ทั่วไป

กทม.ตั้งการ์ดสูงรับน้ำท่วม ปี’66 ปริมาณฝนน้อย แต่ประมาทไม่ได้

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 19 ส.ค. 2566 เวลา 07.14 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2566 เวลา 07.13 น.

ภัยธรรมชาติบนโลกข่าวสารจากทุกมุมโลก มีแต่เรื่องเหนือความคาดหมาย

การไม่ประมาทจึงเป็นการตั้งรับที่ดีที่สุด โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม-น้ำขังในเมืองมหานครกรุงเทพ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เก็บตกจากการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อัพเดตสถานการณ์น้ำฝน โดยในปีนี้ปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ สะสมตั้งแต่ 1 มกราคม-6 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 685 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 852.3 มม.

และน้อยกว่าปริมาณฝนสะสมในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (1 มกราคม-6 สิงหาคม 2565) ซึ่งอยู่ที่ 958 มม. แต่ยังประมาทไม่ได้ ต้องรอดูปริมาณฝนในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 นี้อีกครั้งหนึ่ง

กระสอบทราย 1.79 ล้านใบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นโยบายตั้งการ์ดสูงของ กทม. นำมาสู่การเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ดังนี้

1.ควบคุมระดับน้ำในคลอง เพื่อให้มีแก้มลิงรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมา

2.ตรวจซ่อมบำรุงสถานีสูบน้ำ 188 แห่ง บ่อสูบน้ำ 324 แห่ง ดำเนินการครบทั้งหมดแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3.เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง

4.เตรียมความพร้อมแก้มลิง 32 แห่ง Water Bank 4 แห่ง

5.ขุดลอกคลอง 182 คลอง 203 กม. มีความคืบหน้าการดำเนินการ 87% เปิดทางน้ำไหล 1,404 คลอง 1,518 กิโลเมตร คืบหน้าดำเนินการ 85%

6.ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,758 กิโลเมตร คืบหน้าดำเนินการ 80% ล้างทำความสะอาดท่อหน้าตลาด (รอบที่ 1) จำนวน 157 ตลาด คืบหน้าแล้ว 62%

7.เตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร 14 จุด รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 17 คัน รถโมบายยูนิต 4 คัน เครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 46 เครื่อง เครื่องสูบน้ำหางอ่อน 17 เครื่อง

8.เตรียมเครื่องผลักดันน้ำ 55 เครื่อง

9.จัดเตรียมหน่วย BEST 35 หน่วย

10.ติดตามสถานการณ์ฝนตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบตรวจวัด (เรดาร์ตรวจ) 2 แห่ง ที่หนองแขมและหนองจอก

11.มีจุดตรวจวัดน้ำท่วมที่จุดตรวจวัดถนน 100 แห่ง จุดตรวจวัดอุโมงค์ทางลอดรถ 8 แห่ง และสถานีเครือข่ายตรวจวัดระดับน้ำ 255 แห่ง

12.ประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้ง 3 จังหวัดปริมณฑล (สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี) กรมชลประทาน และการไฟฟ้านครหลวง

13.จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สนับสนุน โดย “50 สำนักงานเขต” เตรียมพร้อมรถบรรทุก/รถยก 186 คัน รถตักดิน 34 คัน รถดูดเลน 13 คัน เครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ 491 เครื่อง

“สำนักการระบายน้ำ” เตรียมพร้อมรถบรรทุก/รถยก 147 คัน รถตักดิน 21 คัน รถดูดเลน 7 คัน เครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ 363 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 14 เครื่อง รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 17 เครื่อง กระสอบทราย 1,794,300 ใบ

“กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง” เตรียมพร้อมรถบริการเคลื่อนที่เร็วหรือโมบาย 2 คัน รถปิกอัพเคลื่อนที่เร็ว 8 เครื่อง รถยกลากจูง 45 ตัน 11 คัน รถบรรทุกแบบชานเลื่อนพร้อมชุดยกไฮดรอลิกขนาด 10 ตัน-เมตร 2 คัน รถปั้นจั่นขนาด 70 ตัน 1 คัน และรถกู้ซ่อมแบบปิกอัพพร้อมไฟส่องสว่าง 2 คัน

ภารกิจของหน่วยงาน

ระดมสรรพกำลัง กทม.

นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัด กทม. ยังได้ร่วมกันสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงหน้าที่ของสำนักการระบายน้ำ แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงาน

แบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้ “สำนักการระบายน้ำ” มีหน้าที่แจ้งจุดเสี่ยง แก้ไขจุดเสี่ยง ลดระดับน้ำในคลองตามแผน เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำ

“50 สำนักงานเขต” มีหน้าที่ออกปฏิบัติงานเมื่อฝนตก ผอ.เขตสั่งการแก้ไขปัญหา รายงานสถานการณ์

“กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง” มีหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือประชาชนกรณีรถยนต์ขัดข้อง จัดรถยก รถลากจูง อำนวยความสะดวกในการจราจร

“สำนักการโยธา” จัดหน่วยซ่อมแซมเร่งด่วน (Best Service) สนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ ตรวจสอบและเฝ้าระวังป้ายโฆษณา

“สำนักเทศกิจ” จัดรถสายตรวจลงพื้นที่ จัดรถบริการรับ-ส่งประชาชน

“สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” มีหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์

“สำนักการจราจรและขนส่ง” มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสถานการณ์น้ำบนป้ายยจราจรอัจฉริยะ สนับสนุนข้อมูลจากกล้อง CCTV ตรวจสอบความพร้อมของระบบวิทยุ Trunk Radio

“สำนักงานประชาสัมพันธ์” มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร แจ้งประเด็นผลกระทบของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“สำนักงบประมาณ กทม.” สนับสนุนการจัดหากระสอบทราย สนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

“สำนักอนามัย” มีหน้าที่แนะนำด้านสุขภาพอนามัยและวิธีป้องกันโรค

และ “สำนักสิ่งแวดล้อม” มีหน้าที่ในการรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะอย่างถูกต้อง

ดูข่าวต้นฉบับ