ทั่วไป

ประธาน กสว. ย้ำการวิจัยระบบโลกและอวกาศ ต้องตอบสนองภาคประชาชน

Manager Online
เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2564 เวลา 03.24 น. • MGR Online

ประธาน กสว. ย้ำการวิจัยระบบโลกและอวกาศ ต้องตอบสนองภาคประชาชน พร้อมสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ได้ให้สัมภาษณ์ในงานประชุมวิชาการและการสัมมนานานาชาติการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 ว่า เราต้องมองถึงโลกปัจจุบันว่าการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานที่ดีให้กับประเทศไทย ขอยกตัวอย่าง เช่น GISTDA ในยุคก่อน คือกองดาวเทียมซึ่งเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้สภาวิจัยแห่งชาติ ต่อมาได้ก่อตั้งเป็น GISTDA ก็เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีประเด็นคำถามจากสังคมว่า ในเมื่อประชาชนยังลำบากยากจนอยู่ ทำไมถึงต้องไปพัฒนาในเรื่องนี้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้เห็นไหมครับว่า ถ้าเราไม่ริเริ่มที่จะพัฒนาในเรื่องนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ถึงตอนนี้เราก็จะก้าวตามนานาประเทศไม่ทัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ประธาน กสว. กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น แนวคิดและวิสัยทัศน์ของท่าน รมว.อว. ในเรื่องของ Earth และ Space จึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราเลย และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันนโยบายในเรื่องนี้ต่อไป ดังที่ท่าน รมว.อว. ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการปาฐกถาคือ “ทำให้โลกได้เห็นว่าไทยมีศักยภาพ มีหมุดหมายที่จะเข้าไปสู่ประชาคมโลกที่พัฒนาแล้ว”

อย่างไรก็ตาม เราจะต้องมองในเรื่องของการวางแผนงาน การจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริบทของการจัดเตรียมกำลังคน และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันและส่งเสริมเรื่องการวิจัยทั้งระดับแนวหน้า และการวิจัยที่จะตอบสนองกับภาคเอกชนด้วย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรและดึงความร่วมมือจากต่างประเทศ ซึ่งเราจะเรียนรู้จากเขา และร่วมพัฒนาไปด้วยกัน สำหรับในส่วนของภาคเอกชน ในอนาคตจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสื่อสาร การใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านอวกาศ ซึ่งเราจะดำเนินการต่อไปให้เห็นผลสำเร็จตามที่ท่าน รมว.อว. ได้ตั้งเป้าเอาไว้

ด้าน ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเสริมว่า GISTDA มีความพร้อมอย่างมากในการเป็นกลไกสำคัญ ทั้งในส่วนการเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า หรือ frontier research ด้านอวกาศและโลก รวมทั้งเป็นผู้ประสานระหว่าง ระดับนโยบาย และผู้ปฎิบัติงานวิจัย รวมทั้ง ยังมีความพร้อมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยังภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ GISTDA และหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันภายในงานประชุมวิชาการและการสัมมนานานาชาติการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 และพันธมิตรต่างประเทศ จะร่วมมือกันใช้ทรัพยากร เครื่องมือ และบุคลากรในการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย โดยการเปิดหลักสูตรที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน อีกด้วย ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการและเริ่มเห็นผลงานแล้ว ซึ่งจะได้มีการนำเสนอและส่งต่อผลงาน เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯ ต่อไปในเร็วๆนี้

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ