SMEs-การเกษตร

งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 11 ม.ค. 2565 เวลา 02.21 น. • เผยแพร่ 10 ม.ค. 2565 เวลา 11.28 น.
งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?

งานออนไลน์ ทำที่บ้าน รายได้ดี สมัครยังไง ไม่ให้โดนหลอก?

ปัจจุบัน การทำงานออนไลน์ มีประกาศรับสมัครให้เห็นกันอยู่เนืองๆ แม้จะสะดวกที่ทำจากที่บ้าน ไม่ต้องเดินทาง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกได้เหมือนกันนะ ทั้งหลอกทำงานฟรี หลอกลงคอร์สเสียเงินอบรมก่อนได้ทำจริง เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เว็บไซต์ จ๊อบไทย ได้เผยวิธีการป้องกันการโดนหลอกจากโพสต์ประกาศงานบนโลกออนไลน์ ดังนี้

1. รายละเอียดงานต้องครบถ้วน: สิ่งแรกที่ต้องทำคืออ่านรายละเอียดต่างๆ ในโพสต์ประกาศงานนั้นให้ดี ไม่ว่าจะเป็น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • ประกาศงานตำแหน่งอะไร
  • มีหน้าที่อะไรบ้าง
  • ชื่อบริษัทหรือร้านค้าอะไร
  • ที่ทำงานตั้งอยู่ที่ไหน ย่านไหน
  • มีสวัสดิการรึเปล่า
  • ในJob Description หรือรายละเอียดงาน มีเขียนอะไรเพิ่มเติมไหม
  • เงินเดือนเป็นยังไงบ้าง
  • ช่องทางการติดต่อ มีอีเมลที่เชื่อถือได้ หรือมีเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์สำนักงานไหม

 เมื่ออ่านจบทั้งหมดแล้วเราควรจะเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า งานนั้นเป็นงานแบบไหน ถ้ารายละเอียดงานยังคงมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อ่านจบแล้วยังงงๆ เหมือนได้ข้อมูลไม่ครบ ก็อย่าเพิ่งไว้ใจประกาศงานนั้นเป็นอันขาด

2. ข้อเสนองานต้องสมเหตุสมผล เราไม่ได้ประโยชน์มากจนเกินจริง: ถึงจะอ่านรายละเอียดงานจนเห็นภาพพอสมควรแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาความสมเหตุสมผลของตำแหน่งงานนั้นๆ ด้วย

ถ้าบางที่เสนอรายรับให้สูงๆ แบบที่ว่าสูงเกินกว่าที่ตำแหน่งนั้นๆ ควรจะได้ตามปกติ แถมยังได้ทำงานแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน หรือต่อสัปดาห์ ไม่พอยังมีสวัสดิการดีๆ ให้อีกเยอะแยะ พออ่านมาแล้วมันเหมือนกับว่าเราดูเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบมากจนเกินไป แล้วทางบริษัทที่รับสมัครจะไม่เสียเปรียบเหรอ? นี่แหละคือประเด็นที่น่าสงสัยสุดๆ เพราะมันอาจจะเป็นแค่การเอาประโยคเหล่านี้มาหลอกล่อเพื่อให้คนอ่านที่สนใจติดต่อไปก็ได้ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3. ภาษาในประกาศงานต้องน่าเชื่อถือ : ทุกครั้งที่อ่านโพสต์ประกาศงานให้สังเกตการเขียนประกาศให้ดีว่ามีการใช้ภาษาเป็นยังไง บริษัทต่างๆ ที่เปิดรับพนักงานมักจะไม่มองข้ามเรื่องนี้

เพราะมันเป็นอะไรที่มีผลกับความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์องค์กรเป็นอย่างมาก ประกาศงานที่เป็นของจริงส่วนใหญ่จะใช้ภาษาที่เป็นทางการ ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้อง ไม่พิมพ์ผิดจนน่าเกลียด เพราะจะต้องมีการตรวจทานคำก่อนโพสต์ประกาศงาน

4. เช็กบริษัทหรือร้านค้าที่ประกาศงานให้ดีว่ามีอยู่จริง: ถึงเราจะอ่านรายละเอียดงานจนรู้ชื่อบริษัทหรือร้านค้านั้นๆ แล้วก็อย่าเพิ่งวางใจไป เดี๋ยวนี้โพสต์ประกาศงานออนไลน์บางโพสต์ถึงขั้นตั้งชื่อบริษัทปลอมเพื่อหลอกให้คนหางานติดต่อไป

หรือบางรายก็ปลอมตัวเป็นบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้น เราต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนว่ามีบริษัทนั้นอยู่จริงรึเปล่า ถ้ามีจริง เขาดำเนินงานเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอะไร มีออฟฟิศหรือสถานที่ทำงานตั้งอยู่ที่ไหน

อย่างไรก็ตาม ถึงจะเช็กจนแน่ใจว่าเป็นบริษัทที่มีอยู่จริงและน่าเชื่อถือประมาณหนึ่ง ก็อย่าเพิ่งสมัครจนกว่าจะรู้บริษัทนี้กำลังประกาศหาพนักงานในตำแหน่งนี้จริงๆ รึเปล่า โดยคุณสามารถเข้าไปดูในแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ เพื่อหาว่ามีประกาศงานในตำแหน่งที่เราเห็นจากโพสต์ก่อนหน้านี้อยู่จริงหรือไม่

หรือถ้าในโพสต์ประกาศงานที่เราเห็นตอนแรกมีแนบเบอร์โทรติดต่อกลับเอาไว้ในโพสต์ คุณจะโทรไปถามเพื่อความแน่ใจเลยก็ได้ แต่ก่อนจะโทรก็อย่าลืมเช็กหมายเลขที่ได้มาให้ดีก่อนว่าเป็นเบอร์ของบริษัทนั้นจริงๆ

5. ใช้แอพคัดกรองเบอร์โทร เพิ่มความสบายใจเวลาต้องโทรคุยกัน : ก่อนที่จะเริ่มกดโทรออกเพื่อติดต่อถามรายละเอียดงาน คุณต้องแน่ใจก่อนว่าเบอร์ที่ได้มานั้นไม่ใช่เบอร์สแปมหรือเบอร์ของบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ

ซึ่งเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ก็พอจะช่วยเราในเรื่องนั้นได้แล้ว โดยเราสามารถเอาเบอร์ไปเช็กในแอพคัดกรองเบอร์โทรอย่างแอพ Whoscall หรือTruecaller เพื่อความปลอดภัยก่อนโทรถามรายละเอียดงาน เราสามารถพิมพ์เบอร์โทรที่เราสงสัยลงไปในแอพ เพื่อคัดกรองว่าเบอร์นั้นๆ เป็นเบอร์ของพนักงานส่งของ ขายประกัน หรือเป็นเบอร์โทรที่ไม่น่าไว้ใจรึเปล่า

นอกจากนี้ แอพเหล่านี้ยังสามารถช่วยเราบล็อกเบอร์สแปมได้ ถ้ามีคนปลอมตัวเป็นHR โทรมาหาเราและแกล้งทำทีเหมือนโทรมาเพื่อติดต่องาน มันก็จะเด้งโชว์ขึ้นมาก่อนตัดสินใจรับสายว่าเบอร์นี้เป็นเบอร์ที่ไม่ควรรับสาย

6. ถ้าขอให้ส่งข้อมูลส่วนตัว หรือจ่ายเงินก่อนทำงาน ยิ่งต้องดูให้ดี: หากคุณยังไม่ได้สัมภาษณ์งานใดๆ เลย หรือได้คุยแค่สักครู่หนึ่งผ่านทางโทรศัพท์แล้วอีกฝ่ายบอกว่าคุณผ่านสัมภาษณ์งานแล้ว

และขั้นต่อไปคือจะให้คุณส่งข้อมูลส่วนตัวอย่างสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ล่ะก็ ระวังไว้ให้ดี เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ควรตกไปอยู่ในมือของคนที่เราเองก็ไม่รู้จักดี ซึ่งอาจถูกเอาไปใช้อย่างผิดกฎหมายได้

บางครั้งการหลอกเอาข้อมูลคนหางานอาจมาในรูปแบบของลิงก์ปลอม ที่เห็นแล้วเหมือนโพสต์ฟอร์มกรอกข้อมูลสมัครงานทั่วไป แต่พอกดเข้าไปที่ลิงก์จริงๆ แล้วเป็นลิงก์ปลอมที่ไม่ได้พาเข้าไปที่ฟอร์มการสมัครงานที่เชื่อถือได้ แต่พาเข้าไปที่เว็บไซต์ปลอมที่หลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวแบบละเอียดยิบเลยต่างหาก

นอกเหนือจากการขอข้อมูลแล้ว บางคนอาจเจอกรณีให้โอนจ่ายเงินค้ำประกันก่อนเริ่มงาน แต่พอจ่ายแล้วเขาก็เชิดเงินหายไปเลย ทำเอาเรานั่งงงว่าควรเอายังไงดี สิ่งที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค้ำประกันก็คือ ตามกฎหมายแรงงานมาตรา10

นายจ้างไม่สามารถเรียกหลักประกันการทำงานจากเราได้ ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นงานที่คนเป็นลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ โดยมีงานที่นายจ้างสามารถเรียกหลักประกันความเสียหายจากการทำงานได้7 ประเภท ดังนี้

  • งานสมุห์บัญชี
  • งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
  • งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาว และไข่มุก
  • งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
  • งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
  • งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
  • งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

ถ้างานที่เราตั้งใจจะสมัครไม่ได้อยู่ในงาน7 ประเภทนี้ เช่น งานพนักงานต้อนรับ แล้วดันโดนเรียกเงินค้ำประกันก่อนเริ่มงานก็แนะนำว่าให้ถอยออกมาได้เลยก่อนที่จะต้องเสียเงินจำนวนไม่น้อยไปฟรีๆ

7. สมัครงานกับช่องทางที่ไว้ใจได้ : บางครั้งเราอาจจะเห็นโพสต์ประกาศงานจากบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว หรือ ช่องทางSocial Media อื่นๆ ดังนั้น นอกจากอ่านรายละเอียดงานแล้วเราก็ต้องดูให้ดีว่าโปรไฟล์ของคนที่ลงโพสต์ประกาศงานมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนเพราะในโลกออนไลน์เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเรากำลังคุยอยู่กับใคร รูปโปรไฟล์ของเขาคือรูปตัวเขาเองจริงๆ รึเปล่า

เพราะฉะนั้น ลองเช็กดูว่าบัญชีส่วนตัวนั้นๆ มีประวัติการทำงานของเขาขึ้นอยู่บนโปรไฟล์รึเปล่า รูปโปร์ไฟล์ที่ลงเป็นแบบไหน ชื่อบัญชีมีความน่าเชื่อถือพอจะเป็นHR หรือคนประกาศงานไหม

ถ้าเราบังเอิญไปเจองานน่าสนใจแต่คนโพสต์ชื่อบัญชีว่า“รักจริงง ชวิ้งปิ้วปิ้ววว” หรือชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ทั้งภาษาไทยหรืออังกฤษแต่กลับพิมพ์ประกาศงานเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าสงสัยก็อย่าไว้ใจจะดีกว่า

ดูข่าวต้นฉบับ