ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

สคบ.เตือนมิจฉาชีพระบาดหนัก "แฮกไลน์" หลอกโอนเงิน

เดลินิวส์
อัพเดต 02 มี.ค. 2564 เวลา 10.23 น. • เผยแพร่ 02 มี.ค. 2564 เวลา 09.59 น. • Dailynews
สคบ.แจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระวังมิจฉาชีพปลอมบัญชีแอคเคานท์ไลน์ หลอกโอนเงิน หลังเจอคนร้องมาหลายราย ล่าสุดหลอกโอนเงินกว่า 4 หมื่นบาท พร้อมออกข้อแนะนำผู้บริโภคต้องตรวจให้ดีก่อนโอนเงิน

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระวังมิจฉาชีพปลอมบัญชีแอคเคานท์ไลน์ (LINE) ส่งข้อความมาขอยืมเงิน ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดอย่างหนัก ล่าสุด สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคร้องรายหนึ่ง ร้องเรียนว่าได้ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีแอคเคานท์ไลน์ โดยปลอมเป็นเพื่อนสนิทส่งข้อความมาขอยืมเงินเพื่อไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูก โดยมิจฉาชีพจัดส่ง QR Code มาให้ และผู้ร้องได้โอนเงินสดผ่าน OR Code และตัดบัตรเครดิตรวมมูลค่า 44,750 บาท

ต่อมาได้ทราบว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัท ลาซาด้า โดยมิจฉาชีพได้เปิดบัญชี Lazada Wallet มีคำสั่งซื้อ 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ชื้อล้อแม็กรถยนต์ เป็นเงินจำนวน 15,380 บาท ซึ่งมีการยกเลิกคำสั่งซื้อดังกล่าวและโอนเงินคืนผ่านบัตรเครดิตของผู้ร้องแล้ว ในส่วนของคำสั่งซื้อ ครั้งที่ 2-4 เป็นการสั่งซื้อสินค้าประเภทบัตรเติมเงิน บัตรเติมเกม (Digital Goods) โดยได้จัดส่งสินค้าเป็นรหัสบัตรเติมงินและบัตรเติมเกมให้กับมิจฉาชีพที่เป็นเจ้าของบัญชี Lazada Wallet และนำไปใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จึงไม่สามารถยกเลิกได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังหากพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ควรดำเนินการ ดังนี้คือ ควรตรวจสอบแอคเคานท์ไลน์ เฟซบุ๊ก เบอร์โทรศัพท์ ที่ติดต่อขอยืมเงินว่าเป็นเพื่อนสนิทจริงหรือไม่ อาจถามคำถามที่รู้กันเป็นการเฉพาะ ก่อนตัดสินใจทำการโอนเงินเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนที่ถูกต้อง ข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้อื่นได้ทราบ เช่น เลขบัตรเครดิต ชื่อเจ้าของบัตร วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ และเลข CVV ที่อยู่หลังบัตรเครดิต หรือแจ้งรหัส OTP ให้แก่บุคคลอื่น เพราะเลข OTP จะเป็นการยืนยันการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

รวมทั้งไม่ควรคลิกลิงก์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะมิจฉาชีพจะแนบลิงก์มากับอีเมลต่างๆ หรือทำอีเมลปลอม เพื่อป้องกันการถูกมิจฉาชีพแฮกข้อมูลส่วนบุคคล, รีบแจ้งธนาคารผู้ให้บริการบัตรเครดิต เพื่อขออายัดบัญชีบัตรเครดิตที่โดนแฮกทันที, หากถูกหลอกลวงให้ชำระเงินเพื่อเป็นคำซื้อสินค้า ขอให้แจ้งบริษัทฯ เพื่อยกเลิกคำสั่งซื้อทันที พร้อมกับตรวจสอบสเตตเมนต์บัตรเครดิตทุกเดือน เพราะอาจมียอดรายการสั่งซื้อสินค้าหรือรายการชำระเงินอื่นๆ ที่เจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเอง สุดท้ายให้แจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

ดูข่าวต้นฉบับ