23 ตุลาคม 2567 เตือนท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา รับมือน้ำล้นตลิ่ง โดยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 11 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานครฯ ระบุว่า..
จากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน ในอีก 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Sideflow ประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
กรมชลประทาน ได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได
ทั้งนี้ จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.10-0.20 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่แม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,770 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 17.24 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.82 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 3.52 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงส่งผลทำให้ที่ สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่1,445 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำทางกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือน 11 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด