5 องค์กรเชียงราย “สภาอุตสาหกรรม-หอการค้า-บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง-สมาคมอสังหาริมทรัพย์-ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงราย” คัดค้านร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงราย ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทำหนังสือร้องกรรมาธิการ ขอแก้ไขร่างการใช้ประโยชน์ที่ดิน
นายจิรพัฒน์ ดวงแสงทอง เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เลขาฯคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันจังหวัดเชียงราย (กกร.จังหวัดเชียงราย) และกรรมการ บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง จำกัด (CRCD) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ 5 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย, หอการค้าจังหวัดเชียงราย, บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง (ซีอาร์ซีดี) จํากัด, สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงราย
และชมรมธนาคารจังหวัดเชียงรายได้ยื่นหนังสือคำร้องต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เรื่องข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเมืองเชียงราย ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างจัดทำร่างมาตั้งแต่ปี 2565 ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและจังหวัดเชียงราย และที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น
ซึ่งภาคเอกชนได้ทำหนังสือคัดค้านผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และสำเนาถึงกรมโยธาธิการฯ แต่จนถึงขณะนี้ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นไป 2 ครั้ง แต่ประเด็นข้อโต้แย้งยังไม่ถูกนำมาพิจารณา
เช่น พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ ทางที่ปรึกษาที่จัดทำร่างผังเมืองได้กำหนดไว้เพียง 3 จุด คือ 1.จุดที่ตั้งเมืองเดิม อยู่ในส่วนของเทศบาลที่เป็นสีแดง 2.บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ 3.บริเวณมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งการกำหนดศูนย์เศรษฐกิจไว้ 3 แห่ง
ตอนนี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะการใช้พื้นที่ในตัวเมืองเต็มแล้ว เนื่องจากในเมืองเชียงรายมีเขตโบราณสถานจำนวนมาก ไม่สามารถขยายตัวได้ ภาคเอกชนอยากให้เกิดศูนย์เศรษฐกิจใหม่ ใกล้เคียงกับเส้นทางเลี่ยงเมืองหรือบายพาส เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นจึงเสนอด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ขอเปลี่ยนที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ตามแนวถนนเลี่ยงเมือง,โซนติดถนนพหลโยธินจากบ้านดู่ถึงโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, บริเวณตำบลแม่ยาว และตำบลแม่กรณ์เชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟเวียงชัย (ซึ่งการรถไฟเรียกว่าสถานีรถไฟเชียงราย) อำเภอเวียงชัย และบริเวณสิงห์ปาร์คไปจดสี่แยกน้ำตกแม่กรณ์
รวมถึงขอเปลี่ยนที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ด้านใต้ของศูนย์ราชการเชียงราย และบายพาสแม่สายไปทางไร่เชิญตะวันของท่าน ว.วชิรเมธี
นอกจากนี้ด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น กฎหมายผังเมืองกำหนดห้ามสร้างตึกสูงเกิน 12 เมตร ขอผ่อนปรนความสูงเป็น 18 เมตร ขอแก้ไขอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นของอาคารทุกหลังต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้ตั้งเป็นอาคารจากอัตรา 1 : 1 เป็นอัตรา 2 : 1 และแก้ไขอัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่แปลงที่ดินใช้เป็นที่ตั้งอาคารไม่เกินร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70, ขอจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยขอสร้างบ้านแถว ตึกแถว, ขอสร้างโรงแรมประเภทที่ 3 และ 4 และศูนย์ประชุมสัมมนา
“บางพื้นที่ในเขตหนาแน่น เราขอให้สามารถจัดทำอาคารสูงที่ใช้สอยได้มากกว่า 2,000 ตารางเมตรเป็น 10,000 ตารางเมตร เพราะพื้นที่จำกัด ต้องขึ้นอาคารสูงอย่างเดียว ทางที่ปรึกษาบอกผู้ประกอบการให้ก่อสร้างหลาย ๆ อาคาร แล้วค่อยมาเชื่อมกัน จะประหยัดค่าดูแลมากกว่า
ซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ควรมาพิจารณาแทนคนลงทุน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง และยังไม่ได้รับการพิจารณา และกำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ซึ่งเดิมจะทำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 แล้ว”
นายจิรพัฒน์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมเองต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขบัญชีแนบท้ายผังเมืองให้มีความยืดหยุ่น และส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม เพื่อโอกาสสร้างความเจริญให้จังหวัด เพราะจังหวัดเชียงรายมียุทธศาสตร์เป็นจังหวัดที่ปลูกพืชเกษตรหลายอย่าง จึงอยากให้สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่ต่อเนื่องกับการเกษตรได้มากขึ้น
จากปัจจุบันในพื้นที่สีเขียวตั้งโรงงานแปรรูปได้บางประเภทถือว่าน้อยมาก และการที่ผู้ประกอบการต้องขนส่งสินค้าเกษตรไปแปรรูปไกล ๆ ทำให้มีผลต่อต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น โรงงานทำหรือผสมสุราจากผลไม้หรือสุราแช่อื่น ๆ, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำนม, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์, โรงงานผลิตเยื่อกระดาษหรือกระดาษ, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับไม้, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับยาง เป็นต้น
นอกจากนี้ทางองค์กรรับเรื่องจากประชาชนที่เดือดร้อนมาว่า ด้านแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง ในส่วนถนน 6 สายที่กรมโยธาธิการฯได้ขีดเส้นกำหนดว่าจะก่อสร้างมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว ต้องการขอยกเลิกโครงการถนนต่าง ๆ ดังกล่าว เช่น ถนนสาย ค2, ถนนสาย ค15, ถนนสาย ง1, ถนนสาย ง2, ถนนสาย ง3 และถนนสาย ง15 ซึ่งยังไม่มีงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐลงมาทำในจุดนี้ ผังคมนาคมถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริงตั้งแต่สมัยผังเมืองฉบับเก่าจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากผังคมนาคมดังกล่าวมิได้กำหนดกรอบเวลาในการสร้างถนนแต่อย่างใด เจ้าของที่ดินที่อยู่ในผังก็ไม่สามารถก่อสร้างหรือทำโครงการใด ๆ ได้ ถือเป็นการ รอนสิทธิของประชาชนในหลายโฉนดอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการเสียโอกาส
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เชียงราย” ค้านร่างผังเมืองใหม่ ธุรกิจชี้จำกัดการใช้ที่ดินฉุดเศรษฐกิจโต
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net