ไลฟ์สไตล์

อิสรภาพจากการขับรถ และความสำคัญของที่จอดรถคนพิการ - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY
เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2562 เวลา 04.52 น. • เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

 ปลายปี 2551 ระหว่างสังสรรค์กับเพื่อนตามปกติ ‘อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์’ เจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากวัยรุ่นต่างถิ่น ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ความเข้าใจผิดทำให้เขาถูกยิงหลายนัดที่หัวไหล่และหลัง เวลาไม่กี่วินาทีพลิกชีวิตหลังจากนั้นไปตลอดกาล จากคนหนุ่มที่เดินเหินได้คล่องแคล่ว เขากลายเป็น ‘คนพิการ’ ที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันบนวีลแชร์ และต้องปรับตัวกับระหว่างวันที่แทบไม่มีอะไรเหมือนเดิม

 หลังจากผ่านช่วงเวลายากลำบาก เขาเลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตเท่าที่ทำได้ หนึ่งในนั้นคือการกลับมาขับรถเหมือนเดิม สำหรับคนทั่วไปแล้ว การขับรถคือความคล่องตัว แต่สำหรับคนพิการ (ที่อยู่ในเมืองที่โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ!) การขับรถมีความหมายมากกว่านั้น นั่นคือการได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 ต่อประเด็น ‘ที่จอดรถคนพิการ’ ท่ามกลางการถกเถียงและเสียงก่นด่า อยากชวนฟังมุมมองของคนพิการที่ขับรถ ทั้งในแง่ความสำคัญของที่จอดรถคนพิการ และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญ ที่คนไม่พิการอาจหลงลืมไป 

หลายคนสงสัย คนพิการขับรถได้ด้วยเหรอ  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 ช่วงที่มาพักฟื้นอยู่บ้าน ผมเปิดอินเทอร์เน็ตหาข้อมูล คนพิการก็ขับรถได้ว่ะ แต่จะเคลียร์กับที่บ้านยังไง คุยกันใหญ่โตเลย พ่อแม่บอกว่า ‘เดี๋ยวพ่อแม่พี่น้องช่วยดูแลได้’ ผมเลยถามกลับว่า ‘พ่อแม่มีพี่น้องใช่ไหม พวกเขามาดูแลตลอด 24 ชั่วโมงหรือเปล่า แล้วถ้าวันนึงพ่อแม่ตาย ใครจะดูแลผมล่ะ’ เขาเข้าใจมากขึ้น

 ผมให้พี่สาวขับรถพาไปที่บริษัท ดูว่าอุปกรณ์เป็นแบบไหน คนพิการขึ้นรถยังไง เจ้าของบริษัทเป็นคนพิการที่ตัวอ้วนเหมือนผมด้วย (หัวเราะ) มึงทำได้ กูก็ต้องทำได้! วันรุ่งขึ้นให้พี่สาวเอารถไปทำเลย วันเดียวเสร็จ พอขับกลับมาบ้าน ผมเข็นวีลแชร์เข้าไป อยากลองเลย คนที่บ้านจะมาช่วย ผมบอก ‘หยุด! เดี๋ยวทำเอง’ ผมเอาขาพาดบนรถ จับหลังคา เกร็งข้อมือ แล้วฮึบ เฮ้ย ได้ว่ะ ตาเป็นประกายเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นเลย (หัวเราะ)

 เราขับรถเป็นอยู่แล้ว มีใบขับขี่ตลอดชีพ แค่เปลี่ยนมาบังคับด้วยมือ อุปกรณ์เรียกว่าแฮนด์คอนโทรล ดันขึ้นเพื่อเบรค กดล็อคเพื่อมาใส่เกียร์ ปลดล็อคแล้วดึงลงเป็นคันเร่ง ผมขับวนรอบหมู่บ้านสักพัก บอกพี่สาวคาดเข็มขัด แล้วลองออกถนนใหญ่เลย ตอนนั้นใจฟูขึ้นมาก อิสรภาพมาแล้ว ผมทำสติกเกอร์คำว่า ‘Liberty’ แล้วแปะไว้ที่รถเลยนะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังจากนั้นก็ขับตามปกติเลยเหรอ 

 ผมเริ่มจากขับจากบ้านไปทำกายภาพด้วยตัวเอง ครอบครัวเลยวางใจมากขึ้น พ้นเดือนที่หก เศร้านิดๆ ว่าคงไม่หายแล้ว เดือนต่อมาผมขับรถไปงานแต่งงานเพื่อนที่นครศรีธรรมราช ไปคนเดียว อะไรทำไม่ได้ก็ขอความช่วยเหลือคนอื่น เกรงใจนะ แต่บางอย่างทำไม่ได้จริงๆ ต้องยอมรับ

 การพึ่งพาทำให้เรายอมรับข้อจำกัดของตัวเอง มนุษย์ทุกคนมีข้อจำกัด ขนาดคนไม่พิการยังพึ่งพากันเลย ขณะเดียวกัน การพึ่งพาเป็นการเรียนรู้กันและกันด้วย คนไม่พิการได้รู้ว่า ‘เฮ้ย คนพิการขับรถได้ด้วย’ เราได้ถ่ายทอดเรื่องราว ครั้งนั้นผมใช้ชีวิตคนเดียวเป็นอาทิตย์ นี่ไง Liberty! อิสรภาพ!

พอพิการแล้วขับรถ เคยเกิดอุบัติเหตุบ้างไหม 

 ผมขับรถเป็นสิบปีไม่เคยชนใครเลย มีแต่คนอื่นมาชน ความพิการไม่ใช่ที่มาของอุบัติเหตุ สาเหตุเกิดจากความประมาทต่างหาก

การบอกว่า ‘ขับรถได้ = อิสรภาพ’ สะท้อนว่าขนส่งมวลชนและโครงสร้างพื้นฐานในสังคมไทยไม่เอื้อให้คนพิการมีอิสรภาพด้วยหรือเปล่า 

 การเดินทางและสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น รถเมล์ แท็กซี่ หรือฟุตบาท ไม่เอื้อกับคนพิการเลย แถวบ้านผมมีรถเมล์ไม่กี่สาย และไม่มีรถเมล์ชานต่ำ โอเค ปัจจุบันมีรถเมล์ชานต่ำแล้ว แต่ก็ไม่ทั่วถึงหรอก หรือต่อให้ขึ้นรถเมล์ได้ ฟุทบาทหลายแห่งก็ชำรุดหรือไม่มีทางลาด แม้แต่รถแท็กซี่ คนพิการต้องโบกหลายคันกว่าจะมีคนจอดรับ เขาอาจไม่รู้จะจัดการกับคนพิการยังไง เก็บวีลแชร์ยังไง หรือมองเป็นความลำบาก เพราะก็ได้เงินเท่ากับคนทั่วไป แต่รถอาจเกิดความเสียหาย และต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตไม่อิสระเลย

‘ที่จอดรถคนพิการ’ สำคัญกับคนพิการยังไง แล้วที่จอดรถคนพิการที่ดีควรเป็นยังไง 

 ที่จอดรถคนพิการสำคัญกับผมมาก ทำให้ลงรถและขึ้นรถได้สะดวก ความกว้างทั้งซ้ายและขวาก็เพื่อให้เปิดประตูรถได้เต็มบาน ไม่ไปสร้างความเสียหายกับรถคันข้างๆ ผมขับรถได้ แต่ถ้าไม่มีที่จอดรถ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออุปสรรคในการใช้ชีวิต พอไปจอดไกลๆ ก็ต้องลุ้นอีกว่าระหว่างทางจะมีทางลาดไหม ผมเพิ่งไปธุระแถวทองหล่อ จอดรถที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ที่จอดอยู่ชั้นใต้ดิน ทางเข้าตัวอาคารมีทางลาดและมีลิฟท์ พอขึ้นไปชั้นหนึ่ง ผมจะลงทำที่ฟุตบาท ปรากฏว่าไม่มีทางลาด เลยต้องกลับไปชั้นใต้ดิน แล้วให้ รปภ. ช่วยเข็นวีลแชร์ขึ้นทางลาดของรถยนต์มาเพื่อมาที่ฟุตบาท เรื่องนี้ปัญหาคือที่จอดรถคนพิการอยู่ในจุดที่ไม่โอเค และอาคารไม่มีทางลาดด้วย

 คำถามว่าที่จอดรถคนพิการที่ดีเป็นยังไง คือ ความกว้างทั้งซ้ายและขวาอย่างน้อยหนึ่งเมตร ตำแหน่งก็ควรอยู่ใกล้กับอาคาร เพราะคนพิการบางคนมีแรงจำกัด อยู่ไกลก็ใช้แรงและใช้เวลามาก หรือบางคนเดินได้แบบใช้ไม้เท้า องค์ประกอบเหล่านี้คือการซัพพอร์ทข้อจำกัดของคนพิการ อีกเรื่องที่สำคัญคือสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ทั้งสื่อสารกับคนพิการและสื่อสารกับคนทั่วไปไม่ให้มาจอด เป็นป้ายหรือทาสีที่พื้นก็ได้ สรุปคือ กว้าง ใกล้ และสัญลักษณ์ชัดเจน

 ทุกวันนี้หลายที่มีที่จอดรถคนพิการแล้วล่ะ แต่ปัญหาคือยังทำไม่ได้มาตรฐาน เช่น วางในตำแหน่งที่ประตูฝั่งคนขับเปิดได้ไม่สุด คุณรู้ว่าต้องมีนะ แต่เป็นแค่คอนเซ็ปต์ในกระดาษที่หยิบมาวาง ไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้จริง ถ้าให้โอเคที่สุด ทำที่จอดรถทั้งหมดให้กว้างๆ ไปเลย การถูกจัดเป็นคนพิเศษ เราไม่ได้รู้สึกโอเค แต่เข้าใจว่าเป็นไปได้ยากได้ในทางธุรกิจ เอาล่ะ ถ้าต้องแยกออกมา คนสร้างควรคำนึงถึงผู้ใช้งานจริง ส่วนคนขับรถที่ไม่พิการ ผมอยากให้ทำความเข้าใจ คนพิการอยากพึ่งพาให้น้อยที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดจริงๆ ถ้าคุณจอดรถบนที่ของคนพิการ สุดท้ายพวกเราต้องพึ่งพาคุณหนักไปอีก

คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักสัญลักษณ์ ‘ที่จอดรถคนพิการ’ อยู่แล้ว คิดว่าทำไม 'คนไม่พิการ' ถึงมาจอดรถบนที่ของคนพิการ มันมีอะไรมากกว่าความมักง่ายหรือเปล่า 

 (เงียบคิด) เอาจริงๆ หลายคนก็มักง่ายแหละ หรือบางคนอาจไม่รู้ว่าคนพิการขับรถได้ ผมไม่รู้ว่า ณ ปัจจุบันตอนสอบใบขับขี่พูดเรื่องนี้ไหม เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ กรมการขนส่งทางบกควรมีในการอบรมด้วย เป็นสัญลักษณ์ที่จอดสำหรับใคร และคนไหนจอดได้บ้าง ถ้าคนไม่พิการมาจอดรอรับคนพิการ ผมยอมรับได้นะ แต่ถ้าคุณจะมาซื้อของ คิดว่าจอดไม่นาน ฟังแล้วรับไม่ได้ เข้าใจว่าทุกคนต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินไกล หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คุณต้องเข้าใจด้วยว่า ที่จอดนี้มีไว้สำหรับคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย

บางคนคิดว่า ก็ที่จอดคนทั่วไปเต็มไง คนพิการไม่ค่อยมาจอดด้วย มากี่ทีเห็นที่จอดว่างอยู่ตลอด  

 ความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าคุณเดินได้ปกติ ยังไงก็ไม่ควรไปจอด เราไม่รู้ว่าคนพิการจะมาตอนไหน ส่วนใหญ่ความขัดแย้งเกิดจากปัญหานี้ กลายเป็นดราม่าใหญ่โต ถ้าคุณเชื่อว่าคนพิการก็ใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่น ดังนั้นเขาจะออกมาตอนไหนก็ได้ ที่จอดว่างก็ปล่อยให้ว่างไป ต้องไม่ลืมนะ บางครั้งคนพิการมาถึงแล้วที่จอดไม่ว่างไง เขาเลยต้องไปจอดที่อื่น

 หรือในอีกกรณี ผมเคยไปจอดที่จอดรถคนพิการในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ที่จอดได้มาตรฐานอยู่แล้ว แต่มีรถมาจอดเกินช่อง ที่จอดทำไว้ 3 ช่อง แต่คนมาจอดแทรกเป็น 4 คัน ผมกลับมาก็เปิดประตูไม่ได้ ตอนนั้นให้เจ้าหน้าที่ประกาศหา แต่ไม่มีใครออกมา รอหลายชั่วโมง รอจนหัวร้อน (หัวเราะ) พอเขากลับมาถึง ปรากฏว่าเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เคยทำงานกับคนพิการ แต่ไม่ใช่ด้านการฟื้นฟู (เงียบคิด) ตอนนั้นผมคิดว่าเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนพิการขับรถได้  

เวลาใครบอกว่า 'ถ้าคนไม่พิการมาจอด ขอสาปแช่งให้พิการ' คำพูดแบบนี้มีปัญหายังไง 

 มันเป็นการผลักให้ความพิการมาเป็นคู่ขัดแย้ง ถ้าปัญหาเกิดจากคนมาจอดไม่ตระหนักรู้ เราควรอธิบาย ให้ข้อมูล หรือเน้นย้ำอีกครั้ง การด่าใส่กันไม่สร้างการเรียนรู้ แล้วการสาปแช่งคนอื่นแบบนั้น มันผูกโยงกับความเชื่ออีก ทั้งที่ความพิการเกี่ยวกับอุบัติเหตุ เกี่ยวกับโรคทางร่างกาย ไม่ใช่เรื่องบาปกรรม คำสาปแช่งแบบนั้นสะท้อนว่า ความพิการเป็นผลกรรมของคนเลว แต่คนพิการไม่ใช่คนเลวไง ไม่มีใครอยากเป็นคนพิการหรอก

.

.

ความเห็น 7
  • sitthipong
    ให้กำหนดเป็นกม. รถคนพิการให้จดทะเบียนรถเป็นการเฉพาะมีเครี่องหมายเฉพาะจึงสามารถจอดได้ในที่ตัดไว้ รถอี่นๆถ้าจอดให้เายค่าปรับสูงสุด คนพิการต้องผ่านการทดสอบว่าขับรถได้จึงให้ใบขับขี่..รถอี่นๆที่มีคนขับปกติให้จอดที่ทั่วไป
    17 ธ.ค. 2562 เวลา 12.03 น.
  • tee
    จะโทษพ่อแม่ ครูอาจารย์ก็คงไม่ได้เต็ม100 เพราะคนเราจะดีหรือเลว สิ่งพวกนี้ติดตัวมาแล้วตั้งแต่เกิด เลือกเป็นคนดี..หรือคนที่ชอบแหกกฏสังคม เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน..หรือง่ายเลยนะ..เลวโดยสันดานนั้นล่ะ
    17 ธ.ค. 2562 เวลา 11.13 น.
  • อย่าไปทุบรถไอ้พวกอยากพิการแนะนำวางตะปูยางมัน4เส้นไปโลดและระวังเซ็คมุกล้องให้ดีๆ
    17 ธ.ค. 2562 เวลา 17.10 น.
  • Pook
    โดยเฉพาะที่ โลตัส ,Big C เห็นพวกมักง่าย ไปจอดเปนประจำ
    17 ธ.ค. 2562 เวลา 09.43 น.
  • Teaw
    o.k
    17 ธ.ค. 2562 เวลา 07.42 น.
ดูทั้งหมด