“มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” มีความโดดเด่นและสร้างดีเอ็นเอที่กลายเป็นจุดแข็งคือ “มหาวิทยาลัยแห่งความคิดสร้างสรรค์” เพื่อบ่มเพาะนักศึกษา บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถออกไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า สร้างการเติบโตจนสามารถผงาดในเวทีการแข่งขันระดับโลกได้
เปิดศักราชปี 2567 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่กว่า 6 ทศวรรษ ได้คนรุ่นใหม่อย่าง “ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์” มาดำรงตำแหน่ง “อธิการบดีคนใหม่” เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของไทย และผลักดันมหาวิทยาลัย พร้อมนำพาศักยภาพของมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่เวทีระดับภูมิภาค(Regional)
กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “ภูรัตน์” ถึงวิสัยทัศน์ ภารกิจในการนำพามหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ก้าวไปข้างหน้าในหลากมิติ
“การศึกษา” ต้นน้ำ “สร้างคุณค่า” คนขับเคลื่อนประเทศ
“ภูรัตน์” ฉายภาพเส้นทางการทำงานด้วยการต่อยอดความหลงใหล(Passion)ของตนเอง คือการเป็น“ผู้สร้างคุณค่า”(Value) ในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ธุรกิจและการลงทุน ตลอดจนศิลปะและดนตรี
ก่อนเข้ารับตำแน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ “ภูรัตน์” ได้เข้าสู่วงการการศึกษา ในบทบาทกรรมการสภามหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีสายการคลังและกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีประสบการณ์ในแวดวงอื่นๆ ทั้งด้านการลงทุน ด้วยประสบการณ์การเป็นหุ้นส่วนและทำงานวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ในประเทศสิงคโปร์ ดูแลการลงทุนของบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สั่งสมประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) โดยเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอังกฤษติดอันดับ Fortune 500
นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารในการนำบริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) “องค์กรร้อยปี” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
“ผมมีประสบการณ์ทำงานหลายวงการ มี Passion ในการสร้าง Value และการเข้ามาขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยกรุงเทพนี้ เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการศึกษาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การศึกษาคือต้นน้ำในการสร้างคุณค่าของคน ธุรกิจ และสังคม ไปจนถึงระดับโลก ขณะเดียวกันมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ที่จะผลักดันประเทศไทยให้มีอนาคตที่แตกต่างและดีขึ้น”
ต่อยอดดีเอ็นเอ “มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์"
ปัจจุบันบริบทโลก ผู้บริโภค กระทั่งวงการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงเร็วและแรง อัตราการเกิดของประชากรที่น้อยลง สภาพเศรษฐกิจต่างๆ กลายเป็นโจทย์ท้าทายในการขับเคลื่อนการศึกษา แต่ในฐานะ “ผู้นำ” มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังคงมุ่งมั่นในการผลิตหลักสูตรที่คง “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นแก่นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและภาคอุตสาหกรรมเซ็กเตอร์ต่างๆ
ความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่ได้อยู่แค่ในกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นประกวนการคิดและการแก้ปัญหา ที่จะถูกนำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานของทุกหลักสูตร ผนวกกับจิตวิญญาณผู้ประกอบการ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับทุกความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เข้ามา
โมเดลหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงถูกแบ่งเป็นกลุ่มหรือ Cluster แต่ละกลุ่มนั้นจะตอบสนองความสนใจของนักเรียนและเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่ง Cluster นั้นประกอบด้วย 1.Creative Cluster เช่น คณะนิเทศศาสตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ คณะศิลปกรรม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 2.Business Cluster เช่น คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ คณะบัญชี คณะบริหารธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน คณะนิติศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว และ 3.Innovative Cluster เช่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม และคณะวิศวกรรมศาสตร์
“Creativity เป็นรากฐานและดีเอ็นเอที่ถูกฝังอยู่ในทุกส่วน มีการบ่มเพาะให้อยู่ในวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย การสร้างตึกที่แตกต่าง แคมปัสที่มีความสร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อเราอยู่ท่ามกลางยุคดิสรัปชัน กรอบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วอย่างยิ่ง หน้าที่ของเราในฐานะมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ คือการ Anticipate หรือจับกรอบเหล่านั้นให้ติด เตรียมนักศึกษาให้พร้อมรับมือกับกรอบที่เปลี่ยนไปทุกวัน หากเราจับกรอบนั้นติด ก็จะคิดนอกกรอบได้”
ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
หากมองโลกธุรกิจเพื่อย้อนมองการศึกษา จะเห็นว่ายุคนี้ บริษัทไหนที่ครองโลกได้จะกลายเป็นผู้กำหนดเทรนด์ เช่น องค์กรเทคโนโลยี(Tech Company) ใหญ่ๆ ที่พัฒนาแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) อีคอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิน ฯ สามารถดึงผู้คนให้ใช้งาน อยู่กับแพลตฟอร์ม สร้างประสบการณ์ได้โดยไม่อยากวางเครื่องมือสื่อสาร นั่นเกิดจากการยึดผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-centric)
ดังนั้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงยึดแนวทาง“ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”(learner-centric) เช่นกัน โดยจะต้องสร้างช่วงเวลามหัศจรรย์ (magic moment) ให้กับเด็กนักเรียนเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
“การทำให้เด็กนักเรียนคนหนึ่งรักในการศึกษาศาสตร์ต่างๆ จะเป็นศิลปะ ภาพยนตร์ การบริหารและการลงทุน เกมมิง หรือ เทคโนโลยีฯ ต้องทำให้โมเมนต์แรกที่ตกหลุมรักนั้นมีความวิเศษจริงๆ ซึ่งการยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางนี้ จะช่วยสร้าง Passion ที่เป็นเหมือนเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน และพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้เกิดขึ้น และคงอยู่ตลอดไป”
นอกจากนี้ การเรียนการสอนยังเปิดกว้างให้เกิดการเรียนรู้แบบข้ามคณะ(cross faculty) เพื่อให้นักศึกษามีทักษะ ความรู้รอบด้าน เช่น สายสร้างสรรค์เข้าใจโมเดลธุรกิจ สายธุรกิจสามารถพัฒนาไอเดียสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบสร้างความแตกต่างให้ตัวเองและธุรกิจ เป็นต้น
“ความแตกต่างที่ทำได้จริง คือ Super Success ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ”
ภารกิจปิดช่องว่าง “วิชาการ-ทำงานแบบมืออาชีพ”
อีกภารกิจสำคัญที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพหมายมั่นปั้นมือ คือการ “ลดช่องว่างของภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม” การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกธุรกิจทำให้ช่องว่างของวิชาความรู้กับทักษะการทำงานจริงแบบมืออาชีพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในตัวอย่างของการเชื่อมหลักสูตรเข้ากับการทำงานจริง มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากซิลิคอนวัลเลย์ “Berkeley SkyDeck at University of California Berkeley” โปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพระดับโลก มายกระดับการศึกษา โดยการจัดทำกิจกรรมโครงการBU X Berkeley SkyDeck Fund Hackathon เปิดทางให้นักศึกษาทุก Cluster ทุกคณะฟอร์มทีมมาแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยผู้ชนะมีโอกาสจะได้เข้าร่วมอบรมกับองค์กรธุรกิจชั้นนำของโลก รวมถึงได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเพื่อสานต่อโปรเจคให้เกิดขึ้นจริง เป็นต้น
“เราต้องการรวมตัวผู้เชี่ยวชาญในสายต่างๆ ทั้งสายครีเอทิวิตี สายบิสสิเนสมาจับคู่กัน มีมุมมองใหม่ๆ สร้างประสบการณ์แข่งขัน โดยมีพี่เลี้ยงหรือ Mentor จากซิลิคอนวัลเลย์มาดูแล”
นอกจากนี้ ยังผนึกพันธมิตร “SkillLane” พัฒนาบทเรียนออนไลน์ ต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อตอบรับความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรในแขนงต่างๆ มาช่วยเสริมความเข้มข้นด้านทักษะความรู้ความสามารถ ตลอดจนสร้าง Passion ให้แก่นักศึกษา เช่นที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ร่วมกับบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์ แสดงฝีมือการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ “DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย” และนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกอย่างเน็ตฟลิกซ์(Netflix) รวมถึงการร่วมกับ “Unreal Engine” ซอฟต์แวร์ดังในการสร้างเกมระดับโลก เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน เป็นต้น
“เรามองเห็นโอกาสในการลดช่องว่างทางการศึกษากับอุตสาหกรรม หรือการ Bridging the gap ระหว่างวิชาการ ทักษะความรู้ กับการทำงานจริงในองค์กรระดับสากลและบริษัทชั้นนำของโลก หากไม่สามารถปรับตัวได้ ช่องว่างจะยิ่งห่างออกไป และกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ แต่ถ้าสามารถลดช่องว่างนี้ได้ ก็จะเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยในการผลิตนักศึกษาที่พร้อมเข้าสู่โลกธุรกิจอย่างแท้จริง”
มุ่งสู่ผู้นำโลกการศึกษาระดับอาเซียน
การดำรงตำแหน่งอธิการบดี “ภูรัตน์” ยังมีเป้าหมายสำคัญในการนำพา "มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ก้าวสู่การเป็น “ผู้นำในโลกการศึกษาระดับภูมิภาคอาเซียน" หรือ Student Destination ภายใน 2-4 ปี ผลักดันบัณฑิตไทยให้มีทักษะความรู้ด้านวิชาการ ความสามารถ เพื่อทำงานในโลกธุรกิจระดับสากล และดึงดูดนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงจีน เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมากขึ้น สอดคล้องกับประเทศไทยที่เป็นจุดหมายปลายทาง(Destination)ของโลกหลายๆด้าน
โดยดัชนีชี้วัดการเป็นผู้นำโลกการศึกษาอาเซียน คือการสร้างสรรค์บัณฑิตคุณภาพออกไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ และเป็น “ศิษย์เก่า” ที่สร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงในแวดวงต่างๆ เช่นที่ผ่านมา ทีมศิษย์เก่าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สร้างสรรค์ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ จนเป็นกระแสไปทั้งประเทศ สายธุรกิจ นักบริหาร เช่น ศิษย์เก่าคณะบัญชี สมฤดี ชัยมงคล ซีอีโอแห่งบ้านปู และ ศิษย์เก่าปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ จรีพร จารุกรสกุล แม่ทัพใหญ่แห่งดับบลิวเอชเอ เป็นต้น
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและบุคลากร โดยมีการลงทุนรอบด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอน นโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) ร่วมมือกับพันธมิตรสร้างโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับนักศึกษา ที่ดีสุดในประเทศไทย (Best-in-Class Student Residence) เป็นต้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนแบบครบวงจร และมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำในโลกการศึกษาระดับภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง
“การศึกษาคือต้นน้ำของคน ธุรกิจ การขับเคลื่อนประเทศ จึงเป็น Passion และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่พัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างการเติบโตในระดับภูมิภาค”