โฆษณาเกินจริง “ยา-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” กำลังคุกคามสังคมไทยยุค 4.0 !?!
ต้องยอมรับว่า รอบปีที่ผ่านมา ปัญหาโฆษณาผิดกฎหมายของ สินค้าประเภท ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ปรากฏเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน
แต่ที่ฮือฮากันไปทั้งบ้านทั้งเมือง เห็นจะเป็น “คดีเมจิกสกิน” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดัง ที่ทำกำไรได้มหาศาล ถึงขั้นมีงบฯไม่อั้น จ้าง “เซเลบ-ดารา” มาช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ ทั้งที่สินค้านั้นยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อย. การออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสินค้าดังกล่าว จึงเข้าข่าย “เกินจริง” เกินกว่ากฎหมายจะยอมรับได้
แต่จากเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีเสียง วิพาษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ค่อนข้างเป็นไปในเชิง “ตั้งรับ” มากกว่า “ป้องกัน”
อีกฟากหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้พยายามร่วมกันแก้ปัญหาโฆษณาอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยมีการติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวัง การออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค การดำเนินการตามกฎหมาย จับกุม ปราบปราม รวมถึงการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ อีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากสถิติที่รวบรวมไว้ โดยในปี 2558 กสทช. ตรวจพบโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 52 รายการ สารเคมีทางการเกษตร 5 รายการ และเครื่องรางของขลังหรือสินค้าความเชื่อต่างๆ 3 รายการ ส่วนวิทยุกระจายเสียงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 33 รายการ ในขณะที่ อย.ได้มีการแจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับเจ้าของสื่อโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมด 65 รายการ
ในปี 2559 มีจำนวน 37 รายการ ล่าสุดในปี 2561 อย.ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายมากถึง 529 คดี แบ่งเป็นเรื่องอาหาร 361 คดี ยา 81 คดี เครื่องมือแพทย์ 13 คดี และเครื่องสำอาง 74 คดี และในปี 2561 กสทช.และกระทรวงสาธารณสุข คือ อย.และสาธารณสุขจังหวัด สสจ. ร่วมกันปรับลดขั้นตอนการทำงาน โดยจะร่วมกันพิจารณาเนื้อหาการโฆษณาที่ออกอากาศให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น
ล่าสุดบนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ได้มีการหยิบยก ประเด็นปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ ยา อาหาร และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งหลายนั้น กำลัง “คุกคาม” สังคมไทยในยุค THAILAND 4.0 หรือไม่และอย่างไร
โดยมีผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ
คุณธนากร จงอักษร ผู้แทนจาก อย. กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นอกจากการปราบปรามและเฝ้าระวังแล้ว อย.พยายามทำงานในเชิงบวก เช่น ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อและพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งเสริม สนับสนุนคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ โดยต้องสร้างให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวทางนี้อาจจะต้องสร้างที่หลักสูตรการศึกษาในระยะยาว
ผู้แทนอย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือ หากรัฐบาล จะควบคุมการโฆษณาเหล่านี้ ต้องหาหนทางให้สื่ออยู่รอดด้วย เนื่องจากโฆษณาอาหารและยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นรายได้หลักทางหนึ่งของสื่อด้วย
ด้านคุณอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังผลักดันไปสู่ THAILAND4.0 การแพร่กระจายของโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทุกคนสามารถโฆษณาขายสินค้าได้ในทุกที่ เพียงแค่มีสินค้าและอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้บริโภคก็สามารถซื้อสินค้าได้ทุกที่เช่นเดียวกัน ส่วนรูปแบบการโฆษณายังเป็นแบบเดิม คือ บอกข้อมูลไม่หมด ใช้ดาราเป็นผู้เสนอขายสินค้า อย่างไรก็ตาม การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงผลร้ายจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้น หากผลร้ายนั้นไม่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเอง
คุณเขมวดี ขนาบแก้ว ผู้แทนจากกสทช. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบหลัก กล่าวย้ำว่า กสทช.ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มติยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ. 2557 – 2561 เป็นผลสำเร็จที่สุด ด้วยการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ. ) สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะที่กสทช.มีอำนาจในทางปกครอง คือสามารถสั่งให้สถานีระงับการกระทำนั้น หากฝ่าฝืนจะปรับ ซึ่งเพดานอัตราค่าปรับค่อนข้างสูงคือ 5 ล้านบาท และสุดท้ายคือ “จอดำ” พักใช้ใบอนุญาต แต่ด้วยจำนวนของสื่อที่เพิ่มมากขึ้น อย่างทีวีดาวเทียม มีถึง 700 ช่อง วิทยุ 1,000 สถานี ทีวีดิจิทัล 27 ช่อง กสทช.จึงร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ให้เป็นผลสำเร็จ
ส่วน ภญ.กนกพร ธัญมณีสิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลักในพื้นที่ กล่าวว่า สสจ.ขอนแก่นต้องทำงานประสานกับทุกหน่วยงาน กับเครือข่ายทุกกลุ่มเป้าหมาย เน้นการให้ข้อมูลกับประชาชนให้เห็นถึงภัยและผลร้ายจากการใช้ยา อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและขายทางสื่อต่างๆ ซึ่งผู้ทำงานเองต้องเพิ่มความรู้ตามสื่อต่างๆให้ทันว่ามีอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกกังวลกับการเฝ้าระวังหรือมาตรการกวดขันของสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ รวมถึงธุรกิจ Startup ที่หน่วยงานรัฐ อย่าง สคบ. หรือ อย.ต้องตามให้ทันธุรกิจเหล่านี้ด้วย
ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์นี้ ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 มีข้อเสนอสำหรับมติว่าด้วยการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเสนอ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ใช้กฎหมาย 2. เพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการให้มีมากขึ้น และ 3. เพิ่มบทบาทการเฝ้าระวังให้กับภาคประชาชน ทำฐานข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง
จากการนำเสนอจากผู้เกี่ยวข้องและข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การสร้างและพัฒนาเครือข่าย กลไกการเฝ้าระวัง บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและภาคประชาชนร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันโฆษณาอาหารและยา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย ยังแพร่หลายและกระจายไปอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น “โจทย์ใหญ่” ที่ท้าทายต่อไป คือ ในยุคสื่อออนไลน์กว้างไกล THAILAND 4.0 จะต้องใช้สื่อ และรู้เท่าทันขนาดไหนถึงจะแก้ปัญหานี้ได้
punsang อย่าว่าแต่อาหารเสริมเลย นักการเมืองทุกคน ทุกพรรค ก็โฆษณาเกินจริง ทั้งนั้น ประเภท พูดได้ ทำไม่ได้ หรือ ดีแต่พูด ครับ 55555
11 ม.ค. 2562 เวลา 23.36 น.
ooy013 อย.มีไว้ทำอะไร ตรวจครั้งแรกแล้วปล่อยปละละเลย หลังจากตรวจล๊อตนั้นล๊อตต่อไปก็แปลงร่าง เคยทำอะไรจริงจังบ้างนอกจากรอรับทรัพย์และอ้างกำลังคนไม่พอ
12 ม.ค. 2562 เวลา 05.26 น.
Tui TanawuT ในสื่อ socialmedia ยิ่งเยอะมากๆ พวกโฆษณาเกินจริง บางรายขอเลขที่ อย.กลับมาว่า ว่าเราเป็นใครถึงหล้าขอเค้า สุกท้ายตรวจสอบผ่าน app อย. ก็ไม่มี เลข อย. ต้องหวังพุ่งพาหน่วยงานอิสระมากกว่ารัฐ. นะ ทำงานยืดยาดไม่ต้องหวังจะช่วย ปชช. ได้หรอก มีแต่เอื้อให้พวกกิจการได้ร่ำรวยกันก่อนตัวเแงได้ผลประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง ปชช. คนไทยเราใจง่ายเชื่อง่าย ต้องออกกฎหมายที่พวกทำการค้าต้องกลัวเมือนเมืองนอกที่เค้าพัฒนาแล้วจะช่วยได้เยอะคับ
11 ม.ค. 2562 เวลา 23.42 น.
Audiomaker ลองไปดูช่องขายของทีวีดาวเทียมสิ
11 ม.ค. 2562 เวลา 23.37 น.
kwan สินค้าพวกนี้ขายได้ง่ายมากเพราะยังมีคนโง่และบ้าอยากสวยเหมือนดาราโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ก็ขาดความรับผิดชอบออกใบรับรองให้โดยเฉพาะขายออนไลเยอะมากในไลนี่แหละตัวดีจนต้องกดลบตลอด
12 ม.ค. 2562 เวลา 06.30 น.
ดูทั้งหมด