SMEs-การเกษตร

ชื่อสับปะรดปัตตาเวียเหมือนกัน แต่รสชาติความอร่อยต่างกัน

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 19 ต.ค. 2565 เวลา 02.16 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

สับปะรด ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas comosus (L.) วงศ์มรอมมีเลียซีอี้ (Family Bromeliaceae) มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศบราซิล ปารากวัยและอาร์เจนตินา นักเดินเรือชาวสเปนและโปรตุเกสเป็นผู้เผยแพร่พันธุ์สับปะรดไปยังประเทศต่างๆ

สำหรับประเทศไทยสันนิษฐานว่า ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ปี ค.ศ. 1680-1700) พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้นำพันธุ์สับปะรดกลุ่มสแปนนิช (Spanish) หรือสับปะรดพันธุ์อินทรชิตเข้ามาปลูกในไทย จนกลายเป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองของไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ในไทย

ต่อมามีผู้นำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียจากประเทศอินโดนีเซียมาปลูกไว้ในพื้นที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อของ “สับปะรดปราณบุรี” ทุกวันนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กลายเป็นแหล่งปลูกและแปรรูปสับปะรดที่มากที่สุดของประเทศ

ปี 2460 มีผู้นำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้ามาปลูกอย่างแพร่หลายในจังหวัดลำปาง สับปะรดพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ สับปะรดปัตตาเวียพันธุ์น้ำผึ้ง เนื่องจากมีรสหวานเหมือนน้ำตาลทราย ผลจะมีลักษณะอวบใหญ่ น้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม เพราะเกษตรกรนิยมใช้เส้นตอกมัดก้านจุก ทำให้ยอดดูฟูใหญ่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปี พ.ศ. 2486-2487 โรงเรียนอัสสัมขัญ (ศรีราชา) นับว่าเป็นแหล่งผลิตเริ่มต้นปลูก สับปะรดปัตตาเวียในจังหวัดชลบุรี ใช้ชื่อสับปะรดเอซี (AC) ตีตราที่ขั้วเลย ขึ้นชื่อเรื่องสับปะรดคุณภาพ ขายราคาแพงมาก กลาย เป็นเรื่องโด่งดังและทำให้สับปะรดปัตตาเวียได้ชื่อใหม่ว่า “สับปะรดศรีราชา”

สับปะรดศรีราชา ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2558 รูปร่างกลมรี มีปลายจุกแหลม น้ำหนักผล 1.5-3.5 กิโลกรัม ก้านผลสั้น มีไส้ใหญ่ตาค่อนข้างตื้น เปลือกผิวผลดิบมีสีเขียวคล้ำ ผลสุกมีสีเขียวอมเหลืองอมส้ม เนื้อละเอียดสีเหลืองอ่อน แต่จะเป็นสีเข้มในฤดูร้อน รสชาติหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม ถูกรสนิยมคนไทย สับปะรดศรีราชาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เกือบทั้งปีมีผลผลิตเข้าตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และเดือนตุลาคม-ธันวาคม

สับปะรดห้วยมุ่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีผู้นำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียจากจังหวัดระยอง ชลบุรี มาปลูกในพื้นที่ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นดอยสูง ที่เชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 400 เมตร ทำให้สับปะรดปัตตาเวียที่ปลูกในแหล่งนี้ มีรสชาติอร่อย เป็นที่รู้จักในชื่อ สับปะรดห้วยมุ่น เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่นิยมของตลาดและผู้บริโภค เนื่องจากเนื้อเหลืองอมน้ำผึ้งรสชาติหวานฉ่ำ ตาไม่ลึก ทำให้มีส่วนของเนื้อมาก ผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม รับประทานแล้วไม่ระคายคอ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 13,000 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 9,500 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 6 ตัน ต่อไร่ ช่วงที่ผลผลิตเข้าสู่ตลาด ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี

ด้านการผลิต

สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่ปลูกในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สับปะรดสำหรับส่งขายโรงงานและสับปะรดสำหรับบริโภคสด สับปะรดทั้งสองชนิด ดูจากลักษณะภายนอกแยกกันไม่ออก ต้องดูจากแหล่งผลิตเป็นหลัก สับปะรดทั้งสองกลุ่มมีวิธีการปลูกดูแลที่แตกต่างกัน เพราะสับปะรดโรงงานจะใส่สาร คลอไรด์เพื่อลดความหวาน เนื่องจากไม่ต้องการสับปะรดเนื้อฉ่ำมาก จะทำให้เข้ากระป๋องไม่ได้คุณภาพ

โดยทั่วไปวัฎจักรของการค้าสับปะรด ในช่วงต้นปี เป็นช่วงเวลาที่ขายผลผลิตได้ดีที่สุด ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตมักขาดตลาด พ่อค้าจึงขายสินค้าทำกำไรได้ราคาดีกว่าช่วงอื่นๆ หากช่วงใดที่สับปะรดผลสดขาดตลาด พ่อค้าบางรายซื้อสับปะรดโรงงานเข้ามาขายในตลาดแทน เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคกินสับปะรดแล้วเจอสับปะรดรสเปรี้ยว ซึ่งเหมาะสำหรับใช้แปรรูปอาหารมากกว่ากินผลสด

ชื่อปัตตาเวียเหมือนกัน แต่อร่อยแตกต่างกัน

พันธุ์สับปะรดปัตตาเวีย มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น สับปะรดศรีราชา สับปะรดปราณบุรี ลักกะตา พันธุ์ ตาดำตาแดง สับปะรดน้ำผึ้ง ฯลฯ แม้ได้ชื่อว่าเป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเหมือนกัน แต่ปลูกดูแลในสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีลักษณะแตกต่างกันออกไปทั้งด้านขนาดและรสชาติความอร่อย

การซื้อขายสับปะรดโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ คุณภาพเนื้อ 1 สับปะรดเนื้อหวานฉ่ำ เน้นคัดผลสวย ลูกย่อม น้ำหนักตั้งแต่ 1.3 กิโลกรัม ป้อนตลาดทั่วไป ส่วนกลุ่มห้างสรรพสินค้านิยมสินค้าเนื้อ 1 เกรดพรีเมียร์ ผลใหญ่น้ำหนัก 1.7 กิโลกรัมขึ้นไป

สับปะรดคุณภาพเนื้อ 2 รสหวานปานกลาง ขนาดผลใหญ่น้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ 1.5-1.7 กิโลกรัม เป็นที่ต้องการในกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม

กลุ่มเนื้อ 3 ซึ่งเรียกว่า สับปะรดเนื้อแกง เพราะมีรสอมเปรี้ยวอมหวาน เหมาะสำหรับแปรรูปเป็นอาหาร สำหรับสับปะรดเนื้อ 3 หากเก็บเอาไว้สักระยะ ก็จะมีรสหวานเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับสับปะรดภูเก็ต

ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ ต้องการสับปะรดเนื้อ 1 เกรดพรีเมียร์ ขนาดใหญ่ ความหวาน 12 บริกก์ขึ้นไป โดยเฉพาะสับปะรดปัตตาเวียลำปาง มีผลอวบใหญ่ได้สเปคของตลาดห้างสรรพสินค้า

สับปะรดศรีราชา นอกจากขายดีในตลาดบริโภคผลสดทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ผู้บริโภคยังนิยมใช้สับปะรดศรีราชาสำหรับไหว้เจ้าในเทศกาลต่างๆ อีกด้วย เพราะสับปะรดศรีราชามียอดแข็งสวยงามกว่าพันธุ์อื่นๆ หากตัดสับปะรดที่ อัตราความสุกประมาณ 70% สามารถขึ้นหิ้งไหว้เจ้าได้นานหลายสัปดาห์ แต่สับปะรดพันธุ์ห้วยมุ่นไม่เหมาะสำหรับไหว้เจ้า เพราะมียอดอ่อนนิ่ม

สับปะรดห้วยมุน

สับปะรดห้วยมุ่น แม้อยู่ในสายพันธุ์ปัตตาเวีย เมื่อนำไปปลูกที่ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 50 ปีก่อน สับปะรดห้วยมุ่นเติบโตได้ดีในสภาพดินปนทราย และสภาพภูมิอากาศแบบภูเขา ทำให้เกิดลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นๆ คือ เนื้อนุ่ม หวานฉ่ำชื่นใจไม่บาดลิ้น มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง แกนสับปะรดห้วยมุ่นก็มีรสหวาน เนื้อกรอบอร่อย “สับปะรดห้วยมุ่น” เป็นสินค้าตัวเลือกอันดับแรกที่ลูกค้าต้องการ แต่ธุรกิจร้านอาหารไม่ค่อยใช้สับปะรดห้วยมุ่นเพราะใส้สับปะรดมักแตกร้าวได้ง่าย

ดูข่าวต้นฉบับ