แมงมุมทารันทูล่าหลายคนอาจมองว่า แมงมุมเป็นสัตว์ที่น่ากลัว แต่รู้ไหมว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบและหลงใหลในสัตว์ชนิดนี้ ทำให้แมงมุมทารันทูล่ากลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรัก หากลองเปิดใจและทำความรู้จักกับเจ้าแมงมุมชนิดนี้
แมงมุมทารันทูล่ามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 300 ปีมาแล้ว ซึ่งถ้าให้นับกันจริงๆ แมงมุมทารันทูล่ามีมากกว่า 900 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบมีการวิจัย และสายพันธุ์ที่ยังไม่ระบุ มีกระจายตัวอยู่ตามทวีปต่างๆ บนโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลีย และทวีปเอเชีย ซึ่งในประเทศไทยพบแมงมุมทารันทูล่าถึง 4 ชนิด และส่วนใหญ่ ถูกพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาษาอีสาน จะเรียกแมงมุมชนิดนี้ว่า “บึ้ง”
แมงมุมทารันทูล่า 4 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ได้แก่
1. บึ้งดำ จะพบเห็นได้บ่อยที่สุด อาศัยอยู่ในดินที่มีลักษณะเป็นการขุดโพรง และในบางท้องถิ่นก็จะมีการนำมาประกอบอาหาร เพราะว่ากันว่า เนื้อมีลักษณะที่คล้ายๆ กับปู
2. บึ้งน้ำเงินมีสีสันที่สวยงามที่สุด นิยมนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นอีกหนึ่งชนิดที่อาศัยอยู่ในดิน แต่ว่ามีนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย
3. บึ้งลายหรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบึ้งม้าลายพบเจอได้ยาก มีลวดลายค่อนข้างสวยงาม และนิสัยไม่ดุร้ายเท่ากับบึ้งน้ำเงิน
4. บึ้งสีน้ำตาลสีของชนิดนี้จะเป็นสีน้ำตาลที่อมแดงนิดๆ อาศัยอยู่ในโพรงดิน แถมยังมีนิสัยที่ดุร้ายและก้าวร้าวมากเลยทีเดียว
คุณภาสวัฒน์ จันทกุล อายุ 26 ปี จบการศึกษาด้านการเกษตร ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการ CH.cafe เพาะเลี้ยงและจำหน่ายแมงมุมทารันทูล่า มากมายหลายสายพันธุ์ คุณภาสวัฒน์ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เด็กๆ หาสัตว์หลากหลายชนิดมาเลี้ยง ทำให้อยู่ในแวดวงสัตว์เลี้ยงมาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งได้รู้จักกันเพื่อนในแวดวงสัตว์เลี้ยงแนะนำให้รู้จักกัน “แมงมุมทารันทูล่า”
แรกๆ ก็ต้องยอมรับว่ามีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อ “แมงมุมทารันทูล่า” ตอนนั้นมีความคิดมากมายว่า แมงมุมนี้จะมีพิษไหม เป็นสัตว์เลี้ยงที่แปลกจริงๆ ด้วยความคิดของคนที่ไม่รู้จักเจ้าแมงมุมทารันทูล่าเลย ทำให้มีแต่ความคิดที่ลบๆ และกลัวเจ้าแมงมุมชนิดนี้
แต่ด้วยความชื่นชอบสัตว์ ก็ทำให้เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง เปลี่ยนมุมมองต่างๆ ใหม่ จากความกลัวก็กลายเป็นความหลงใหล ทำให้ก้าวเข้าสู่แวดวงของ “แมงมุมทารันทูล่า” มา 8 ปีแล้ว ทั้งการเลี้ยง การดูแล และเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์อย่างจริงจัง เพราะความชอบ เลยทำให้ตลอดเส้นทางการเรียนรู้แมงมุมทารันทูล่า กลายเป็นความสุข และก้าวเข้าสู่ธุรกิจสัตว์เลี้ยงแปลก อย่างแมงมุมทารันทูล่า มากว่า 4 ปีแล้ว
คุณภาสวัฒน์ เล่าว่า แมงมุมทารันทูล่าถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่อยากมีสัตว์เลี้ยง แต่อาจไม่มีเวลาในการดูแลมากนักก็สามารถเลี้ยงได้ ถึงแม้จะไม่ได้กินอาหารเป็นระยะเวลา 1 เดือน หรือหากผู้เลี้ยงไม่อยู่บ้านเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ ถึง 1 เดือน ก็สามารถปล่อยเหยื่อที่มีชีวิตไว้ในตู้เลี้ยงได้ เมื่อแมงมุมทารันทูล่าต้องการอาหารก็จะไล่จับเหยื่อกินเอง
การเลี้ยง คนส่วนมากนิยมเลี้ยงในกล่องอะคริลิกหรือตู้เลี้ยง ขนาดกล่องหรือตู้เลี้ยงไม่ควรเล็กเกินไป เพราะหากเล็กเกินไปแมงมุมอาจอึดอัดและเครียดได้ แต่ก็ไม่ควรมีขนาดที่ใหญ่มากจนเกินไป ทำให้แมงมุมหากินได้ยากกว่าจะเจอเหยื่อ และส่งผลให้เกิดความเครียดได้
วัสดุปูรองพื้น เช่น ขุยมะพร้าว พีทมอส ดินเพาะปลูกปลอดสารพิษ วัสดุปูรองพื้นแต่ละชนิดต่างมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน พีทมอส มีราคาสูง ให้ความชื้นที่พอเหมาะแต่ก็ค่อนข้างแห้งเร็ว ขุยมะพร้าว กักเก็บความชื้นได้ดีกว่าพีทมอส มีราคาที่ถูก ก่อนนำมาเป็นวัสดุปูรองพื้น จำเป็นต้องทำความสะอาดผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อก่อน หรือบางคนก็ทำวัสดุปูพื้นมาผสมกันทั้งพีทมอสและขุยมะพร้าว ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง
แมงมุมทารันทูล่าเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวมากต่อสารเคมี วัสดุปูรองพื้นจึงควรปลอดภัยไร้สารพิษ เชื้อโรค และแมลงรบกวนต่างๆ รวมไปถึงความชื้นของวัสดุปูรองพื้นควรมีความชื้นที่พอดี แมงมุมทารันทูล่าบางสายพันธุ์ต้องการความชื้น 40-50% บางสายพันธุ์ต้องการความชื้น 70-80% (ควรศึกษาให้ดีก่อนเลี้ยง) และควรเปลี่ยนวัสดุปูรองพื้น ทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี
อาหาร ควรเป็นเหยื่อที่มีชีวิต เพราะแมงมุมทารันทูล่าเป็นสัตว์ที่จับสิ่งมีชีวิตกินด้วยการปล่อยพิษออกจากเขี้ยวสู่เหยื่อและดูกินสารอาหารต่างๆ จากเหยื่อผ่านเขี้ยวเข้าสู่ร่างกาย เหยื่อที่ให้ควรเป็นเหยื่อเลี้ยงเท่านั้น ทำให้ผู้เลี้ยงแมงมุมทารันทูล่าสามารถวางใจได้ว่าเหยื่อที่ให้ไปนั้นปลอดภัย ไม่มีปรสิต
แมงมุมทารันทูล่าสามารถกินแมลงเล็กๆ ได้ อย่างเช่น แมลงสาบเรดรันเนอร์ แมลงสาบดูเบีย หนอนนก หนอนยักษ์ สะดิ้ง เป็นต้น
โรคที่มีการค้นพบในแมงมุมทารันทูล่า เรียกสั้นๆ ว่า DKS มีอาการเดินกระตุก ลักษณะผิดรูป ไม่มีแรงเดิน อาการเหล่านี้เกิดจากปมประสาทบางส่วนถูกทำลาย สาเหตุของโรค DKS มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถเกิดได้ ทั้งอากาศแห้ง การติดเชื้อ เป็นต้น สามารถทำให้แมงมุมทารันทูล่าตายได้ อีกโรคหนึ่งของแมงมุมทารันทูล่าจะพบตุ่มขึ้นที่บริเวณปาก เกิดจากเชื้อรา ทำให้แมงมุมไม่สามารถกินอาการได้ และอาจแห้งตายในที่สุด
แมงมุมทารันทูล่ามีศัตรูร้ายคือ เชื้อรา มด ปรสิต
การเพาะแมงมุมทารันทูล่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่เยอะมาก เนื่องด้วยเป็นการปฏิสนธิภายนอก การเพาะเพื่อให้ประสบความสำเร็จจึงมีน้อยมากๆ หรือแทบจะ 0 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การเรียนรู้ และสังเกตพฤติกรรมของแมงมุมแต่ละตัว
หลักการในการเพาะแมงมุมทารันทูล่า เริ่มต้นจากการคัดแยกพ่อแม่พันธุ์ที่ดี กินเก่ง แข็งแรง ไม่มีโรค แม่พันธุ์จำเป็นต้องลอกคาบครั้งสุดท้าย 20-60 วัน ก่อนนำมาผสมพันธุ์ พ่อพันธุ์สามารถเลือกได้ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ เมื่อพ่อพันธุ์พร้อมผสมพันธุ์แล้ว จะมีน้ำเชื้ออยู่ที่ขาคู่หน้า นับวันตั้งแต่เริ่มผสมพันธุ์ไปอีก 8-9 เดือน แม่พันธุ์ก็พร้อมที่จะวางไข่แล้ว
การวางไข่ แม่พันธุ์จะสร้างใยขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการวางไข่ โดยไข่ที่แม่พันธุ์ไปวางไว้บนใยจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำและค่อยๆ แห้งลงจนมีลักษณะเหมือนไข่ เมื่อลูกแมงมุมเริ่มโตพอที่จะออกจากไข่แล้วจะเห็นได้จากขาที่เริ่มออกมา
คุณภาสวัฒน์ กล่าวว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงแมงมุมทารันทูล่ามีกลุ่มที่กว้างมาก ผู้เลี้ยงทั่วไป นักบรีดเดอร์ และนักสะสมแมงมุมทารันทูล่า ปัจจุบันมีจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จุดเด่นที่ทำให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ ต้องบอกเลยว่า สามารถเข้ามาปรึกษาและมีคำตอบให้อย่างแน่นอน ที่เกี่ยวกับแมงมุมทารันทูล่า
การเลี้ยงเพาะพันธุ์แมงมุมทารันทูล่าของคุณภาสวัฒน์ มีแนวคิดที่ต้องการค้นพบเทคนิคเชิงลึกของแมงมุมทารันทูล่าแต่ละสายพันธุ์ ทดลองการเลี้ยงที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดเทคนิคแปลกใหม่และดี ภายในฟาร์มแห่งนี้มีแมงมุมทารันทูล่าที่หลายสายพันธุ์กว่าที่อื่นๆ ในประเทศไทยอย่างแน่นอน
“อยากให้ผู้ที่สนใจแมงมุมทารันทูล่า ลองเปิดใจและเข้าใจพฤติกรรมของแมงมุมทารันทูล่า ศึกษาข้อมูลของแต่ละสายพันธุ์ให้ดีก่อน บางสายพันธุ์โตเร็ว บางสายพันธุ์โตช้า และบางสายพันธุ์มีพิษที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์พิษจากเขี้ยว แต่บางสายพันธุ์แค่โดนขนแมงมุมก็ทำให้คันแล้ว พิษของแมงมุมทารันทูล่าไม่ร้ายแรง มีเพียงอาการหายใจติดขัด ปวดแสบปวดร้อน ไม่ถึงแก่ชีวิตแม้ถูกพิษในผู้ที่แพ้ หากเปิดใจและเข้าใจทุกอย่างแล้วก็สามารถเลี้ยงแล้วสนุกและมีความสุข”
สำหรับท่านใดที่สนใจแมงมุมทารันทูล่า ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณภาสวัฒน์ จันทกุล โทรศัพท์ 094-790-3355 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก CH.cafe
Nickiiiii เขมรจับแดกหมด
19 ก.พ. 2566 เวลา 19.51 น.
ดูทั้งหมด