การเมือง

‘มูลนิธิสิทธิอิสรา’ คว้าโล่เกียรติยศ ‘ชลิตา’ ยกคำกล่าว ราษฎรคือที่พึ่งสุดท้าย ‘ยุกติ’ ชี้ เรายังไม่ทะลุเพดาน

MATICHON ONLINE
อัพเดต 27 มิ.ย. 2566 เวลา 09.55 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

‘มูลนิธิสิทธิอิสรา’ รับโล่เกียรติยศผู้ทำคุณประโยชน์ ‘ชลิตา’ ลั่น สมคำกล่าว “ที่พึ่งแรกและสุดท้ายของราษฎร ก็คือราษฎร” ‘ยุกติ’ สะท้อน เรายังไม่ทะลุเพดาน

เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2566 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เสนอชื่อให้มูลนิธิสิทธิอิสรา ได้รับโล่เกียรติยศประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2566

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน เวลา 10.45 น. ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “เจตนารมณ์ของราษฎร: พลังของคนสามัญในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม” นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย น.ส.ปพิชญานันท์ จารุอริยานนท์ นักศึกษาหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิตพร้อมทั้งเสนอชื่อให้มูลนิธิสิทธิอิสราได้รับโล่เกียรติยศ ประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 10.50 น. ดร.จันทนี เจริญศรี คณะบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหา และ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา วิเทศสัมพันธ์ และวิจัยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนกล่าวเปิดงาน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า มูลนิธิอิสรา หรือกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน ประการแรกคือการทำให้เราเห็นถึงความสำคัญทางการเมืองที่ขยายพื้นที่พรมแดนของความสัมพันธ์ ข้ามภูมิภาค พื้นที่ ชนชั้น และเจเนอเรชั่น

ประการที่ 2 คือ มูลนิธิอิสราได้ยืนยันในหลักของความยุติธรรมที่ประชาชนพึงมีในการได้รับการประกันตัว หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องตลกร้ายที่ประชาชนต้องมาบอกกับผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่า ขอให้คุณมีความยุติธรรม อย่างน้อยที่สุดคือในขั้นของการได้รับการประกันของผู้ต้องหาในคดีการเมือง

ประการที่ 3 การเติบโตของมูลนิธิสิทธิอิสรา คือการขยายพื้นที่ของสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ผู้ต้องหาทางการเมืองล้วนแล้วแต่อยู่ในขบวนการของการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“พวกเรารู้ดีว่า การเรียกร้องในการปฏิรูปนั้นทะลุเพดานถึงไหนบ้าง จริงๆ เรายังไม่ได้ทะลุเพดานอะไรเลย ผมยังคิดว่าข้อเรียกร้องของการปฏิรูปในการชุมนุมปี 2563-2564 ยังเป็นแค่เรียกร้องในสิ่งที่เป็นเพดานเดิม เพราะฉะนั้น การยืนยันถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การยืนยันถึงหลักความยุติธรรม การแสดงให้เห็นถึงการเป็นมิตรสหายข้ามพื้นที่ ข้ามชนชั้น ข้ามเจเนอเรชั่น อันนี้คือข้อสำคัญของสิ่งที่มูลนิธิอิสราได้มอบให้กับเรา” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

ด้าน ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นตัวแทนรับโล่เกียรติยศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ ประจำปี พ.ศ.2566 พร้อมกล่าวว่า เราถือว่าโล่เกียรติยศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของผู้ดูแลกองทุนหรือกรรมการมูลนิธิใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นของราษฎรผู้ซึ่งช่วยกันสมทบทุนและสนับสนุนกองทุนราษฎรประสงค์มาโดยตลอด

ดร.ชลิตาอธิบายว่า เป้าหมายของกองทุน คือ เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองไม่ให้ถูกลิดรอนจากการใช้คดีความทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง กักขัง หน่วงเหนี่ยว หรือถูกจองจำเยี่ยงผู้ถูกลงทัณฑ์ ซึ่งเป็นการกระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอย่างมาก ตามกฎหมายแล้วจะต้องถือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุด ซึ่งควรจะมีสิทธิในการประกันตัว

ดร.ชลิตากล่าวต่อว่า ขอบเขตในการให้ความช่วยเหลือ จะมีเงื่อนไขคือเป็นการแสดงสิทธิ เสรีภาพ หรือการแสดงออกทางการเมือง ในทางที่ส่งเสริมความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

“ในช่วงปีที่ผ่านมาทางกองทุน ได้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือ เช่น ช่วยค่าเดินทางในการไปสู้คดีของจำเลย ซึ่งการต่อสู้คดี การไปขึ้นศาล พบตำรวจ อัยการเป็นภาระอย่างมาก เมื่อมีเงินไหลเวียน กองทุนก็สามารถช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ รวมถึงมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายรายเดือนในการยังชีพพื้นฐานให้กับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในเรือนจำ เดือนละ 3,000 บาท

“ส่วนใหญ่จะเป็นเงินจากราษฎรเป็นหลัก สมดังคำกล่าวที่ว่า ที่พึ่งแรกและที่พึ่งสุดท้ายของราษฎร ก็คือราษฎร” ดร.ชลิตาทิ้งท้าย

ดูข่าวต้นฉบับ