"อูลานบูวา" (Ulaanbuwa Desert) หรือ "ทะเลทรายกระทิงแดง" อยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียของสาธารณรัฐประชาชนจีน กระจายอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบเหอเท่า ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเหลือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 0.99 ถึง 10,300 ตารางกิโลเมตร ติดอันดับหนึ่งในแปดทะเลทรายในประเทศจีนในแง่ของพื้นที่
"ทะเลทรายกระทิงแดง" มีสภาพเป็นทะเลแห่งทรายจริง ๆ นั่นคือเต็มไปด้วยเนินทราย แทบจะไร้ต้นไม้ มีเพียงบางจุดที่มีความชื้นหรือแหล่งน้ำเท่านั้นที่พอจะมีต้นไม้ไม่กี่ต้นและพุ่มหญ้าเป็นหย่อม ๆ มันจึงเป็นดินแดนที่แทบจะใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย และด้วยสภาพภูมิอากาศโลกที่แย่ลงทุกที มีโอกาสที่ทะเลทรายจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ
แต่จีนเสียอย่างไม่ยอมง่าย ๆ จึงผุดโปรเจกต์ใหญ่เปลี่ยนทะเลทรายเป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยการสร้าง "กำแพงเมืองจีนสีเขียว" ขึ้นมากั้นการรุกล้ำของทะเลทราย มันไม่ใช่แค่โครงการที่นำโดยรัฐ แต่ภาคเอกชนร่วมด้วย ไม่ใช่แค่การป้องกันตัวเองจากการรุกรานของทะเลทราย แต่เป็นแผนเชิงรุกด้วยการยึดพื้นที่มาใช้ประโยชน์
บริษัท Shengmu บริษัทผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิกชั้นนำของจีน ลงทุนมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับการผลิตนมออร์แกนิก พวกเขายังปลูกต้นไม้ประเภทต่าง ๆ กว่า 90 ล้านต้น ทำให้ทะเลทรายมากกว่า 200 ตารางกิโลเมตรกลายเป็นสีเขียว
แน่นอนว่า อุตสาหกรรมผลิตนมสร้างก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาลและเป็นก๊าซเรือนกระจกที่อันตรายต่อโลกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก แต่ในกรณีศึกษานี้เราจะมาลองดูการปรับตัวของมนุษยชาติว่า ถ้าเกิดเราหยุดกินนมไม่ได้ เราจะปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างมลพิษให้น้อยที่สุดและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาพร้อมกับหยุดการรุกล้ำของทะเลทรายไปด้วย
เริ่มจากปี 2009 บริษัท Shengmu ทำการปรับพื้นที่ทะเลทรายให้กลายเป็นฟาร์มสำหรับเลี้ยงวัว 80,000 ตัว เมื่อปรับพื้นที่แล้วยังสร้างทุ่งสำหรับปลูกหญ้าแบบออร์แกนิกขึ้นมา และบำรุงมันด้วยมูลวัวในฟาร์มนั่นเอง ที่จริงแล้วทะเทรายนี้เคยมีแม่น้ำเหลืองผ่านและทิ้งตะกอนอุดมสมบูรณ์ไว้ Shengmu เพียงแค่พลิกฟื้นมันขึ้นมาเพื่อทำประโยชน์อีกครั้ง
พร้อมกับปลูกต้นไม้ 97 ล้านต้น ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นพื้นที่ป่ามากกว่า 200 ตร.กม. ป่าที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีระบบนิเวศเป็นของตัวเอง และช่วยลดความเร็วของลม ที่เป็นตัวการพัดพาทรายให้รุกล้ำพื้นที่กลายเป็นทะเลทรายออกไปเรื่อย ๆ และป่าใหม่ยังเพิ่มปริมาณน้ำฝนถึง 4 เท่า
แนวคิดของ Shengmu ตั้งบนหลักการ "ทฤษฎีการควบคุมทรายที่ใช้การปกคลุมดินต่ำ" คือทฤษการเปลี่ยนทะเลทรายของจีน โดยอาศัยพืชคลุมทรายในอัตรา 15%-25% ซึ่งช่วยลดการขยายตัวของทรายและยังลดการใช้น้ำในการบำรุงรักษาต้นไม้ลงได้มาก เพิ่มประสิทธิภาพของพืช 8%-20% แต่ลดต้นทุนได้ถึง 40%-60%
นี่คือกรณีศึกษาการปรับตัวของจีน เพราะจากรายงานของ World Economic Forum คาดว่า 65% ของจีดีพีของจีนเสี่ยงที่จะชะงักจากการสูญเสียทางธรรมชาติ และแผ่นดินจีน 1 ใน 4 เสี่ยงต่อการกลายเป็นทะเลทราย ดังนั้นจีนต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อสกัดทะเลทรายพร้อมกับ "ยึด" ทะเลทรายมาเป็นพื้นที่สีเขียวไปพร้อม ๆ กัน
จีนต้องปรับตัวเองเพื่อเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก่อนที่มันจะทำลายสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน คาดว่าหากจีนสามารถปรับตัวเองเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนธรรมชาติได้ จะเพิ่มเม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจได้ถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสร้างงานที่ยั่งยืนได้ถึง 88 ล้านตำแหน่งภายในปี 2033
ขณะที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวและผลิตนม (แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก) ของ Shengmu จะมีส่วนต่อการสร้างภาวะโลกร้อน แต่ด้วยสมมติฐานว่า มนุษยชาติยังเลิกกินนมไม่ได้ การปรับตัวเพื่อลดภาระให้โลกและเพิ่มพื้นระบบนิเวศใหม่ ๆ ในพื้นที่ไร้ประโยชน์ก็อาจเป็นทางออกหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจะเป็นทางออกเฉพาะหน้าก็ตาม
ข้อมูลจาก
- "This Chinese company created an organic milk farm in the desert". (19/01/2022). World Economic Forum.
- Zhu Chunquan, Gim Huay Neo. (16/01/2022). "This is why China needs to become nature positive - and how to do it". World Economic Forum.
- "Create an organic recycling sand and grass industry Mengniu Shengmu sustainable development to a higher level". (06/07/2021). Xinhuanet
- "Yang Wenbin: Propose a new theory of low coverage desertification control". (26/07/2017) The Paper.
ภาพ Shengmu
Chatta มนุษย์สามารถทำได้ทุกอย่าง!
ถ้าจะทำจริงๆ
19 ม.ค. 2565 เวลา 10.27 น.
Ake ยังไม่เคยมีชาติไหน สามารถเปลี่ยนทะเลทราย เป็นทุ่งหญ้าแบบนี้ได้. ต้องยอมรับในความสามารถ เค้าจริงๆ
19 ม.ค. 2565 เวลา 06.54 น.
สุรเดช ด่านชาญจิตต์ สุดยอดมากครับ
20 ม.ค. 2565 เวลา 18.11 น.
ดูทั้งหมด