สรจักรพกหนังสือเรื่อง Needful Things ของสตีเฟน คิง ติดตัวไปด้วย หลังอ่านไปได้ครึ่งเรื่อง เขารู้สึกผิดหวังเพราะผลงานไม่เป็นไปอย่างที่คิด บางประโยคไม่เห็นจำเป็นต้องเขียนก็ได้ เขาจึงใช้ปากกาขีดข้อความไม่สำคัญทิ้ง พร้อมคิดไปด้วยว่า จะมัวมานั่งอ่านงานคนอื่นอยู่ทำไม ลงมือเขียนเองดีกว่า
คืนนั้นเองที่เขาควักกระดาษและลงมือเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ‘ฆาตกรโรจิต’ จนเสร็จ พอกลับถึงเมืองกรุง เขาเริ่มตะลุยเขียนรวดเดียวต่อเนื่อง 2 อาทิตย์ จนเรื่องสั้น 6 เรื่องแรกสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย
เขานำต้นฉบับนี้ไปให้แม่ เพื่อน น้องชาย น้องสาว ลองอ่านดู ปรากฏทุกคนพูดตรงกันว่า สนุก น่ากลัว ทำไมถึงไม่เสนอขาย สรจักรจึงตัดสินใจส่งผลงานไปยังนิตยสารต่างๆ โดยมีข้อแม้ หากจะซื้อต้องซื้อทั้งหมด และหลังจากนั้นต้องรับเขาเป็นนักเขียนประจำด้วย
“ผมบอกเขาว่า เรื่องสั้นที่ผมเขียนมันจะมีคุณภาพสม่ำเสมอ ไม่ใช่เขียนดีเรื่องหนึ่งที่เหลือมันจะเลว ถ้าต้องการให้ผมทำงานเขียนให้ ผมขอเป็นคอลัมน์ประจำ เพราะผมไม่อยากมาคอยเสนอเรื่องเป็นครั้งคราว แล้วก็คอยลุ้นว่าเรื่องผมจะได้หรือเปล่า ผมอยากได้ความมั่นคง”
หลังส่งเรื่องไปได้ 3 วัน ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล บรรณาธิการนิตยสารพลอยแกมเพชร ก็ติดต่อกลับมาพร้อมตอบรับข้อเสนอของเขา จากนั้นก็มีนิตยสารอีกหลายหัว ทั้ง จันทร์ ดีไลท์ ผู้หญิงวันนี้ และแพรว ที่ยื่นข้อเสนอให้เขารับงาน
นั่นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของเภสัชกรวัยเกือบ 40 ปีผู้นี้
02
กว่าจะได้ ‘หักมุม’
สรจักรมักบอกใครๆ เสมอว่า เขาชอบอ่านหนังสือ แต่ไม่เคยคิดที่จะเขียนหนังสือ
ว่ากันว่า สรจักรเป็นคนรักการอ่านยิ่งกว่าอะไร แม้แต่ถุงกล้วยแขกก็ยังอ่าน
เขาเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว แถมยังเก็บใจความได้ทันที ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการบ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์ โดยในห้องทำงานของพ่อนั้นเต็มไปด้วยหนังสือภาษาอังกฤษและหนังสือแปล ส่วนแม่ซึ่งเป็นครูภาษาไทยก็จัดหาวรรณคดีดีๆ ทรงคุณค่ามาให้อ่าน นี่ยังไม่รวมถึงนิตยสารดังๆ ในยุคนั้น ทั้งบางกอก กุลสตรี ลลนา หรือฟ้าเมืองไทย ซึ่งกลายเป็นต้นทุนหนึ่งที่เขานำมาปรับใช้ในงานได้อย่างดี
“จำได้ว่า เรื่องแรกที่ประทับใจคือ ‘ขุนทมิฬซูลู’ เป็นหนังสือแปล แต่ก็เคยอ่านเรื่องของคนไทยบ้าง รู้สึกไม่ค่อยมีอะไร บรรยายเรียบง่าย จึงไม่ค่อยได้อ่าน ผิดกับเรื่องแปลของฝรั่ง มีการหักมุม ซึ่งชอบมาก แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น อ่านอย่างเดียว”
เพราะฉะนั้น เมื่อเขาแปลงร่างเป็นคนเขียนหนังสือ สิ่งที่สรจักรคิดอยู่เสมอคือ ผลงานนั้นต้องสนองความต้องการของผู้อ่าน และต้องมีความแตกต่างจากในตลาดหนังสือทั่วไป
“ผมชอบเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุม เพราะเรื่องสั้นของไทยมักจะเขียนแนวสัจนิยม คือเรื่องที่เป็นจริงแล้วก็จบค่อนข้างตรงไปตรงมา ผมรู้สึกว่าแนวหักมุมที่ผมเคยอ่านมาสมัยเด็ก อย่างที่เคยอ่านในฟ้าเมืองไทย มันหายไป ก็เลยอยากเขียน มันท้าทายดี และเรื่องที่หักมุมได้ง่ายที่สุดคือแนวสยองขวัญ ซึ่งจะพลิกเรื่องได้ง่าย เรื่องแนวเพื่อชีวิตหรือแนวเรื่องทั่ว ๆ ไป มันหักมุมยาก”
โดยข้อมูลที่นำมาเป็นวัตถุดิบนั้น มีตั้งแต่ประสบการณ์ตรง สมัยเรียนอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงช่วงรับราชการที่โรงพยาบาลขนอน ซึ่งเขาต้องไปช่วยเพื่อนที่เป็นหมอ ผ่าตัด เย็บแผล ชันสูตรศพ อยู่เสมอ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร ตลอดจนติดตามข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์ ซีรีส์ต่างประเทศ รวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
ไม่แปลกเลยว่า ทำไมงานของเขาถึงทันสมัย สมจริง น่าติดตาม เพราะสำหรับสรจักรแล้ว นักเขียนต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งรอบตัวไม่น้อยกว่าคนอ่าน ไม่เช่นนั้นงานที่ออกมาก็จะด้อยค่าไปด้วย
“หลักการง่ายๆ ในการเขียนซึ่งผมได้มาจากฝรั่ง คืออย่าเขียนในสิ่งที่เราไม่รู้ การจะได้ความรู้มานั้นทำได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือ Primary คือตัวเองเข้าไปเผชิญหรือมีประสบการณ์ตรง เช่นเรื่อง ‘ศพข้างบ้าน’ ผมเอามาจากเหตุการณ์คนข้างบ้านตาย พอตำรวจได้อ่านแล้วเขารู้สึกว่าผมเป็นคนฆ่า เลยเป็นเรื่องถึงกับมาขอพิมพ์ลายมือและมาสอบสวน เนื้อหาในเรื่องที่ผมเขียนบอกว่าคนที่ฆ่าคือสามีของผู้ตาย ตำรวจก็ลองไปสอบสวนตามแนวที่ผมเขียนไว้ ไปจับสามีของผู้ตาย วันที่สามีถูกจับมีนักข่าวโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์เขาที่สถานีตำรวจ เขาก็ให้สัมภาษณ์ว่าสงสัยนักเขียนข้างบ้านเป็นคนฆ่า
“แต่ถ้าผมไม่มีประสบการณ์ตรง ผมก็จะได้ข้อมูลแบบ Secondary เช่นผมเขียนเรื่องนักรีคอล ผมศึกษามาก ดูวีดิโอ และให้น้องชายที่เป็นทหารอ่านหลังจากผมเขียนเสร็จ ผมว่าเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งให้นักเขียนมีแนวของตัวเอง การที่ผมเขียนเรื่องสยองขวัญได้ดีก็เพราะว่าประสบการณ์ตรงผมเยอะมาก ตอนผมอยู่โรงพยาบาล กะโหลกระเบิด ขาขาด อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ตรงนี้อาจทำให้ผมถ่ายทอดได้ดี และผู้อ่านอาจจะคล้อยตามได้ง่าย”
สรจักรย้ำว่า ผลงานทุกเรื่องที่เขียนขึ้นล้วนผ่านการคิดและวิเคราะห์มาอย่างดี ตั้งแต่การวางโครงเรื่อง การสร้างเงื่อนไข การวางตัวละคร หรือแม้แต่การคลี่คลาย ไม่ใช่อยากเขียนอะไรก็เขียน ที่สำคัญเขายังลงไปศึกษาตลาด สำรวจเรื่องสั้นที่มีอยู่ รวมถึงพูดคุยกับนักอ่าน และบรรณาธิการ ว่าต้องการผลงานแบบใด แล้วก็นำมาปรับหรือสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกัน
“ผมฟังจากเพื่อนๆ เขาก็บ่นในลักษณะเดียวกันว่าเรื่องมันซ้ำๆ กัน พอส่งเรื่องให้บรรณาธิการท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่าให้ผมส่งให้ประจำ เพราะเขามีเรื่องแบบดั้งเดิมที่เป็นมาตรฐานในเมืองไทย 150 เรื่องในสต็อก พอเขาลงของผมมากๆ ผมก็โดนต่อว่าเล่นเส้น ซึ่งนักเขียนทั้งหลายก็ต้องวิเคราะห์จุดนี้เหมือนกันว่า ในบรรดาเรื่องที่เขียนอยู่ในโลก มันมีเรื่องแนวไหน อะไรที่บ้านเราขาด อะไรที่ยังไม่มี
“ส่วนใหญ่นักเขียนไทยไม่พยายามเข้าใจผู้อ่าน แต่ชอบตามใจตนเองจนกลายเป็นค่านิยมว่า นักเขียนที่ดีต้องเขียนแต่สิ่งที่ตนเองอยากจะเขียน ถึงกับมีการสั่งสอนกันในสถาบันเลยทีเดียว จุดนี้เหมือนกับการทิ้งประชาชน เมื่อไม่เข้าใจคนอ่าน หนังสือก็ขายไม่ออก แล้วนักเขียนก็โทษว่าประชาชนไม่สนใจวรรณกรรม เราไม่เข้าใจประชาชนหรือเปล่า ผมอยากให้มองตรงนี้ด้วย
“ผมเคยถูกถามว่าคิดอย่างไรกับงานเขียนของ โน้ต-อุดม แต้พานิช ผมก็บอกเขาตรงๆ ว่า ผมมองว่างานเขียนประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือเนื้อหาของงานเขียน อีกส่วนคือศิลปะการนำเสนอ ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าศิลปะการนำเสนอไม่ค่อยมี มักเน้นไปที่เนื้อหาอย่างเดียว เอาเนื้อหานั้นมาตีแผ่ตรงๆๆ พอมันขาดศิลปะตรงนี้ก็ทำให้ผู้อ่านเขาเบื่อหน่ายไปด้วย อย่างของโน้ต ผมเคยพูดเสมอว่า ทำไมไม่ลองศึกษาดูว่า เขาใช้ศิลปะการนำเสนออะไรให้คนติดตามได้มากขนานนั้น ถ้ามองว่าเนื้อหาเขาไม่ดี ก็ทำไมไม่เอาเนื้อหาของตัวเองไปใส่ศิลปะการนำเสนอของเขา ให้กลายเป็นอะไรใหม่ที่ดึงดูดคนได้”
และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมนักเขียนที่ไม่ได้ที่มาเหมือนคนอื่น จึงหยัดยืนกลายเป็นนักเขียนที่มีแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศได้สำเร็จ
03
‘ข้อมูล’ สำคัญที่สุด
ไม่เพียงแค่งานวรรณกรรมเท่านั้นที่สรจักรโดดเด่น เขายังมีผลงานทั้งสารคดี ปกิณกะ และความรู้เรื่องสุขภาพ สรจักรไม่เคยจำกัดกรอบตัวเองว่าต้องเขียนอะไร หรือต้องเขียนเหมือนใคร ด้วยเชื่อว่าข้อมูลและความสามารถในการหยิบจับประเด็นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด
ครั้งหนึ่งสรจักรเคยออกมาท้าทายความเชื่อของสังคม ซึ่งกำลังคลั่งไคล้โหราจารย์ผู้โด่งดังของโลก ด้วยการเขียนหนังสือ ‘จับโกหกนอสตราดามุส’ เขาใช้เวลาเรียบเรียงและค้นคว้าร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน นานถึง 6 เดือน จนสามารถนำเสนอทั้งประวัติโดยละเอียด ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพยากรณ์ รวมถึงชักชวนให้ทุกคนนำคำพยากรณ์ของนอสตราดามุสไปตีความด้วยตัวเอง
“ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องสร้างความกระจ่างในแต่ละเรื่อง แต่จะทำได้ในระดับไหนขึ้นอยู่กับความสามารถของตนเอง ผลงานจะเป็นตัวชี้ว่ามีความสามารถหรือไม่ ไม่เช่นนั้นมันก็เหมือนอยู่ในกรอบ ไม่สามารถจะเติบใหญ่ทางสติปัญญา”
หลังวางแผงปรากฏว่า จับโกหกนอสตราดามุส ติดอันดับหนังสือขายดี มียอดพิมพ์ซ้ำไม่ต่ำกว่าสิบรอบ และกลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของสังคม หลายคนส่งเสียงเชียร์เต็มที่ แต่อีกไม่น้อยโจมตีสรจักรอย่างหนัก เช่นด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งถึงขั้นบอกว่า “คุณสรจักรเป็นเพียงแค่เภสัชกร มีสิทธิหรือกล้าดียังไง ถึงวิจารณ์ท่านนอสตราดามุสผู้มีทิพยญาณ” แต่นักเขียนคนนี้ก็เลือกที่จะสงบนิ่ง ไม่ออกมาตอบโต้ และปล่อยให้หน้าที่นี้เป็นของผู้อ่านว่าอะไรถูกหรือผิด
เช่นเดียวกับงานเขียนเชิงสารคดี ซึ่งเขาอาศัยการรวบรวมข้อมูลและความรู้พื้นฐานที่สั่งสมมาต่อยอดเป็นผลงานหลายหลากแนว ทั้งเชิงอาชญคดี ประเภทติดตามรวบรวมข้อมูลฆาตกรรมระดับโลก นำมาเขียนเพื่อเป็นกรณีศึกษา อย่าง เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นฆาตกร วิปลาสฆาตกรรม หรือฆาตกรสาวเสื้อกาวน์เลือด เชิงสุขภาพ ซึ่งอาศัยความรู้เรื่องสมุนไพรเป็นฐาน เช่น เภสัชโภชนา พลังมหัศจรรย์ในอาหาร และเจ้าหญิงผลไม้ เจ้าชายผัก แห่งอาณาจักรสุขภาพดี
“ผมสนุกกับการเขียนแนววิชาการ เพราะว่าคนที่เป็นเภสัชกรหรือมาจากสายแพทย์ที่จะมาเขียนตรงมีไม่กี่คน.. อย่างเรื่องสมุนไพรที่เรียนมาเป็นวิชาเอกถึงมีคนเขียนอยู่เยอะ แต่ด้านที่ยังไม่ค่อยมีคืออาหารที่ออกฤทธิ์เป็นยาได้ ผมเขียนเป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสารได้ใช้ความรู้ในแนววิชาการจริงๆ รู้สึกสนุกมาก เพราะได้ค้นคว้าจากหลายแหล่งข้อมูล เพื่อจะนำมาเขียนเรื่องตรงนี้ก็ได้
“ผมอยากให้งานเขียนของผมเป็นสิ่งที่ผู้อ่านอ่านแล้วได้ประโยชน์สามารถนำไปอ้างอิงได้ พูดถึงและนำไปขบคิดต่อได้”
04
ปิดตำนาน ‘สตีเฟน คิง เมืองไทย’
แม้จะยึดอาชีพเภสัชกรเป็นหลัก แต่สรจักรมีความฝันอีกมากมายที่อยากจะทำ เขาอยากทดลองเขียนเรื่องสั้นแนวความรัก อยากเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาสร้างสรรค์งานของตัวเองโดยปราศจากข้อจำกัด รวมทั้งอยากผลักดันผลงานสไตล์ไทยๆ ไปสู่ระดับโลก
“ผมเคยลองเขียนและส่งไปที่อเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ครั้งหนึ่ง แต่ผมรู้สึกว่ามันมีข้อจำกัดมากมาย ตอนนี้ยังรู้สึกว่าความฝันนี้ไกลเหลือเกิน ถ้าเขาเอาชื่อนักเขียนของเราไปพิมพ์ขายได้ทั่วโลก ผมจะดีใจมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวผมหรือเป็นนักเขียนคนไหนก็ตาม”
แต่แล้วในปีที่ 9 ของชีวิตนักเขียน สรจักรต้องเผชิญกับข่าวร้าย
เขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ เขียนหนังสือตัวเล็กลงจนแทบอ่านไม่อก ไม่สามารถจัดทำต้นฉบับหรือค้นคว้าข้อมูลได้ดีดังเดิม หลังพบแพทย์ สรจักรได้รับคำวินิจฉัยที่น่าตกใจว่าเขาป่วยเป็นพาร์กินสัน โรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด
สรจักรค่อยๆ ลดงานเขียนของตัวเอง ตั้งแต่งานเขียนประเภทวรรณกรรม ซึ่งหยุดไปตั้งแต่ปี 2547 และ 3 ปีต่อมาก็หยุดเขียนงานประเภทอาชญวิทยา โดยเล่มสุดท้ายคือ ‘นักฆ่าบ้ากาม’
แต่ด้วยกำลังใจจากแฟนหนังสือ รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ปี 2553 สรจักรก็กัดฟันรวมพลังหยิบปากกาลูกลื่นขนาด 0.3 ม.ม. จดบันทึกเรื่องราวที่อยู่ในจินตนาการ จนออกมาเป็นเรื่องสั้นชุดใหม่
โดยตอนแรกตั้งใจใช้ชื่อหนังสือว่า ‘ผีอำ’ ก่อนเปลี่ยนมาเป็น ‘วิญญาณครวญ’ นับเป็นการเปิดตัวซีรีส์เรื่องสั้นหักมุมสยองขวัญชุดใหม่ หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงกับหนังสือชุด สามศพ-สามผี (ศพใต้เตียง-ศพข้างบ้าน-ศพท้ายรถ-ผีหลอก-ผีหัวขาด-ผีหัวเราะ)
ว่ากันว่า สรจักรตั้งใจผลิตผลงานในชุดวิญญาณให้ครบ 3 เล่ม แต่ด้วยปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า ทำให้สามารถเขียนงานได้ถึงเล่มที่ 2 คือ ‘คนสองวิญญาณ’ เท่านั้น
จากนั้นข่าวคราวของเขาเงียบหายไปพักใหญ่ จนกระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 แฟนหนังสือก็ได้รับข่าวอันน่าตกใจ เมื่อ สรจักร ถูกพบเป็นศพในบ่อน้ำลึกที่เขาชอบมานั่งเล่นอยู่เป็นประจำ
สรจักรหยุดเส้นทางชีวิตของ สตีเฟน คิง เมืองไทย ที่อายุ 58 ปี หลงเหลือไว้เพียงเรื่องสั้นหักมุมกับแนวคิดที่ไม่เหมือนใครซึ่งคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบ
- นิตยสาร GM ปีที่ 12 ฉบับที่ 197 ปักษ์แรกเดือนกรกฎาคม 2540
- นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 14 ฉบับที่ 168 เดือนเมษายน 2541
- นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 801 วันที่ 26 ธันวาคม 2538
- นิตยสารศรีสยาม ปีที่ 1 ฉบับที่ 16 วันที่ 27 มีนาคม 2540
- บทความ สรจักร ศิริบริรักษ์ เป็นใคร? โดย สุรศักดิ์ รักหนาน
- บทความเรื่อง สรจักร นักเขียนเจ้าของต้นตำรับสยองขวัญของเมืองไทย โดยหนอนกระทู้ เว็บไซต์ OKNation
- หนังสือผีหลอก (อำพรางอำยวน) โดยสรจักร สำนักพิมพ์มติชน
- หนังสือวิญญาณครวญ โดยสรจักร สำนักพิมพ์มติชน
Royce ตอนเรียนมหาลัย ผมอ่านของเค้าเล่มนึง ศพๆอะไรซักอย่าง คืนนั้นไม่ได้นอน ติดเป็นบ้าเป็นหลัง จนต้องไปหาเล่มอื่นๆในชุดมาอ่าน หอบกลับหอมาเลย พวกโภชนาการก็อ่านเพราะสายนี้อยู่แล้ว แล้วพอผ่านไป เค้าก็เงียบหาย ไม่มีผลงาน ตอนนี้ถึงรู้ว่าเค้าเสียไปแล้ว จมน้ำในบ่อลึก หวังว่าไม่ใช่ฆาตกรรม น่าจะมาจากการคิดสั้น เพราะเป็นโรคทำให้ความสามารถน้อยลง อาจจะคิดมาก
\RIP นะครับ เค้าเป็นนักเขียนในดวงใจผมคนนึงเลย
15 มี.ค. 2563 เวลา 02.53 น.
ต้น-$up@wit_K. งานเขียนคือดีมาก อ่านเล่มแรกน่าจะเป็นเรื่องศพใต้เตียง พออ่านจบต้องตามหางานเขียนเล่มอื่นมาอ่านเลย
15 มี.ค. 2563 เวลา 10.29 น.
P’Guy🎧 งานเขียนของสรจักษ์คือดีงามมากเป็นเรื่องสั้นที่อ่านแล้วดีต่อใจ
15 มี.ค. 2563 เวลา 10.22 น.
..Melisa.. เราชอบอ่านหนังสือของเค้ามาก..สนุก น่าติดตามทุกเริ่ง..ทุกตอน..มีเกือบจาทุกเล่ม เล่มสุดท้ายไปตามหาซื้อมาจนได้...น่าเสียดายมากๆๆ ที่เค้าไม่ยุ่อีกแร้ว
#ด้วยความเคารพนะคะ..ดีใจที่ได้อ่านหนังสือของคุนสรจักรค่า😊😊😊
14 มี.ค. 2563 เวลา 17.44 น.
ถึงว่าหายไป#เคยอ่านศพใต้เตียง_ศพท้ายรถ_ศพข้างบ้าน#สนุกไม่เหมือนใคร
15 มี.ค. 2563 เวลา 06.03 น.
ดูทั้งหมด