เมื่อก่อนสมองเราไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นในการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
แต่เมื่อเราได้ออกมาจากสังคม/ประเทศที่เราเคยอยู่
มาใช้ชีวิตอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง
เลยทำให้เราได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นบุคคลที่สาม
มองสะท้อนกลับไป เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างในมุมมองที่ลึกซึ้งและหลากมิติมากขึ้น
.
.
เรามาพูดในที่นี้ สิ่งที่ต้องการในใจ
ไม่ใช่เพื่อจะด่าทอให้เจ็บช้ำหรืออะไร
แต่เราแค่อยากถกเถียง
เปิดประเด็น
ผ่านความคิดเห็นที่เราตกตะกอนได้หลังไม่ได้อยู่เมืองไทยมาสักระยะหนึ่ง
.
.
เมื่อเราเห็นเด็กยุคใหม่
มีนิสัยบางอย่างที่ ‘ไม่น่ารัก’ ในสายตาเรา
มันเป็นเพราะอะไรกันแน่นะ? เราครุ่นคิด
เพราะผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ? เพราะสังคมที่น้องต้องเจอ? เพราะโซเชียลมีเดีย?
.
.
รายการโทรทัศน์บางรายการที่จัดเรทติ้ง ‘ครอบครัว’
ในรายการสร้างเสียงหัวเราะโดยการแกล้ง/ล้อเลียนแขกรับเชิญ
ที่ในสังคมรู้สึกว่าเขาหน้าตา/รูปร่าง ‘ตลก’ ‘แปลก’ ‘น่าเกลียด’
ใช้ถ้อยคำว่าเขาให้อายในความเป็นตัวตนของเขา
ไม่ว่าจะเป็น ‘เตี้ย’ ‘ดำ’ ‘อ้วน’ ‘แก่’
ทุกคนฮาในมุกตลกที่ได้ด่าหรือกดอีกคนให้ต่ำแบบ ‘ขำ ๆ’ นี้
ไม่พอ บางครั้งผู้คนก็ยังชอบแทะโลมหรือพูดเรื่องใต้สะดือต่อใครที่แต่งตัวเซ็กซี่ในรายการ
เราก็มาได้นั่งคิดว่า
นั่นมัน verbal abuse หรือการทำร้ายผู้อื่นทางวาจาอยู่รึเปล่า
นั่นมัน sexual abuse หรือการลวนลามทางเพศระดับต้น ๆ ของใครสักคนอยู่รึเปล่า
เมื่อเทียบกับรายการโทรทัศน์ที่นี่
หากพิธีกรคนไหน ‘ล้อ’ แขกรับเชิญด้วยคำประมาณว่า
‘haha you’re so fat’ คุณอ้วนจัง
‘haha you’re so black’ คุณผิวดำจัง
‘wow you have BIG BOOBS!’ หน้าอกคุณใหญ่นะเนี่ย
โอ้โหหหหหหห จะยังมีใครกล้าขำไหมเนี่ย
มันทำให้เรารู้สึกว่า
หากวันหนึ่ง
เด็กเล็กๆ คนไหน ไปโรงเรียนแล้วบูลลี่เพื่อน
ด้วยการด่อทอรูปลักษณ์ของเพื่อน
หรือพูดจาลามกใส่เพื่อนผู้หญิงบางคน
คงไม่น่าแปลกใจเลย
เพราะเด็กเหล่านี้ อาจซึมซับมาจากการดูทีวีกับผู้ปกครอง
ที่เขาก็ได้เห็นผู้ปกครอง ‘ขำ’ ให้กับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน
แล้วเราจะจัดการประเด็นนี้ยังไงดี ในเมื่อวัฒนธรรมและสังคมเราถูกปลูกฝังมาตั้งนานแล้ว ว่าเมื่อไหร่ที่เจอมุกหรือเรื่องราวแบบนี้ มันจะสะกิดต่อมความขำขันของเรา เหมือนเวลาเราฟังมุกบางมุกของคนต่างชาติแล้วเราไม่ขำ เพราะระดับความตลกมันคนละระดับกัน แต่การขำขันของพวกเรา มันสร้างความบั่นทอนทางใจให้ใครกลุ่มหนึ่งอยู่รึเปล่านะ?
.
.
หนีความจริงไม่ได้ว่าเรามีชีวิตอยู่ในสังคม
ที่หากรูปลักษณ์ภายนอกน่าดึงดูด
คุณจะมีสิทธิพิเศษมากมายเกิดขึ้นในชีวิต
คนที่เรียกว่าตัวเองเป็น ‘เนทไอดอล’ อย่างเดียว
และรีวิวสิ่งของเยอะอย่างในโซเชียล
พร้อมรับเงินมาได้อย่างง่าย ๆ
ทำให้เราต้องมาคิดว่า
แล้วเด็กมากมายที่เปิดโซเชียลมาก็เจอแต่โพสต์แบบนี้
พวกเขาจะรู้สึกกดดัน ที่ต้องเป็นแบบนี้ให้ได้
เพื่ออยู่ในสภาวะสังคมที่มันเฉิดฉายไปด้วยรึเปล่านะ
เราจำความรู้สึกตอนเราอยู่กรุงเทพได้
ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน
ยิ่งตอนเที่ยวกลางคืนด้วยแล้ว
มันอดไม่ได้ ที่จะต้องเปรียบเทียบตัวเองกับผู้หญิงคนอื่น
มันห้ามไม่ได้ ที่จะต้องรู้สึกว่าเรา ‘ไม่พอ’
ไม่ว่าเราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นขนาดไหน
แต่เมื่อเราอยู่ในสังคมที่
ผู้คนทักทายกันด้วยคำว่า
‘อ้วนขึ้นรึเปล่า?’ ‘ดำขึ้นใช่มั้ยเนี่ย?’
และน่าแปลก ที่คำทักทายเหล่านี้
เกิดจากไม่ว่าจะเป็นรุ่นเพื่อน ไปจนถึงรุ่นย่ารุ่นยาย
เราย้อนไปสังเกตตัวเองว่าตอนนั้น
สิ่งที่เราพยายามทำ คือคิดหาข้ออ้างไปบอกเขา
‘ไม่ได้อ้วนขึ้นนะ เสื้อมันตัวใหญ่ต่างหาก’
‘ทำงานกลางแจ้งวันเดียวก็ดำขึ้นเลย แต่เดี๋ยวก็กลับมาขาวแล้วค่ะ’
ลุกลี้ลุกลน
เมื่อรู้ว่าตัวเราเองยัง ‘ไม่พร้อม’ ก็ไม่สบายใจทุกครั้งที่จะเจอหน้าใคร
เหมือนเราจำเป็นจะต้อง ‘รู้สึกผิด’ กับการแค่ได้เป็นตัวเอง..?
.
.
ย้อนไปนึกถึงสมัยมหาวิทยาลัย
เมื่อทำกิจกรรมคณะ
หากคุณไม่ได้สวยเด่น
คุณก็อาจต้องกลายเป็น ‘แฟนคลับ’ คอยกรี๊ดคนที่สวยเด่น หล่อฮอตนั้น
หรือไม่งั้น คุณก็ต้องกลายเป็นเด็กเรียนจ๋าไปเลย
หรือจัดตัวเองให้อยู่ในกลุ่มคนตลก
เพื่อให้รุ่นพี่ เพื่อน ๆ มาสนใจ
เหมือน ๆ กับว่า
มันแทบไม่มีที่ยืน สำหรับเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่อยากมีส่วนร่วมอะไรกับเขาบ้าง
หรือกระทั่งในวงการบันเทิงไทย
หากคุณมีความสามารถที่รักการแสดงอย่างล้นเหลือ
คุณก็อาจยังต้องโดนล้อ โดนว่า เพราะ ’หน้าตาไม่ดีพอ’
.
.
เราอยู่ที่นี่
ไม่ใช่ทุกคนเขาไม่ผอมกันนะ
แต่ถ้าใครหุ่นไม่ได้ดี มันก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดที่จะ ‘ไม่ผอม’
ส่วน ‘ความสวย’ มันเป็นอะไรที่กว้างมาก
ใคร ๆ ก็สวยกันหมดเลย
แล้วส่วนใหญ่ ‘ความเก่ง’ หรือแพชชั่นในตัวของคุณ
มันมักทำให้คน ๆ นั้น ‘โดดเด่น’ ขึ้นมาแบบละสายตาไม่ได้
วงการบันเทิงที่นี่
เขามีตั้งแต่นาตาลี พอร์ตแมน ตัวเล็กจิ๋ว
เอมี่ ชูเมอร์ สาวอวบพร้อมอารมณ์ขัน
มิเชล โอบาม่า อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งผิวสี ที่ตอนนี้เป็นที่ยกย่องของแทบทั้งโลก
ปีเตอร์ หนุ่มร่างแคระแห่งซีรีส์ Game of Thrones ที่กวาดรางวัลมากมาย
เมื่อเราอยู่ในสังคมที่เปิดโทรทัศน์มาเจอการยอมรับในความแตกต่างนี้
บวกกับเราเจอแพชชั่นที่รักจนหมดใจและทุ่มให้กับมัน
ผู้คนที่คุยกันด้วยบทสนทนาที่ทำให้จิตวิญญาณเราสั่นไหวด้วยความตื่นเต้น
‘สิ่งที่เคยสำคัญภายนอก’ มันก็ลดบทบาทลงมาเรื่อย ๆ
ไม่ได้บอกว่า ไม่อยากสวย ไม่อยากผอม
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราคิดกังวลทุกนาทีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
เราเริ่มมีความสุขกับตัวตนจริง ๆ ของเราทั้งข้างในและข้างนอก
ไม่ได้บอกว่า ที่นี่ ไม่มีการเหยียดกันเกิดขึ้นเลยนะ
แต่เมืองมันกว้างมาก ที่ทำให้เราได้มีส่วนร่วมในหลายประสบการณ์ หลายสังคม
จนเราสร้างสภาวะ ‘ไม่เก็บมันมาใส่ใจ’ ให้ตัวเองได้
จนเกิดเป็น ‘ภูมิคุ้มกันชั้นดี’
ปีที่แล้ว เรากลับไปเยี่ยมไทย
เพื่อนก็ยังล้อว่าเราอ้วนขึ้นอยู่เหมือนเดิม (จะไม่ให้อ้วนขึ้นได้ไง ดูอาหารที่นี่…)
แต่กลายเป็นเราไม่ได้รู้สึกว่า คำพูดเหล่านั้นมัน ‘กระทบ’
หรือสะกิดต่อมความเปราะบางของเราให้แตกหักอีกแล้ว
เพราะเราเข้าใจแล้วจริง ๆ ว่าชีวิตมันมีอะไรมากกว่านั้น
.
.
แล้วเด็ก ๆ ที่ประเทศไทย
ไม่ว่าจะออกไปไหน
หรือเปิดสื่ออะไรดู
ก็เจอแต่ภาพที่มาตอกย้ำเรื่อง
‘การไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น’
เขาจะไปเอาภูมิคุ้มกันที่ช่วย ‘รักตัวเอง’ นี้มายังไง?
เรายังไม่รู้เลย : (
อ่านบทความจากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร
♡ Gu¡†aⓇ เป็นบทความที่ดีมากๆ
08 ต.ค. 2562 เวลา 11.00 น.
การมีมารยาทและนึกถึงในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลก็จะเป็นผลดี.
08 ต.ค. 2562 เวลา 09.55 น.
TW. 🌹💋 อย่างงี้รายการ ททท. ทำรายการให้คนบูลลี่กันดูเป็นเรื่องปกติหรือป่าว
หรือจะว่าเพราะเป็นเพื่อนกันเลยบูลลี่กันได้ หรอ???
08 ต.ค. 2562 เวลา 09.28 น.
น้ำผึ้งพระจันทร์ #4
08 ต.ค. 2562 เวลา 09.25 น.
Apple_Win เห็นด้วยเลยค่ะ
08 ต.ค. 2562 เวลา 09.30 น.
ดูทั้งหมด