สุขภาพ

รวมเมนู “อาหาร-เครื่องดื่ม” จากสมุนไพรไทย ป้องกันโรครับหน้าฝน

PPTV HD 36
อัพเดต 26 ก.ค. 2565 เวลา 05.25 น. • เผยแพร่ 26 ก.ค. 2565 เวลา 02.50 น.
รวมเมนู “อาหาร-เครื่องดื่ม” จากสมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อไวรัส ตัวช่วยสำคัญให้ห่างไกลโรคที่มาพร้อมกับฝน

เป็นเรื่องจริงที่ว่า น้ำฝน เพียงลำพังไม่อาจทำให้เป็นหวัดได้ แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า ยามที่ฝนตกลงมา จะมีทั้งลม ทั้งฝนที่อาจพัดพาเชื้อไวรัสในอากาศจากที่โล่งแจ้ง ประกอบกับช่วงเวลาที่ฝนตก อุณหภูมิในตัวเราจะลดลง จากลมฝน หรือจากการที่ศีรษะเปียกฝน

เป็นที่มาที่ทำให้เรามักได้รับคำเตือนจากคนรอบข้างอยู่เสมอ เมื่อฝนตกโปรยปราย ว่า “ให้ระมัดระวังอย่าตากฝน ระวังเดี๋ยวจะทำให้เป็นหวัดได้”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

4 กลุ่มอาหารคุณค่าดี กินต้าน "โรคไข้หวัดใหญ่" ในช่วงฤดูฝน

เช็กอาการ "ตาแดง" แบบไหน คืออาการแพ้หรือติดเชื้อโควิด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะอุณหภูมิในตัวเราที่ต่ำลงนี่เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้ไวรัสบางสายพันธุ์เจริญเติบโตได้ดี ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในบางคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ก็จะยิ่งทำให้ป่วยได้ง่ายกว่าปกติ

การป้องกัน นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่โดนฝนแล้วนั้น อาหารก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้ไปกว่ากัน โดยเฉพาะอาหารไทย ที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีสรรพคุณทางยา ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และช่วยต่อต้าน ป้องกันเชื้อไวรัส แนะนำผักผลไม้สมุนไพร 3 กลุ่มดังนี้

1.) กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พลูคาว หรือผักคาวทอง เห็ดต่างๆ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2.) กลุ่มที่มีวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ยอดสะเดา มะระขี้นก ฟักข้าว คะน้า ผักเชียงดา ชะพลู มะรุม ยอดแค ผักชะมวง มะระขี้นก ผักหลากสี ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ลูกหม่อน ฝรั่ง มะขาม มะขามเทศ

3.) กลุ่มที่มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส เช่น หอมแดง หอมหัวใหญ่ เปลือกผลของพืชตระกูลส้ม ส้มจี๊ด มะนาว มะกรูด ส้มซ่า ขิง ข่า ตะไคร้ พริกหวานแดง - เขียว

จากตัวอย่างสมุนไพรข้างต้น เราสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายชนิด เมนูแนะนำ มีดังนี้

- เมี่ยงคำ มีส่วนประกอบหลักของ หอมแดง ขิง ผิวมะนาว ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสารเฮสเพอริดิน สารรูติน วิตามินซี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ร่างกาย

- ต้มยำปลาใส่กะเพรา ต้มโคล้ง มีส่วนประกอบหลักของ หอมใหญ่ หอมแดง ข่า ตะไคร้ เห็ด ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสารเคอร์ซีทิน เบต้ากลูแคน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

- ผัดกะเพราต่าง ๆ มีส่วนประกอบหลักของใบกะเพรา พริกเขียว ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสารโอเรียนทิน ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ร่างกาย นอกจากนี้ใบกะเพรา ยังสามารถนำไปผัดกะเพราแกงป่า แกงคั่วใส่ยี่หร่า หรือทำไข่เจียวกะเพราพริกหยวกก็ได้

- แกงส้มมะรุม แกงส้มดอกแค มีส่วนประกอบหลักของฝักแคอ่อน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสารเคอร์ซีติน สารกลุ่มแอนโทไซยามีน ช่วยลดอาการติดเชื้อทำให้ไม่ป่วยง่าย

- แกงเลียงใส่กระชาย และผัก มีส่วนประกอบหลักของกระชายและผักหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคหวัด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

- กลุ่มเครื่องดื่ม แนะนำ ชากะเพราใส่น้ำผึ้งเล็กน้อย ชาใบหม่อน หรือ น้ำขิง เป็นต้น ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคหวัด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

เมื่อเราเลือกรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายแล้ว อย่าลืมดูแลตัวเองด้วย เช่น ลดความเครียด นอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายตามวัย ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อนช้อนกลาง และล้างมือเป็นประจำแม้แต่อยู่ที่บ้าน เพื่อให้ห่างไกลจากโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล

ดูข่าวต้นฉบับ