ทั่วไป

7 ปีมีผู้ใช้มากกว่า 42 ล้าน LINE ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้ใช้ได้อย่างไร

THE STANDARD
อัพเดต 07 พ.ค. 2561 เวลา 13.27 น. • เผยแพร่ 07 พ.ค. 2561 เวลา 12.40 น. • thestandard.co
7 ปีมีผู้ใช้มากกว่า 42 ล้าน LINE ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้ใช้ได้อย่างไร

ในระยะเวลาเพียง 7 ปี นับตั้งแต่ที่ LINE เข้ามาตีตลาดลุยให้บริการในประเทศไทยครั้งแรก (มิถุนายน 2554) พวกเขาประสบความสำเร็จและเติบโตได้แบบก้าวกระโดดสุดๆ วัดได้จากฐานผู้ใช้ไทยในปัจจุบันที่มีมากกว่า 42 ล้านราย และการขยับขยายองค์กรใหญ่เรื่อยๆ (ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มพนักงานอีก 120 คน รวมเป็น 450 คน)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นแค่ ‘แชตแอปพลิเคชัน’ แต่ปัจจุบัน LINE กลับขยายธุรกิจตัวเองไปได้ไกลกว่านั้นมากๆ เพราะมีแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ๆ ในหลายหมวดหมู่ เกม ข่าว สตรีมมิงชมคอนเทนต์ย้อนหลัง บริการส่งอาหาร บริการจัดหาแท็กซี่ หรือล่าสุดกับ ‘บริการจัดหางาน (LINE JOBS)’ ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ

น่าสนใจว่าวิธีคิดของ LINE ประเทศไทยเป็นอย่างไร องค์กร (เคยเล็ก) จากญี่ปุ่นแห่งนี้ใช้กลยุทธ์ไหนพาตัวเองทะยานไปไกลได้ถึงขนาดนี้ จากเคยมีรายรับหลักพันล้านเยน LINE เปลี่ยนเป็นหลักแสนล้านเยนได้ด้วยเคล็ดลับใดภายในเวลา 5 ปี (รายได้รวมของบริษัทปี 2012: 6,510 ล้านเยน / 2017: 167,147 ล้านเยน = เพิ่มขึ้น 25.7 เท่าตัว) แล้วต่อจากนี้พวกเขามีแผนการจะขยับขยายธุรกิจออกไปในทางไหนอีก ทิศทางองค์กรในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เราหอบหิ้วความสงสัยและคำถามคาใจทั้งหมดเดินทางมายังออฟฟิศ 3 ชั้นแห่งใหม่สุดน่ารักของ LINE ประเทศไทยที่เพิ่งย้ายจากย่านสาทรมาอยู่บนอาคารเกษร ทาวเวอร์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้ อริยะ พนมยงศ์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย วัย 44 ปี บอกเล่ากลยุทธ์ทางธุรกิจและส่วนผสมการนำองค์กรประสบความสำเร็จให้เราได้ศึกษาตาม

ตลอดบทสนทนาเกือบๆ 1 ชั่วโมง 14 นาที เรื่องที่เราได้รู้จากอริยะหลายๆ เรื่องคือความรู้ใหม่ บางเรื่องอาจไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน เช่นเดียวกับบางแง่มุมความสำเร็จที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเผลอมองข้ามอยู่บ่อยๆ แต่อย่างน้อยที่สุดบทความนี้น่าจะพอสะท้อนแง่คิดไอเดียบางอย่างให้คนที่คิดอยากทำธุรกิจ (หรือทำอยู่แล้ว) สามารถนำไปปรับใช้ได้เหมือนที่ LINE ประเทศไทยทำมาแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

Portal Platform ผู้ให้บริการที่ตั้งใจจะเข้าไปอยู่ในทุกอณูการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

LINE เปิดตัวให้บริการครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เพื่อแก้ Pain Point ข้อจำกัดด้านการติดต่อสื่อสารในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว ใครหลายคนจึงอาจจะติดภาพจำมอง LINE เป็นแค่ ‘แชตแอปพลิเคชัน’ หรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแชตสนทนาเท่านั้น แต่กับ LINE พวกเขาวางเป้าหมายตัวเองไว้ใหญ่และไปไกลกว่านั้นมากๆ

อริยะบอกว่า “ถ้าอธิบายง่ายๆ เราเป็นแพลตฟอร์มครับ แต่เราต้องการจะเป็น Portal Platform ศูนย์รวมบริการที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค แน่นอนว่าทุกคนใช้แชต LINE ส่งสติกเกอร์กัน แต่วันนี้เรามีบริการที่หลากหลาย เช่น LINE TV บริการสำหรับชมวิดีโอหรือคอนเทนต์ออนไลน์ย้อนหลัง

“ส่วนถ้าใครอยากอ่านข่าวก็มาที่ LINE TODAY ใครอยากช้อปปิ้งก็สามารถซื้อของผ่าน LINE ได้ด้วย เพราะองค์กรธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ก็จะใช้บริการของเราสื่อสารกับผู้บริโภคของเขา ถ้าเป็นธุรกิจการเงิน เราก็มี Rabbit LINE PAY จะเห็นได้ว่าเราแตกไลน์ขยายธุรกิจของบริษัทออกไปในทุกๆ ด้าน โดยเน้นบริการที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเป็นหลัก นี่คือจุดยืนของเรา”

‘ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้’ คือ Key Concept ที่อริยะจะนำมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ของ LINE นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโอกาสและความเป็นไปได้ของตลาด ณ​ ช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ซึ่งโดยปกติเมื่อ LINE เปิดธุรกิจหรือบริการใหม่ใดๆ ออกมาก็ตาม พวกเขาจะให้ระยะเวลา 1-2 ปีเท่านั้นในการสรุปแนวโน้มและชี้อนาคตของบริการใหม่เหล่านั้น

ผ่านมา 7 ปีของการดำเนินธุรกิจในไทย ปัจจุบันบริการของ LINE เติบโตออกไปเร็วมากๆ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  • ธุรกิจคอนเทนต์ – LINE TV, LINE TODAY, LINE STICKERS
  • ธุรกิจโซลูชันสําหรับองค์กร – LINE Official Account, LINE@
  • ธุรกิจเกม – LINE GAME
  • ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ – LINE GIFTSHOP
  • ธุรกิจเพย์เมนต์ – Rabbit LINE Pay
  • ธุรกิจใหม่ – LINE MAN, LINE FINANCE, LINE JOBS

กลยุทธ์การตลาดแบบ Hyperlocal เมื่อ LINE ประเทศไทยได้อิสระและความยืดหยุ่นในการคิดบริการใหม่เต็ม 100%

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ LINE ประเทศไทยประสบความสำเร็จแบบสุดๆ ชนิดที่ไทยกลายเป็นหนึ่งใน 4 ตลาดหลักของ LINE ที่มีฐานผู้ใช้สูงสุดร่วมกับญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย คือการที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเปิดอิสระให้กับทีมงานในไทยคิดริเริ่มสร้างบริการใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ เราจึงได้เห็นบริการอย่าง LINE TV, LINE MAN หรือ LINE TAXI เกิดขึ้นมาด้วยฝีมือและไอเดียของคนไทย และยังถูกนำไปพัฒนาเพื่อเปิดใช้ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อริยะบอกกับเราว่าเพราะ LINE รู้และเข้าใจว่าการจะต้องต่อกรกับคู่แข่งหรือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ สิ่งที่พวกเขาพอจะทำได้คือการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Hyperlocal สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่อินไซด์ผู้บริโภคจริงๆ ขึ้นมาช่วยแก้ Pain Point ฝั่งผู้ใช้งานเพื่อเน้นเจาะตลาดในประเทศนั้นๆ เป็นหลัก

“เมื่อ LINE คิดจะทำอะไร ผมจะมีหน้าที่ดูตลาดในประเทศไทย ฉะนั้นตอนที่ผมคิดบริการใหม่ๆ ของประเทศไทยขึ้นมา ผมก็คิดเพื่อรองรับผู้บริโภคคนไทย เช่นเดียวกันคนที่ดูแล LINE ประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย หรือไต้หวัน พวกเราจึงมีความยืดหยุ่นและอิสระในการคิดบริการเป็นของตัวเองสูง รวมถึงอิสระในการเข้าซื้อธุรกิจและลงทุนธุรกิจใหม่ๆ

“นี่คือกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ LINE ประเทศไทยมีความคล่องตัวสูงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ต้องคอยคำสั่งและการอนุมัติจากบริษัทแม่ (Headquater) เท่านั้นถึงจะดำเนินการได้ ต่างจากเราที่คิดได้เอง ทำได้เองและลุยเองได้ทันที”

 

*กรณีศึกษา ความสำเร็จของ ‘LINE MAN’ บริการที่คิดขึ้นเพื่อแก้ Pain Point ของร้านค้าและผู้บริโภคได้ตรงจุด *

“ผมกล้าพูดเลยว่าเกือบจะทุกบริการ เราไม่ได้มาเป็นคนแรก เรามาทีหลัง แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่า LINE ทำได้ดีคือการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค” นี่คือประโยชน์เด็ดจากอริยะที่เขาบอกกับเรา

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า LINE MAN ที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2559 ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่บุกเบิกตลาด Food Delivery ไทยหรือเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายแรกของประเทศอย่างที่อริยะว่าไว้ แต่สิ่งที่ LINE เด่นกว่าผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ นอกเหนือจากแพลตฟอร์มและการมีฐานผู้ใช้ 42 ล้านราย คือความมุ่งมั่นแก้ไข Pain Point ผู้บริโภครวมถึงฝั่งร้านอาหารให้หมดไปพร้อมๆ กัน

“ช่วงนั้นเราพยายามคิดว่าบริการถัดไปของ LINE ที่จะมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมันจะเป็นอะไรได้บ้าง พอออกไปดูตามที่ต่างๆ และพยายามทำความเข้าใจกับมันก็พบว่าส่ิงที่เราจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ คือวินมอเตอร์ไซค์และอาหาร สองสิ่งนี้คือเรื่องใกล้ตัว

“สำคัญที่สุดคือเรามองที่ผู้บริโภคเป็นหลัก หัวใจของบริการ LINE คือ ‘ผู้ใช้’ เมื่อพบว่าตลาดนี้ค่อนข้างใหญ่เราก็ต้องมาดูต่อว่าถ้าจะทำ มันยังมี Pain Point หรืออะไรที่ผู้บริโภคยังต้องการอีก ช่วงเวลาดังกล่าวในไทยมีเจ้าตลาดบริการส่งอาหารเยอะมาก และสิ่งที่พบเห็นคือผู้ให้บริการทุกเจ้าจะเน้นร้านอาหารระดับราคาปานกลางค่อนไปทางราคาสูงเป็นหลัก เพราะธุรกิจของพวกเขาจะกินค่า Commission จากร้านอาหารในหลัก 20-30% ฉะนั้นยิ่งอาหารที่ผู้บริโภคส่ังมีราคาสูงมากเท่าไร ผู้ให้บริการก็จะมีรายได้เพิ่มตามขึ้นไปด้วย นี่คือโมเดลธุรกิจของเขา”

อริยะบอกต่อว่าจากจุดนี้เองที่ทำให้เขาและทีมงานค้นพบว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ที่จะไปร่วมกับบริการส่งอาหารเหล่านี้ได้จะต้องเป็นร้านอาหารระดับขึ้นห้าง (ในที่นี้หมายถึงร้านอาหารที่มีราคาอาหารสูง) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงร้านอาหารริมถนนหรือสตรีทฟู้ดคือส่ิงที่คนไทยส่วนใหญ่บริโภคกันในทุกวันและผูกพันมากกว่า

“พอเราไปดูร้านอาหารกลุ่มนี้แล้วพบว่าไม่มีใครสนใจเขาเลย (สตรีทฟู้ด) ไม่มีใครรับส่งอาหารจากร้านเหล่านี้ ซึ่งถ้าพวกเขาคิดจะทำเองก็คงลำบาก ไหนจะต้องไปสร้างเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน จ้างมอเตอร์ไซค์ เราเลยเห็นโอกาสจากจุดนี้ สิ่งที่เราทำคือแทนที่จะชาร์จค่าส่งอาหารจากร้าน 20-30% ก็เปลี่ยนมาชาร์จ 0% เพื่อไม่เอาเงินจากร้านอาหารเลยสักบาท”

นอกจากนี้เขายังบอกอีกด้วยว่าลำพังการแก้ Pain Point ผู้บริโภคได้เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สำคัญ หากคุณไม่พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ใช้งาน

“โจทย์ที่ LINE ในฐานะที่อยู่ในวงการเทคฯ อยากจะให้ทุกคนเข้าใจคือ ‘ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องง่าย’ นี่คือเรื่องที่สำคัญมาก ผมบอกได้เลยว่าถ้าวันแรกผมไปบอกร้านอาหารที่อยู่ใน LINE MAN ว่าเขาต้องใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อรับออร์เดอร์ ต้องทำทุกอย่างผ่านโทรศัพท์มือถือ ผมว่า LINE MAN ไม่มีทางเกิดแน่นอน มันยากเกินไป กลายเป็นว่าเราพยายามไปเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำธุรกิจของเขา

“ดังนั้นสิ่งที่ LINE ทำคือการอาสารับผิดชอบดูแลเทคโนโลยีการสั่งอาหารและการเรียกใช้บริการทั้งหมด เมื่อคนขับ (พนักงานส่งอาหาร) ไปถึงร้านอาหารก็สั่งอาหารตามที่ผู้ใช้บริการสั่งพร้อมจ่ายเงินสด (บริการ LINE MAN กำหนดเงินสำรองจ่ายเบื้องต้นที่ออเดอร์ละไม่เกิน 1,000 บาท) นำอาหารไปส่งและรับเงินสดกลับมา จะเห็นว่าเราแทบจะไม่ได้ยุ่งกับวิธีบริหารของฝั่งร้านอาหารเลย สิ่งที่เราทำคือการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคและเพิ่มจำนวนลูกค้าและรายได้กลับไปให้ยังฝั่งร้านอาหาร”

สู่ LINE TAXI บริการที่ต่อยอดจาก LINE MAN แก้ Pain Point ทำเทคโนโลยีให้ง่ายและ ‘ไม่จำเป็นต้อง Disrupted ใคร’

เมื่อแก้ปัญหา Pain Point ทั้งฝั่งผู้ผลิต (ร้านอาหาร) ผู้บริโภค และทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ใช้ได้แล้ว สิ่งที่ LINE ในฐานะ LINE MAN ทำต่อไปคือการขยายรูปแบบการบริการให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของ ‘LINE TAXI’ บริการเรียกแท็กซี่ภายใต้ความร่วมมือกับสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘เทคโนโลยีอาจจะไม่จำเป็นต้อง Disrupted ใครเสมอไป’

“ถ้าไปดูในตลาดทุกวันนี้ก็จะพบว่ามีผู้ให้บริการขนส่งมวลชน (ในรูปแบบไรด์แชริ่ง) อยู่หลายเจ้า แต่สิ่งที่เราเห็นและพบว่าน่าสนใจคือเมื่อปีที่แล้ว สหกรณ์แท็กซี่เข้ามาคุยกับ LINE ว่าพวกเราพอจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง ส่ิงที่เราต้องทำความเข้าใจคือวันนี้ กรุงเทพฯ มีคนขับแท็กซี่ประมาณ 90,000 คน ในจำนวนนี้สังกัดกับสหกรณ์ประมาณ 60,000 คน ฉะนั้นพวกเขาจึงมีโครงข่ายที่ค่อนข้างใหญ่

“พอ LINE ได้ศึกษาและวิจัยตลาดนี้ก็พบ Pain Point ของมัน คือทั้งๆ ที่มีผู้ให้บริการค่อนข้างเยอะ แต่ผู้บริโภคก็ยังเรียกแท็กซี่ไม่ได้เลย นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสในตลาด ในเมื่อคุณยังแก้โอกาสให้ผู้บริโภคไม่ได้เราก็อยากขอลองอีกแรง ส่วนอีกมุมคือ Pain Point ฝั่งคนขับ ผมยอมรับในฐานะผู้บริโภคว่ามุมคนขับอาจจะเป็นมิติที่ผมมองข้ามมาตลอด ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่ใช้บริการแท็กซี่บางครั้งอาจจะมีอคติกับคนขับทำไมเรียกรถแล้วไม่ยอมไป แต่มันก็มีอีกมิติที่ถ้าเราได้ลองเข้าไปคลุกคลีแล้วจะเห็น มันเลยทำให้เราได้เห็นว่าทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการเองก็ต่างมีปัญหาในมุมที่ต่างกัน”

อริยะบอกว่าในตอนนั้นเขาเริ่มมองเห็นวิธีแก้ปัญหาลางๆ เนื่องจากแชตของ LINE เองก็มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมมีผู้ใช้ที่เป็นคนขับรถแท็กซี่และผู้โดยสารรวมอยู่ด้วย และจากจำนวนคนขับแท็กซี่สังกัดสหกรณ์แท็กซี่ที่มีมากถึง 60,000 คน เขาเชื่อว่าน่าจะเพียงพอตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้แน่นอน ในที่สุด LINE TAXI จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

“เราเปิดตัวมาได้ประมาณ 4 เดือนแล้ว แต่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าผมตกใจกับผลตอบรับพอสมควร เพราะมันดีมากๆ LINE TAXI เติบโตเกินความคาดหมาย อาจจะประจวบเหมาะกับจังหวะที่เกิดกระแสด้วย (Uber ขายกิจการในอาเซียนทั้งหมดให้ Grab) ซึ่งผมมองว่าช่วงนี้ผู้บริโภคกำลังต้องการทางเลือก ตลาดที่มีการแข่งขันของผู้ให้บริการย่อมเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภค สมมติว่ามีเจ้าตลาดเจ้าเดียวผู้บริโภคก็จะเสียเปรียบ เมื่อไรก็ตามที่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคย่อมมีแต่ได้ อย่างน้อยผู้บริโภคก็มีทางเลือก”

ข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ของ LINE TAXI ที่อริยะบอกกับเราคือการมีฐานผู้ใช้ LINE ดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก (42 ล้านคน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทั้งฝั่งคนขับและทำให้ผู้โดยสารสามารถเรียกรถได้เต็มที่ ที่สำคัญบริการ LINE TAXI ยังเป็นบริการถูกกฎหมาย 100% อีกด้วย เพราะอริยะเชื่อว่าการเป็นบริษัทเทคโนโลยีอาจจะไม่จำเป็นต้อง Disrupted ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ เสมอไป

“ส่วนทิศทางในอนาคตของ LINE TAXI ต้องบอกว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เราก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการสร้างบริการที่มีคุณภาพ ช่วยให้ผู้บริโภคเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ได้เร็ว ซึ่งเฟสต่อจากนี้คือการขยายพื้นที่ให้บริการของ LINE TAXI และมองถึงความเป็นไปได้ในการขยายสเกลการให้บริการออกไป”

 

วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง สนับสนุนให้พนักงานสร้างผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง

ออฟฟิศแห่งใหม่ของ LINE นอกจากจะออกแบบได้น่ารักและน่าทำงานแล้ว ขั้นตอนการออกแบบยังคำนึงถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่จะช่วยให้พนักงาน Productive และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานได้อย่างไม่รู้จบอีกด้วย ซึ่งบริการหลายๆ อย่างของ LINE ยกตัวอย่าง LINE MAN ก็มาจากไอเดียของพนักงานบริษัท เนื่องจากอริยะเชื่อว่าวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ไอเดียที่น่าสนใจไม่ควรจำกัดว่าจะต้องมาจากผู้นำเพียงคนเดียว

“กลุ่มพนักงานของเราถูกเรียกว่า Tech Millennials คือคนยุค Millennials ที่ถนัดด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรมองค์กร LINE ที่สังเกตได้จากสิ่งแวดล้อมออฟฟิศคือผมต้องการให้พนักงานเต็มไปด้วยไอเดียที่สดใหม่ ทุกคนมีโอกาสคิดบริการใหม่ๆ ที่มาจากไอเดียของเขาเอง ออฟฟิศของเราเลยมีพื้นที่ให้พนักงานได้รีแลกซ์เยอะ มีห้องประชุมที่ไม่เหมือนห้องประชุม เป็นบรรยากาศสบายๆ ให้พนักงานได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสิ่งบันเทิงให้พวกเขาได้เล่นสนุก โต๊ะพูล โต๊ะปิงปอง ฟิตเนส ห้องงีบหลับ เสิร์ฟอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี ทำให้เขารู้สึกสนุกและสบายเหมือนมีองค์กรคอยดูแลตลอดเวลา

“ผมเชื่อใจลูกน้องของตัวเอง ความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญ บางธุรกิจผมปล่อยให้เขาบริหารกันเองเลย แต่เมื่อไรที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือผมก็พร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ผมก็ให้ความสำคัญกับการสร้างทีมมากๆ เพราะการจะสร้างธุรกิจให้ดีได้ก็ต้องเริ่มจากทีมงานก่อน LINE ใส่ใจตั้งแต่กระบวนการคัดคนเข้ามา และสไตล์การทำงานที่เราพยายามทำให้มันเป็น ผมจะไม่บอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่เขาต้องเดินมาบอกผมเองว่าอยากสร้างอะไร เราคือทีมเดียวกัน ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเจ้านายและพวกเขาคือลูกน้อง แต่พวกเราต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดและพร้อมรบไปด้วยกัน”

เรื่องที่น่าสนใจนอกเหนือจากวัฒนธรรมองค์กรคือเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว LINE ประเทศไทยยังได้เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพ DGM59 พร้อมดึงบุคลากรจำนวนกว่า 40 ชีวิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ส่งผลให้พวกเขามีทีมนักพัฒนาระบบและแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง นั่นหมายความว่าในอนาคตหากอริยะอนุมัติไอเดียสร้างบริการใดๆ ขึ้นมาก็มีหน่วยงานพร้อมต่อยอดผลิตมันออกมาเป็นรูปร่างทันที!

 

Data น้ำมันและทองของยุค 4.0 ที่ผู้ประกอบการธุรกิจพลิกมุมต่อยอดสร้างประโยชน์ได้มหาศาล

ในยุคที่ใครหลายคนต่างก็บอกว่าข้อมูลคือสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล ผู้บริหาร LINE ประเทศไทยก็มองและเชื่อไม่ต่างกัน เขาบอกว่าหากข้อมูลถูกจัดเก็บและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้สุดทาง มันก็ไม่ต่างจากน้ำมันหรือ ‘ทอง’ ดีๆ นี่เอง

“เราเห็นกันอยู่แล้วว่าสำหรับธุรกิจเทคฯ ข้อมูล (Data) มันคือน้ำมันและทองของยุค 4.0 มันไม่ใช่แค่การจัดเก็บแต่รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ด้วย แล้วคนที่ใช้ข้อมูลได้ดีก็สามารถผันมันเป็นธุรกิจหรือบริการใหม่ๆ ได้ ถามว่าวันนี้ถ้าเราพูดถึง FinTech หรือต้องการปล่อยเงินกู้ให้คนไม่มีบัญชีธนาคาร เราจะทำอย่างไร มันก็อยู่ที่ข้อมูลไง แทนที่เราจะดูข้อมูลที่ธนาคารเก็บ เราก็ดูว่าพฤติกรรมการซื้อของบนโลกออนไลน์ของเขาเป็นอย่างไร”

อริยะยังบอกอีกว่า Data Scientist คือบุคลากรที่องค์กรและหน่วยงานบริษัทในปัจจุบันต้องการตัวมากที่สุด แต่ในประเทศไทยสายงานนี้ไม่ถือว่าขาดแคลนมากนัก เพราะส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษามาแล้วก็มักจะหันไปประกอบอาชีพครูสอนคณิตศาสตร์แทน

“ข้อดีคือเรามี Supply ที่อาจจะไม่รู้ตัว เนื่องจาก Skill Set พื้นฐานของ Data Scientist คือความถนัดด้านสถิติ เลข ซึ่งโดยปกติมหาวิทยาลัยในไทยจะผลิตคนด้านนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปคุยกับแผนกด้านคณิตศาสตร์ของสถาบันการศึกษาก็จะพบว่าคนที่เรียนจบด้านนี้ส่วนใหญ่ไปเป็นอาจารย์กันหมด แต่วันนี้สิ่งที่เราต้องบอกพวกเขาคือคุณมีอนาคตที่แตกต่างได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่อาจารย์ ฉะนั้นเราเลยแค่ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ (Repurpose) Supply นั้นใหม่ก็เท่านั้น”

โดยสรุปก็คือนอกจากจะต้องคิดบริการขึ้นมาจากความต้องการของผู้บริโภคแบบอินไซด์ในตลาดที่คุณอยู่เป็นหลักแล้ว LINE ยังมองเรื่องการแก้ Pain Point ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกฝ่าย แล้วทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องง่ายเพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่เบียดเบียนผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ในระบบนิเวศ ทั้งยังให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์โดยนำข้อมูลมาต่อยอดสร้างประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 13
  • IIKRSK
    เข้าใจว่าครบทั้ง 60 กว่าล้านคนสะอีก
    07 พ.ค. 2561 เวลา 14.33 น.
  • ronnawut2
    ไม่มีความปบอดภัยเลย เจาะใครดูก็ได้ จากหวย 30 ล้าน รู้ทรงเลย ถ้าแม่งคิดจะล้วงๆได้หมด
    07 พ.ค. 2561 เวลา 14.17 น.
  • รอมซี จาเเน
    ไม่อ่านเลยครับ. อ่านคอมเมนต์อย่างเดียว ยาว........เกิน!.
    07 พ.ค. 2561 เวลา 15.05 น.
  • โบตั๋น
    สื่อควรมีจิตสำนึกต่อสังคมให้มาก ดาราแก้ผ้าโชว์มั่วกามสำส่อน แบบอย่างที่ไม่ดี ไม่สร้างสรรค์ คือทำลาย
    07 พ.ค. 2561 เวลา 16.07 น.
  • อี้ดจุฑา
    ไลน์อ่อนภาษาไทย ควรสรุปเนื้อเรื่องแบบย่อความ
    07 พ.ค. 2561 เวลา 15.16 น.
ดูทั้งหมด