“ประมูลแหล่งก๊าซครั้งใหม่” ผลประโยชน์จะตกเป็นของใคร? “คนไทย” หรือ“นายทุน”!
อีกหนึ่งมหากาพย์ของประเทศชาติที่ต้องถูกจารึก คือการแย่งชิงพื้นที่ปิโตรเลียมในอ่าวไทย ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งโดยปกติจะมีการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรของชาติ ทุกๆ 30 ปี ซึ่งจะมีการประมูลล่วงหน้า 5 ปี เพื่อให้บริษัทที่ชนะการประมูลมีเวลาเตรียมความพร้อมในการสำรวจและผลิต โดยพื้นที่ที่น่าจับตาที่สุดเห็นจะเป็นแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช อันเป็นสองแหล่งที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีการประเมินว่า แหล่งบงกชเพียงแหล่งเดียวสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้วันละกว่า 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือราว 20% ของปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ หรือประมาณ 30% ของปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ภายในประเทศ สามารถป้อนโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ได้มากถึง 6 โรงต่อวัน มีส่วนสร้างรายได้ให้ประเทศมานานนับ 20 กว่าปี โดยการส่งเงินค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวง ภาษีและเงินสมทบอื่นๆ ให้แก่รัฐบาลไปแล้วกว่า 2.4 แสนล้านบาท
60% ของไฟฟ้าในประเทศมาจากก๊าซ
สิ่งที่คนไทยควรทราบคือ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่า 60% หรือราว 28,129 เมกะวัตต์ ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ อีกประมาณ 15% ผลิตจากถ่านหิน ที่เหลือเป็นไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน พลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล แสงอาทิตย์ ลม และรับซื้อจากต่างประเทศ ได้แก่ ลาวและมาเลเซีย อีกเพียง 10% เท่านั้น
การประมูลครั้งนี้จึงสั่นคลอนความมั่นคงทางพลังงานของไทยเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าหากมีการยุติการผลิตก๊าซจากแหล่งบงกชเพียงแหล่งเดียว ก็สามารถทำให้ไฟดับไปถึง 1 ใน 3 ของประเทศ!! ผู้ที่จะได้สัมปทานจึงต้องเชี่ยวชาญกับพื้นที่ปิโตรเลียมในอ่าวไทย บริษัทเดิมที่ครอบครองอยู่จึงมีภาษีดีกว่าผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เพราะคร่ำหวอดกับพื้นที่มาเป็นสิบๆ ปี สามารถสำรวจและผลิตไปต่อเนื่อง โดยไม่สะดุด หากมีการสะดุดเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าประชาชนจะต้องขาดไฟฟ้าใช้
ระบบสัมปทานแบบใหม่วัดใจความซื่อสัตย์
ก่อนหน้านี้รัฐบาลใช้ระบบสัญญาสัมปทานมาตลอด ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบประมูลในรูปแบบของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต การประมูลสัมปทานครั้งนี้ กล่าวง่ายๆ คือ แทนที่จะจ่ายเป็นค่าสัมปทานตามสัญญา ก็เปลี่ยนมาแบ่งเงินกับภาครัฐตามเม็ดเงินที่ได้จากการขายผลผลิตนั่นเอง โดยกรมพลังงานเชื้อเพลิงก็ให้เหตุผลมาหลายประการ ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยมากที่สุด ดูจะเป็นเรื่องราคาที่จะเหมาะสมขึ้น เนื่องจากบริษัทที่ได้สัมปทานไม่ต้องแบกรับค่าสัมปทานอันมหาศาล เพียงแค่บริหารกำไรให้คุ้มค่ากับการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนคนไทยคงต้องจับตาดูกันดีๆ ว่าทั้งภาครัฐและผู้ได้รับสัมปทานจะแสดงความบริสุทธิ์ใจและความโปร่งใส ในการชี้แจงปริมาณผลผลิตและรายได้ออกมาได้มากแค่ไหน
ไทยหรือเทศดีเดย์25 ธันวา
การพิจารณาครั้งนี้มีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติที่ผ่านเกณฑ์การเข้าคัดเลือก ซึ่งแม้จะเป็นผู้เล่นหน้าเดิมๆ แต่ก็มีบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศหน้าใหม่ๆ เข้ามาให้ลุ้นบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดที่ได้รับสิทธ์ ก็ล้วนมีความน่ากังวลไม่แพ้กัน หากเป็นบริษัทไทยก็อาจถูกแทรกแซงจากอิทธิพลหรืออำนาจในประเทศได้ หรือแม้แต่หากเป็นบริษัทต่างชาติ ก็อาจถูกแทรกแซงได้ไม่แพ้กัน หากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยจะมีการประกาศผลในวันที่ 25 ธันวาคม 2561
ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่เมื่อเข้ามามีผลประโยชน์กับทรัพยากรของชาติแล้ว ก็ต้องคนในชาติทุกคนนี่แหละ ที่ต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตาของประเทศ ช่วยกันสอดส่องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
https://www.khaosod.co.th/economics/news_1613677
http://news.ch7.com/detail/304772
https://www.thairath.co.th/content/1204020
https://www.thairath.co.th/content/1387020
Bavo5 ของแบบนี้คนธรรมดาจะทำได้ยังไง มันผลประโยชน์นายทุนชัดๆ ข้อมูลและข่าวสารก็บิดเบือนแหล่งข่าวคนให้ก็เป็นข้อมูลจากนายทุน ข้าราชการไทยจบป.โท ป.เอก ด.ร. หมดปัญญาทำเองต้องโยนให้เอกชลทำเพราะซองใหญ่
26 พ.ย. 2561 เวลา 07.02 น.
Naphawan ถามแบบโง่ๆ ก็เป็นของนายทุนนะซิจ๊ะ
26 พ.ย. 2561 เวลา 05.55 น.
ใหม่ คนไทยมีส่วนร่วมได้ด้วยหรือ ก็คนดีเขาบริหารนะ
26 พ.ย. 2561 เวลา 05.52 น.
NONAME เจอหรือไม่เจอ มรหรือไม่มี คนไทยก็ใช้ของแพงอยู่แล้ว ไม่ต้องออกมาป่าวประกาศร้องบอกว่าเจอแหล่งก๊าซแห่งใหม่หรอก
26 พ.ย. 2561 เวลา 01.17 น.
Vinit2511 นายทุนเท่านั้นที่หวังผลประโยชน์จากจุดนี้ร่วมกับรัฐบาลคนจนๆไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้เลยรัฐบาลไม่ได้เอาเงินมาช่วยเหลือคนจนเลยเรียนก็ต้องเสียเงินจากโรงเรียนรัฐไม่เหมือนประเทศอื่นรัฐส่งให้เรียนจนจบ มีงานทำ
26 พ.ย. 2561 เวลา 01.03 น.
ดูทั้งหมด