ไลฟ์สไตล์

เช็คลิสต์ดีท็อกซ์บ้าน ฉบับครบทุกห้องทุกมุม

HealthyLiving
อัพเดต 12 ก.ค. 2562 เวลา 09.43 น. • เผยแพร่ 05 ก.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living

หาเรื่องกลับบ้านดึกอย่างไม่มีเหตุผล ไม่อยากกินข้าวบ้าน ช้อปปิ้งหนักมาก แถมผัดวันทำความสะอาดบ้านออกไปเรื่อยๆ… หากเริ่มมีอาการแบบนี้ถี่ขึ้นและถี่ขึ้น อย่าเพิ่งโทษงาน โทษ PMS หรือรีบสรุปปุบปับว่าเบิร์นเอาท์เข้าให้แล้ว หากมองไปรอบๆ ตัวแล้วเห็นบ้านรกเกินปกติ ตู้เสื้อผ้ายุ่งเหยิงเกินควร และเริ่มหงุดหงิดที่หาอะไรไม่ค่อยเจอ ให้วินิจฉัยเบื้องต้นไปก่อนเลยว่า บ้าน ห้อง คอนโดฯ หรือที่พักของคุณเริ่มมี ‘พิษ’ และกำลังส่งผลร้ายต่อชีวิตเข้าให้แล้ว! ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ, บ้านส่งผลต่อร่างกาย อารมณ์ และจิตใจของเรามากกว่าที่คิด การดีท็อกซ์บ้านจึงเป็นการเยียวยารักษาใจเจ้าของไปพร้อมๆ กัน ลองหาเวลามาดูแลบ้านให้เป็นบ้าน เปลี่ยนห้องเก็บของให้เป็นแหล่งพลังงานชั้นดีไว้ชาร์จแบตให้เต็มก่อนออกไปใช้ชีวิตข้างนอก แล้วเราจะรู้ว่า เมื่อบ้านไม่มีพิษ เราก็ไม่ต้องสะสมพิษไปออกฤทธิ์กับใคร แล้วก็ดูเหมือนโลกจะสงบสุขได้ด้วยการเริ่มดีท็อกซ์บ้านนี่แหละ!

ดีท็อกซ์ตำราไหนใช่ที่สุด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วิถี ‘คมมาริ’ จากหนังสือเบสเซลเลอร์ ‘ชีวิตดีขึ้นทุกด้านด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว’ ของมาริเอะ คนโดะ คือวิธีที่น่าสนใจในการเอาของหมวดหมู่เดียวกันทั้งบ้านมากองรวมกัน แล้วถามตัวเองทีละชิ้นว่าสิ่งนี้ยัง ‘spark joy’ หรือทำให้เรารู้สึกมีความสุขอยู่ไหม ถ้าใช่ก็เก็บไว้ ไม่ใช่ก็ทิ้งไปซะ! ซึ่งช่วยให้การแยกแยะสิ่งที่รักกับสิ่งที่เสียดายง่ายขึ้นมากเชียวล่ะ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ซื้อแนวคิดเชิงจิตใจเหล่านี้ และต้องการรูปแบบที่ฟังก์ชั่นกว่า อีกทฤษฎีที่ฮิตกันมากคือ ‘5 Minute Declutter’ คือให้เก็บบ้านทุกวันด้วยเป้าหมายเล็กๆ ที่ใช้เวลาแค่วันละ 5 นาที หรือวลีง่ายๆ อย่าง ‘อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป’ คือการเก็บไว้แค่สิ่งที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งเราจะพบว่าชีวิตหนึ่งนั้นต้องการน้อยกว่าที่เราคิด ซึ่งไม่ว่าใครจะเลือกวิธีไหน ที่แน่ๆ คือการสร้างสภาวะ ‘Healthy’ ให้กับบ้าน ตามฟังก์ชั่นที่พื้นที่ต่างๆ ควรจะเป็น และผลลัพธ์สุดท้าย คือบ้านไร้พิษที่ทำให้ชีวิตเฮลท์ตี้ได้ดีสุดๆ

ห้องนอน

ห้องนอนหรืออย่างน้อยก็เตียงนอนควรเป็นพื้นที่ที่ผ่อนคลาย ไร้ความยุ่งเหยิงกวนใจอย่างแท้จริง และที่สำคัญควรจะสะอาด อากาศถ่ายเท พร้อมจัดวางข้าวของให้เอื้อต่อการ calm down โต๊ะข้างเตียงจึงไม่ควรเป็นที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ มีสายไฟระโยงระยาง มีกองงานสุมอยู่ (เรารู้ว่านี่มันยาก แต่หักห้ามใจการสไลด์หน้าจอก่อนนอนเถอะ)  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • ทำความสะอาดที่นอนและเครื่องนอนครั้งใหญ่

  • เก็บไว้เฉพาะผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอนที่ชอบใช้

  • กวาดฝุ่นใต้เตียงให้เอี่ยมไว้เก็บกล่องใส่ของที่ไม่ค่อยใช้

  • เอาของที่เห็นแล้วหงุดหงิด ไม่ชอบใจ ออกไปจากห้องนอน

  • ทำห้องให้โล่งและโปร่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

  • ตั้งจุดชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ไกลจากหัวเตียง

  • เคลียร์โต๊ะข้างเตียงให้โล่ง วางเฉพาะหนังสือเล่มที่อยากอ่านก่อนนอน

ตู้เสื้อผ้า

ด่านบอสสำหรับสาวๆ เพราะตู้เสื้อผ้าคือมายาลวงตา ทั้งที่เห็นเสื้อผ้าเต็มตู้อยู่ต่อหน้าแท้ๆ แต่ก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรจะใส่ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังว่าขึ้นนั้น ก็ถึงแก่เวลาจะดีท็อกซ์โดยด่วน ด้วยการจัดแบ่งแยกหมวด งานนี้จะใช้คาถา spark joy หรือ ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็ทิ้ง’ ก็ได้ แต่สุดท้ายควรจะแยกหมวดหมู่และจัดเก็บอย่างเหมาะสม หยิบใช้ง่าย ไม่ปะปน ทริกเล็กๆ ที่ดีมากคือการหาตะขอสำหรับแขวนชุดที่จะใส่วันรุ่งขึ้น แล้วก่อนนอนมามิกซ์แอนด์แมตช์ไว้ให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้ เราก็สามารถแก้ปัญหายืนงงในดงเสื้อยามเช้าได้แล้ว! 

  • เอาเสื้อผ้าทั้งตู้ออกมากอง แยกหมวด เก็บ-ขาย-บริจาค-ทิ้ง

  • ทำความสะอาดตู้เสื้อผ้า

  • จัดเสื้อผ้าแบบหมวดหมู่เดียวกัน อยู่ด้วยกัน 

  • ติดตั้งชั้นหรือราวแขวนเพิ่มตามฟังก์ชั่นการใช้งาน

  • เลือกไม้แขวนให้ถูกต้องกับชุด

  • เหลือแต่เสื้อผ้าที่ชอบใส่ ใช้ประจำ ไว้ในตู้เสื้อผ้า

  • เสื้อผ้าที่ใช้ไม่บ่อย ใส่กล่องแล้วเขียนป้ายติดไว้

  • หาถาดหรือถ้วยไว้รวมเครื่องประดับไว้ด้วยกัน

  • ติดตะขอไว้แขวนชุดที่เตรียมไว้ใส่วันรุ่งขึ้น

  • หลังซักหรือรีดแล้ว ให้เก็บตามหมวดหมู่เดิมเสมอ 

ห้องนั่งเล่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ห้องนั่งเล่นที่ดีคือห้องที่มีบรรยากาศให้ทุกคนในบ้านสะดวกใจที่จะมาใช้ห้องนั่งเล่นด้วยกัน ไม่ใช่ที่ตั้งตู้โชว์อวดของ หรือที่ ‘แหมะ’ ของเมื่อกลับถึงบ้าน การสร้างพื้นที่ที่ทุกคนอยู่ด้วยกันแต่ไม่รบกวนกันอย่างเหมาะสม ช่วยให้ความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้นอย่างวัดผลได้ คุณตาจะดูทีวี คุณหลานจะรื้อของเล่น คุณแม่จะเย็บผ้า หากวางระบบและจัดระเบียบให้เรียบร้อย ทุกคนก็จะไม่อยู่ในห้องใครห้องมัน ความสัมพันธ์อันดีย่อมมีมากกว่า หรือถ้าเป็นเพียงมุมนั่งเล่นเล็กๆ ในคอนโดฯ อยู่คนเดียว การมีสเปซทิ้งตัวที่สะอาดสะอ้านไม่รกรุงรัง ก็เป็นพื้นที่หย่อนใจตึงๆ ให้คลายลงได้นะ 

  • คลีนโซฟา พรม ม่าน และจุดอับอมฝุ่นในห้องครั้งใหญ่

  • หาถาดวางของใช้ประจำ เช่น รีโมท กุญแจ แว่นตา สมาร์ทโฟน

  • หากล่องเก็บสายไฟและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้วยกัน

  • ถ้าบ้านมีเด็ก ต้องมีจุดเก็บของเล่นเด็กเป็นกิจจะลักษณะ 

  • สอนให้เด็กรับผิดชอบของเล่นของตัวเอง 

  • ส่งต่อของตกแต่งที่ไม่ชอบและของขวัญที่ได้รับมาแต่เกรงใจเกินกว่าจะทิ้งให้คนที่จะได้ใช้ประโยชน์มากกว่า

ห้องครัว

ไม่ใช่แค่กองทัพที่ต้องเดินด้วยท้อง บ้านก็ขับเคลื่อนด้วยห้องครัวเหมือนกัน ไม่ว่าจะสายทำอาหารจริงจังหรือแค่ซื้อมาอุ่นกิน ครัวต้องเป็นที่ที่ดีต่อพุง สะอาดสะอ้านถูกสุขอนามัย และอย่าให้ตู้เย็นกลายเป็นสุสานอาหารหมดอายุ เราจึงควรดีท็อกซ์ครัวอย่างสม่ำเสมอเหมือนการแปรงฟัน เพราะนอกจากโต๊ะกินข้าวจะไม่กลายเป็นโต๊ะวางของ (แต่ไม่ได้วางอาหาร) การจัดการครัวจะช่วยจัดลำดับการกินอย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นบ่อเกิดในการกินอย่างเฮลท์ตี้ได้ด้วยนะ  

  • รวบรวมวัตถุดิบหมดอายุทิ้งไป 

  • ทำการบ้านว่าวัตถุดิบที่ตุนไว้ อะไรต้องรีบกินก่อนหลัง

  • ถ้ากลัวลืม หาบอร์ดเล็กๆ ไว้เขียนเตือนตัวเอง

  • เคลียร์ตู้เย็นให้โล่ง ล้างให้เอี่ยมอ่อง

  • เคลียร์ของบนโต๊ะเตรียมอาหาร (และโต๊ะอาหาร) ให้โล่งเสมอ

  • กำจัดลิ้นชักสำหรับหมกทุกอย่าง 

  • ทำความสะอาดเตา เตาอบ ไมโครเวฟ และใต้ซิงค์!

  • จับคู่กล่องพร้อมฝาแล้วเก็บซ้อนรวมกันไม่ให้หลง

  • บริจาคอุปกรณ์ที่มีซ้ำ ฟังก์ชั่นใกล้เคียงให้คนอื่นไปใช้แทน

  • จัดจุดแยกขยะรีไซเคิลกับขยะเศษอาหารออกจากกัน

ห้องน้ำ - โต๊ะเครื่องแป้ง

อย่าให้ห้องน้ำคือแผนกสกินแคร์ที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ลดราคาที่ซื้อตุนไว้ และอย่าให้โต๊ะเครื่องแป้งเป็นที่วางเครื่องสำอางที่เพิ่งเห่อเพราะซื้อมาใหม่ ส่วนลิ้นชักหรือช่องลับทั้งหลายเอาไว้ซ่อนลิปสติกที่สีไม่ถูกใจหรือครีมที่ใช้แล้วผื่นมา นอกจากรักษาความสะอาดให้พื้นที่แล้ว การจัดการอาวุธยุทโธปกรณ์ทางความงามก็มีความจำเป็นกับเรามาก เพราะเมื่อเราเห็นชัดๆ ว่ามีลิปสติกกี่เฉด มีลิปบาล์มที่ไม่เคยใช้หมดมากแค่ไหน หรือมีเทสเตอร์กองอยู่กี่ซอง เราจะมีจิตใจที่แข็งแกร่งในการรับมือบีเอที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอางครั้งหน้า และไม่ตัดสินใจซื้ออะไรบุ่มบ่ามอีกแล้ว! 

  • เอาสกินแคร์-เครื่องสำอาง-ผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองในทุกหมวดมากอง 

  • คัดแยกสิ่งที่ใช้-สิ่งที่ไม่เคยได้ใช้-สิ่งที่หมดอายุ เพื่อจัดเก็บและส่งต่อตามหมวดหมู่

  • รวบรวมผลิตภัณฑ์ขนาดทดลองหรือ travel size เก็บไว้ใช้และส่งต่อให้เหมาะสม

  • จัดวางข้าวของตามฟังก์ชั่น หยิบใช้ง่าย หาเจอเร็ว

  • ถ้าใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้แบ่งของใช้แยกชาย-หญิง

  • ไม่จำเป็นต้องตุนแชมพู กระดาษทิชชู่ ฯลฯ จนห้องน้ำกลายเป็นห้องเก็บของ

  • ทำความสะอาดหวี แปรงแต่งหน้า พัฟฟ์ ฯลฯ สม่ำเสมอ

  • บริจาคสิ่งที่มี ‘มากเกินใช้’ เช่น ผ้าเช็ดตัว พรมเช็ดเท้า ม่านห้องน้ำ

  • ลองเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์แบบรีฟิลและใช้ซ้ำ ช่วยลดขยะและลดความรก นับนิ้วเมคอัพหมดอายุ2 ปีจากวันผลิต: ครีมรองพื้น, คอนซีลเลอร์, บรัชออน, อายแชโดว์, แป้ง, มอยเจอร์ไรเซอร์1 ปีจากวันผลิต: ดินสอเขียนคิ้ว, อายไลเนอร์, ลิปสติก, คลีนเซอร์6 เดือนจากวันผลิต: มาสคาร่า, พัฟฟ์แต่งหน้า 

ดาวน์โหลด Worry-free checklist | Detox your Home เวอร์ชั่นพร้อมพิมพ์ออกมาเช็กกันชัดๆ ได้ ที่นี่ เลย

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • .~★☆ PikaPiPi ☆★~.
    เป็นบทความที่ดีมากเลย ไปทำบ้างดีกว่า
    25 ก.ค. 2562 เวลา 15.58 น.
ดูทั้งหมด