ต่างประเทศ

สุดตะลึง! กิ้งกือยาวที่สุดในโลก มี 1,306 ขา นักกีฏวิทยาเผย ขาเยอะได้มากกว่านี้

Khaosod
อัพเดต 22 ธ.ค. 2564 เวลา 06.03 น. • เผยแพร่ 22 ธ.ค. 2564 เวลา 06.03 น.

สุดตะลึง! กิ้งกือยาวที่สุดในโลก มีขามากกว่า 1,300 ขา อาศัยใต้พิภพลึก 60 ม. นักกีฏวิทยาเผยสามารถพัฒนาขาให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานผลวิจัยของ Scientific Reports คำว่า "กิ้งกือ" (millipede) มีความหมายตามตัวอักษรว่า พันขา จากคำว่า "พัน ( mille)" และ "เท้า" (pes) อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการค้นพบกิ้งกือที่มีขามากกว่า 750 ขา ทว่านักวิทยาศาสตร์ชาวออสซี่ เขตโกลด์ฟิลด์ส รัฐเวสเทิร์น ประเทศออสเตรเลียได้ค้นพบกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีตาและมีขา 1,306 ขา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บรูโน บูซัตโตนักชีววิทยาหลักของ Bennelongia Environmental Consultants และพอล มาเร็ก นักกีฏวิทยาจากสถาบันโปลีเทคนิคเวอร์จิเนีย เผยกิ้งกือ Eumillipes persephone ซึ่งตั้งชื่อตามเทพธิดากรีกและราชินีผู้เลอโฉมแห่งยมโลกอย่าง เพอร์เซโฟนี มีทั้งหมด 1,306 ขา โดยการค้นพบครั้งนี้เป็นสถิติใหม่ของสิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนขามากที่สุดบนโลก แซงหน้า Illacme plenipes เจ้าของสถิติกิ้งกือ 750 ขาครั้งก่อนอย่างง่ายดาย

ภาพจาก Scientific Reports

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กิ้งกือตัวนี้ มีความกว้าง 0.95 มม. ยาว 95.7 มม. และมีลำตัวทั้งหมด 330 ปล้อง ประกอบด้วยหัวรูปกรวย หนวดขนาดใหญ่ มีจะงอยปากสำหรับทานอาหาร และสีซีดเหมือนด้าย ที่สำคัญมีรูปร่างที่ยาวมาก จัดอยู่ในกลุ่ม Polyzoniida อาศัยอยู่ใต้ดิน 200 ฟุตหรือ 60 เมตรในรูเจาะที่สร้างขึ้นสำหรับการสำรวจแร่

การประมาณค่าทางวิวัฒนาการของกิ้งกืออี. เพอร์เซโฟนี แสดงถึงการยืดตัวที่สุดเท่าที่เคยมีมาในกิ้งกือ โดยสามารถปรับให้เข้ากับชีวิตลึกหลายสิบเมตรใต้พิภพ ท่ามกลางภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะพบกิ้งกือที่รอดชีวิตได้ บรูโนเชื่อว่ามันคือ "สัตว์ที่น่าทึ่ง มหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ สปีชีส์ใหม่นี้มาจากกลุ่มอนุกรมวิธานที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับเจ้าของสถิติก่อนหน้านี้"

ตามรายงานพบว่าตัวผู้ของสายพันธุ์ใหม่นี้มีปล้องและขาน้อยกว่าตัวเมีย โดยตัวผู้ตัวที่หนึ่งมี 198 ปล้องและ 778 ขา ตัวผู้ตัวที่สองมี 208 ปล้องและ 818 ขา นอกจากตัวเมียที่มี 1,306 ขาที่ทำลายสถิติแล้ว ยังมีตัวเมีย 253 ปล้องและ 998 ขา อีกด้วย ผู้วิจัยกล่าวว่า "ลูกฟักออกมาจากไข่ที่มีขาสี่คู่ และเพิ่มจำนวนปล้องอย่างต่อเนื่องในระหว่างการพัฒนา ทว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่แน่นอน แม้กระทั่งหลังจากโตเต็มวัย"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาพจาก Scientific Reports

พอล มาเร็ก เผยกิ้งกือหลายสายพันธุ์เริ่มต้นชีวิตด้วยแปดขา แต่เมื่อเกิดการลอกผิวและเพิ่มปล้องของร่างกายจะทำให้สามารถพัฒนาขาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนศึกษาวิวัฒนาการของกิ้งกืออี. เพอร์เซโฟนี ทีมวิจัยวางกับดัก เพื่อจับกิ้งกือด้วยท่อพีวีซีที่อัดแน่นไปด้วยพืชพันธุ์ ทิ้งไว้ใต้ดินได้นานหลายเดือน จากนั้นทดสอบในห้องทดลองที่เวอร์จิเนีย พร้อมถ่ายภาพร่างกายด้วยกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง

พอลกล่าวว่า "เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กใต้ดินที่มีหิน กรวด และดิน พวกมันจึงคดเคี้ยวไปตามสิ่งกีดขวางเหล่านี้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการสำรวจมากกว่า 200 ปี แต่ก็ยังมีระบบนิเวศหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจ"

ขอบคุณที่มาจาก Dailystar Nature

ดูข่าวต้นฉบับ