การเมือง

28 กรกฎาคม 2567 วันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’

The Bangkok Insight
อัพเดต 28 ก.ค. 2567 เวลา 00.46 น. • เผยแพร่ 28 ก.ค. 2567 เวลา 00.00 น. • The Bangkok Insight

วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

"พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10" มีพระนามเดิมว่า สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
วันเฉลิมพระชนมพรรษา

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
วันเฉลิมพระชนมพรรษา

หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
วันเฉลิมพระชนมพรรษา

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์ ทรงห่วงใยในสุขภาพ และพลานามัยของพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง

พระราชกรณียกิจตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร"มาจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่มีเป้าหมาย เพื่อช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาค

ในอดีตนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านกีฬาทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ และในส่วนของพระองค์เอง อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่นำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ

วันเฉลิมพระชนมพรรษา

เมื่อเดือนธันวาคม 2541 พระองค์ได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปในงานพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงริเริ่ม "โครงการจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ"" โดยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันเฉลิมพระชนมพรรษา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโครงการจิตอาสาฯ ขุดลอกคูคลองกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำความสะอาด และปรับภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณประโยชน์ รอบพระราชวังดุสิต โดยจิตอาสาทุกคนได้รับสิ่งของพระราชทาน 3 อย่าง คือ หมวกแก๊ปสีฟ้า ผ้าพันคอสีเหลือง และสมุดบันทึกความดี

โครงการจิตอาสาได้ช่วยพัฒนาสังคมไทยในหลายมิติ เพื่อสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศ ตลอดจนสร้างสังคมน่าอยู่ โดยไม่หวังผลตอบแทน

กิจกรรมในโครงการจิตอาสาต่าง ๆ เหล่านี้ยังช่วยปลูกต้นกล้าแห่งความดีให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมาทำความดีด้วยหัวใจ

วันเฉลิมพระชนมพรรษา

พระราชกรณียกิจเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชปฏิบัติมาอย่างช้านาน นับตั้งแต่ครั้งที่ยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก

ทั้งยังทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยทรงมีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน

วันเฉลิมพระชนมพรรษา

ในช่วงเวลาที่ประเทศไทย กำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 พระองค์ยังทรงเป็นห่วงใยประชาชน และเฝ้าคอยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระเมตตา สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ในการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเพื่อช่วยเหลือปบระชาชนที่เดือดร้อนจากเรื่องนี้ ด้วยทรงพระราชทานเครื่องช่วยหายใจ 132 เครื่อง เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 50 เครื่อง อีกทั้งยังได้พระราชทานหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น หมวก Face Shield จำนวน 30,000 ใบ และชุดป้องกันการติดเชื้อโรค (PPE) จำนวน 4,000 ชุด

วันเฉลิมพระชนมพรรษา

นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน "ห้องตรวจหาเชื้อ" (Modular Swab Unit) เป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ และรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น โรงเรียน วัด ชุมชนแออัด และกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

ดูข่าวต้นฉบับ