หุ้น การลงทุน

เด็กจบใหม่ออกสู่ตลาด 3-4 แสนคนปีนี้ อว. ห่วงขาดความอดทนต่องาน

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 16 ก.พ. 2565 เวลา 12.07 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2565 เวลา 11.36 น.
Photo : Pixabay

กระทรวง อว. จับตาการได้งานคนรุ่นใหม่ คาดพฤษภาคมนี้ บัณฑิตออกสู่ตลาดราว 3-4 แสนคนทั่วประเทศ ห่วง soft skill เรื่องความอดทน อนาคตต้องแทรกเข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 จนถึงปีสุดท้าย

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวภายหลังติดตามความก้าวหน้า “โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการพูดคุยกับนักอนาคตวิทยาต่าง ๆ ของกระทรวง อว.พบว่าอีกประมาณ 30-40 ปี ประชากรของโลกจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน แต่การพัฒนาโลกหรือประเทศยังคงต้องดำเนินต่อไปภายใต้จำนวนประชากรที่ลดลง

ดังนั้น การเรียนรู้ต่าง ๆ จะต้องมีความกระชับมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนถึง 4 ปี หรืออาจจะต้องเพิ่มหลักสูตร Non Degree มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ทันต่อการใช้งาน และต้องมีหลักสูตรที่สามารถนำผู้สูงวัยที่ยังทำงานได้มา upskill-reskill เพื่อที่จะมาช่วยกันพัฒนาประเทศท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลง

นอกจากนี้การเรียนรู้แบบเดิมที่เคยเรียนกันมา 4 ปี แล้วจึงออกไปทำงานอาจจะไม่พอ เพราะคนรุ่นใหม่เขาจะมีความต้องการใน Degree หรือวุฒิการศึกษาน้อยลง เขาต้องการเรียนอะไรที่กระชับแล้วสามารถออกไปทำงานได้เลย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นโยบายของกระทรวง อว. ก็พยายามที่จะปรับปรุงในส่วนนี้ ปรับปรุงการเรียนให้กระชับมากยิ่งขึ้น ตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ขยายเวลาให้กับนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก และปริญญาตรีในอนาคตว่าไม่มีระยะเวลากำหนดในการจบการศึกษา ในบางครั้งนักศึกษาเรียนรู้ไป 2 ปี แล้วอาจจะต้องออกไปทำงาน เปลี่ยนงาน จะสามารถขอขยายเวลาจบการศึกษาออกไปได้ แต่ยังคงต้องรักษาสถานภาพ และผลการเรียนให้ยังคงต้องทำอยู่ในมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

อีกส่วนหนึ่งที่ อว. พยายามจะชวนคิดคือ การชวนภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาร่วมกันออกแบบหลักสูตร ลงนาม MOU ว่าหลังจากผลิตบัณฑิตออกไปแล้วเขาจะสามารถรับบัณฑิตของเราไปทำงานได้ จากการติดตามผลโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ทำให้ได้รับมุมมอง วิสัยทัศน์ต่าง ๆ ที่เห็นว่ากำลังก้าวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทั้งแนวทางปฏิบัติและสอดคล้องกับนโยบายของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“เดือนพฤษภาคมนี้เราน่าจะผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดอีกประมาณ 3-4 แสนคนทั่วประเทศ โจทย์หนึ่งที่กระทรวง อว. และกระทรวงแรงงาน มีความกังวลอยู่คือการได้งานของเด็กจบใหม่จะเป็นอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์โควิด และในทุกครั้งที่มีการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมหรือหอการค้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก็มีความเป็นห่วงในเรื่อง soft skill การทำงานเป็นทีม ความอดทน ในโลกยุคใหม่ที่เด็กที่ถูกพัฒนาขึ้นมาท่ามกลางความรวดเร็วของเทคโนโลยี อาจจะทำให้เขาขาดความอดทน การสร้าง soft skill อาจจะต้องแทรกเข้ามาในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 จนถึงปีสุดท้าย เติมให้เขาผ่านการทำงาน กิจกรรมต่างๆ และในอนาคตนั้น soft skill มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าความรู้ทางด้านวิชาการและสมรรถนะในการทำงาน”

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 8
  • zhiea
    ก่อนจะไปพูดเรื่องความอดทน มาพูดเรื่องความถูกต้อง ความยุติธรรมในการจ้างงานก่อน สมัยก่อนผมก็โดนปลูกฝังเรื่องทนงานนี่แหละ จบมาใหม่ๆ สั่งอะไรก็ทำ งานนอกหน้าที่ก็ทำ โอฟรี(โอทีที่ไม่ได้เงิน)ก็ทำ จนวันนึงก็ทนไม่ไหว หางานบริษัทใหม่ที่มีความชัดเจนในการทำงาน ปัจจุบันก็ยังเห็นอยู่หลาย บ. ใช้งานลูกจ้างแบบเอาเปรียบ หรือกดดันลูกจ้างให้ทำงานหนัก
    16 ก.พ. 2565 เวลา 12.17 น.
  • Pol Thunya
    ยุคนี้เขาคงไปหากินเอง ในยุคออนไลน์...
    16 ก.พ. 2565 เวลา 12.11 น.
  • ก.ไก่
    ที่ไหนเป็นยังไงไม่รู้ แต่ที่ดิฉันเจอ คือไม่มีความอดทน ไม่ใฝ่รู้ ไม่มีน้ำใจ
    16 ก.พ. 2565 เวลา 12.12 น.
  • เด็กจบใหม่เป็นนายตัวเองเพิ่มมากขึ้น เพราะอิสระ ด้านความอดทนอาจสู้ Gen X, Y ไม่ได้ แต่ด้านความมั่นใจค่อนข้างสูง และที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวล คือคุณภาพการศึกษาของเด็กรุนโควิด จึงขอ ศธ กวดขันเรื่องคุณภาพก่อนปล่อยออกสู่ตลาด
    16 ก.พ. 2565 เวลา 12.21 น.
  • Supโกลบอล ( ชิน )
    คนเก่าๆๆโดนเลิกจ้าง และ ไม่รับพนง.ใหม่ เลยช่วงนี้ คงตกงานกันเพียบ
    16 ก.พ. 2565 เวลา 12.12 น.
ดูทั้งหมด